AE. Racing Club
29 มีนาคม 2024 00:14:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า:  «  1 2 [3] 4 5 ... 8  »  [5»]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติศาสตร์ 77 จังหวัดของไทย  (อ่าน 39268 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #40 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:29:25 »

สมุทรสงคราม ๒
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านจัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน จึงต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล  ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้  มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต 
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนคร -ชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง 
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด  ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรพัฒนา, ๒๕๒๖.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #41 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:30:04 »

สุพรรณบุรี
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา(๑)
   อาจแบ่งได้อย่างกว้าง ๆ
๑. สมัยก่อนประวัติศาสตร์
๒. สมัยประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึงสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ตัวหนังสือ การแบ่งอายุของ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยึดเอาวัตถุที่ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้เป็นหลัก
   ในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีโดยบังเอิญ และโดยจงใจของผู้ลักลอบขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่าในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งที่อยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ตอนกลางประมาณ ๓,๘๐๐ ปี ถึง ๒,๗๐๐ ปีลงมาจนถึงยุคโลหะ ตั้งแต่สมัยสำริดและยุคเหล็ก สังคมของมนุษย์พวกนี้เป็นสังคมเกษตรกรรม รู้จักการเพาะปลูก รู้จักทำภาชนะดินเผา ถลุงแร่และทอผ้า บริเวณที่พบโบราณวัตถุมักจะเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึงอยู่ริมน้ำ และอยู่ไม่ห่างไกลจากภูเขามากนัก น่าเสียดายที่ยังไม่เคยมีการขุดค้นทางด้านก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุพรรณบุรี หากได้มีการขุดค้นทางด้านนี้แล้วก็จะได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดีผู้ที่สนใจเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบในจังหวัดสุพรรณบุรีจะศึกษาได้จากโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่ที่ห้องก่อนประวัติศาสตร์ทวารวดี ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
อู่ทอง เป็นต้นว่าขวานหินขัด สมัยหินใหม่ พบที่บริเวณเมืองอู่ทองซึ่งมีอายุประมาณ ๓,๘๐๐ ปี ถึง ๒,๗๐๐ ปี (๒)

สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์
หรือสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์
อาณาจักรฟูนัน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐)
   จากการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เป็นต้นว่า ลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยทองหรือดีบุก ที่ประทับตราหรือตราขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เหรียญเงินศรีวัตสะ เศษเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ที่เมือง
อู่ทองซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัตถุที่ค้นพบที่เมืองออกแก้วซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองท่าของอาณาจักร
ฟูนัน ในแหลมโคชินไชนา ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามภาคใต้มาก(๓)  วัตถุเหล่านี้ไม่เคยพบในที่อื่นในแหลมอินโดจีน      และเชื่อกันว่าเป็นวัตถุของอาณาจักรฟูนัน     (พุทธศตวรรษที่ ๖-
พุทธศตวรรษที่ ๑๐) โดยเฉพาะ(๔) นอกจากนี้ยังได้ค้นพบประติมากรรม ศิลปอินเดียสมัยอมราวดี

(๑) เรียบเรียงโดย ว่าที่ร้อยตรีบันเทิง พูลศิลป์ ศิลปบัณฑิต โบราณคดี หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง
(๒) จิรา จงกล, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร,๒๕๐๙,)หน้า ๑๔
(๓) สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า, ประวัติศาสตร์เอเซียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐,
   (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๒๒)หน้า ๑๑
(๔) ปัจจุบันวัตถุส่วนหนึ่ง จัดแสดงอยู่ที่ห้องก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

(ประมาณพุทธศวรรษที่ ๙-พุทธศตวรรษที่ ๑๐) ที่เมืองอู่ทองอีกด้วย เป็นต้นว่า ชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูป
ยืนอุ้มบาตร ๓ องค์ ชิ้นส่วนองค์พระพุทธรูปปางนาคปรก ดินเผา รูปกินรีสวมศิราภรณ์ปูนปั้น ชิ้นส่วนหินจำหลักลวดลายและที่เจิมกระแจะจันทน์หิน ซึ่งสืบต่อจนถึงสมัยทวารวดี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อาศัยโบราณวัตถุดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุให้ศาสตราจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์เสนอความเห็นว่า เมืองอู่ทองตั้งมาก่อนอาณาจักรทวารวดี และอาจเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนัน หรือเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในเอเซียอาคเนย์ อาณาจักรนี้ในขณะที่เจริญสูงสุดได้ครอบคลุมไปจนถึงประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียตนามภาคใต้ เมื่ออาณาจักรฟูนันหมดอำนาจลงแล้ว เมืองอู่ทองจึงได้กลายเป็นเมืองสำคัญขึ้นในอาณาจักรทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒

สมัยประวัติศาสตร์ หมายถึงสมัยที่มนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ

สมัยทวารวดี (พศว.ที่ ๑๑ หรือ ๑๒ ถึง ๑๖)
   อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรประวัติศาสตร์สมัยแรกในประเทศไทย อาณาจักรนี้ตามความเห็นของศาสตราจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีในภาคเอเซียอาคเนย์ ซึ่งกรม
ศิลปากรได้เชิญเข้ามาสำรวจโบราณคดีในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้ลงความเห็นว่า เมืองอู่ทองอาจเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง การค้นพบแผ่นทองแดงของพระเจ้าหรรษาวรมันที่บริเวณหน้าโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัยในเมืองอู่ทอง ซึ่งมีจารึกใช้ตัวอักษรอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ก็อาจหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เราทราบพระนามกันสำหรับอาณาจักรทวารวดี อาศัยเหตุนี้ทำให้ศาสตราจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์ มีความเห็นต่อไปอีกว่า เมืองอู่ทองจึงเป็นเมืองสำคัญในอาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นอกจากนั้นศาสตรจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์ ได้กล่าวว่า ศิลปสมัยทวารวดีได้ขยายตัวออกไป ๓ ทาง คือ ทางทิศตะวันออก ทางหนึ่งไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี โดยผ่านทางดงละครและดงศรี
มหาโพธิ์ อีกทางหนึ่งไปยังที่ราบสูงโคราช โดยผ่านทางจังหวัดสระบุรี และไปแยกออกเป็นหลายสายที่แม่น้ำมูลไปยังจังหวัดมหาสารคาม ทางทิศเหนือไปยังจังหวัดลำพูน (อาณาจักรหริภุญไชย) โดยผ่านทางจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ และตาก ทางใต้มีทางลงไปยังแหลมทองโดยผ่านทางจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ทางเหล่านี้มาบรรจบกันแถบบริเวณเมืองอู่ทอง การที่ทราบได้เช่นนี้ก็โดยอาศัยหลักฐานจากโบราณวัตถุสถานศิลปสมัยทวารวดีที่ค้นพบตามสายทางเดินเหล่านั้น
   เมืองอู่ทอง อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔๐ ๒๒' เหนือ และเส้นแวงที่ ๙๙๐ ๕๓' ๓๐" ตะวันออก ตัวเมืองเป็นรูปรีค่อนข้างกลมขนาด ๙๐๐ x ๑.๗๕๐ เมตร ภายในตัวเมืองและบริเวณใกล้เคียงได้พบโบราณวัตถุสถานสมัยทวารวดีเป็นอันมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
   นอกจากนี้แหล่งชุมชนสมัยทวารวดีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดสุพรรณบุรีที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔๐ ๕๑' เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐๐ ๑๓' ตะวันออก ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมนขนาด ๕๑๐X๕๖๐ เมตร (๑)

สมัยอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐)
   ภายหลังจากที่เมืองอู่ทองกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินและเกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้น จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งเมืองใหม่ในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรีปัจจุบัน คือ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔๐ ๒๘' เหนือ เส้นแวงที่ ๑๐๐๐ ๑๗'  ตะวันออก จากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏว่า เป็นเมืองขนาด ๑๐๐๐X ๓๖๐๐ เมตร มีอาณาเขตของตัวเมืองคลุมทั้งสองฟากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีสภาพเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำท่าจีนอยู่กลางเมืองไหลผ่านจากเหนือลงใต้คูเมืองด้านตะวันออกเริ่มแต่บริเวณหมู่บ้านตาหมันขนานกับแม่น้ำท่าจีนผ่านบ้านน้อยมาหมดลงใกล้กับโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ส่วนทางตะวันตก คูเมืองผ่านกลางตัวเมืองสุพรรณบุรี สมัยอยุธยาเมืองนี้เข้าใจว่าเป็น เมืองพันธุมบุรี ตามที่ปรากฏชื่อในหนังสือไตรภูมิของเก่า ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ค้นพบซากโบราณสถานขนาดเล็กสมัยทวารวดีตอนปลาย พระพุทธรูปขนาดใหญ่ทำด้วยหิน ๒ องค์ ที่วัดราชเดชะ (ร้าง) และพระบาทพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่วัดพิหารแดง
   ต่อมาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาหมู่บ้าน ในบริเวณเมืองสุพรรณบุรีเก่าให้เจริญขึ้น จึงได้มีการตัดถนนผ่านเข้าไปในบริเวณซากโบราณสถานต่าง ๆ และมีการรื้ออิฐจากโบราณสถานต่าง ๆ เอาไปใช้ในการสร้างบ้านเมืองและสถานที่ทางราชการทั้ง ๒ ฝั่ง ที่ตั้งตัวจังหวัดสุพรรณบุรีปัจจุบันรวมทั้งได้มีการรื้ออิฐจากโบราณสถานต่าง ๆ จากวัดร้างหารายได้หลายครั้งหลายหนไปขายตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๘-พ.ศ. ๒๕๐๐) เป็นเหตุให้หลักฐานทางโบราณคดีในสมัยอู่ทอง ในบริเวณตัวเมืองสุพรรณบุรีเก่าและบริเวณใกล้เคียงหมดสภาพไปเป็นอันมาก โบราณสถานที่เหลือรอดจากการกระทำดังกล่าวมีอยู่เพียงประมาณ ๕ % เท่านั้น(๒)เช่น
๑. เจดีย์ในวัดพระอินทร์ (ร้าง) ๑ องค์
๒. เจดีย์ในวัดเถลไถล (ร้าง) ๑ องค์
๓. เจดีย์ในวัดพระรูป ๑ องค์ และพระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์
๔. ฐานเจดีย์หลังอุโบสถวัดพระรูป ๑ องค์
๕. พระปรางค์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ๑ องค์
๖. เจดีย์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ๒ องค์
๗. เจดีย์ในวัดพริก (ร้าง) ๑ องค์
๘. พระป่าเลไลยก์ ๑ องค์
๙.เจดีย์ในวัดมรกต (ร้าง) ๑ องค์
๑๐.เจดีย์ในวัดสนามชัย (ร้าง) ๑ องค์


(๑) ศรีศักร วัลลิโภดม "สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน" ช่อฟ้าปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๖๒
(๒) สัมภาษณ์ นายสถาน แสงจิตพันธุ์ อาจารย์โรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๔


นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สมัยอู่ทอง ยังมีอีกองค์หนึ่งที่วัดเขาดิน ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง
สุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐)
   จากจารึกตอนท้ายในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๔๑) ซึ่งคงสลักขึ้นหลัง พ.ศ. ๑๘๓๕ ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับชัยชนะของพระองค์ได้ว่าอาจปราบฝูงข้าศึก มีเมืองกว้างขวางหลายเมือง รวมทั้งเมืองสุพรรณภูมิด้วย เมืองนี้คงเป็นเมืองสุพรรณบุรีเก่า ที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔๐ ๒๘' เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐๐๑๗' ตะวันออก ที่ได้กล่าวมาแล้วและคงเป็นเมืองเดียวกับสุพรรณภูมิในจารึกหลักที่ ๔๘ วัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นจารึกบนแผ่นทอง อักษรไทย ภาษาไทย มีศักราชระบุแน่ชัดว่าจะอยู่ในพ.ศ. ๑๙๕๑ ในรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช จารึกหลักนี้กล่าวถึงเจ้าเมืองขุนเพชญสารว่าได้เคยทำบุญอุทิศบ้านเรือนถวายวัดในเมืองศรีสุพรรณภูมิ และเมืองศรีอโยธยา เพราะระยะเวลาระหว่างจารึกหลักที่ ๑ ตอนที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิกับ พ.ศ. ๑๙๕๑ นั้น ห่างกันเพียงประมาณ ๑๐๐ ปีเท่านั้น ประกอบทั้งโบราณวัตถุสถานในเขตเมืองสุพรรณภูมิหรือเมืองสุพรรณบุรีเก่าก็มีถึงสมัยสุโขทัยด้วย (๑)
   เมืองนี้ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้รื้อกำแพงเมืองลงเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ เพื่อไม่ให้พม่าข้าศึกใช้เป็นที่มั่นถ้าเสียเมืองสุพรรณบุรีเก่าให้แก่ข้าศึก
   เมืองสุพรรณบุรีได้ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ตลอดสมัยอยุธยาและได้ปรับปรุงเมืองให้มีขนาดเหมาะสมกับฐานะเมืองที่ถูกลดฐานะจากเมืองลูกหลวงมาเป็นหัวเมืองชั้นใน ในการปรับปรุงครั้งนี้ได้ทิ้งบริเวณเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มาอยู่แค่ฝั่งตะวันออกแต่เพียงฝั่งเดียวเท่านั้น เข้าใจว่าเมืองแห่งนี้คงสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๘๙) (๒)

สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙)
   จากศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๐) ทำให้ทราบว่ามีเมืองโบราณเมืองหนึ่งมีชื่อตามศิลาจารึกว่า "สวรรณปุระ" ซึ่งน่าจะอยู่ที่บริเวณดอนทางพระ หรือเนินทางพระ ตำบลบ้านสระ
อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะได้พบทรากโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีดินอัด อิฐ และศิลาแลงเป็นรากฐาน น่าเสียดายที่โบราณสถานแห่งนี้ถูกทำลายอย่างยับเยิน ก่อนที่หน่วยศิลปากรที่ ๒ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน ระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๒ จึงไม่สามารถพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรมได้อย่างเด่นชัด ถึงกระนั้นก็ดี


(๑) ศรีศักร วัลลิโภดม "สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน" ช่อฟ้า ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๕๖
(๒) ศรีศักร วัลลิโภดม "สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน" ช่อฟ้า ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๕๘



การขุดแต่งที่ดอนทางพระได้พบปฏิมากรรมต่าง ๆ มีทั้งทำด้วยศิลา และปูนปั้นที่สวยงาม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางศิลปประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ของจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นอันมาก(๑) เช่น หน้าภาพรูปอสูรซึ่งเหมือนกับที่ประดับอยู่ที่ฐานปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี หน้าภาพเศียรเทวดาปูนปั้น ประติมากรรมบางชิ้นก็น่าสนใจ และยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นรูปอะไร เช่น รูปครุฑยุดช้าง ๒ เชือก รูปบุคคลที่มีลิ้นจุกปาก และจากการที่ได้พบปฏิมากรรมรูปกลีบขนุนปรางค์ เนื่องในการขุดแต่งจึงสันนิษฐานได้ว่า  ทรากโบราณสถานที่เนินทางพระหรือดอนทางพระ คงเป็นรูปปรางค์ที่สร้างตามศิลปเขมร แบบบายน หรือสมัยลพบุรี
   อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการขุดแต่งดอนทางพระดังกล่าวแล้วข้างต้น ที่โบราณสถานดอนทางพระ ก็เคยมีผู้พบโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นต้นว่า พระพุทธรูปปางนาคปรก(๒) พระพิมพ์ พระโพธิสัตว์
อวโลกิเตศวร ศิลปสมัยลพบุรี ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปปางนาคปรก นั้นเป็นศิลปแบบเดียวกับที่พบที่วัดปู่บัว(๓)  ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
   นอกจากศิลปโบราณวัตถุศิลปสมัยลพบุรี มักจะพบอยู่ทั่วไปทุกอำเภอ(๔) ในจังหวัดสุพรรณบุรี ยกเว้นอำเภอด่านช้างเพียงอำเภอเดียว บริเวณที่พบมากกว่าที่อื่นอยู่ในท้องที่ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

สมัยอยุธยา
   ตอนต้นสมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้ตั้งขุนหลวงพะงั่วพี่พระมเหสีขึ้นเป็นพระบรมราชา(๕)  ให้อยู่ครองเมืองสุพรรณบุรีเดิมในฐานะเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่าน ด้านตะวันตก ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในการศึกสงคราม จึงมักจะแต่งตั้งพระราชโอรสหรือเชื้อพระองค์ไปเป็นเจ้าเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้นมี "เจ้า" ครองเมืองหน้าด่านเพียง ๒ องค์ เท่านั้น คือ พระราเมศวรพระราชโอรสครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือและขุนหลวงพะงั่วพี่พระมเหสีครองเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศตะวันตก หน้าด่านอีก ๒ เมือง คือ เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ และเมืองนครนายกซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านด้านทิศตะวันออก ไม่มี "เจ้า" ไปเป็นเจ้าเมือง
เมืองสุพรรณบุรีในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) นั้น มีกำลังทหารเข้มแข็งมาก มิได้ทำหน้าที่แต่เพียงเมืองหน้าด่านอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเกิดกรณี  "ขอมแปรพักตร์"  สมเด็จ
พระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้พระราเมศวรพระราชโอรสยกกองทัพไปตีเมืองเขมร แต่ฝ่ายเขมรรู้ตัวก่อน ทัพหน้าของพระราเมศวรยังไม่ทันตั้งค่าย พญาอุปราช ราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินเขมรก็

(๑) ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ห้องลพบุรี ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
(๒) ปัจจุบันอยู่ที่วิมลโภคาราม ในเขตสุขาภิบาลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี องค์หนึ่ง
(๓) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องลพบุรี - รัตนโกสินทร์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
(๔) มนัส โอภากุล พระฯเมืองสุพรรณ (สุพรรณบุรี มนัสการพิมพ์ ๒๕๒๔) หน้า ๑๕
(๕) รายงานพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี ปีรัตนโกสินทร์       ศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖)


ยกทัพโจมตีทัพหน้าแตก มาปะทะทัพหลวง และเสียพระศรีสวัสดิ์ในที่รบ เมื่อความทราบถึงกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ยกทัพไปช่วยหลาน และ
สามารถตีนครธมได้สำเร็จ พร้อมทั้งกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก(๖) ถึงเก้าหมื่นคน(๗) ส่วนปีที่ตีนครธมได้ ขณะนี้ยังไม่เป็นข้อยุติว่าเป็นปีใด อาจเป็นพ.ศ. ๑๘๙๕ หรือ พ.ศ. ๑๙๑๒ ปลายรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
   ในช่วงเวลาต่อมาเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงด้วยกันต่างก็แข่งขันกันเองและไม่วางใจซึ่งกันและกันดังจะเห็นได้จากตอนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) สวรรคต สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสได้ครองราชสมบัติต่อมา แต่ครองได้เพียง ๑ ปี ขุนหลวง
พะงั่วก็เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี เข้ากรุงศรีอยุธยาสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ครองกรุงศรีอยุธยา พระราเมศวรต้องเสด็จกลับไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม
   ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าทองลันพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๑ ขึ้นครองราชสมบัติต่อในพ.ศ. ๑๙๓๑ ได้เพียง ๗ วัน พระราเมศวรก็ยกทัพจากเมืองลพบุรีมาจับสมเด็จพระเจ้าทองลัน สำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชย์บัลลังก์เป็นครั้งที่ ๒
   การช่วงชิงอำนาจระหว่างเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองลพบุรี ยังคงกระทำสืบเนื่องต่อมาอีก เมื่อสมเด็จพระรามราชาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชสมบัติแล้วไม่นานนักพระนครอินทร์เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ก็ยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาและถอดสมเด็จพระรามราชาธิราชออกจากราชบัลลังก์แล้วสถาปนาพระองค์เองเป็นสมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. ๑๙๕๒- พ.ศ. ๑๙๖๗)(๘) และทรงโปรดให้เจ้าอ้ายพระยามาครองเมืองสุพรรณบุรีในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง
   ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราช สวรรคต เจ้าอ้ายพระยา พระราชโอรสผู้ครองเมืองสุพรรณบุรีกับเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสผู้ครองเมืองแพรก (เมืองสรรค์) ต่างก็แย่งชิงราชสมบัติ และชนช้างต่อสู้กันที่เชิงสะพานป่าถ่าน และถึงกับสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างทั้งสองพระองค์ เจ้าสามพระยา
พระราชโอรสผู้ครองเมืองชัยนาทจึงขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ในรัชกาลนี้ได้เลิกประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสไปครองเมืองลูกหลวง ๒ แห่ง หรือหลายแห่ง เพราะเป็นจุดอ่อนเป็นผลเสียหายมากกว่าผลดี จึงทรงตั้งพระราเมศวร พระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลกเพียงแห่งเดียว เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๙๑ จึงได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #42 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:30:50 »

สุพรรณบุรี ๒
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราช สวรรคต เจ้าอ้ายพระยา พระราชโอรสผู้ครองเมืองสุพรรณบุรีกับเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสผู้ครองเมืองแพรก (เมืองสรรค์) ต่างก็แย่งชิงราชสมบัติ และชนช้างต่อสู้กันที่เชิงสะพานป่าถ่าน และถึงกับสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างทั้งสองพระองค์ เจ้าสามพระยา
พระราชโอรสผู้ครองเมืองชัยนาทจึงขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ในรัชกาลนี้ได้เลิกประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสไปครองเมืองลูกหลวง ๒ แห่ง หรือหลายแห่ง เพราะเป็นจุดอ่อนเป็นผลเสียหายมากกว่าผลดี จึงทรงตั้งพระราเมศวร พระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลกเพียงแห่งเดียว เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๙๑ จึงได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
   ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-พ.ศ.๒๐๓๑) ทรงเลิกเมืองลูกหลวง และใช้ระบบขุนนางแทน เมืองสุพรรณบุรีจึงมีแต่ “ผู้รั้ง” ซึ่งไม่มีอำนาจเด็ดขาดแบบการปกครองเมือง แต่หากต้องปรึกษากับกรมการเมือง ซึ่งประกอบด้วยจ่าเมืองแพ่ง และศุภมาตรา ผู้รั้ง และกรมการเมืองจะได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินไปปกครองเมืองในความควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด(๙)

(๖) กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด),หน้า ๒-๓
(๗) กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, (พระนคร, แพร่พิทยา, ๒๕๑๓) หน้า ๗๙
(๘)เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ครั้งดำรงพระยศเป็นที่พระมหาอุปราช
(๙)สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ "ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ"
   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งพม่า ได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีประเทศไทย(๑๐) ด่านแรกที่ตั้งรับกองทัพพม่า คือ เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งมีพระสุนทรสงครามเป็นเจ้าเมือง กองทัพทั้ง ๒ ฝ่าย ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถแต่เนื่องจากกำลังกองทัพไทยน้อยกว่า จึงทิ้งเมืองสุพรรณบุรีแตกถอยร่นเข้ามากรุงศรีอยุธยากองทัพพม่าก็ยกติดตามตีเข้ามาจนถึงชานกรุงศรีอยุธยา การศึกครั้งนี้กองทัพพม่าไม่สามารถตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ต้องถอยทัพกลับไป ผลของการสงครามครั้งนี้เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชดำริเห็นว่าเมืองสุพรรณบุรี แม้จะมีป้อมคูประตูหอรบมั่นคงสักปานใดก็ตาม แต่เมื่อมีศึกใหญ่ยกมาติดเมืองก็ไม่สามารถจะรับไว้อยู่ และเมื่อข้าศึกตีได้แล้วกลับจะใช้เป็นที่มั่นอีกด้วย จึงโปรดให้รื้อป้อมกำแพงเมืองเสียซีกหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖(๑๑) เพื่อว่าข้าศึกตีเมืองได้แล้วจะไม่ได้มีโอกาสอาศัยใช้เป็นที่มั่นอยู่ในเมืองได้อีก และในปีเดียวกันนี้โปรดให้แบ่งท้องที่เมืองราชบุรี และเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี
   ต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๒ พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ได้ยกกองทัพใหญ่ลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเตรียมป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างเต็มที่ แต่กรุงศรีอยุธยามีกำลังน้อยกว่ากองทัพพม่า เหลือกำลังจะป้องกันพระนครจึงยอมเป็นไมตรีและส่งตัวผู้รับประกันพระนคร คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ให้แก่พม่าพร้อมกับช้างพลายเผือก อีก ๔ เชือก(๑๒)
   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระนเรศวร พระราชโอรสได้ทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นพม่า  เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงพิโรธ     โปรดให้ยกกองทัพเข้ามาตี
กรุงศรีอยุธยา โดยเดินทัพมาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือของพม่า ปะทะกับกองทัพไทยที่เมืองสุพรรณบุรี และพม่าได้ถูกทัพเรือไทยภายใตับังคับบัญชาของเจ้าพระยาจักรี ตีแตกกลับไป
   ต่อมากองทัพพม่า ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ผ่านเมืองกาญจนบุรี เข้าตีกรุงศรีอยุธยา ทางสุพรรณบุรีอีก ๒ คราว คือ พ.ศ. ๒๑๓๓ และ พ.ศ. ๒๑๓๕ การรบทั้ง ๒ ครั้ง สมเด็จพระ
นเรศวรมหาราชทรงเป็นแม่ทัพเนื่องจากทรงชำนาญภูมิประเทศ และยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง จึงทรงกำหนดพื้นที่ตำบลตะพังกรุ เมืองสุพรรณบุรีเป็นสนามรบทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๒๑๓๓ ปีแรกรบกันในท้องที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวคือเมื่อพระมหาอุปราชายกกองทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว ก็เดินทัพผ่านแดนป่าสูงที่เต็มไปด้วยเทือกเขาใหญ่ของเมืองกาญจนบุรี(๑๓)   เลียบลงมา
ตามแนวลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ เมื่อพ้นแดนป่าสูงก็จะถึงพื้นที่สนามรบดอนตะพังกรุตอนใต้ที่บริเวณบ้านทวน(๑๔) แล้วตั้งค่ายใหญ่ประชุมทัพปิดปากทางเข้าแดนป่าสูง ซึ่งเป็นการรักษาเส้นทางสำคัญในการเดินทัพของฝ่ายพม่าไว้แล้วจึงจะเดินทัพตามพื้นที่ดอนขึ้นสู่ทิศเหนือผ่านบ้านจระเข้สามพัน บ้านโข้ง เพื่อไปข้ามลำน้ำที่แม่น้ำท่าคอยเข้าสู่พื้นที่ดอนฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนเหนือของแดนลุ่มพลี เมืองสุพรรณบุรี แล้วจึงจะเข้าตีเมืองสุพรรณบุรี หรือไปป่าโมกก็จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้สะดวกทั้ง

(๑๐)ประพัฒน์ ตรีณรงค์ ศึกษาและเที่ยวในเมืองไทย (พระนคร, เลี่ยงเซียง ๒๕๐๒ หน้า ๑๒๘๐)
(๑๑) กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พระนคร, อักษรสัมพันธ์ ๒๕๐๕ หน้า ๑๔๔)
(๑๒) เล่มเดียวกัน หน้า ๑๕๔ -๑๕๘
(๑๓) สถาน แสงจิตพันธุ์ ตอบคำถามของกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิมพ์ดีด ๒๕๒๐
(๑๔) คืออำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

๒ แห่ง ถ้าข้ามลำน้ำต่ำลงมากว่านั้นจะเดินทัพไม่ได้ เพราะจะติดพื้นที่หล่มเลนลุ่มพลีตลอดไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา
   ขณะที่กองทัพพระมหาอุปราชา เดินทัพมาตามเส้นทางเดิมที่เคยยกทัพมาครั้งก่อน ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งทรงจัดเจนภูมิประเทศอยู่แล้วก็ทรงนำกองกำลังทหารจัดซุ่มอยู่ในป่าทึบบริเวณเชิงเทือกเขาพระยาแมน(๑๕)   ตอนเหนือบ้านจระเข้สามพัน ตลอดแนวขุนเขาซึ่งพื้นที่เป็นคอคอดของสนามรบ มีเทือกเขาใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก มีลำน้ำจระเข้สามพันอยู่ทางทิศตะวันออก สภาพภูมิศาสตร์บีบกระหนาบพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพให้เป็นช่องแคบอยู่ระหว่างกลางพระองค์ทรงพระราชดำริที่จะบุกตีกองทัพพม่า ขณะผ่านช่องแคบให้ถอยร่นไปแตกทัพที่ริมแม่น้ำจระเข้สามพันให้จงได้ ขณะที่กองทัพพม่าผ่านเข้าช่องแคบเข้ามาด้วยความประมาท เพราะไม่เคยต้องกลยุทธในสนามรบบริเวณนี้มาแต่ก่อน จึงถูกกองกำลังทหารไทยโจมตีถึงกับแตกพ่ายยับเยินที่ริมลำน้ำ จระเข้สามพันหมดทุกทัพ การรบครั้งนี้ถึงขั้นตะลุมบอน เกือบจับองค์พระมหาอุปราชาได้ พระยาพสิม พระยาพุกาม แม่ทัพพม่าได้แก้ไขเอาพระมหาอุปราชาหนีรอดไปได้ พระยาพุกามตายในที่รบพร้อมกับไพร่พลเป็นจำนวนมาก ทหารไทยจับตัวพระยาพสิมได้ พร้อมทั้งยึดได้ช้างม้าและเครื่องศาตราวุธเป็นอันมาก พระมหาอุปราชาและทหารพม่ารอดตายได้แตกพ่ายหนีกลับไป นอกราชอาณาจักรด้วยความเกรงกลัวในพระบรมราชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหารช
   ต่อมาพระมหาอุปราชา ยกกองทัพเข้ามาตีประเทศไทยอีก เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ ครั้งนี้ได้ยกกองทัพมาตั้งค่ายใหญ่ประชุมทัพปิดปากทางเข้าแดนป่าสูงที่บริเวณบ้านทวนตอนใต้ของสนามรบ เช่นเดียวกับครั้งก่อนแต่เนื่องจากพระมหาอุปราชายังเข็ดขยาดช่องแคบที่เป็นคอคอดของสนามรบดอนตระพังกรุอยู่ เพราะเคยได้รับบทเรียนที่มีค่าอย่างสูงถึงกับเสียชีวิตทหารทั้งกองทัพมาแล้ว จึงได้ให้กำลังส่วนใหญ่ยกล่วงหน้าขึ้นไปสำรวจช่องแคบ และพื้นที่ของสนามรบจากตอนใต้ขึ้นสู่ตอนเหนือ ทหารพม่าสำรวจพื้นที่ขึ้นไปและตั้งทัพหน้าอยู่ถึงบ้านโข้ง สืบทราบว่ากองทัพไทยมีกำลังน้อยกว่าได้ยกมาขัตตาทัพอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ พระมหาอุปราชาจึงยกกองทัพหลวงขึ้นสู่พื้นที่ด้านเหนือของสนามรบ เพื่อจะข้ามลำน้ำท่าคอย แล้วนำกำลังส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่าเข้าซุ่มตีกองทัพไทยให้แตกแล้วหวังจะบุกตามตีให้ถึงกรุงศรีอยุธยา
   ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า ช่องแคบคอคอดของสนามรบดอนตระพังกรุนั้น กองทัพพม่ารู้เท่าทันในยุทธวิธีแล้ว จึงวางแผนออกตั้งค่ายหลวงประชุมทัพอยู่ที่บริเวณตระพังน้ำหนองสาหร่ายทางตอนเหนือของสนาม เพื่อปิดทางเข้าออกแดนลุ่มพลีของกรุงศรีอยุธยาไว้ โดยจัดกองทัพซุ่มอยู่ในป่าทึบเหนือบริเวณแม่น้ำท่าคอยคอยท่ารอจังหวะให้กองทัพพระมหาอุปราชายกข้ามลำน้ำมาเมื่อใด จึงจะบุกเข้าโจมตีกองทัพพม่าให้ถอยร่นลงไป แตกทัพที่ริมแม่น้ำอีกครั้งหนึ่งให้จงได้ แต่พระยาศรีไสยณรงค์ไปทำกลแตกเสียที่บ้านดอนระฆัง โดยนำกองสอดแนมเข้าโจมตีทัพหน้าของพม่าอย่างอาจหาญเป็นเหตุให้พม่าไหวตัวเสียก่อน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงเปลี่ยนแผน

(๑๕) คือเทือกเขาใหญ่ นับแต่เขาถ้ำเสือ-สุสานสุขนิรันทร์-น้ำตกพุม่วง-เขาพระ ปัจจุบัน



ใหม่ แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิดท่ามกลางป่ารกทึบเช่นนั้นทำให้ทหารทุกกองทัพไม่สามารถปฏิบัติการรบได้โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อแก้ปัญหา พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยกระทำยุทธหัตถีทันทีในขณะที่กองทัพพระมหาอุปราชาไล่ติดตามทหารพระยาศรีไสยณรงค์เข้ามาใกล้บริเวณหนองสาหร่ายและพระองค์ทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชา ขาดสะพายแล่ง ทิวงคตบนคอช้างพระที่นั่งและกองทัพไทยส่วนหนึ่งได้รุกไล่ตามตีกองทัพพม่าลงไปจนสิ้นเขตพื้นที่สนามรบดอนตระพังกรุ และเข้าตีค่ายใหญ่ทางตอนใต้ของสนามรบแตกยับเยินไปทหารพม่าตายถึงประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ที่บาดเจ็บหนีกลับไปเป็นอันมาก ทหารไทยจับทหารพม่าได้เป็นอันมากและยึดได้ช้าง ม้า ตลอดจนเครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เข็ดขยาดไม่กล้ายกกองทัพเข้ามาตีประเทศไทยเป็นเวลานานถึง ๑๖๕ ปี
   ต่อมาถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนจะเสียกรุงไม่นานนัก ได้เกิดสงครามกับพม่าที่บริเวณเมืองสุพรรณบุรีอีกครั้งหนึ่ง(๑๖) สงครามครั้งนี้กองทัพไทยพ่ายแพ้ยับเยินเจ้าพระยาราชเสนาแม่ทัพถูกทหารพม่าไล่ติดตามและพุ่งด้วยหอกขัดถึงอนิจกรรม บนหลังช้าง พระยายมราช ก็ถูกหอกขัดของทหารพม่าบาดเจ็บหลายแห่ง แต่หนีเอาตัวรอดกลับไปได้ ส่วนกองทัพไทยก็แตกพ่ายหนีกองทัพพม่าอย่างไม่เป็นขบวน

สมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๑-๒๓๒๔)
   เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่กรุงธนบรีแล้ว ก็ได้ทำสงครามกับพม่าอีกหลายครั้ง แต่เนื่องจากเมืองหลวงตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมประมาณ ๗๐ กิโลเมตร และเมืองสุพรรณบุรีก็อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระนครศรีอยุธยาประมาณ ๘๐ กิโลเมตร พม่าซึ่งเดินทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยกกองทัพย้อนขึ้นไปตีเมืองสุพรรณบุรีซึ่งอยู่เหนือกรุงธนบุรีขึ้นไปอีกประมาณ ๑๕๐ เมตร ถ้าพม่าจะตีเมืองหลวงของไทยก็คงจะต้องยกกองทัพตัดตรงเข้าเมืองหลวงเลยทีเดียว หรือถ้าจะยกกองทัพเข้ามาทางใต้ ก็คงตัดตรงจากเมืองราชบุรี ผ่านเมืองสมุทรสงครามเข้ามา เมืองสุพรรณจึงไม่อยู่ในเขตสนามรบในสมัยธนบุรีปรากฏว่ามีการรบกันประปรายในเขตเมืองสุพรรณบุรีเพียงครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ คือในคราวที่พม่ายกกองทัพมาทางเหนือ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๓๑๙(๑๗) เพื่อขับไล่กองทัพพม่าซึ่งกำลังรบติดพันอยู่กับกองทัพไทยที่เมืองนครสวรรค์ ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพไปถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าทราบข่าวก็ตกใจละทิ้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์หลบไปทางเมืองอุทัยธานีและเดินทัพเข้ามาทางเมืองสรรค์บุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพติดตามตีกองทัพพม่าจนถึงทุ่งบ้านเดิมบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรี และกองทัพทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ต่อสู้กันเป็นสามารถที่ทุ่งนั้น ผลการรบครั้งนั้นกองทัพพม่าถูกตีแตกอย่างพ่ายยับเยินกระเจิดกระเจิงไป ต่อจากนั้นก็ไม่มีการรบกับพม่าในเขตเมืองสุพรรณบุรี อีกเลย

(๑๖) ตรี อมาตยกุล เรื่องจังหวัดสุพรรณบุรี (ธนบุรี: เจริญรัตน์การพิมพ์ ๒๕๑๓)หน้า ๑๔-๑๕
(๑๗) เสถียร พันธรังษี "ความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เมืองชัยนาท" บทความในการสัมมนาโบราณคดีที่จังหวัดชัยนาท จัดโดย
       กรมศิลปากร ๒๐-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ (อัดสำเนา)

สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)
   ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เข้าใจว่าเมืองสุพรรณบุรีได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำท่าจีน จะย้ายมาแต่ พ.ศ. ใด ไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่นอน เมืองที่ย้ายมาตั้งใหม่ในที่ตั้งปัจจุบันที่ไม่ได้ทำเป็นเมืองป้อม กล่าวคือ ไม่มีค่าย คู หอรบ เหมือนอย่างเมืองเก่า
   เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุเมืองเวียงจันทร์ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วยในการพระบรมศพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้คนลงมามาก จึงทรงพระราชดำริแล้วให้ขอแรงไพร่พลที่มาด้วยให้มาตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรี ลากเข็นลงมาไม่กำหนดจำนวนจะไปใช้ที่เมืองสมุทรปราการเพื่อทำป้อมปืนใหญ่ เจ้าอนุได้ให้ราชวงศ์คุมคนมาดำเนินการ(๑)
   ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าเมืองที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้ยังคงเป็นป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก (๒) สุนทรภู่ได้เดินทางเรือผ่านมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ แล้วได้เขียนในโครงการนิราศสุพรรณของท่านว่า
   ตวันเยนเห็นหาดหน้า         ถ้ามี
เมืองสุพรรณบุรีย            รกร้าง
ศาลตั้งฝั่งนที               ที่หาด ลาดแฮ
โรงเล่าเข้าต้มค้าง            ของคุ้งหุงสุราฯ (๑๓๓)
   ผู่รั้งตั้งรั้วรอบ          ขอบราย
เปนหมู่ดูงัวควาย            ไขว่บ้าน
สาวสาวเหล่านุ่งลาย            แล้วหม่อม มอมเอย
จ้ำม่ำล่ำสันสอ้าน            อาบน้ำปล้ำปลาฯ (๑๓๔)
   กรมการบ้านตั้งตลอด         ตลิ่งเตียร
ต่างต่อล้อเลื่อนเกียร            เก็บไว้
เรือริมหาดดาษเดียร            รดะปัก หลักแฮ
ของเหล่าเชาสวนใต้            แต่งตั้งนั่งซาย ฯ (๑๓๕)
   ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโพ้น         พิสดาร
มีวัดพระรูปบูราณ            ท่านสร้าง
ที่ถัดวัดประตูสาร            สงสู่ อยู่เอย
หย่อมย้านบ้านขุนช้าง            ชิดข้างสวนบันลัง ฯ (๑๓๖)





(๑) กรมศิลปากร พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ(ธนบุรี คลังวิทยา ๒๕๐๖ หน้า ๒๙-๓๐ )รัชกาลที่ ๓ และที่ ๔
   ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
(๒) ตรี อมาตยกุล เรื่องจังหวัดสุพรรณบุรี (ธนบุรี เจริญรัตน์การพิมพ์ ๒๕๑๓)หน้า ๑๖

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
   หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและได้ทรงจัดราชการบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและต่อมาได้โปรดฯ ให้ควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว ต่อมาก็ได้จัดตั้งราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น ได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองที่สำคัญยิ่งในการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลส่วนกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบกินเมืองซึ่งเป็นประเพณีปกครองดั้งเดิมให้หมดไป
   การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมาและได้จัดตั้งตามลำดับ ดังนี้ คือ
   พ.ศ. ๒๔๓๗ จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๔ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา และมณฑลราชบุรี
   พ.ศ. ๒๔๓๘  จัดตั้งมณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า และมณฑลภูเก็ต
   พ.ศ. ๒๔๓๙ จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
   พ.ศ. ๒๔๔๐ จัดตั้งมณฑลไทรบุรีและมณฑลเพชรบูรณ์
   พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนแปลงสภาพมณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นมณฑลเก่าก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
   พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพื่อการประหยัด
   พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี
   พ.ศ. ๒๔๕๐ จัดตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
   พ.ศ. ๒๔๕๑  ประเทศไทยจำต้องยอมยกมณฑลไทยบุรี ให้แก่ ประเทศ อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินประเทศอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
   พ.ศ. ๒๔๕๕ แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
   พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
   สำหรับเมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองอยู่ในเขตมณฑลนครชัยศรี ซึ่งมณฑลนี้ประกอบไปด้วยเมืองนครชัยศรี ,เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสมุทรสาคร
   
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #43 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:31:05 »

สุพรรณบุรี ๓
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดไม่เป็นนิติบุคคล มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด และได้ยุบเลิกมณฑล เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น
               ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินบัญญัติให้ฐานะของจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ
   ๑. ฐานะเป็นนิติบุคคล
   ๒. อำนาจบริหารในจังหวัด       แต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรรมการจังหวัดซึ่งเป็นคณะบุคคลเปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงคนเดียว
   ๓. เปลี่ยนแปลงฐานะคณะกรรมการจังหวัด    ซึ่งเดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดเป็นคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
   ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
   ๑. จังหวัด
   ๒. อำเภอ
   สำหรับจังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด และมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
   ปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรี มี ๙ อำเภอ และ ๑ กิ่งอำเภอ คือ
   ๑. อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
   ๒. อำเภอบางปลาม้า
   ๓. อำเภอสองพี่น้อง
   ๔. อำเภอเดิมบางนางบวช
   ๕. อำเภอศรีประจันต์
   ๖. อำเภอดอนเจดีย์
   ๗. อำเภอสามชุก
   ๘. อำเภอด่านช้าง
   ๙. อำเภออู่ทอง
   ๑๐. กิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ







ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุพรรณบุรี . สุพรรณบุรี : มนัสการพิมพ์ , ๒๕๒๘ .
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #44 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:32:17 »

ตราด
สมัยก่อนอยุธยา
เรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดตราด ที่ปรากฏจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรวบรวมได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปมีอยู่น้อย ไม่พอที่จะเรียบเรียงให้เป็นประวัติที่สมบูรณ์ได้ ยิ่งกว่านั้นหลักฐานบางส่วนก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังนั้นประวัติศาสตร์ก่อนสมัยอยุธยาจึงไม่มี หากอนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าและมีหลักฐานใดทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ก็ชอบที่จะเรียบเรียงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในภายหลังได้
สมัยอยุธยา
ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่แน่ชัดว่า จังหวัดตราดเป็นเมืองมาแต่เมื่อใด เพียงมีชื่อว่า "บ้านบางพระ"
ตามหลักฐานที่พระบริหารเทพธานีเขียนไว้๑  อ้างว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๘) ได้มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรเป็นเมืองเอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งเป็นเมืองชั้นในและชั้นกลาง โดยได้จัดแยกออกเป็น ๓ ส่วนคือ หัวเมืองขึ้นเจ้าพระยาจักรีใช้ตราราชสีห์   หัวเมืองขึ้นเจ้าพระยามหาเสนาบดีใช้ตราคชสีห์ และหัวเมืองขึ้นเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดโชชาติ ใช้ตราบัวแก้ว ซึ่งในทำเนียบหัวเมืองในสมัยนั้น มีชื่อ "ตราด" ปรากฏอยู่ว่าเป็นหัวเมืองขึ้นต่อเจ้าพระยาศรีธรรมราชเดโชชาติด้วยเมืองหนึ่ง จากหลักฐานนี้อาจแสดงให้เห็นเป็นเบื้องต้นได้ว่า เมืองตราดซึ่งเป็นหัวเมืองชายทะเลนั้น สังกัดอยู่ในฝ่ายการต่างประเทสซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคลังด้วย
ในเรื่องเดียวกันนี้ หลวงวิจิตรวาทการ๒ รวบรวมหลักฐานให้เห็นว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) นั้น ได้มีการจัดแบ่งบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางจัดแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็น     ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้บังคับบัญชา สำหรับพลเรือนได้จัดแบ่งรูปการบริหารออกเป็นจตุสดมภ์ (มีรูปเป็นกระทรวง) คือ นครบาลบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เกษตราธิบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำมาหากินของราษฎร โกษาธิบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการคลังและกิจการต่างประเทศ และธรรมาธิบดีหรือธรรมาธิกรณ์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการภายในพระบรมมหาราชวังและการพิจารณาคดีความ
ในด้านการบริหารส่วนภูมิภาค ได้จัดแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี และจัตวา มีผู้ว่าราชการเมืองซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ไปควบคุมดูแล จากหลักฐานที่หลวงวิจิตรวาทการรวบรวมไว้นี้ ปรากฏว่ามีชื่อ "ตราด" เป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อโกษาธิบดี ซึ่งหลักฐานนี้ปรากฏตรงกันกับหลักฐานที่พระบริหารเทพธานีอ้างไว้ แสดงให้เห็นว่า "ตราด" น่าจะเป็นเมืองเก่าแก่มากกว่า ๓๐๐ ปีเมืองหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นชื่อที่ปรากฏในทำเนียบหัวเมืองมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นแล้ว
จากหลักฐานนี้ต่อมายังไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองตราดอยู่ในเอกสารใด ๆ อีก จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นระยะที่กำลังเกิดกลียุคขึ้น เพราะใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า
สมัยกรุงธนบุรี
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ปีเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยาเกิดความคับขันในบ้านเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยที่เป็นนายทัพอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น เห็นว่า กองทัพไทยอ่อนกำลังลงและไม่มีทางที่จะต่อสู้กองทัพพม่าที่ล้อมไว้ได้แล้ว จึงได้รวบรวมไพร่พลตีฝ่าลงล้อมออกมาได้ และได้รวบรวมไพร่พลจำนวนหนึ่งทางทิศตะวันออก โดยได้ยกกำลังเข้ามาถึงเมืองตราดด้วยมีปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารว่า
"...หลังจากพระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว (เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐) ก็ได้เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมายังภูมิลำเนาเดิม...ครั้นเห็นว่าเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิม จึงยกกองทัพลงเรือไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรก็พากันเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วทั้งเมือง และขณะนั้นมีสำเภาจีนมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากให้เรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนแล้วกลับยิงเอาข้าหลวง พระเจ้าตากทราบก็ลงเรือที่นั่งคุมเรือรบลงไปล้อมสำเภาไว้แล้วบอกให้พวกจีนมาอ่อนน้อมโดยดี พวกจีนก็หาฟังไม่ กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง รบกันอยู่ครึ่งวันพระเจ้าตากก็ตีได้เรือสำเภาจีนทั้งหมด ได้ทรัพย์สิ่งของเป็นของกองทัพเป็นอันมาก พระเจ้าตากจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้ว ก็กลับขึ้นมาตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบุรี..."๓
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เขมรยกทัพมาตีเมืองตราดซึ่งเป็นระยะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังยกทัพไปตีเชียงใหม่ แต่ในที่สุดทัพเขมรก็ถูกตีพ่ายไปปรากฏหลักฐานตอนนี้ว่า
"…พ.ศ. ๒๓๑๓ เขมรยกทัพมาตีเมืองทุ่งใหญ่ (ตราด) เมืองจันทบุรี ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพเมืองจันทบุรีได้ตีกองทัพเขมรแตกพ่ายไป…"๔
จากข้อความนี้จะเห็นว่ามีคำว่า "เมืองทุ่งใหญ่" ซึ่งพระบริหารเทพธานีได้แสดงอ้างอิงว่า คือ "ตราด" ทำให้เห็นได้ว่า "ทุ่งใหญ่" กับ "ตราด" นั้นคือเมืองเดียวกัน จากหลักฐานนี้ถ้าพิจารณาถึงสภาพในยุคหลัง ๆ ต่อมาแล้ว คำว่า "ทุ่งใหญ่" คือชื่ออำเภอทางเหนือของเมืองตราด ซึ่งติดต่อกับจันทบุรี แสดงให้เห็นว่าเขมรคงจะยกทัพมาทางตอนเหนือของเมืองตราดแล้วตีเรื่อยไปจนถึงเมืองจันทบุรีนั่นเอง คงจะมิได้ยกมาโดยทางเรือแต่ประการใด
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ กองทัพเขมรก็ยกทัพมาตีเมืองตราดอีก ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า
"ครั้นปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ นักพระโสตเป็นใหญ่ในเมืองเปียมมีคุณแก่        พระนารายณ์ราชา แต่ยังชื่อนักองตนมาแต่ก่อน นักองตนยอมเป็นบุตรเลี้ยง ครั้นนักองตนมีไชยชนะพระรามราชา ได้เป็นใหญ่แต่ผู้เดียวแล้ว นักพระโสตทัตก็มีความกำเริบ เกณฑ์ไพร่พลแขวงเมืองบันทายมาศและเมืองกรังเป็นกองทัพมาตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี กวาดต้อนเอาครอบครัวไปเป็นอันมาก เจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธจึงดำรัสให้จัดกองทัพบก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เวลานั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ได้เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี…"๕
การยกไปตีเขมรของเจ้าพระยาจักรีในครั้งนี้ ปรากฏว่าได้ตามตีเขมรต่อไปจนได้เมืองบันทายมาศบริบูรณ์ และบาพนมอีกด้วย
จากประวัติศาสตร์ตอนนี้ แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมผู้คนในเมืองตราดได้อย่างสิ้นเชิง โดยพระองค์ ได้ปราบพวกจีนที่ขัดขืนสำเร็จ แต่ไม่แน่ชัดว่าพระองค์ตั้งทัพอยู่ที่ใดตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองสันนิษฐานว่า กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรี พักไพร่พลอยู่ที่วัดโยธานิมิต (วัดโบสถ์) และเพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่อดีตพระมหากษัตราธิราช ทางราชการได้ประกาศยกย่องวัดโยธานิมิตเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันและเป็นพระอารามหลวงวัดเดียวในจังหวัด นับว่าใช้อุโบสถเก่าของวัดนี้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ของบรรดาข้าราชการในอดีต และมีการขึ้นบัญชีเป็นพระอุโบสถเก่าโบราณสถานด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองตราดสมัยแรก
การร่วมรบในกองทัพในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรใหม่ขึ้นต่อฝ่ายต่าง ๆ เมืองตราดเป็นเมืองหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อ "กรมท่า" ปรากฏข้อความตอนนี้ว่า
"…จึงให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกขึ้นต่อกรมท่า ๑๙ เมือง กรมมหาดไทยรวม ๒๐ เมือง…กับเมืองขึ้นมหาดไทย…ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมือง สาครบุรี ๑ เมืองชลบุรี ๑ เมืองบางละมุง ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองจันทบุรี ๑ เมืองตราด ๑…"๖
แสดงให้เห็นว่าเมืองตราดยังคงสังกัดอยู่กับฝ่ายกิจการต่างประเทศและการคลัง ในฐานะเป็นหัวเมืองฝั่งทะเลและเมืองท่าแห่งหนึ่งอยู่ดังเช่นที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ในรัชสมัยนี้เององเชียงสือซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงไว้ได้หลบหนีกลับไปยังประเทศญวนเพื่อเอาเมืองคืนในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ในการไปขององเชียงสือนี้ปรากฏว่าได้หลบหนีมาอยู่ที่ "เกาะกูด" ในเมืองตราดเป็นเวลานาน มีข้อความปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า
"…องเชียงสือก็มีความยินดี ใช้ใบไปถึงเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง จึงปรึกษาด้วยองญวนทั้งปวง…ก็บัดนี้เราจะพักอยู่ที่ไหนดี องจวงจึงว่าถ้าไปพักอยู่ที่เกาะกูดเห็นจะดีกว่าที่อื่น…องเชียงสือได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วยจึงให้เอาตัวนายจันทร์ นายอยู่ นายเมือง ไปเรือลำเดียวกับองเชียงสือ…องเชียงสือให้บ่าวไพร่องเชียงสือไปเข้ารวมเป็นเรือ ๕ ลำ ออกเรือใช้ใบไปพร้อมกันในเวลากลางคืนวันนั้น ใช้ใบไป ๗ วันถึงเกาะกูดฯ เวลานั้นหามีผู้คนอยู่ไม่…"๗
องเชียงสือพักอยู่ที่เกาะกูดเป็นเวลานานถึง ๒ ปี มีความอดอยากมาก ทางกรุงเทพฯ จึงต้องส่งเสบียงไปช่วยเหลือในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ดังปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารว่า
"…ฝ่ายองเชียงสือซึ่งหนีไปตั้งอยู่ที่เกาะกูดหมดสิ้นเสบียงอาหารจนหมดสิ้นจนกินแต่เนื้อเต่ากับมันกลอย…ฝ่ายที่กรุงเทพมหานครทรงทราบว่าองเชียงสือหนีไปอยู่เกาะกูดจึงโปรดให้เรือตระเวนหลายลำพร้อมด้วยปืนและกระสุนดินดำให้กรมการเมืองตราดส่งไปพระราชทานแก่องเชียงสือที่เกาะกูดให้เป็นกำลังและให้ช่วยลาดตระเวนสลัดด้วย ครั้นองเชียงสือได้รับพระราชทานเรือลาดตระเวนและเครื่องศัตราวุธก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปตีเอาเมืองเขมา เมืองประมวนสอได้ แล้วแต่งให้เรือออกไปลาดตระเวณสกัดจับสลัดญวนได้บ้างยอมเข้ามาสวามิภักดิ์องเชียงสือบ้าง แล้วองเชียงสือให้ฆ่านายสลัดเสียคนหนึ่ง เอาศรีษะใส่ถังมอบพระยาราชาเศรษฐีส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร และเมื่อองเชียงสือพักอยู่ที่เกาะกูดนั้นได้แต่งให้องจวงลอบไปสืบการบ้านเมืองตลอดถึงไซ่งอน องจวงกลับมาแล้วแจ้งว่าได้ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองพระตะพังสมัครเข้าด้วยเป็นอันมาก แล้วองจวงจึงพาองเชียงสือไปพักอยู่ที่ปากน้ำเมืองป่าสัก…"๘
ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มีราชการทัพเกี่ยวกับญวน ลาว และเขมรติดต่อกันเป็นระยะยาวปรากฏหลักฐานว่าเมืองตราดได้เข้าร่วมกับราชการทัพนี้ตลอดเวลา    มีเหตุการณ์เกี่ยวกับวีรกรรมของทางเมืองตราดปรากฏอยู่ด้วยมากมาย ซึ่งอาจลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เมื่อเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ ยกทัพเข้ามาทางนครราชสีมานั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล ๑ พระยารามกำแหง ๑ พระราชวังเมือง ๑ พระยาจันทบุรี ๑ คุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองตราด พลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันออกห้าพัน ขึ้นไปทาง       พระตะบองบ้าง ทางเมืองสุรินทร์เมืองสังขะบ้าง เกณฑ์เขมรป่าดงไปด้วยห้าพันให้ยกทัพไปตีเจ้าราชบุตร ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วให้เป็นทัพกระหนาบทั้งฝ่ายทางตะวันออกคือทัพพระยาราชสุภาวดี (สิง)๙ ด้วย…"๑๐
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เกิดจราจลขึ้นในเมืองญวน ทางหัวเมืองต่างๆ ได้ส่งคนออกไปสืบราชการ แจ้งเข้ามาทางพระนคร บอกความเป็นไปของทางเมืองญวนปรากฏข้อความตอนนี้ว่า
"…ในปีมะเส็ง เบญศก จุลศักราช ๑๑๙๕ ครั้งนั้นกรมการเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองจันทบุรี เมืองตราด  ต่างพากันแต่งขุนหมื่นกับไพร่ไปสืบราชการที่เมืองเขมรและเมืองญวนต่าง ๆ นั้น สืบได้ข้อราชการเมืองญวนมาทั้งสี่เมือง ๆ จึงมีใบบอกกิจการบ้านเมืองเข้ามายังกรุงเทพฯ ข้อความในใบบอกทั้งสี่หัวเมืองนั้นต้องกัน ครั้งนั้นมีพวกจีนลูกค้าที่อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อนและเมืองล่องโห้ ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวน พวกจีนในเมืองทั้งสองตำบลมีข้าศึกที่เกิดจราจลขึ้นในเมืองไซ่ง่อนหนีเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตราดบ้าง เมืองจันทบุรีบ้าง กรมการเมือง ทั้งสองเมืองบอกส่งพวกจีนที่หนีมาแต่เมืองญวนนั้นเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เจ้าพระยาพระคลัง๑๑ เสนบดีให้ล่ามพนักงานไต่ถามพวกจีนเหล่านั้น ๆ ให้การต้องคำกันทุกคน และคำให้การพวกจีนและหนังสือบอกเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองตราด เมืองจันทบุรี ทั้งสี่เมืองต้องกันกับคำให้การ…"๑๒
ในครั้งนั้นจงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพไปรบญวน มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับเมืองตราดว่า
"…โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาคลัง (ดิศ) ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้นถืออาญาสิทธิ์เป็น     แม่ทัพเรือคุมไพร่พลหมื่นห้าพันบรรทุกเรือรบมีชื่อในกรุงออกไปเกณฑ์เลขไทยเมืองตราด-เมืองจันทบุรี และเลขหัวเมืองเขมรที่เมืองกำปอดและเมืองเขมรป่ายางรวมกันอีกห้าพันรวมเป็นสองหมื่น ในทัพเรือนั้นให้ยกไปตีเมืองบันทายมาศฝ่ายญวนให้แตกให้จงได้…ให้เจ้าพระยาพระคลังฟังบังคับบัญชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกด้วยในข้อราชการศึกที่จะยกเข้าตีญวนนั้น…"๑๓
การเกณฑ์กองทัพของเจ้าพระยาพระคลังในครั้งนั้นกระทำดังนี้คือ "จัดให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระยาราชวังสันเป็นทัพนำหน้าเจ้าพระยาพลเทพ ให้พระยาอภัยโนฤทธ์พระยาราชบุรี พระยาระยอง พระยาตราด พระยานครไชยศรี พระยาสมุทรสงคราม  ทั้งนี้เป็นปีกซ้ายขวาของทัพหน้า…"๑๔
เมื่อยกทัพเรือเข้าตีปรากฏว่าในระหว่างศึกกันในลำน้ำนั้น บรรดานายทัพนายกองเหล่านั้นพากันทอดสมอเรือเสีย เพราะเห็นเรือญวนขวางกั้นอยู่เต็มลำคลอง ทำให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาต้องทำการรบทางบกไปแต่ฝ่ายเดียว เป็นการเสียหายแก่ราชการทัพอย่างยิ่ง จึงมีการพิจารณาโทษบรรดาแม่ทัพนายกองเหล่านั้น ปรากฏข้อความว่า
"…การที่เรือรบไทยถอนสมอไม่ขึ้นนั้นเป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่ก่อการก่อน จะขอออกชื่อไว้ให้ปรากฏที่เป็นคนมียศหัวเหน้าก่อการขลาดนั้นคือ เจ้าพระยาพลเทพ ชื่อ ฉิมโจโฉ ๑ พระยาเดโชท้านน้ำ ๑ พระยาราชวังสัน ๑ พระยาเพ็ชรบุรี ๑ พระยาราชบุรี ๑ พระยาเทพวรชุน ๑ พระยาอภัยโนฤทธิ์ชื่อบุนนาก ๑ พระยาจันทบุรี ๑ พระยาตราด ๑ พระยาระยอง ๑ พระยานครไชยศรี ๑ พระยาสมุทรสงคราม ๑ พระยาทิพโกษา ๑ พระยาวิสูตรโกษา ๑ พระยานเรนทรฤทธิ์โกษา แขกจาม ๑     พระยาไตรโกษา ๑ ออกชื่อแต่ ๑๖ คนนี้ที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสิ้น…"๑๕
ต่อมาเมื่อพระยาบดินทรเดชาได้เข้าอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงให้ "พระยาตราด" คุมพล เมืองตราดทั้งสิ้นไปตั้วสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรที่นักองจันทร์ขึ้นไว้ตกค้างอยู่ที่เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสมนั้นมีอยู่หลายสิบลำ ถ้าจะเลือกแต่ที่พอจะใช้ได้คงจะได้เรือรบเกือบร้อยลำ ถ้าพระยาตราดทำการซ่อมแซมเรือรบเก่าเขมรเสร็จแล้วได้มากน้อยเท่าใดให้คุมมาส่งไว้ในเมืองบันทายมาศ…"๑๖
ในขณะนั้นทางเขมรก็คิดตั้งตัวเป็นกบฏขึ้น พาสมัครพรรคพวกโจรเข้ามาลอบยิงไพร่พลที่คุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารล้มตายไปเป็นอันมาก เจ้าพระยาพระคลังจึงมีคำสั่งให้ พระปลัดเมืองตราดบุตรผู้ใหญ่พระยาจันทบุรีและพี่ชายต่างมารดากับหลวงยกกระบัตร "คุมไพร่พลสามร้อยกองหนึ่ง แล้วให้เป็นนายทัพบกไปติดตามเรือลำเลียงเสบียงอาหารที่เขมรตีไว้คืนมาให้จงได้ ถ้าไม่ได้เสบียงคืนมาก็ให้ตามไปจับเขมรเหล่าร้ายที่เมืองกำปอดมาให้ได้มาบ้าง ให้พระปลัดรีบยกไปทางบกก่อนโดยเร็ว แล้วสั่งให้หมื่นสิทธิสงคราม นายด่านเมืองตราดคุมไพร่พลสองร้อยคนเป็นนายทัพบกเพิ่มเติมไปติดตามเรือลำเลียงอีกกองหนึ่งแต่ให้ไปทางด้านตะวันตก ให้ยกไปรวมกันกับพระปลัดที่เมืองกำปอดข้าง เหนือ…"๑๗ พระปลดเมืองตราดยกไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่งชื่อ ท่าช้างข้าม เป็นเวลาพลบค่ำจึงหยุดพักผ่อน พวกเขมรในเมืองกำปอดจึงเข้าลอบโจมตี รุ่งขึ้นพระปลัดเมืองตราดจึงรวบรวมไพร่พลที่เหลือเดินทางต่อไปก็ถูกเขมรลอบโจมตีอีก ทำให้ไพร่พลล้มตายลงเป็นอันมาก แต่กองทัพของหมื่นสิทธิสงครามมาพบเข้าจึงช่วยไว้ได้ และรับพระปลัดเมืองตราดและไพร่พลที่รอดตายรวม ๓๕ คน เข้าไว้ ยกทัพเดินทางต่อไป ได้ปะทะกับกำลังฝ่ายเขมรและจับพวกเขมรได้ ๑๔ คน สอบสวนด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาแล้วได้ความว่า "พระคะเชนทรพิทักษ์เขมรนายกองช้างของนักองจันทร์ ตั้งให้คุมคนเลี้ยงช้างอยู่ที่เมืองกำปอดนั้น พระคะเชนทรพิทักษ์ท้ารบว่ากองทัพไทยแตกพ่ายญวนมาแล้วและกองลำเลียงไทยบรรทุกข้าวปลาอาหารมาถึงเมืองกำปอด ติดน้ำยังกำลังเข็นเรืออยู่ที่ในลำคลอง พระคะเชนทรพิทักษ์ เห็นว่าได้ทีมีช่อง จึงได้ชวนไพร่พลชาวบ้านป่าที่อดอยากขัดสนเสบียงนั้นได้เจ็ดสิบแปดสิบคน แล้วพากันมาตีปล้นเรือเสบียงได้เรือยี่สิบสามลำ…"๑๘
จากเอกสารนี้ปรากฏข้อความต่อไปนี้ว่า พระคะเชนทรพิทักษ์นั้นเมื่อกระทำการเช่นนั้นแล้ว คิดเกรงกลัวกองทัพไทยจะยกติดตามมา จึงแต่งให้คนไปซุ่มโจมตีอยู่ดังกล่าวข้างต้น เมื่อสอบสวนได้ความดังนั้นหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดจึงยกเข้าล้อมพระคะเชนทรพิทักษ์และจับตัวได้พร้อมทั้งบุตรภรรยาและครอบครัว จึงให้เขมรเชลยขนข้าวปลาอาหารที่เขมรตีชิงเอาไปนั้นกลับคืนมาได้รวม ๑๘ ลำ เสียหายไปเพราะพวกเขมรกระทุ้งท้องเรือจมไป ๕ ลำ จากนั้นจึงลำเลียงเสบียงอาหารทั้ง ๑๘ ลำนั้นส่งไปยังเมืองบันทายมาศ๑๙
คุณความดีที่หมื่นสิทธิสงครามกระทำในครั้งนั้น เจ้าพระยาพระคลังได้รายงานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบทั้งหมด รวมทั้งความผิดพลาดของหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีซึ่งคุมเรือเสบียงอาหารไปถูกเขมรซุ่มโจมตีแล้วเอาตัวรอด ปล่อยให้ไพร่พลสู้รบตามลำพังจนเสียแก่เขมรไปนั้น และเรื่องที่พระปลัดเมืองตราดพาไพร่พลเมืองตราดไปตายถึง ๒๖ คนเหลือกลับมาเพียง ๓๔ คนนั้นด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาให้พิจารณาโทษผู้กระทำความผิด โดยให้ประหารชีวิตหลวงยกกระบัตร ส่วนพระปลัดเมืองตราดถือว่ามีความผิดไม่มากนัก ให้เฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีหรือ ๓๐ ที แล้วตระเวนรอบค่าย ๓ วัน ส่วนการลดหรือถอดบรรดาศักดิ์อย่างไรให้พิจารณาเอง เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ควบคุมตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีกับพระปลัดเมืองตราดส่งไปให้เจ้าพิจารณาเอง เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ควบคุมตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีกับพระปลัดเมืองตราดส่งไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทำโทษ เนื่องจากตนไม่กล้าฆ่าตามคำสั่ง เพราะ "กลัวบาปเกรงกรรมจะตามไปชาติหน้า"
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #45 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:32:45 »

ตราด ๒
ในครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงโทษผู้กระทำผิด โดยประหารชีวิตหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี สำหรับพระปลัดเมืองตราดให้เฆี่ยนหลังหกสิบทีแล้ว "ลดฐานานุศักดิ์ลงคงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนที่หลวงยกกระบัตรชื่อแก้วที่มีความผิดฆ่าเสียนั้นแล้ว" ส่วนหลวงสิทธิสงครามซึ่งทำความดีไว้นั้น ได้มีหนังสือไปยังเจ้าพระยาพระคลังว่า "…ให้เจ้าคุณพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด ให้มอบถาดโคนโทน้ำทองให้แก่เขาเป็นเครื่องยศ แล้วให้มีใบบอกไปในกรุงเทพฯ ด้วย…"๒๐ เจ้าพระยาพระคลังได้ตั้งหมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด ส่วนพระปลัดเมืองตราดคนเดิมถูกลดตำแหน่งลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีนั้น ขณะที่ถูกคุมตัวส่งไปยังเจ้าพระยาพระคลังได้กระโดดน้ำตายเสียก่อน
พระปลัดเมืองตราดคนใหม่นี้ได้รับคำสั่งให้คุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราดไป     ตั้งซ่อมแซมอยู่ที่เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสมเจ็ดสิบลำ คุมไปส่งที่เมืองบันทายมาศ
เรื่องราวของหมื่นสิทธิสงคราม ซึ่งต่อไปได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดเมืองตราด     ดังกล่าวนี้อาจจะสอดคล้องกับเรื่องราวที่เคยมีผู้เขียนไว้ในเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดตราดตอนนี้ว่า มีชาวท่ากุ่มคนหนึ่งถูกเกณฑ์ ไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย ได้รับเลื่อนยศเป็น "หมื่นคง" ได้ทำการสู้รบอยู่เข้มแข็งในกองทัพมากบุคคลนี้กล่าวกันว่าเป็นต้นตระกูล "กุมภะ" เมื่อมีเรื่องราวสอดคล้องกันเช่นนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้
ในราชการสงครามที่เกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ เมืองตราดมีบทบาทในการร่วมรบด้วยทุกครั้งจนสิ้นรัชกาล
เมืองตราดสมัยเปลี่ยนแปลง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองครั้งสำคัญนั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองตราดอยู่ไม่มากนัก ที่สำคัญได้แก่ การตั้งเมือง   ปัจจันตคีรีเขตต์และการแบ่งราชการปกครองหัวเมือง
ในปี พ.ศ.  ๒๓๙๘ (จ.ศ. ๑๒๑๗) ซึ่งเป็นปีที่ ๕ แห่งการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งเกาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราดมาก่อน๒๑ ขึ้นเป็นเมืองใหม่ โดยพระราชทานนามเมืองนี้ว่า เมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) เมื่อจัดตั้งเมืองนี้ขึ้นมาแล้ว เมืองปัจจันตคีรีเขตต์จึงเป็นเมืองหน้าด่านแทนเมืองตราด เพราะเป็นเมืองที่มีเขตติดต่อกับเขมรและญวน
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรให้ขึ้นต่อกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมท่า ตามประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศข้อความต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า พระยาราชวรานุกูลฯ ขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลกระหม่อมทราบ ฝ่าพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าว่าราชการในกรมนานั้น  พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ และในข้อพระราชบัญญัติของนา มีว่า เสนาที่จะเดินประเมินนาหัวเมืองชั้นใน ชั้นกลาง ชั้นนอกนั้น ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้าฯ จัดหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่าเป็นสามชั้นดังนี้ นั้นนอก เมืองขึ้นกรมมหาดไทย…เมืองขึ้นกรมพระกลาโหม…เมืองขึ้นกรมท่า เมืองระยอง ๑ จันทบุรี ๑ เมืองตราด ๑ รวม ๓…๒๒
ข้อความตามประกาศนี้ แสดงถึงสังกัดของเมืองตราดยังขึ้นกับกรมท่าอยู่ต่อไปอีก และต่อมาก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งมีการปรับปรุงการปกครอง แบ่งเป็นกระทรวง   ต่าง ๆ ในส่วนกลางขึ้น
ได้มีการแต่งตั้ง "เจ้าเมืองกรมการ" มาปกครองดูแล โดยมีประกาศตั้งชื่อเจ้าเมืองในสมัยนั้นไว้ดังนี้
"เมืองขึ้นกรมท่า…เมืองตราด พระยาพิพิธสมบัต แปลงว่า พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษ   สิงหนาทแล้วแปลงว่า พระยาพิพิธภักดีศรีสมบัติ แล้วแปลงอีกว่า พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการหลวงราชภักดีสงครามแปลงว่า พระวรบาทภักดีศรีสงคราม ปลัด หลวงศรีสงคราม แปลงว่า หลวงรามฤทธิรงค์ ยกกระบัตรตั้งปลัดจีนขึ้นใหม่อีกนาย ๑ พระยาปราณีจีนประชา ปลัดจีนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์เดิมหลวงเกาะกง ทรงตั้งใหม่ว่า พระพิไชยชลธี หลวงคิรีเนมิททวีปปลัด…๒๓
เมืองตราด ในสมัยนั้นจึงมีกรมการเมือง ๔ คน คือ เจ้าเมือง ปลัดเมือง ปลัดเมืองฝ่ายจีน (ปลัดจีน) และยกกระบัตรเมือง ส่วนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์  มีกรมการเมือง ๒ คน คือ เจ้าเมืองและปลัดเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์เป็นต้นมาประเทศไทยถูกคุกคามจากประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงต้องปรับปรุงฐานะทางการทหารและกิจการฝ่ายพลเรือนให้ทันสมัย และเข็มแข็งยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์จัดตั้งสถานีทหารเรือขึ้นตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก สถานีทหารเรือในครั้งนั้นได้จัดตั้งขึ้นที่ ชลบุรีบางพระ บางละมุง ระยอง แกลง จันทบุรี ขลุง ตราด เกาะกงและเกาะเสม็ดนอก๒๔ ซึ่งจากผลการดำเนินงานนี้ที่ให้เมืองตราดและเกะกงกลายสภาพมาเป็น "สเตชั่นทหารเรือ" สำหรับเป็นด่านป้องกันภัยที่จะคุกคามจากฝรั่งเศสทางทะเล
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารใช้กำลังเข้าบีบบังคับไทยโดยยกกองทัพมาเข้าขับไล่ทหารไทยให้ถอยร่นออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและส่งเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความยุ่งยากทางชายแดนไทยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขตขึ้น และจัดกองบัญชาการทัพออยู่ตามหัวเมืองชายทะเลแต่ละด้านขึ้นด้วย ทางด้านหัวเมืองฝ่ายตะวันออกซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงต่างประเทศ (เดิมขึ้นกรมท่า) นั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้แต่งตั้งให้พลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ (ANDER DU PLESSIS DE RICHELIEU) เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ทางกระทรวงต่างประเทศได้มีคำสั่งมายังผู้ว่าราชการเมืองแถบนี้ ซึ่งรวมทั้งเมืองตราดด้วย ให้ช่วยพระยาชลยุทธโยธินทร์จัดการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาเขต๒๕
สำหรับด้านเมืองตราดและเกาะกงนั้น ปรากฏตามหนังสือของพระยาชลยุทธโยธินทร์ ซึ่งนำขึ้นกราบทูลเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๖ ว่า "ที่เกาะกงจัดทหารมะรีน (ทหารเรือ) จากกรุงเทพฯ ๑๔ คน ทหารจากเมืองตราด ๒๔ คน ทหารจากเมืองแกลง ๑๒ คน รวม ๕๐ คน แจกปืนเฮนรีมาตินี ๑๐๐ กระบอก กระสุนพร้อม ที่แหลมงอบจัดทหารไว้ ๒๐๐ คน พร้อมที่ส่งไปช่วยทางเกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราด มีสภาพไม่ดีให้บ้านเมืองเร่งซ่อมถนนให้เร็วใน ๑ เดือนพอให้เกวียนเดินได้ ที่แหลมงอบนี้จ่ายเป็นเฮนรีมาตินี ๒๘๘ กระบอก กระสุนพร้อม"๒๖
เมืองตราดถูกฝรั่งเศสยึดครอง
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้ายึดครองดินแดนของประเทศไทยให้ได้ในที่สุด ดังเช่นได้กระทำจนเป็นผลสำเร็จมาแล้วในญวน เขมร และลาว ซึ่งในที่สุดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบให้จังหวัดตราด ต้องตกอยู่ใน          ความปกครองของฝรั่งเศสก็อุบัติขึ้น
มูลเหตุของการยึดครอง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ฝ่ายไทยปฏิบัติตามเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๓๖ โดยให้เวลาตอบ ๔๘ ชั่วโมง ฝ่ายไทยได้ตอบข้อเรียกร้องเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๓๖ แต่ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายฝรั่งเศส    ดังนั้น วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสจึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสสั่งผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลปิดล้อมอ่าวไทย ตั้งแต่แหลม    เจ้าลายถึงบริเวณแหลมกระบังและในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ประกาศปิดล้อมอ่าวไทยครั้งที่ ๒ โดยขยายเขตเพิ่มบริเวณเกาะเสม็ด จนถึงแหลมลิง รวม ๒ เขต
ในวันเดียวกันคือ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝ่ายไทยจำต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสที่ยื่นไว้แต่เดิม ในวันรุ่งขึ้นฝรั่งเศสถือโอกาสยื่นคำขาดเพิ่มเติมอีก โดยประกาศยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันและบังคับให้ไทยถอนตัวออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอีกด้วย ไทยจำเป็นต้องยอมรับโดยไม่มีทางเลือก เมื่อฝ่ายไทยปฏิบัติตามคำขาดนั้นแล้ว ฝรั่งเศสได้ยกเลิกการปิดอ่าวในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๓๖ เวลา ๑๒.๐๐ น. แต่การยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรียังคงยึดไว้ตามเดิม
ต่อมาได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันโดยหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม  ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ มีข้อความระบุไว้ในอนุสัญญาผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาข้อ ๖ ว่า "คอนเวอนแมต์ (CONVORNMENT) ฝรั่งเศสจะได้ตั้งอยู่ต่อไปที่เมืองจันทบุรี จนกว่าจะได้ทำการสำเร็จแล้วตามข้อความในหนังสือสัญญานี้…"
แม้ทางฝ่ายไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสบีบบังคับไว้แล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหาร ยังคงยึดจันทบุรีไว้อีกเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี เป็นเหตุให้ต้องมีการตกลงทำสัญญาขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งคืออนุสัญญาลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) แต่หนังสือฉบับนี้ฝรั่งเศสไม่ยอมให้สัตยาบันและไม่ถอนกำลังออกจากจันทบุรี จึงได้ตกลงมีสัญญาต่อมาอีก คือ สัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๑๒๒) คราวนี้ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังออกจากจันทบุรี
ฝรั่งเศสยึดครองเมืองตราด
ย่างเข้าปี ร.ศ. ๑๒๒ แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์นั้นเอง ฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันที่กรุงปารีสเมื่อธันวาคม ๒๔๔๗ มีผลให้จังหวัดตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงไปต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส จากหลักฐานสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ไม่มีข้อความใดระบุการ    ครอบครองจังหวัดตราดไว้เลย แต่ในข้อ ๓ แห่งสัญญาระบุไว้ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันออกไปทำการกำหนดเขตแดน พระบริหารเทพธานี๒๗ กล่าวอ้างไว้ว่า ได้มีการกำหนดปักปันเขตแดนกันตรงแหลมลิง (ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ) จึงดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้สิทธิในการครอบครองเมืองตราดแทนจันทบุรี
เมื่อข่าวการยึดครองของฝรั่งเศสแพร่สะพัดรู้ไปถึงราษฎร ต่างก็ตกใจและเกิดการอพยพ แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถและทอดพระเนตรเหตุการณ์ไกล จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง      ความพยายามของพระองค์ท่านที่จะประวิงเวลาให้เมืองตราดคงอยู่ในพระราชอาณาจักรไร้ผล ในที่สุดฝ่ายไทยจึงต้องมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสแน่นอน ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
ได้มีพิธีส่งมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส จากหลักฐานของพระบริหารเทพธานี บันทึกไว้ว่าพระยาศรีสหเทพและที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย (มิสเตอร์โรบินส์) เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมอบเรสิดังต์เดอฟอริงลิมง ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสเป็นผู้รับมอบ ได้กระทำพิธีมอบที่หน้าเสาธงซึ่งอยู่หน้าศาลากลางที่พระยาพิพิธฯ สร้างไว้ โดยมีทหารฝ่ายละ ๑ โหล มอบวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗ เวลาเที่ยงวัน มีข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าแถวอยู่ด้วย พระยาศรีสหเทพ เป็นผู้อ่านประกาศมอบเมืองให้แก่ฝรั่งเศสพอจบลงเรสิดังต์ ข้าหลวงฝรั่งเศสอ่านคำรับมอบจากรัฐบาลสยามเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อจบพิธี ทหาร ๒ ฝ่ายยิงสลุตฝ่ายละ ๑ โหล แตรบรรเลงขึ้น ทันใดพระยาศรีสหเทพชักธงสยามลง เรสิดังต์ ชักเชือกธงฝรั่งเศสขึ้น เมื่อธงฝรั่งเศสถึงยอดเสา ทหารยิงสลุตอีกฝ่ายละ ๑ โหล๒๘
นับจากนั้นมาเมืองตราดจึงตกอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส จนถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ จึงได้มีการตกลงทำหนังสือสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า "หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จ    พระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสสิเดนต์แห่งรีปัปลิคฝรั่งเศส" ฝรั่งเศสจึงคืนเมืองตราดให้ไทยตามเดิม แต่ฝ่ายไทยจะต้องยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณ เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยน เมืองทั้งสามเมืองนั้นมีดินแดนประมาณ ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แลกกับเมืองตราด ประมาณ ๒๙๑๙    ตารางกิโลเมตร ยกเว้นเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ฝรั่งเศสมิได้คืนแต่ประการใด
การทำสัญญาฉบับนี้ ทำในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ แต่ได้มีพิธีรับมอบเมืองคืนเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ เวลา ๙.๐๐ น. ฝ่ายฝรั่งเศสมีรุซโซ อาระมองค์ อังมินิส ตราเตอร์ เดอแซร์วิศ     เซวิลเลอ เรสิดังค์ เดอฟรังค์ ณ เมืองกำปอดเป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสพระยาศรีสหเทพข้าหลวงฝ่ายไทยเป็นผู้รับมอบ
จากหลักฐานการมอบเมืองตราด หลวงสาครคชเขตต์ ได้รวบรวมเล่าไว้ในหนังสือ        จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองตราดว่า๒๙ ในพิธีรับมอบ ข้าหลวงสองฝ่าย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ พร้อมด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ประชุมกันหน้าศาลากลางจังหวัด ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสอ่านหนังสือมอบเมืองเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วส่งคำแปลให้ ฝ่ายข้าหลวงไทยกล่าวคำรับมอบเมืองและชักธงไทยขึ้นสู่ยอดเสาจากนั้นจึงมีการดื่มให้พรแก่ประเทศของกันและกันตามธรรมเนียม
หลังพิธีมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศสแล้ว ได้มีพิธีสมโภชเมืองโดยตกแต่งประดับประดาสถานที่ราชการและอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นประดิษฐานบนศาลากลางจังหวัด แล้วนิมนต์พระภิกษุรวมจำนวน ๕๕ รูป เท่าพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการสวดมนต์เย็น โดยมีพระครูสังฆปาโมกข์ เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานกลางคืนมีการประดับโคมไฟและมีมหรสพ ตามอาคารบ้านเรือนมีการตกแต่งและตั้งเครื่องบูชา มีการเลี้ยงอาหารแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ชั้นผู้น้อย รุ่งขึ้นเช้ามีการตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วเวลา ๑๔.๐๐ น. เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานที่หน้าศาลากลางจังหวัดแล้วข้าหลวงประจำจังหวัดเชิญธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสา ลั่นกลองชัยและประโคมดนตรี กองทหารและตำรวจทำวันทยาวุธและยิงสลุต เรือมกุฎราชกุมารซึ่งยังทอดสมออยู่ที่ปากอ่าวก็ยิงสลุตด้วย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา บรรดาข้าราชการและประชาชนต่างพากันเปล่งเสียงไชโย ๓ ครั้ง เสร็จแล้วพระครูเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีอ่านคาถาพระพรชัยแทนพระสงฆ์ทางฝ่ายราษฎรมีขุนสนิท กำนันตำบลวังกระแจะอ่านคำถวายชัยมงคลในนามประชาชน มีข้อความต่อไปนี้
"ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้อพระพุทธเจ้าราษฎรจังหวัดตราดขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า การที่จังหวัดตราดได้กลับคืนมาเป็นพระราชอาณาจักรไทยตามเคยอย่างแต่ก่อนนั้น เป็นพระเดชและพระมหากรุณาธิคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ และข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รวมกับพลเมืองซึ่งเป็นชาติเดียวกันตามเดิมนั้น เป็นที่ยินดีของข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้มาประชุมพร้อมกันอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญ  พระพุทธมนต์แล้ว ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแลขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเจริญ พระชนมายุยืนนาน สถิตดำรงในสิริราชสมบัติยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากสรรพโรคาพิบัติอุปัทวันตราย มีพระราชประสงค์กิจสิ่งใด ขอให้สำเร็จดังพระราชประสงค์จงทุกประการเทอญ"๓๐
คำถวายชัยมงคลนี้ได้มีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยทางโทรเลข ณ ยุโรปด้วย เมื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระราชโทรเลขพระราชทานตอบมาจากเมืองตรอนเซียม ประเทศนอรเวย์ มีข้อความดังนี้
"ถึงผู้ว่าราชการกรมการ และราษฎรเมืองตราด"
เรามีความจับใจเป็นอย่างยิ่งในถ้อยคำที่เจ้าทั้งหลายได้กล่าวแสดงความจงรักภักดีต่อตัวเรา เรามีความยินดีที่ได้เมืองตราดกลับคืนและขออนุโมทนาในการกุศลที่เจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันจัดทำในคราวนี้การที่เจ้าทั้งหลายได้พลัดพรากจากเรานั้น เรามีความเสียดายเป็นอันมากแต่บัดนี้มีความยินดีนักที่เจ้าทั้งหลายได้กลับคืนมาในพระราชอาณาจักรของเรา ซึ่งเราจะเป็นธุระจัดการทะนุบำรุงให้เจ้า  ทั้งหลายได้รับความสุขสำราญต่อไปภายหน้า เราจะได้มาเมืองตราดเพื่อเยี่ยมราษฎรชาวเมืองตราด ซึ่งเป็นที่ชอบพอและได้เคยพบปะกันมาแต่ก่อน ๆ แล้วนั้นด้วย"๓๑
การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราด
จากการที่ประชาชนชาวจังหวัดตราดได้มีโทรเลขไปกราบทูลแสดงความยินดีที่ได้กลับคืนมาสู่อาณาจักรดังกล่าวแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารถว่า เมื่อเสด็จนิวัติพระนครจะเสด็จแวะเมืองตราดก่อน
ดังนั้นหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปโดยประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งทางฝ่ายผู้รักษาพระนครได้จัดการไปรับเสด็จที่เมืองปีนังเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๕๐ จึงได้เสด็จมายังเมืองตราดโดยมาประทับแรมที่เกาะกูดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเกาะกระดาษและถึงเมืองตราดในตอนเช้าวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๐๓๒
เมื่อเสด็จออกจากเรือพระที่นั่งขึ้นประทับพลับพลาที่ท่าเรือแล้วพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถวายเสร็จแล้วพระบริรักษ์ภูธรผู้ว่าราชการเมืองตราดกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ที่พักผู้ว่าราชการเมือง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาที่ประทับซึ่งมีพระสงฆ์ ประชาชนและข้าราชการคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ฝ่ายคณะสงฆ์มีพระญาณวราภรณ์ เจ้าคณะมณฑลจันทบุรีเป็นประธาน เจ้าอธิการ แจ้งว่าที่เจ้าคณะรอง๓๓ ได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคลแทนพระสงฆ์เมืองตราดแสดงความยินดีที่เสด็จพระราชดำเนินมาประพาสเมืองตราด มีข้อความต่อไปนี้
คำถวายพระพรมงคล
ของพระภิกษุสงฆ์เมืองตราด
ขอถวายพระพร เจริญพระสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนม์สุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ
อาตมาภาพพระภิกษุสงฆ์ในแขวงเมืองตราด ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสแสดงปิติคาถาในเบื้องต้น และถวายพระพรมงคลในที่สุด
การที่ได้เมืองตราดกลับมาเป็นราชอาณาเขตสยามตามเดิม เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนตั้งต้นแต่พระภิกษุสงฆ์ ได้กลับมาพึ่งพระบรมราชสมภาร บรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ซึ่งเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ บำเพ็ญพุทธศาสนกิจตามสามารถด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ข้อนี้ทำให้เกิดปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว และยังซ้ำเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราดในครั้งนี้ เพื่อให้ชาวเมืองได้เห็นเป็นสวัสดิมงคล และแสดง  พระเมตตาคุณที่มีอยู่ในประชาชนชาวเมืองตราดเป็นอันมาก จึงได้เกิดความปราโมทย์โสมนัสทวียิ่งขึ้น ด้วยมาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นต้นนั้น จึงพร้อมใจกันตั้งสัตยาธิษฐานถวายพระพรมงคล
พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
ครีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชตวา มุนินโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลํ
สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์มหามุนินทร์ได้ทรงชนะมารกับทั้งเสนาอันร้ายกาจ ทรงคีรีเมขล์เป็นราชคชาธาร มีกรพันหนึ่งซึ่งทรงสรรพอาวุธอันนฤมิต แล้วด้วยธรรมวิธีคือพระบารมีสิบทัศมี      พระทานพระบารมีเป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งสมเด็จพระทศพลมหามุนินทร์ซึ่งทรงชนะมารนั้น ขอชัยมงคลอันเลิศจงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐและขอพระพุทธาทิรัตนัตตยานุภาพจงอภิบาลอุปถัมภ์สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าให้ทรงเกษมสานต์ ทรงพระชนมายุยืนนาน และทรงบริบูรณ์ด้วย วรรณ สุข ทุกทิวาราตรี ยิ่งด้วยพระกำลังปฏิภาณปรีชาและวรกาย ผู้มุ่งหมายอนัตถจงเสื่อมสูญและกลับนำประโยชน์เกื้อกูลมา สรรพอุปสรรคอุปัทวันตราย ทุกขโรคาพาธภัยพิบัติจงพินาศ ราชลาภจงหลั่งไหลมาทุกทิศานุทิศ สรรพธรรมิกราชประสงค์จงประสิทธิดังพระราชหฤทัย โดยไม่เนิ่นช้า สยามานาเขตจงไพศาลและบริบูรณ์ด้วยประโยชน์สาร ขอสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงสถิตยืนนานในพระบรมราชมไหศวริยสมบัติ เพื่อได้ทรงอุปถัมภ์พระบรมพุทธศาสนาให้ถาวรเจริญยิ่ง และเพื่อประชาราษฎรได้ประสบสิ่งซึ่งเป็นคุณประโยชน์สุขทั่วหน้าด้วยพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณพระบรมราชูปถัมภ์โดยธรรมมิกอุบายเป็นนิจนิรันดร์ ขอถวายพระพร๓๔
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #46 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:33:11 »

ตราด ๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบแล้ว พระสงฆ์สาธุพร้อมกัน จากนั้นได้พระราชทานย่ามที่ระลึกการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ถวายอดิเรกเสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จออกหน้าพลับพลา ข้าราชการมณฑลจันทบุรีและเมืองตราดตลอดจนราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน ผู้ว่าราชการเมืองตราดได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล ในนามประชาชนเมืองตราด มีข้อความต่อไปนี้
คำถวายชัยมงคล
ของประชาชนชาวเมืองตราด
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทาน   พระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาแทนบรรดาข้าราชการและประชาชนราษฎรอันล้วนร่วมฉันทสโมสร คำนึงถึงพระเดชพระคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ได้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาถึงเมืองตราด ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทยุคลในเวลาวันนี้
จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทราบความตามโทรเลขที่พระราชทานมาแต่ในเวลาเสด็จประพาสอยู่ ณ ประเทศยุโรปเมื่อ ณ เดือนกันยายน ทรงพระกรุณาดำรัสว่าจะเสด็จมาให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เฝ้าถึงเมืองตราดนี้ ก็ได้พากันตั้งหน้าหมายตาคอยด้วยความยินดีที่จะได้ประสบมงคลสมัยอันนั้นอยู่ แต่มิได้คาดเลยว่าจะทรงพระราชอุตสาหเสด็จมาในเวลาขากลับจากประเทศยุโรปก่อนได้เสด็จคืนยังพระราชนิเวศน์มณเทียรสถานในพระราชธานีที่ได้เสด็จจรจากพรากไปแล้วเป็นช้านาน ที่สู้ทรงทรมานพระองค์เสด็จมาทั้งนี้จะพึงคิดเห็นได้แต่ด้วยเหตุอย่างเดียว คือ ว่าทรงพระเมตตาแก่ชาวเมืองตราดเหมือนอย่างบิดาที่มีความอาวรณ์ระลึกถึงบุตรแล้ว และมิได้คิดแก่ความลำบากยากเข็ญอย่างไร สู้ฝ่าฝืนทูรประเทศทางกันดารไปเพื่อแต่ที่จะให้เห็นหน้าบุตรเป็นที่ตั้ง ดังนี้
อันน้ำใจของประชาชนชาวเมืองตราด เมื่อได้แลเห็นพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐในเวลาวันนี้ ความปิติยินดีตื้นเด็มอกไปทั่วหน้า พ้นวิสัยที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำให้ทรงทราบได้ว่า ความยินดีที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้มีแก่ชาวเมืองตราดสักเพียงใด ถ้าจะมีที่เทียบเปรียบได้ก็แต่ด้วยความยินดีของพระชาลีนางกัณหาเมื่อได้กลับไปพบเห็นพระเวสสันดรและนางมัทรีที่กล่าวไว้ในกัณฑ์ฉขัติยบรรพนั้นพอจะนับว่าเป็นทำนองเดียวกันได้ด้วยประการทั้งปวง
อำนาจความปิติยินดีที่มีทั่วหน้ากันในครั้งนี้กับทั้งอำนาจกุศลบุญราศีอันบังเกิดแต่ความกตัญญูกตเวทีของชาวเมืองตราด ซึ่งได้มีมั่นคงต่อฝต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งในเวลาทุกข์และสุขสืบเสมอมาทุกเมื่อนี้ สมควรจะอ้างเป็นสัจจาธิษฐานแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งจะพร้อมกันทูลถวายพระชัยมงคลให้ประสิทธิในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในเวลานี้ และด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายของพระราชทานถวายพรแด่ สมเด็จพระบรมนาถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอให้ทรงพระเจริญสิริสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล พระชนมายุสถาพร ขอให้ทรงมีชัยชำนะแก่อริราชดัสกรทั่วทิศานุทิศ และขอให้สรรพราชกิจประสิทธิ์สมดังพระราชหฤทัยจำนงจงทุกประการเทอญ ขอเดชะ๓๕
เมื่ออ่านจบแล้วได้บรรจุคำถวายชัยมงคลในกล่องงาซึ่งทำเป็นรูปกระบอกยอดเป็นพระเกี้ยวทองคำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้มีพระราชดำรัสตอบ ดังต่อไปนี้
พระราชดำรัสตอบประชาชนชาวเมืองตราด
ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเรา ถ้อยคำซึ่งเจ้าทั้งหลายได้มอบฉันทะให้กล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้เป็นที่จับใจอย่างยิ่ง
สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากจากเขตแดนอันเป็นที่พึงใจซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่เมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักใคร่คุ้ยเคยของเราต้องได้รับความเปลี่ยนแปลงอันประกอบไปด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อย ย่อมมีความเศร้าสลดใจเป็นอันมาก
เพราะเหตุฉะนั้น ครั้นเมื่อเราได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยเมื่อเราได้มาอยู่รวมกันอีกจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่ได้มาเห็นเมืองนี้และเจ้าทั้งหลายเพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใดซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลงและเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่าการทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืนยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ละทิ้งภูมิลำเนาจะได้กลับเข้ามาสู่ถิ่นฐานและได้ละเว้นการทำมาหากินจะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนและทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตรจึงรีบมาหานั้นเป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้าดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ว่า เราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์
บัดนี้เรามีความยินดีที่ได้เห็นเจ้าทั้งหลายมาสโมสรประชุมกัน ณ ที่นี้ด้วยหน้าตาอัน    เบิกบาน ซึ่งเป็นพยานว่าถึงเราได้อยู่ในประเทศที่ไกล แต่รัฐบาลของเราได้จัดการต้อนรับเจ้าทั้งหลายโดยความเอื้อเฟื้อเป็นธรรม และมีความกรุณาสมดังความปรารถนาและคำสั่งของเราเป็นที่พอใจในความจงรักภักดีของเจ้าทั้งหลาย ทั้งในเวลาที่ล่วงมาแล้วและในเวลานี้จึงมีความปรารถนา ที่จะให้เมืองตราดนี้อยู่เย็นเป็นสุขสมบูรณ์และขออำนวยพรแก่ประชาราษฎรให้มีความเจริญสุขสิริสวัสดิ์ ทำมาค้าขึ้นบริบูรณ์มั่งคั่งสืบไปในภายหน้า๓๖
เมื่อจบพระราชดำรัสแล้วประชาชนได้เปล่งเสียง "สาธุ" พร้อมกัน จากนั้นได้พระราชทานพระแสงสำหรับเมือง๓๗ โดยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับจากพระหัตถ์ และอัญเชิญขึ้นพาดไว้เหนือบันไดแก้วบนโต๊ะบูชา ประชาชนและข้าราชการได้พร้อมกันโห่ถวายพระพรชัยมงคล ๓ ครั้ง พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พนักงานประโคมดนตรี
หลังจากนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานแจกเสมาที่ระลึกในการเสด็จประพาส     ยุดรปให้แก่เด็กและหัวหน้าราษฎรทุกชาติทุกภาษาด้วย เสร็จแล้วพระะบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสถนนในเมืองแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงท่าเรือในเวลา ๑๖ นาฬิกา เสด็จประทับเรือพระที่นั่งออกจากท่าเรือต่อไปยังเมืองจันทบุรี
การแยกอำเภอทุ่งใหญ่ออกจากเมืองขลุง
เมื่อจังหวัดตราดกลับคืนมาเป็นของไทยตามเดิมแล้ว ได้มีประกาศให้ยุบเมืองขลุงลงให้คงสภาพเป็นเพียงอำเภอขึ้นกับจังหวัดจันทบุรีตามเดิม ส่วนอำเภอทุ่งใหญ่ซี่งได้ประกาศให้ขึ้นกับเมืองขลุง เมื่อปี ๒๔๔๙ นั้น ให้โอนกลับมาขึ้นกับเมืองตราดต่อไปตามเดิม๓๘
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
เทศาภิบาล
แต่เดิมมาหัวเมืองต่าง ๆ มิได้มีการแบ่งออกเป็นท้องที่ย่อย ๆ คงเรียกชื่อเมือง และ    หมู่บ้านเท่านั้นต่อมาในปี ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๖" ขึ้นไว้ โดยแบ่งมณฑลออกเป็นเมือง แต่ละเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอแต่ละอำเภอแบ่งออกเป็นตำบล แบ่งเป็นหมู่บ้าน มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง   นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้บังคับบัญชาปกครองดูแลลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ๓๙
ในเขตจังหวัดได้มีประกาศเกี่ยวกับการแบ่งเมืองต่างๆ ออกเป็นเมืองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการระบุชื่อ "เมืองตราด" ไว้ โดยขึ้นในเขตมณฑลจันทบุรี ๔๐ ตม  "ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. 122"

การจัดรูปการปกครองในปัจจุบัน
ระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
จังหวัดตราด หรือเมืองตราด เดิมจัดแบ่งลักษณะการปกครอง เมืองตราดออกเป็นอำเภอ ๓ อำเภอ ปรากฏหลักฐานที่พระบริหารเทพธานี รวบรวมไว้ว่า๔๑ เมืองตราดในสมัยพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (สุข  ปรัชญานนท์) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๗) ดังนี้
๑. อำเภอเมือง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ มีตำบลรวม ๒๓ ตำบล คือ บางพระ เกาะกันเกรา หนองเสม็ด หนองคันทรง แหลมหิน ห้วงน้ำขาว อ่าวญวน หนองโสน น้ำเชี่ยว แหลมงอบ บางปิด ปลายคลอง วังแจะ คลองใหญ่ (เขาสมิง) ห้วงแร้ง ตะกางแหลมฆ้อ ยายหลิ่ว ท่าพริก ชำราก คลองใหญ่ (แหลมงอบ) แหลมกลัด และท่าลุ่ม (คงเป็นท่ากุ่ม) มี ขุนศรีวิไชย เป็นนายอำเภอ (ส่วนคลองใหญ่ปัจจุบันเดิมขึ้นกับเมืองปัจจันตคีรีเขตต์)
๒. อำเภอศรีบัวทอง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าฉาง๔๒ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคลองใหญ่มีตำบล ๑๐ ตำบล คือ ศรีบัวทอง ท่าโสม แสนตุ้ง สะตอ ช้างทูน ประณีต บ่อนาวง ด่านชุมพร ตากแว้ง ท่าฉาง มีนายปลั่งเป็นนายอำเภอ๔๓
๓. อำเภอเกาะช้าง ตั้งอยู่ที่บ้านด่านใหม่ (บ้านคลองนนทรีปัจจุบัน) ท้องที่อำเภอนี้เป็นเกาะทั้งหมด คือ เกาะช้าง เกาะกูด เกาะม้า (เกาะหมาก) เกาะกระดาษ เกาะไม้ซี้ใน เกาะไม้ชี้นอก เกาะคลุ้ม เกาะขาน (เกาะจาน) และเกาะเล็ก ๆ อีกมากมายรวม ๔๑ เกาะ ตั้งเสนาหลาย (ชื่อเสนา) เป็นนายอำเภอ๔๔
อำเภอศรีบัวทองนั้น น่าจะมีการแบ่งแยกออกเป็นอำเภอใหญ่อีกอำเภอหนึ่งชื่อ "อำเภอทุ่งใหญ่ ในสมัยต่อมา ๆ มา แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเป็นปีใดแน่ และต่อมามีประกาศยุบอำเภอ     ศรีบัวทองเข้าเป็นอำเภอเดียวกันกับอำเภอทุ่งใหญ่เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๓๔๕ เหตุที่ยุบอำเภอศรีบัวทองนี้เข้าใจว่าคงเป็นเพราะราษฎรที่มีอาชีพขุดพลอยกันมาแต่เดิมนั้น ได้พากันอพยพออกไปทำมาหากินที่อื่น ทำให้หมู่บ้านต่าง ๆ กลายเป็นหมู่บ้านร้างไป ซึ่งถ้าศึกษาจากแผนที่สมัยหลัง๔๖ จะพบชื่อหมู่บ้านร้างอยู่หลายหมู่บ้านด้วยกันในบริเวณดังกล่าวนี้
ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๔ ในสมัยพระตราษบุรีศรีสมุทร์เขต (ธน  ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ได้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอ เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า กิ่งอำเภอคลองใหญ่ ให้ขุนชำนิ บำราบพาล (คอย  อภิบาลศรี) เป็นปลัดกิ่งอำเภอ๔๗ บริเวณที่ตั้งกิ่งอำเภอคลองใหญ่นี้ แต่เดิมขึ้นกับเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ และเมืองนี้ถูกฝรั่งเศสยึดครองพร้อมกับเมืองตราดในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๔๙ หลังจากเมืองตราดหลุดพ้นจากการยึดครองของฝรั่งเศสแล้วได้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาขึ้น ทำให้บริเวณกิ่งอำเภอคลองใหญ่กลับเป็น่ของไทย ส่วนเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ ฝรั่งเศสมิยอมคืน
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรด- เกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" มาเป็น "จังหวัด" แทนทั้งหมด๔๘  สำหรับจังหวัดตราด ได้มีประกาศเปลี่ยนชื่อ อำเภอต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยเปลี่ยนชื่อ "อำเภอเมือง" เป็น "อำเภอบางพระ" และอำเภอทุ่งใหญ่" เป็น "อำเภอเขาสมิง" ส่วนกิ่งอำเภอคลองใหญ่ ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่๔๙
ต่อมาได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่ออำเภอบางพระเป็น อำเภอเมืองตราด เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๑๕๐ และเปลี่ยนชื่ออำเภอเกาะช้าง เป็น อำเภอแหลมงอบ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๘๒๕๑
จากหลักฐานของกรมแผนที่ทหารบก แสดงจังหวัดจันทบุรี มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ระวาง ๔.๔๘.๑๙ สำรวจ พ.ศ. ๒๔๕๕, ๒๔๕๖ และ ๒๔๕๗ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๐, ๒๔๖๑, ๒๔๖๒ และ ๒๔๖๘ แบ่งเขตอำเภอดังนี้
๑. อำเภอเมือง มี ๑๗ ตำบล คือ บางพระ วังแจะ หนองเสม็ด หนองคันทรง แหลมหิน ห้วงน้ำขาว อ่าวญวน หนองโสน ปลายคลอง ห้วยแร้ง แหลมฆ้อ ยายหลิ่ว ท่าพริก ชำราก ตะกาง แหลมกลัด และท่ากุ่ม
๒. อำเภอเขาสมิง มี ๑๐ ตำบล คือ เขาสมิง แสนตุ้ง ศรีบัวทอง สะตอ ด่านชุมพร ช้างทูน ประณีต บิ่นนาวง ตากแว้ง และท่าฉาง
๓. อำเภอเกาะช้าง มี ๕ ตำบล คือ น้ำเชี่ยว แหลมงอบ บางปิด เกาะช้าง และเกาะหมาก เปลี่ยนอำเภอเกาะช้างเป็นอำเภอแหลมงอบ
๔. กิ่งอำเภอคลองใหญ่ มีตำบลเดียว คือ ตำบลคลองใหญ่
การเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ เขตตำบล และเขตหมู่บ้าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ขอสรุปดังนี้
๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ โอนตำบลแหลมกลัด อำเภอคลองใหญ่ ขึ้นอำเภอบางพระ (อำเภอเมืองตราด)๕๒
๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๑ ยุบตำบลบ้านแหลมหินรวมกับตำบลหนองคันทรง ยุบตำบล    ปลายคลองรวมกันกับตำบลวังแจะ และโอนหมู่บ้านบางหมู่บ้านในตำบลบางพระขึ้นตำบลหนองเสม็ด๕๓
๒๕ กันยายน ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อตำบลอ่าวญวน เป็นตำบลอ่าวใหญ่๕๔
๔ ธันวาคม ๒๔๘๕ เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในเขตอำเภอเมือง และเขตอำเภอเขาสมิง๕๕
๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ โอนเกาะกูดเกาะไม้ซี้ จากตำบลเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบขึ้นตำบลคลองใหญ่ กิ่งอำเภอคลองใหญ่๕๖
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๙๐ และเรื่องตั้ง และเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๑ นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลง หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมือง ๓ ตำบล ๑๑ หมู่บ้าน เขตอำเภอเขาสมิง ๓ ตำบล ๑๑ หมู่บ้าน๕๗
๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ โอนเกาะกูด ตำบลคลองใหญ่ กิ่งอำเภอคลองใหญ่ตั้งเป็นหมู่ ๙ ตำบลเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ๕๘
๑๙ มิถุนายน ตั้งตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ๕๙
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอไม้รูด กิ่งอำเภอคลองใหญ่ ให้มีหมู่บ้าน ๓ หมู่บ้าน ตำบลหาดเล็ก ๓ หมู่บ้าน๖๐
๓ ธันวาคม ๒๕๐๒ ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งกิ่งอำเภอคลองใหญ่ เป็นอำเภอคลองใหญ่๖๑
๑ สิงหาคม ๒๕๑๓ ประกาศกระทรวงมหาดไทย แบ่งอำเภอเขาสมิง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ  บ่อไร่ มี ๓ ตำบล คือ ตำบลบ่อพลอย ตำบลช้างทูน และตำบลด่านชุมพล๖๒ ต่อมาได้ ตั้งตำบลหนองบอน ขึ้นอีกเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๙๖๓
๑๓ กรกฏาคม ๒๕๒๔ มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอบ่อไรเป็นอำเภอบ่อไร่๖๔
ในปัจจุบัน (๒๕๒๖) จังหวัดตราดแบ่งเขตการปกครองท้องที่เป็น ๕ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอบ่อไร่
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
๑. การจัดตั้งเทศบาล จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาล     เมืองตราด จังหวัดตราด พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งตราไว้เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘ ตามพระราชกฤษฎีกามาตรา ๔…ดังนี้
ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๑ ต้นทางเดินวัดกลางด้านเหนือตรงไปทิศตะวันออกถึงหลักเขตต์ที่ ๒ ริมถนนไปตำบลวังกระแจะ๖๕ ฝั่งตะวันตก ข้ามถนนนั้น ตัดตรงผ่านทุ่งนาไปยังเขตต์ที่ ๓ ริมถนนไปท่าเรือจ้างฝั่งเหนือ
ด้านตะวันออก ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๓ ข้ามถนนไปท่าเรือจ้างถึงหลักเขตต์ที่ ๔ ระยะทาง จากหลักเขตต์ที่ ๓ นั้น ๕๒๘ เมตร
ด้านใต้ ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๔ ตัดตรงเป็นมุมฉากถึงหลักเขตต์ที่ ๕ ริมแม่น้ำบางพระ   ฝั่งตะวันออกข้ามแม่น้ำถึงหลักเขตต์ที่ ๖ ริมแม่น้ำบางพระฝั่งตะวันตก เลียบตามริมแม่น้ำบางพระฝั่งใต้ถึงหลักเขตต์ที่ ๗ ริมถนนจะไปอำเภอเกาะช้างฝั่งตะวันออก ข้ามถนนเลียบตามริมแม่น้ำบางพระฝั่งใต้ของหลักเขตต์ที่ ๘ ริมเชิงสะพานเกาะกันเกราตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำถึงหลักเขตต์ที่ ๙ ตรงริม  เชิงสะพานเกาะกันเกราฝั่งเหนือ
ด้านตะวันตก ตั้งแต่หลักเขตต์ที่ ๙ เลียบริมทางเดินวัดโบสถ์ด้านตะวันตกไปบรรจบหลักเขตต์ที่ ๑๖๖


ต่อมาเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล   เมืองตราด พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำให้เทศบาลเมืองตราดมีเนื้อที่ ๒.๕๒ ตารางกิโลเมตร๖๗


๖๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่  ๗๘ ตอนที่ ๙๗ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ หน้า ๑๒๔๗-๑๒๕๐









ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดตราด.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๒๗.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #47 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:35:06 »

เชียงราย
๑.  สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ครั้นพ่อขุนเมงราย ประสูติแล้ว และเมื่อเจริญพระชันษาได้ ๒๑ พรรษา ได้เสวยราชย์ครอบครองสมบัติ ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๒ พระองค์ให้เจ้าพระยามหานครทั้งหลายไปถวายบังคม หากเจ้าเมืองขัดขืนก็แต่งตั้งกองทัพออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียง-คำ แล้วปลดเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้น แต่งตั้งขุนนางของพระองค์ครองเมืองนั้นแทน ต่อมาหัวเมืองทั้งหลาย  เช่น  เมืองเชียงช้าง เป็นต้น  ก็พากันมาอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เพราะเกรงเดชานุภาพ  ของพ่อ-ขุนเมงราย
เมื่อพ่อขุนเมงรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้ว จีงดำริจะทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในด้านการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงไปรวมพล ณ เมืองลาวกู่เต้า เผอิญช้างมงคล (ช้างพระที่นั่ง) ของพระองค์ได้พลัดหายไป พ่อขุนเมงรายจึงเสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น โดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางขนานนามเมืองว่า "เมืองเชียงราย" ใน พ.ศ. ๑๘๐๕ แล้วพ่อขุนเมงรายก็อพยพจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาประทับอยู่ ณ เมืองเชียงราย ต่อมาอีก ๓ ปี พ่อขุนเมงรายก็ไปตั้งเมืองใหญ่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ณ ตำบลเมืองฝาง (เมืองไชยปราการเดิม) ต่อจากนั้นอีกหนึ่งปีก็ยกกองทัพไปตีเมืองผาแดงเชียงของ เมื่อได้เมืองผาแดงเชียงของแล้ว กลับมาประทับ ณ เมืองฝางอีกประมาณ ๖ ปี จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชิงแล้วก็ทรงกลับมาประทับเมืองฝางตามเดิม พ่อขุนเมงรายมีพระโอรส ๓ องค์ คือ ๑. เจ้าเครื่อง  ๒. เจ้าราชบุตรคราม  ๓. เจ้าราชบุตรเครือ
เมืองฝางที่พ่อขุนเมงรายประทับอยู่ติดกับแว่นแคว้นลานนา  พ่อค้าวาณิชย์ชาวเมืองหริ-ภุญไชย ไปมาค้าขายที่เมืองฝาง พ่อขุนเมงรายทราบว่าเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ก็อยากได้ไว้ในอำนาจ ก็ทรงแต่งตั้งให้อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชยในปี พ.ศ. ๑๘๑๘ และใน พ.ศ. ๑๘๒๔ พ่อขุนเมงรายก็ยกกองทัพมาตีเอาหริภุญไชยได้ จึงให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือขุนเครื่องไปครองเมืองเชียงราย ขุนเครื่องหลงเชื่อถ้อยคำ ขุนใสเรืองคิดการกบฎ พ่อขุนเมงรายจึงให้อ้ายเผียนไปซุ่มดักยิงด้วยหน้าไม้ปืนยา (หน้าไม้อาบยาพิษ) ถูกขุนเครื่องตายแล้วใส่สถาปนาเจ้าราชบุตรคราม โอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติเมืองเชียงรายแทน
ใน พ.ศ. ๑๘๑๙ พ่อขุนเมงรายได้ยกกองทัพมาติดเมืองพะเยา พระยางำเมืองเห็นว่าจะสู้ด้วยกำลังไม่ได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับด้วยไมตรี แล้วยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พ่อขุนเมงราย ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับปฏิญาณเป็นมิตร ต่อมาอีก ๔ ปี พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเมงราย พระยางำเมือง ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อกัน  โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมกับน้ำสัตย์ เสวยทั้ง ๓ พระองค์ สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต
ในปี  พ.ศ. ๑๘๒๙  พ่อขุนเมงรายทรงสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงกุมกาม (ในท้องที่ อ. สารภี  จ. เชียงใหม่)  เป็นที่ประทับและในปีนั้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี  พวกมอญยอม  อ่อนน้อมโดยดี ได้เครื่องราชบรรณาการและราชธิดามอญมาเป็นบาทบริจาริกา ในปี พ.ศ. ๑๘๓๒ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามของพม่าได้สำเร็จ ได้พาเอาช่างฝีมือพม่ามาทำงานที่อาณาจักรลานนาไทยหลายสาขา ในปี พ.ศ. ๑๘๓๔ ได้พิจารณาสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยมีพ่อขุนรามคำแหง  และพระยา-งำเมือง  ช่วยวางผังเมืองให้สร้างเมืองเสร็จในปี พ.ศ. ๑๘๓๙  โดยขนานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แล้วทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมงราย และสถาปนาอาณาจักรลานนาไทย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๐ พ่อขุนเมงรายมหาราชได้เสด็จประพาสตลาดในเมืองเชียงใหม่ ถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) สวรรคตลง
พระยาไชยสงคราม (เดิมชื่อเจ้าราชบุตรครามได้รับสถาปนาเป็นพระยาไชยสงคราม) เนื่องจากอาสาพระบิดายกทัพไปรบกับกองทัพของพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ จนมีชัยชนะ เมื่อได้จัดการถวายพระเพลิงพระศพพ่อขุนเมงรายมหาราชแล้ว ได้สถาปนาให้พระยาแสนภูราชโอรสองค์ใหญ่พระชนมายุ ๔๑ พรรษา ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๑๘๖๑ ส่วนพระยาไชยสงคราม กลับไปประทับที่เมืองเชียงราย พ.ศ. ๑๘๗๐ พระยาไชยสงครามสวรรคตพระยาแสนภู  จึงให้เจ้าคำฟู โอรส-องค์ใหญ่ครองเมืองเชียงใหม่ส่วนพระองค์กลับไปครองเมืองเชียงราย พ.ศ. ๑๘๗๑ พระยาแสนภู  มีพระประสงค์จะสร้างนครอยู่ใหม่ ต้องการชัยภูมิที่ดีจึงให้เสนาอำมาตย์ไปตรวจตราสถานที่ จึงได้เมืองเก่ารอบริมแม่น้ำโขง อันเป็นบริเวณเมืองโบราณของเมืองไชยบุรี จึงได้สร้างเมืองขึ้น ณ สถานที่นั้น โดยเอาแม่น้ำโขงเป็นคูปราการด้านตะวันออกอีก ๓ ด้าน ให้ขุดคูโอบรอบนครไว้ ทำพิธีฝังหลักเมืองเมื่อวันศุกร์ เดือน  ๕  หรือเดือน ๗ เหนือ  ขึ้น ๒ ค่ำ  ปีมะโรง  พ.ศ. ๑๘๗๑  และขนานนามเมืองใหม่ว่า "หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน" ปัจจุบันนี้เรียกว่าเชียงแสน หรือเวียงเก่า

๒.  สมัยกรุงศรีอยุธยา
กษัตริย์ราชวงศ์เมงราย ได้ครอบครองราชสมบัติเมืองเชียงแสนสืบ ๆ มา จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๑๙๐๘ มีพวกฮ่อมารบกวนแต่ก็ถูกตีแตกพ่ายไป พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้านครเชียงใหม่ได้ตั้งให้เจ้าขุนแสน ลูกพระยาวังพร้าวไปครองเมืองเชียงแสน สถาปนาให้เป็น "พระยาสุวรรณคำล้านนาไชย-สงคราม" ต่อมาสมัยพระยากมลเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งขณะเดียวกันกับพระเจ้าเมกุฎิราช ครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ เชียงราย และเชียงแสน ตลอดจนหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ตกลงเป็นของยินนอง (บุเรงนอง) เจ้ากรุงหงสาวดีและตกอยู่ในความปกครองพม่านับตั้งแต่นั้นมา

๓.  สมัยกรุงธนบุรี
พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกกองทัพมาปราบปรามขับไล่พม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือแต่ก็ไม่สำเร็จเด็ดขาด ในราว พ.ศ. ๒๓๔๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ยกกองทัพขึ้นไปขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ และให้เผาเมืองเชียงแสนเสียสิ้นกวาดต้อนผู้คนพลเมืองประมาณ ๒๓,๐๐๐ ครอบครัวแบ่งเป็น ๕ ส่วน แต่ละส่วนให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งลงมายังกรุงเทพฯ แล้วโปรดฯ ให้ตั้งอยู่ที่สระบุรี ราชบุรี

๔.  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๔๑๒ ในสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าอุปราชเจ้า-ราชวงศ์นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน จากเมืองเชียงตุง ๓๘๑ คน ยกครอบครัวมาอยู่เมืองเชียงแสน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตอบไปให้เจ้าอุปราชว่าให้จัดการแต่งคนไปว่ากล่าวให้พวกพม่า ลื้อ เขิน  เหล่านั้นถอยออกไปจากราชอาณาเขตไทยเสีย แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. ๒๔๑๗ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่ เกณฑ์ไพร่พลจากเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จำนวนทั้งสิ้น ๔,๕๐๐ คน ยกออกจากเมืองเชียงใหม่ไปเชียงรายและเชียงแสนไล่ต้อนพวกพม่า ลื้อ เขิน เหล่านั้นออกจากเชียงแสนตั้งแต่นั้นมา เชียงแสนก็เป็นเมืองร้าง รัชกาลที่ ๕ จึงได้โปรดให้เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องเจ้ากาวิละ เจ้าครองนครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นหัวหน้านำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ ๔,๕๐๐ ครอบครัว  ไปหักร้าง-ถางพงที่เมืองเชียงแสนเดิม เพื่อให้เป็นเมืองใหม่
เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียง-แสน เจ้าเมืองหัวเมืองฝ่ายเหนือมี ๕ ชื่อ ประจำเมืองต่าง ๆ คือ
พระยาประเทศอุดรทิศ      เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา      เจ้าเมืองฝาง
พระยารัตนาเขตต์      เจ้าเมืองเชียงราย
พระยาราชเดชดำรง      เจ้าเมืองเชียงแสน
พระยาจิตวงศ์วรยรังษี      เจ้าเมืองเชียงของ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (เสง วิริยศิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพชั้นใน พระยาศรีสหเทพ จึงร่างข้อบังคับสำหรับที่ว่าการเมือง เรียกว่า "เค้าสนาม- หลวง" คือจัดให้มี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ละแคว้นขึ้นกับเมืองเรียกว่า "เจ้าเมือง" เมืองขึ้นกับบริเวณเรียกว่า "ข้าหลวงบริเวณ" ข้าหลวงบริเวณขึ้นกับ "เค้าสนามหลวง" จัดการเก็บเงินรัชชูปการเรียกว่า     "ค่าแรงแทนเกณฑ์" คนหนึ่งปีละ ๔ รูปี (ต่อมาเรียก ๔ บาท) ในที่สุดวิธีการนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติเรียกว่า "พระราชบัญญัติตั้งมณฑลพายัพ" ตั้งนครเชียงใหม่เป็นที่ตั้งมณฑล
เมืองเชียงแสน สมัยนี้ขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม และต่อมา เมื่อประกาศให้ใช้พระราช-บัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๒๕๗ จึงมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๒๔๐ พระอาราชดำรงถึงแก่กรรมต่อมาเกิดมีพวกไทยใหญ่รวมกันเป็นโจรเข้าปล้นเมือง บุตรพระยาราชเดชดำรงกับญาติและไพร่พลช่วยกันต่อสู้ชนะและปราบปรามได้สำเร็จ
พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายไชยวงศ์ บุตรพระยาราชเดชดำรงเป็นพระราชเดชดำรง สืบสกุลแทนบิดา และต่อมาย้ายที่ทำการมาตั้งที่ตำบลกาสา ตั้งเป็นอำเภอปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอแม่จัน ส่วนเมืองเชียงแสนเดิมให้เป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวงซึ่งในสมัยต่อมาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเชียงแสน พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง         นายคำหมื่น บุตรพระราชเดชดำรง (เจ้าอินต๊ะ) เป็นพระยาราชบุตรขึ้นกับเมืองเชียงรายในสมัยนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (ไชย กัลยาณมิตร) เป็นเสนาบดีและองค์มนตรีสมุหเทศาภิบาลพายัพประจำมณฑลพายัพ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๓ หรือ ร.ศ. ๑๒๙ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงราย ขึ้นเป็นเมืองเชียงราย อันรวมอยู่ในมณฑลพายัพฯ

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
   หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการในท้องที่ต่าง ๆ ระบบการ      ปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบอบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวางในสมัยที่สมเด็จเจ้าบรมวงศ์เธอกรม-พระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น  จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (ศิริ  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูล-ฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่ในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคเป็นสื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลที่อยู่ในกรณีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชประเทศชาติด้วย ฯลฯ จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับกันดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดไปเป็นเมือง คือ จังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง  ทบวงกรมของราชธานีและจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและกิจธุระของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน มณฑลเทศาภิบาลนั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ  แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว  จึงได้มี   พระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพาและมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้น-มา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ก็ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนคร-ชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙  ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล  คือ  มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง มณฑลเพชรบูรณ์ตั้งขึ้น พ.ศ. ๒๔๔๒  (ดูการเทศาภิบาล) ร.ศ. ๑๑๘ (๒๐ บท และกฎหมายประจำค่า)
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๔ ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ (รศ. ๑๒๙)
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑาพายัพ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน  สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒.  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓.  เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด  จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล   มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ  มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิ-ภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑.  จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒.  อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓.  ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑.  จังหวัด
๒.  อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น คณะกรรมการจังหวัดประกอบด้วยปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการจังหวัดโดยตำแหน่ง และในกรณีที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเป็นคณะกรรมการจังหวัดด้วย





ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงราย, พุทธศักราช ๒๕๒๗, หน้า ๔๓-๕๒
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #48 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:35:35 »

กำแพงแพชร
สมัยก่อนสุโขทัย
หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พอจะตรวจสอบได้ของชุมชนโบราณแถบนี้ ได้แก่ ตำนานสิงหนวติกุมารซึ่งกล่าวถึง อาณาเขตของโยนกนคร  ในสมัยพระยาอชุตราชาว่าทิศใต้จดชายแดนลวะรัฐ (ละโว้) ที่สบแม่ระมิง (ปากแม่น้ำปิง) ความนี้ส่อให้เห็นว่าดินแดนเมืองกำแพงเพชรแต่โบราณนั้น เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโยนกนครด้วยและจากตำนานฉบับเดียวกันนี้บันทึกว่า พระองค์ชัยศิริ ได้ละทิ้งเวียงไชยปราการหนีข้าศึกลงมาตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองกำแพงเพชร แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีอื่นใดที่จะระบุได้แน่ชัดว่า เมืองกำแพงเพชรของพระองค์ชัยศิริ จะเป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเมืองไตรตรึงส์หรือเมืองแปป ซึ่งเป็นเมืองเก่าอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง หรือเทพนครซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง ซึ่งพบร่องรอยการเป็นเมืองโบราณทั้งสองแห่ง
จากหลักฐานดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ชุมชนดั้งเดิมแถบนี้เป็นคนไทยที่มีสายสัมพันธ์กับคนไทยในอาณาจักรลานนาไทย (โยนกนคร)
หลักฐานสำคัญก่อนสุโขทัยอีกฉบับหนึ่ง ได้แก่ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ตอนที่ว่าด้วยพระ   
สีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึงบ้านโค ซึ่งตามทางสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงบ้านโคน หรือเมืองคนที ว่าเป็นบ้านเดิมของโรจราช หรือพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย

สมัยสุโขทัย
เมืองและชุมชนโบราณในกลุ่มเมืองกำแพงเพชรสมัยสุโขทัยที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึก ได้แก่เมืองนครชุม เมืองชากังราว เมืองคนที เมืองบางพาน เมืองเหล่านี้บางเมืองอาจเคยเป็นบ้านเมืองมาแล้วก่อนสมัยสุโขทัย แต่ในสมัยสุโขทัยตอนต้นเมืองนครชุมเป็นเมืองหลักในบริเวณนี้ โดยมีเมืองชากังราวเป็นเมืองเล็กๆ ร่วมสมัยอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามเมืองนครชุม เมื่อแรกเริ่มเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุโขทัย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ส่งผู้ใดมาปกครอง
ที่เมืองชากังราวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับเมืองนครชุมนั้นสมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในประชุมปาฐกถาตอนที่ว่าด้วย "พงศาวดารกรุงสุโขทัยคราวเสื่อม" ว่าน่าจะสร้างขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงคู่กับเมืองศรีสัชนาลัยในรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ซึ่งหากจะเทียบกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนนี้ที่เมืองศรีสัชนาลัยนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เป็นอุปราชครองเมืองอยู่ ส่วนที่เมืองชากังราวนั้นพระยางั่วนำทัพเรือจากเมืองชากังราวเสด็จไปยึดเมืองสุโขทัยเป็นเหตุให้พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) อุปราชเมืองศรีสัชนาลัยต้องยกทัพไปปราบปราม แล้วจึงขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองกรุงสุโขทัย
ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เมืองนครชุมและเมืองชากังราวมีความสำคัญมากขึ้น ดังมีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๓ ว่า "ศักราช ๑๒๗๙ ปีระกา เดือน ๔ ออก ๕ ค่ำ วันศุกร์ หนไทย กัดเล้า บูรพผลคุณี นักษัตรเมื่อยามอันสถาปนานั้น เป็น ๖ ค่ำ แลพระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหายอันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยา จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ ปีนั้น "(๑)
ศิลาจารึกหลักที่  ๓ หรือที่เรียกว่า จารึกนครชุมนี้ ได้กล่าวถึงเมืองบางพาน เมืองคนทีว่าเป็นเมืองที่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย มีเจ้าปกครอง
ที่เมืองบางพานนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธบาท ที่เขานางทองแห่งหนึ่ง
ในปลายรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ปรากฏหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๑  (ลิไทย) เสด็จมาประทับที่เมืองชัยนาท (ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร  ตีความว่าคือสองแควหรือพิษณุโลก(๒)) หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ (๑) (พระเจ้าอู่ทอง) ยกกองทัพมายึดไปได้และทรงคืนให้ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้โปรดให้พระมหาเทวีผู้เป็นพระ-กนิษฐา ทรงครองเมืองสุโขทัยแทนให้อำมาตย์ชื่อติปัญญา (พระยาญาณดิส) มาครองเมืองกำแพงเพชร (ผูกเป็นศัพท์ภาษาบาลี วชิรปราการ)
ในสมัยนี้เอง ติปัญญาอำมาตย์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในเมืองกำแพง-
เพชร และแม้ว่าชินกาลมาลีปกรณ์จะออกชื่อเสียงเมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นแต่หลักฐานเอกสารพงศาว-ดารกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ยังคงเรียกชากังราว        อยู่ต่อมา

สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมืองกำแพงเพชร ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงสุโขทัย มีติปัญญาอำมาตย์ หรือพระยาญาณดิสปกครองเมือง
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ แห่งกรุงสุโขทัย ปรากฏหลักฐานในประชุมพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า ในปี พ.ศ. ๑๙๑๖ และปี พ.ศ. ๑๙๑๙ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีชากังราว พระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราว สามารถยกพลเข้าต่อสู้จนกองทัพอยุธยาต้องยกทัพกลับทั้งสองคราวจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ กองทัพอยุธยาขึ้นไปตีเมืองชากังราวอีก พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงยอมแพ้ออกมาถวายบังคม กรุงสุโขทัยตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้จัดแบ่งกรุงสุโขทัยออกเป็น ๒ ภาค โดยให้พระมหาธรรมราชา-
ที่ ๒ ปกครองอาณาเขตทางลำน้ำยมและน่าน โดยมีเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเอกภาคหนึ่ง ส่วนด้านลำน้ำปิงให้พระยายุทิษฐิระราชบุตรบุญธรรมเป็นผู้ปกครอง คือบริเวณตากและกำแพงเพชร โดยมีเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองเอก จึงเข้าใจว่าเมืองชากังราวเมืองนครชุม ตลอดจนเมืองอื่นๆ จะรวมกันเป็นเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่นั้นมา
หลังจากสุโขทัยพ่ายแพ้กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ แล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปี พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกไว้อีกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ต้องเสด็จยกทัพไปชากังราวอีก แต่ทรงประชวรกลางทาง ต้องเสด็จกลับ และเสด็จสวรรคตกลางทาง ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๖๒  สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ เสด็จขึ้นปราบจลาจลเมืองเหนือ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยารามคำแหงครองเมืองสุโขทัย ให้พระยาบาลเมืองครองเมืองชากังราว
เมืองชากังราวขึ้นโดยตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๔ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตร-โลกนาถ ซึ่งในขณะนั้นกรุงสุโขทัยยังแข็งเมืองอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๐๐๕ กรุงสุโขทัยจึงขึ้นกับกรุงศรี-อยุธยา   
ประวัติศาสตร์ชาติไทยตอนนี้ เป็นช่วงที่น่าฉงนในเรื่องการรบทัพจับศึกและชื่อบุคคลใน
ราชวงศ์สุโขทัย แต่ถ้าจะทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์สุโขทัยสักเล็กน้อย ก็จะสามารถทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ตอนนี้ไม่ยากนัก โดยจะขอยกประวัติย่อของอาณาจักรสุโขทัย ที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า   สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้มาประกอบดังนี้
"อาณาจักรสุโขทัย เป็นอาณาจักรแรกของไทยที่อาจทราบเรื่องราว และศักราช ได้ค่อนข้างแน่นอนจากศิลาจารึกและจดหมายเหตุ
จากการสอบสวนในชั้นหลังสุด อาจกล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยมี ๙ พระองค์คือ
๑. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์   ราว พ.ศ. ๑๘๐๐ - พ.ศ. ๑๘๑๑
๒. พ่อขุนบาลเมือง      ราว พ.ศ. ๑๘๑๑ - พ.ศ. ๑๘๒๑
๓. พ่อขุนรามคำแหง   ราว    พ.ศ. ๑๘๒๑ - พ.ศ ๑๘๖๐
๔. พระเจ้าเลอไทย      ราว พ.ศ. ๑๘๖๖ - พ.ศ. ๑๘๘๔
๕. พระเจ้างั่วนำถม      ราว พ.ศ. ๑๘๙๐
๖. พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย)  ราว พ.ศ. ๑๘๙๐ - ราว พ.ศ. ๑๙๑๑
๗. พระมหาธรรมราชาที่ ๒            ราว พ.ศ.๑๙๑๑ - ราว พ.ศ. ๑๙๔๒
๘. พระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสยลือไทย) ราว พ.ศ. ๑๙๔๒ -พ.ศ. ๑๙๖๒
๙. พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล)    ราว พ.ศ. ๑๙๖๒ - ราว พ.ศ. ๑๙๘๑
ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเราเชื่อตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๑ จะเห็นได้ว่าอาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก มีอาณาเขตกว้างใหญ่ คือ ทางทิศตะวันออกไปถึงเมืองสระหลวง (ติดกับพิษณุโลก) สองแคว (พิษณุโลก) ตลอดจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ถึงเมืองเวียงจันทร์ เวียงคำ ในประเทศลาวปัจจุบันทางทิศใต้ถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราชจนจดฝั่งทะเล ทางทิศตะวันตกถึงเมืองฉอด (สอด) และหงสาวดีในประเทศพม่า แต่ทางทิศเหนือถึงเพียงเมืองแพร่ เมืองชะวา (หลวงพระบาง) ในประเทศลาว…
จากพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๑๙๑๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)  แห่งพระนครศรีอยุธยา ได้เสด็จไปตีเมืองเหนือได้ทั้งหมด ซึ่งคงหมายถึงอาณาจักรสุโขทัย และตั้งแต่นั้นมาก็มีการรบพุ่งระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาอีกหลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘ และ ๑๙๑๙ ปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้เสด็จไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) อีกและพระมหาธรรมราชาได้เสด็จออกมาถวายบังคม
พระมหาธรรมราชาองค์นี้ คงเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ราชโอรสของพระเจ้าลิไทยหรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ นั่นเอง…
ในปี พ.ศ. ๑๙๖๒ พระมหาธรรมราชาที่ ๓ สวรรคต และอาณาจักรสุโขทัยเป็นจลาจลอีก สมเด็จพระนครินทราธิราช แห่งพระนครศรีอยุธยาจึงได้เสด็จขึ้นมาระงับการจลาจลถึงเมืองพระบาง (นครสวรรค์) ปรากฏว่าพระยาบาลเมืองและพระยาราม ซึ่งคงอยู่ในราชวงศ์สุโขทัยกำลังแย่งราชสมบัติกันอยู่ในขณะนั้น ได้ออกมาถวายบังคม
พระยาบาลเมืองได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล)
พระมหาธรรมราชาที่ ๔ คงสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๘๑ เพราะปรากฏว่าในปีนั้นสมเด็จพระ-บรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงพระยศเป็นพระราเมศวร ตำแหน่งรัชทายาท ได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก และนับแต่นั้นมาอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ก็ได้รวมกันเป็นอาณา-จักรเดียว"(๓)
เมืองชากังราว ซึ่งต่อมากรุงศรีอยุธยาออกชื่อเรียกเป็นกำแพงเพชร ต้องรับศึกหนักจากกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง เพราะทุกครั้งที่กองทัพกรุงศรีอยุธยายกไปตีกรุงสุโขทัย จะต้องเข้าตีชากังราวก่อนเสมอ ซึ่งก็ได้รับการต่อสู้อย่างเหนียวแน่น กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถเข้าตีเมืองได้เลย แม้เมื่อกรุงสุโขทัยจะต้องยอมแพ้แก่กรุงศรีอยุธยาแล้ว เมืองกำแพงเพชรก็ยังพยายามที่จะแข็งเมืองเป็นอิสระอยู่เสมอ แต่ในที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๙๔ เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองกำแพงเพชรไม่เคยร้างหรือลดความสำคัญลงเลย ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านให้กรุงศรีอยุธยาในการทำศึกสงครามกับพม่า และบรรดาหัวเมืองทางเหนือมาโดยตลอด และเมื่อกองทัพพม่าจะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาก็มักจะเข้ามายึดเมืองกำแพงเพชร  ให้ได้ เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเช่นกัน
เมื่อกำแพงเพชรขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานราชวงศ์ผู้ครองเมืองแน่ชัด แต่เข้าใจว่าคงจะส่งข้าราชการไปปกครอง และมีตำแหน่งพระยาวชิรปราการ ดังที่พระเจ้าตากสินได้รับพระ-ราชทางตำแหน่งในตอนปลายกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกยับเยิน และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีมุ่งแต่การทำนุบำรุงเมืองให้เป็นปกติเรียบร้อย เมืองกำแพงเพชรซึ่งอยู่ห่างไกลจึงไม่มีบทบาทในสมัยกรุงธนบุรีมากนัก นอกจากการเป็นเมืองหน้าด่าน       ในคราวรบทัพจับศึกเท่านั้นและเพราะเหตุที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่าน ต้องรับศึกหนักตลอดมา ประชาชนพลเมืองไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องอพยพหลบภัยอยู่เสมอ บ้านเมืองวัดวาอาราม ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งหลาย ก็ย่อยยับไปเพราะผลแห่งสงคราม เมืองกำแพงเพชรปัจจุบันจึงเหลือแต่เพียงซากเมืองเก่าให้เราได้ชมเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัฐสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลให้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำเนินการจัดตั้งมณฑลขึ้นในหัวเมืองชั้นใน ๔ มณฑลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ คือ มณฑลกรุงเก่า มณฑลปราจีน มณฑลพิษณุโลก และมณฑลนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชรถูกจัดให้อยู่ในมณฑลนครสวรรค์ รวมอยู่กับเมืองอื่นๆ ได้แก่ ชัยนาท สรรค์บุรี มโนรมณ์ อุทัยธานี พยุหคีรี ตาก และนครสวรรค์ มณฑลนครสวรรค์นี้กว่าจะตั้งเป็นมณฑลอย่างสมบูรณ์ก็ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ มีการเปลี่ยนคำว่า เมืองเป็นจังหวัด เมืองกำแพงเพชรจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ครั้งนั้น และยังคงขึ้นอยู่กับมณฑลนครสวรรค์เรื่อยมา จนกระทั่งมีการยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ จนถึงปัจจุบัน

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบเทศาภิบาล
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ทรงปรับปรุงระบบการปกครองประเทศให้ทันสมัย โดยมีพระราชโองการยกเลิกระเบียบการปกครองแต่เดิม และประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้น ๑๒ กระทรวงเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยจัดสรรอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วนอาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น บรรดาหัวเมืองที่แบ่งเป็นฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ก็ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗)
เมื่องานปกครองหัวเมืองที่เคยแยกไปอยู่ในอำนาจของกระทรวงกลาโหมก็ดี กระทรวงการต่างประเทศ หรือกรมเจ้าท่าก็ดี ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว กระทรวงมหาดไทยจึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางบัญชาการงานปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยโดยปริยาย เมื่อสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองครั้งแรกได้ทรงพบข้อขัดข้องหลายประการในการปกครองหัวเมือง ประการแรก คือ มีหัวเมืองมากเกินไปแม้แต่หัวเมืองชั้นในก็มีหลายสิบเมืองการคมนาคมกับกรุงเทพฯ จะไปถึงก็ล่าช้า เช่นจะไปเมืองพิษณุโลกต้องเดินทางไปกว่า ๑๒ วันจึงจะถึง หัวเมืองก็อยู่หลายทิศทาง จะจัดการอันใดก็พ้นวิสัยที่เสนาบดีจะออกไปจัดหรือตรวจการได้เอง มีแต่ตราสั่งข้อบังคับและแบบแผนส่งออกไปในแผ่นกระดาษให้เจ้าเมืองจัดการ เจ้าเมืองก็มีหลายสิบคนจะเข้าใจคำสั่งต่างกันอย่างไร และใครจะทำการซึ่งสั่งไปนั้นอย่างไรก็ยากที่จะรู้
ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริพร้อมด้วยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดตั้งระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
การจัดระเบียบการปกครองเมืองแบบมณฑลเทศาภิบาล เป็นการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะตัวแทน หรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงขอนำคำจำกัดความของ "การเทศาภิบาล" ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยมากล่าวไว้ ณ ที่นี้

"การเทศาภิบาล"
คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราช-การต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค เป็น  สื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลซึ่งอยู่ในราชธานีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณา
ประชากรเพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติฯ ด้วย จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมืองคือ จังหวัด รองลงไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดีให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"(๔)
การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อนใช้ระบบเทศาภิบาลนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระมากขึ้นเท่านั้น หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่   หัวเมืองใกล้ฯ ส่วนหัวเมืองอื่นที่ไกลออกไปมักจะมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงพยายามที่จะจัดให้มีอำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่จุดเดียวกัน โดยจัดตั้งระบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเองเช่นแต่ก่อนอันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล จึงเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง หรือริดรอนอำนาจเจ้าเมืองตามระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมหัวเมืองเข้าเป็นแบบมณฑลๆ ละ ๕ เมือง หรือ ๖ เมือง ในขนาดท้องที่ที่ผู้บัญชาการมณฑลอาจจะจัดการและตรวจตราได้เองตลอดอาณาเขตเรียกว่า "มณฑลเทศาภิบาล" ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงในเขตมณฑลของตน
การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล รัฐบาลมิได้ดำเนินการในทีเดียวทั้งประเทศ แต่ได้จัดตั้งเป็นระยะๆ ไปตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปราชการบริหารส่วนกลาง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ทั้งนี้ถือลำน้ำซึ่งเป็นทางคมนาคมในสมัยนั้นเป็นเครื่องกำหนดเขตมณฑล (มณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนและมณฑลนครราชสีมา ต่อมาเมื่อมีการโอนหัวเมืองทั้งหมดซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้วจึงได้รวมหัวเมืองฝ่ายใต้จัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง) จากนั้นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็ได้มีการจัดตั้งยุบเลิก แต่เปลี่ยนเขตของการปกครองมณฑลเทศาภิบาลอยู่ตลอดเวลา ตามความเหมาะสม
ในมณฑลเทศาภิบาลแต่ละมณฑลมีข้าราชการคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง เลขานุการข้าหลวงเทศาภิบาล และแพทย์ประจำมณฑลข้าราชการบริหารมณฑลจำนวนนี้เรียกว่า "กองมณฑล" เจ้าหน้าที่ ๖ ตำแหน่ง   ดังกล่าวนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีขึ้นสำหรับบริหารงานมณฑล ละ ๑ กอง เป็นข้า-ราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น
ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลเป็นผู้รับผิดชอบปกครองมณฑล มีอำนาจสูงสุดในมณฑลเหนือข้าราชการพนักงานทั้งปวง มีฐานะเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงมอบความไว้วางพระราชหฤทัย โดยคัดเลือกจากขุนนางผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ออกไปปฏิบัติราชการมณฑลละ ๑ คน  หน่วยการปกครองมณฑลเทศาภิบาลนี้ทำหน้าที่เหมือนสื่อกลางเชื่อมโยงรัฐบาลกลาง กับหน่วยราชการส่วนภูมิภาคหน่วยอื่นๆ เข้าด้วยกัน ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลมีอำนาจที่ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการได้เอง ยกเว้นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องขอความเห็นมายังกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เป็นการแบ่งเบาภาระของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นอันมาก มณฑลเทศาภิบาลนับว่าเป็นวิธีการปกครองที่ทำให้รัฐบาลสามารถดึงเอาหัวเมืองๆ เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างแท้จริงผู้ว่าราชการเมืองของแต่ละเมืองในมณฑลต้องอยู่ภายในบังคับบัญชาข้าหลวงเทศาภิบาลอีกชั้นหนึ่ง โดยมิได้ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ต่อมากระทรวงมหาดไทยยังได้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการมณฑลขึ้นอีก เพื่อแบ่งเบาภาระข้าหลวงเทศาภิบาล เช่น ตำแหน่งปลัดเทศาภิบาลอำนาจหน้าที่รองจากข้าหลวงเทศาภิบาล เสมียนตรามณฑลเป็นเจ้าพนักงานการเงินรักษาพัสดุ ดูแลรักษาการปฏิบัติราชการมณฑลและมหาดเล็กรายงานมีหน้าที่ออกตรวจราชการตามเมืองและอำเภอต่างๆ ตลอดมณฑลเป็นต้น
จังหวัดกำแพงเพชรนั้นถูกจัดอยู่ในมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยรวมอยู่กับเมืองอื่น ได้แก่ ชัยนาท สรรค์บุรี นโนรมย์ อุทัยธานี พยุหคีรี ตาก และนครสวรรค์

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองหรือการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งแบ่งหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยมิได้บัญญัติให้มีมณฑลตามนัยดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการยกเลิกมณฑลไปโดยปริยาย แต่ได้จัดแบ่ง "ภาค" ขึ้นใหม่ และให้มีข้าหลวงตรวจการสำหรับทำหน้าที่ตรวจควบคุม แนะนำ ชี้แจงข้อราชการต่อหน่วยราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้น โดยมิได้มีหน้าที่บริหารราชการทั่วไปเหมือนอย่างมณฑลเทศาภิบาล ดังนั้น จังหวัดกับส่วนกลางจึงสามารถติดต่อกันได้โดยตรงมิต้องผ่านภาคแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม พ.ศ. ๒๔๗๖ เสีย และจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นภาค จังหวัดและอำเภอโดยมีผู้ว่าราชการภาคคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนภูมิภาคภายในเขต ต่อมาก็ได้มีการยกเลิกภาคอีกโดยสิ้นเชิง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๙ เหลือแต่เพียงหน่วยการปกครองจังหวัดและอำเภอตามเดิม
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ใช้มาอีกเป็นเวลานาน จนกระทั่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นไป โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดตั้งโดยพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาล ในการบริหารราชการของจังหวัดหนึ่งๆ นั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง เป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการส่วน  ภูมิภาคในเขตจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราช-การ และมีคณะกรมการจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
อำเภอจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ในอำเภอหนึ่งมี นายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ส่งมาประจำ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน
จังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันนี้แบ่งการปกครองเป็น ๗ อำเภอ คือ
๑. อำเภอเมืองกำแพงเพชร
๒. อำเภอขานุวรลักษบุรี
๓. อำเภอคลองขลุง
๔. อำเภอพรานกระต่าย
๕. อำเภอไทรงาม
๖. อำเภอลานกระบือ
๗. อำเภอคลองลาน


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดกำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : บริษัทบพิธการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๒๙.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #49 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:36:13 »

ลำพูน
๑. สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ลำพูน เดิมชื่อ หริภุญชัย เดิมเป็นถิ่นฐานของเมงคบุตร  (คือพวกชนเผ่าสกุลมอญในสุวรรณภูมิ ภาคเหนืออันเป็นสาขาหนึ่งของชนเผ่ามอญ เขมร จากมหาอาณาจักรพนม) พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปจะบังเกิดนครหริภุญชัยขึ้น และเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วพระบรมสารีริกธาตุจึงปรากฏขึ้นมาเอง
เมืองหริภุญชัย เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างขึ้นระหว่างแม่น้ำ ๒ สาย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง ความมุ่งหมายการสร้าง เพื่อเป็นแหล่งขยายอารยธรรมของอาณาจักรที่  รุ่งเรืองของละโว้ไปทางทิศเหนือ ไปสู่ชนที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณแถบนั้น

๒. สมัยกรุงศรีอยุธยา
ลำพูนเป็นเมืองเล็กที่มิได้ตั้งขึ้นเพื่อขยายอิทธิพลทางอาณาจักร จึงถูกรังแกจากชุมชนที่ใหญ่กว่าตลอดมา ทำให้อาณาจักรลานนาไทยที่อยู่ตรงกลางเปลี่ยนมือการปกครองหลายครั้ง และ    ตกอยู่ในอำนาจของพม่าและมอญเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗) พระเมืองแก้ว ราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑๓ ได้รื้อกำแพงเมืองหริภุญชัยเดิม และสร้างใหม่ให้แคบลงซึ่งรวมอยู่ในอาณาจักรนครพิงค์ ต่อมา พ.ศ. ๒๒๗๒-๒๒๗๕ พม่าคุกคาม แคว้นลานนา เจ้ามหายศเมืองลำพูน ได้ยกกองทัพไปรบกับชาวลำปาง แพ้นายทิพย์ช้าง พรานป่าชาวบ้าน ปงยางคก (ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และเชื้อเจ็ดตน) ได้กู้ลำปางพ้นจากอำนาจพม่า หลังจากนั้นปี พ.ศ. ๒๓๐๔ โปมะยุง่วน ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ (ขณะนั้นขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา) ได้แล้วเข้าครองเชียงใหม่ แต่พระยาลำพูนไม่ยอมขึ้นกับพม่าหนีมาอยู่เมืองพิชัย ในเวลาต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๖ พม่ายกทัพมาตีลำพูนแตก เจ้าเมืองไชยส้องสุมผู้คนเข้าแย่งตีเมืองคืน แต่มีกำลังน้อยกว่า จึงพ่ายแพ้ถูกฆ่าตาย ปี พ.ศ. ๒๓๐๘ ชาวเมืองลำพูนรวมกำลังเป็นกบฎเข้ารบกับโปมะยุง่วนที่เชียงใหม่ โปมะยุง่วนหนีกลับเมืองอังวะพม่าส่งอะแซหวุ่นกี้มาปราบลำพูนราบคาบในปี พ.ศ. ๒๓๐๙

๓. สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชดำรัสว่า ตราบใดที่พม่ายังมีอำนาจครอบงำแผ่นดินลานนาไทยอยู่ การป้องกันประเทศให้เป็นเอกราชย่อมกระทำได้ยาก จึงตกลงพระทัยยกกองทัพขึ้นมาทำศึกชิงนครพิงค์จากพม่าถึง ๒ ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ แต่ไม่สำเร็จ ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ทรงได้รับความร่วมมือจากพญาจ่าบ้านกับเจ้ากาวิละยึดได้นครเชียงใหม่และหัวเมืองอื่นๆ เช่น แพร่ ลำปาง ลำพูน และน่าน โดยให้เจ้าศรีบุญมา อนุชาองค์น้อยเป็นอุปราชของเจ้าบุรีรัตน์      (อนุชาของเจ้ากาวิละ) อพยพชาวลำปาง เชียงใหม่ และเมืองยอง (ชาวเวียงยองที่อยู่เขตตำบลเวียงยองในปัจจุบัน)  มาอยู่ลำพูน ๑,๐๐๐ ครอบครัว
๔. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
อาณาจักรลานนาไทยซึ่งมีลำพูนรวมอยู่ด้วยได้พ้นจากอำนาจของพม่าโดยสิ้นเชิง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕  โดยกองทัพไทยทำการขับไล่พม่าออกจากหัวเมืองต่างๆ ในลานนาไทย ถึงกระนั้นลำพูนและหัวเมืองลานนาไทยก็ยังคงตกเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯ มาทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมา พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งพระยาราชวงศ์คำฝั้น เป็นพระยาลำพูนไชย นับเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์แรกของลำพูน ซึ่งจะจัดลำดับได้ดังนี้
1.เจ้าคำฝั้น พ.ศ. ๒๓๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๘ ครองเมืองได้ ๑ ปี
2.เจ้าบุญมา พ.ศ. ๒๓๕๘ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ครองเมืองได้ ๑๒ ปี
3.เจ้าน้อยอินทร์ (อิ่น) พ.ศ. ๒๓๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ ครองเมืองได้ ๙ ปี
4.เจ้าน้อยคำตัน พ.ศ. ๒๓๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๔ ครองเมืองได้ ๓ ปี
5.เจ้าน้อยธรรมลังกา พ.ศ. ๒๓๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๖ ครองเมืองได้ ๒ ปี
6.เจ้าน้อยไชยลังการ พ.ศ. ๒๓๘๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๔ ครองเมืองได้ ๒๘ ปี
7.เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๑    ครองเมืองได้ ๑๗ ปี
8.เจ้าเหมพินทุไพจิตร (เจ้าคำหยาด) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ ครองเมือง  ได้ ๗ ปี
9.เจ้าอินทยงยศโชติ (เจ้าน้อยอินทยงยศ) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔        ครองเมืองได้ ๑๖ ปี
10.พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ ครองเมืองได้ ๓๒ ปี

๔. การจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงประกาศรวมหัวเมืองต่างๆ  ของอาณาจักรลานนาไทยเป็นมณฑลพายัพ เป็นส่วนหนึ่งในผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย อาณาจักรลานนาไทยจึงสิ้นสภาพของการเป็นประเทศราช พ้นจากการต้องส่งเครื่องราชบรรณาการคือ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ฯลฯ แล้วก็สูญสิ้นความเป็นอาณาจักรลงด้วยเหมือนกัน เว้นแต่ยังคงมีเจ้าผู้ครองนคร มีฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้า" เช่นเดียวกับในตอนที่เข้ารวมอยู่ในอำนาจของไทยใหม่ๆ ผิดกันแต่เพียงในสมัยที่จัดตั้งเป็นมณฑลขึ้นแล้วทางราชการได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมุหเทศาภิบาลและโดยเฉพาะมณฑลพายัพเปลี่ยนเป็นอุปราช)  มาดำเนินการปกครอง และแต่งตั้งเจ้าเมืองเข้าปฏิบัติราชการแทนเจ้าผู้ครองนคร (ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าหลวง) ทั้งนี้ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นต้นมา สำหรับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครนั้น ถือว่าเป็นตำแหน่งมีเกียรติ และมีเจ้าผู้ครองนครขึ้นทุกๆ จังหวัดในมณฑลพายัพ ยกเว้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่มีเจ้าผู้ครองนครๆ มาสิ้นสุดลง   ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเสียทั้งหมดไม่แต่งตั้งขึ้นใหม่อีก ในเมื่อเจ้าผู้ครองนครนั้นพิราลัยลง

๖. การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัด และอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย

เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
1)การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและ     ตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
2)เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
3)เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด  จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
4)รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑล เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ดังนี้
1)จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล จังหวัดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
2)อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
3)ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ  แผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
   ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘      ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕        โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
1)จังหวัด
2)อำเภอ
   จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของ     ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #50 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:36:46 »

นครสวรรค์
นครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีปรากฏชื่อในศิลาจารึกเรียกว่า “เมืองพระบาง” เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองดั้งเดิมตั้งแต่อยู่ในที่ตอนบริเวณเชิงเขาขาด (เขาฤาษี) จรดวัดหัวเมือง (วัดนครสวรรค์) ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่  เมืองพระบางต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น”เมืองชอนตะวัน” เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และหันหน้าเมืองไปทางแม่น้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าเมืองตลอดเวลา แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “เมืองนครสวรรค์” เพื่อเป็นศุภนิมิตอันดี
นครสวรรค์ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่เดิมว่า “ปากน้ำโพ” โดยปรากฏเรียกกันมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ในคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกไปรับทัพข้าศึกที่ปากน้ำโพ แต่ต้านทัพข้าศึกไม่ไหว จึงล่าถอยกลับไป
ที่มาของคำว่า “ปากน้ำโพ” สันนิษฐานได้ ๒ ประการคือ อาจมาจากคำว่า “ปากน้ำโผล่” เพราะเป็นที่ปากน้ำแคว ยม และน่าน มาโผล่รวมกันเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่งคือมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากน้ำ ในบริเวณวัดโพธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบันจึงเรียกกันว่า “ปากน้ำโพธิ์”ก็อาจเป็นได้
   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนำพระพุทธรูปชื่อ “พระบาง” ไปคืนให้เมืองเวียงจันทน์  แต่ติดศึกพม่าต้องเอาพระพุทธรูป "พระบาง" มาค้างไว้ที่เมืองนี้ ต่อมาไทยรบทัพจับศึกกับพม่า และปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือที่แข็งเมือง ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้ยกเคลื่อนที่ขึ้นมาเลือกนครสวรรค์ (ที่เคยเป็นโรงทหารเก่าหลังโรงเหล้าเดี๋ยวนี้) เป็นที่ตั้งทัพหลวงแล้วดัดแปลงขุดคูประตูหอรบ จากตะวันตกตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูไปถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ยังปรากฏแนวคูอยู่ เมื่อข้าศึกยกลงมาจากทุ่งหนองเบน หนองสังข์ สลกบาตร และตะวันออกเฉียงใต้ของลาดยาวมาเหนือทุ่งสันคู เมื่อฤดูแล้งเป็นที่ดอนขาดน้ำ ถ้าฝนตกน้ำก็หลากเข้ามาอย่างแรงท่วมข้าศึก ไทยยกทัพตีตลบหลังพม่าวิ่งหนีผ่านช่องเขานี้จึงได้ชื่อว่า "เขาช่องขาด" มาจนบัตหนี้
   เนื่องจากเมืองนครสวรรค์เป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งปรากฏอยู่ตามกฎหมายเก่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ว่าด้วยเรื่องดวงตราประทับหนังสือที่ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงใช้ในราชการ ดังนั้นเมืองนครสวรรค์ จึงมิได้มีบทบาทที่ถูกกล่าวถึงไว้ในประวัติศาสตร์สำคัญของไทยเท่าใดนัก
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
   ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงพระราชดำริที่จะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคง จึงทรงริเริ่มจัดรูปการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยให้รวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล มีผู้ปกครองมณฑลขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว
   ครั้งแรกได้ทรงเริ่มจัดตั้งมณฑลขึ้น ๔ มณฑล คือ มณฑลกรุงเก่า มณฑลปราจีน มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลพิษณุโลก แต่ตั้งเป็นมณฑลสมบูรณ์มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครองถูกต้องเพียง ๒ มณฑล ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ คือมณฑลปราจีน และมณฑลพิษณุโลก ส่วนอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลกรุงเก่า  และมณฑลนครสวรรค์มาจัดตั้งสำเร็จในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (พระองค์เจ้าวัฒนานุวงค์ ต้นราชสกุล วัฒนวงค์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าและให้พระยาดัสกรปลาศ (อยู่) ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์
   ในการจัดตั้งมณฑลนครสวรรค์ ได้รวมเอาหัวเมืองทางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิงเข้าด้วยกัน ๘ เมือง คือเมืองชัยนาท เมืองสรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองพยุหะคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร และเมืองตาก ตั้งที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ การจัดรูปปกครองในลักษณะมณฑลได้ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุบมณฑลและระเบียบเทศาภิบาลของเก่าไปให้คงไว้แต่หัวเมืองและอำเภอ โดยให้ทุกเมืองมีฐานะเท่าเทียมกัน ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อเจ้ากระทรวง และรับคำสั่งจากเจ้ากระทรวงโดยตรง
การจัดรูปการปกครองสมัยปัจจุบัน
   ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยการยุบเลิกมณฑลตามระเบียบเทศาภิบาลแบบเก่าไปแล้ว ได้มีการจัดระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดฐานะจังหวัดเป็นนิติบุคคล และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจังหวัดแต่เพียงบุคคลเดียว โดยมีคณะกรมการจังหวัดเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
   การปกครองรูปจังหวัดในปีปัจจุบัน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ซึ่งจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติในจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคน เป็นผู้รับนโยบายของทางราชการมาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและประชาชน เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร และส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทั้ง ๒ ตำแหน่ง  เป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด   ทั้งนี้ในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีคณะกรมการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
   
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครสวรรค์. นครสวรรค์ : ไพศาลการพิมพ์, ๒๕๒๙.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #51 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:38:23 »

แม่ฮ่องสอน
สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์
แม่ฮ่องสอน เดิมเป็นชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง คงมีแต่ชาวไทยใหญ่จากชายแดนพม่าเข้ามาอยู่อาศัย ทำมาหากินบ้างเป็นบางฤดู ความสำคัญในสมัยนั้นเป็นเพียงทางผ่านของกองทัพพม่าที่เดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา หรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ามโหตร-ประเทศ (เจ้าพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ประสงค์จะได้ช้างป่ามาฝึกใช้งานจึงบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมาควบคุมไพร่พล หมอครวญพร้อมด้วยกำลังช้างต่อ ออกเดินทางไปสำรวจและคล้องช้างป่าทางด้านดินแดนแถบนี้ เจ้าแก้วเมืองมาเดินทางรอนแรมจากเชียงใหม่ มาถึงที่แห่งหนึ่งทางทิศใต้ริมฝั่งน้ำปาย เห็นว่าทำเลดีและเหมาะสม เพราะเป็นที่ราบมีน้ำท่าบริบูรณ์ ทั้งยังเป็นป่าโปร่ง มีหมูป่าลงกินโป่งชุกชุม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นหมู่บ้านได้ จึงหยุดพักไพร่พลอยู่ ณ ที่แห่งนี้ แล้วทำการรวบรวมชาวไทยใหญ่ที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง และตั้งชื่อว่า "บ้านโป่ง-หมู"  ซึ่งปัจจุบันได้เพี้ยนเป็น "บ้านปางหมู" ซึ่งเป็นสถานที่ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และแต่งตั้งให้  "พระกาหม่อง" เป็นหัวหน้าบ้านปกครองดูแล  เมื่อเจ้าแก้วเมืองมา ได้จัดตั้งหมู่บ้านโป่งหมูเรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปทางใต้เพื่อคล้องช้างป่า จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันนัก ได้พบรอยเท้าช้างป่ามากมาย จึงหยุดพักพลอยู่ ณ ที่นั้นทำการคล้องช้างป่าได้หลายเชือก เมื่อได้ช้างป่ามาแล้ว ก็ได้ตั้งคอกฝึกสอนช้างป่าในลำห้วยนั้น และได้มอบให้  "แสนโกม"  บุตรชายพะกาหม่อง ไปชักชวนผู้คนมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านและชื่อว่า "แม่ร่องสอน" ซึ่งปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น "แม่ฮ่องสอน"

การจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงประกาศรวมหัวเมืองต่างๆ ของอาณาจักรลานนาไทยเป็นมณฑลพายัพเป็นส่วนหนึ่งในผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย อาณาจักรลานนาไทยจึงสิ้นสภาพของการเป็นประเทศราช พ้นจากการต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ คือ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ฯลฯ และก็สูญสิ้นความเป็นอาณาจักรลงด้วยเช่นกัน เว้นแต่ยังคงมีเจ้าผู้ครองนครมีฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้า" เช่นเดียวกับในตอนที่เข้ารวมอยู่ในอำนาจของไทยใหม่ๆ ต่างกันแต่เพียงในสมัยที่จัดตั้งเป็นมณฑลขึ้นแล้วทางราชการได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นสมุหเทศาภิบาล และโดยเฉพาะมณฑลพายัพ เปลี่ยนเป็น อุปราช มาดำเนินการ    ปกครอง และแต่งตั้งเจ้าเมืองมาปฏิบัติราชการแทนเจ้าผู้ครองนคร (ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าหลวง) ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา สำหรับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งมีเกียรติ และมีเจ้าผู้ครองนครอยู่ทุกจังหวัดในมณฑลพายัพ ยกเว้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีเจ้าผู้ครองนคร เจ้าผู้ครองนครมา  สิ้นสุดลงภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ และยุบเลิกเจ้าผู้ครองนครเสียทั้งหมด ไม่แต่งตั้งขึ้นใหม่อีก ในเมื่อเจ้าผู้ครองนครนั้นถึงแก่พิราลัยลง

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
   การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริการราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และ กรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัด และอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
   เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องมาจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวก และรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนสามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒.  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑล ซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑล เมื่อจังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหาร แห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลเดียวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ    แผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ   ฉบับที่ ๒๑๘   ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕        โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๑) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ      และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #52 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:39:13 »

ลำปาง
จังหวัดลำปางเป็นที่ตั้งเมืองโบราณที่มีความสำคัญของประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย คือราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีชื่อเรียกในตำนานเป็น ภาษาบาลีว่า "เขลางค์นคร" คำว่า "ลคร" (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ ซึ่ง นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ปรากฏอยู่ในตำนานศิลาจารึกและพงศาวดารส่วนภาษาพูดโดยทั่วไปเรียกว่า "ละกอน" ดังนั้นเมืองลคร (นคร) จึงหมายถึงบริเวณอันเป็นที่ตั้งของ เขลางค์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปางในปัจจุบัน ส่วนคำว่า "ลำปาง" ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานวัดพระธาตุลำปาง หลวง ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปะ" ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ราว ๑๖ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
คำว่านครลำปาง เป็นชื่อเรียกเมืองนครลำปางตั้งแต่สมัยเจ้าทิพย์ช้างเป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะได้อพยพผู้คนจากลำปางหลวงมายังเมืองลคร แล้วเจ้าทิพย์ช้างได้รับการ สถาปนาเป็นเจ้าเมือง จึงเรียกชื่อเมืองว่า นครลำปาง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นครลำปางยุคแรกหรือสมัยเขลางค์นคร ซึ่งค้นได้จากตำนานมูลศาสนาชินกาล มาลีปกรณ์ ตำนานจามเทวีวงศ์ ตำนานไฟม้างกัลป์ ตำนานรัตนพิมพวงศ์ และพงศาวดารโยนก กล่าวว่า เมืองนี้สร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๔ พระฤษีวาสุเทพ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณ     เชิงดอยสุเทพ ได้ร่วมกับพระสุกกทันตฤษีแห่งเมืองละโว้ (ลพบุรี) สร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) แล้วทูลขอผู้ปกครองจากพระเจ้าลพราช กษัตริย์กรุงละโว้ พระองค์ได้ประทาน พระนางจามเทวี พระราชธิดาให้มาเป็นผู้ครองนครพร้อมกับได้นำพระภิกษุสงฆ์ ผู้รอบรู้พระไตรปิฎก พราหมณ์ราชบัณฑิต แพทย์ ช่างฝีมือดี เศรษฐี คหบดี อย่างละ ๕๐๐ คน ตามเสด็จขึ้นมาด้วย ในขณะที่เสด็จขึ้นมานั้น    พระนางทรงครรภ์ เมื่อประทับอยู่หริภุญไชยได้ ๗ วัน ได้ประสูติโอรสฝาแฝด ๒ องค์ นามว่า มหันตยศกุมาร หรือมหายศและอนันตยศกุมารหรืออินทรวร เมื่อกุมารทั้ง ๒ เจริญวัย พระนางจามเทวีได้ ราชาภิเษกเจ้ามหายศให้เป็นกษัตริย์ปกครองหริภุญไชย ส่วนเจ้าอนันตยศเป็นอุปราช ต่อมา         เจ้าอนันตยศมีพระประสงค์ไปสร้างเมืองใหม่ พระฤาษีวาสุเทพ จึงได้แนะนำให้ไปหาพรานเขลางค์      ที่เขลางค์บรรพต หรือภูเขาสองยอด ครั้นเมื่อพบแล้วพรานเขลางค์จึงได้พาไปพบ พระสุพรหมฤาษีบนดอยงาม แล้วขออาราธนาให้ช่วยสร้างเมือง พระสุพรหมฤาษีและพรานเขลางค์ได้เลือกหาชัยภูมิ        ที่เหมาะสม แล้วสร้างเมืองขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง (วังกตินที) เมื่อ พ.ศ. ๑๒๒๓ โดยสร้างเป็น สี่เหลี่ยมจัตุรัสตามแบบอย่างเมืองหริภุญไชย แล้วขนานนามว่า เขลางค์นคร แล้วอัญเชิญเจ้าอนันตยศขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครอง ทรงนามว่า พระเจ้าอินทรเกิงกร
เมืองเขลางค์ : สมัยหริภุญชัย
เมืองเขลางค์ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๒๒๓ มีรูปร่างเป็น           รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงเมืองชั้นล่างเป็นคันดิน ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นอิฐ สันนิษฐานว่า สร้างต่อเติมขึ้น    ภายหลัง มีความยาววัดโดยรอบ ๔,๔๐๐ เมตร เนื้อที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่ มี ประตูเมืองที่สำคัญ          ได้แก่ ประตูม้า แระตูผาบ่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกด และประตูตาล          ปูชนียสถานที่สำคัญได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคย เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธ       มหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๒ - ๒๐๑๑ นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดอุโมงค์ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ บริเวณประตูตาล ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองได้แก่วัดป่าพร้าว วัดพันเชิง วัดกู่ขาว หรือ เสตกุฎาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระสิกชีปฏิมากร วัดกู่แดง วัดกู่คำ ระหว่างวัด กู่ขาวมายังเมืองเขลางค์ก็มีแนวถนนโบราณทอดเข้าสู่ตัวเมืองสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยที่พระนางจามเทวีเสด็จมาประทับที่เมืองเขลางค์ใช้เชื่อมเมืองเขลางค์กับเขตพระราชสถาน ที่เรียกว่า อาลัมพางค์นคร และใช้เป็นเขื่อนกั้นน้ำเพื่อทดน้ำเข้าสู่ตัวเมือง
เมืองเขลางค์ : สมัยลานนาไทย
ใน พ.ศ. ๑๘๒๔ พระเจ้ามังรายได้แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองหริภุญชัย พระยาญีบา เจ้าเมืองสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่งพระยาเบิกโอรสยังเมืองเขลางค์นคร ต่อมา ใน พ.ศ. ๑๘๓๘ พระยาเบิก ได้ยกกองทัพไปตีเมืองหริภุญชัยคืน แต่พ่ายแพ้กลับมา ขุนคราม โอรสของพระเจ้ามังรายยก    กองทัพติดตามมาทันปะทะกันที่ตำบลแม่ตาน ปรากฏว่าพระยาเบิกเสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยา    ญีบาเมื่อทราบข่าว จึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ประทับ   อยู่ที่นั่นจนสิ้น  พระชนม์ จึงนับว่าเป็นการสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเมืองเขลางค์รุ่นแรก
เมื่อขุนครามตีเมืองเขลางค์ได้แล้วจึงแต่งตั้งให้ขุนไชยเสนาเป็นผู้รั้งเมืองสืบ ต่อมา ขุนไชยเสนาได้สร้างเมืองขึ้นใหม่  เมื่อ  พ.ศ. ๑๘๔๕  เป็นเมืองเขลางค์รุ่นสอง
เมืองเขลางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๘๐ ไร่ อยู่ถัด จากเมือง     เขลางค์เดิมลงไปทางทิศใต้ กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ วัดความยาวโดยรอบได้ ๑,๑๐๐ เมตร มีประตูเมือง   ที่สำคัญได้แก่ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนา โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ วัดปลายนา ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง และวัดเชียงภูมิ ปัจจุบันคือ วัดปงสนุก
ในระยะต่อมาได้รวมเมืองเขลางค์ทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน ดังปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมลานนาไทยก่อนรับอิทธิพลของพม่า  เช่นที่วัดพระแก้วดอนเต้า
เมืองเขลางค์ : เมืองนครลำปาง
เมืองเขลางค์ระยะนี้มีชื่อเรียกว่าเมืองนครลำปาง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดและตลาดเมืองลำปาง มีพื้นที่ประมาณ ๓๕๐ ไร่ กำแพงก่อด้วยอิฐยาว ๑,๙๐๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ ในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์ (ปัจจุบันอยู่ในแนวถนนรอบเวียง) โบราณสถานที่สำคัญได้แก่      หออะม๊อก (หอปืนใหญ่โบราณ) วัดกลางเวียงหรือ วัดบุญวาทย์วิหาร วัดน้ำล้อม วัดป่าดั๊วะ
ความสำคัญของเมืองเขลางค์สมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๘๔๕ - ๒๑๐๑)
ในสมัยราชวงศ์มังราย เขลางค์นครเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรลานนาไทย ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองว่าเมืองนคร เจ้าเมืองมียศเป็นหมื่น ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เชียงใหม่ทำสงครามเพื่อแย่งชิงหัวเมืองไทยเหนือกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นครลำปางเป็นแหล่งชุมนุมทัพที่สำคัญ ของพระเจ้าติโลกราชทรงแต่งตั้งให้หมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมือง จนกระทั่งสามารถตีเมืองเชลียงไว้ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๕๘  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ยกกองทัพมาตี    นครลำปาง  โดยเข้าทางประตูนางเหลี่ยว แล้วอัญเชิญพระสิขีปฏิมากร  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญไปจากวัดกู่ขาว
นครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทย มาจนถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์   แห่งกรุงหงสาวดี ได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ นับตั้งแต่นั้นมาลานนาไทย ทั้งปวงจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามาเป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาบ้าง เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ยุคแห่งการกอบกู้บ้านเมืองของชาวนครลำปาง
นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองเป็นต้นมา พม่าได้จัดส่งเจ้านายมากำกับการปกครอง     หัวเมืองลานนาไทย  โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เชียงใหม่ ต่อมาระยะหลังได้ ย้ายไปอยู่ที่    เชียงแสน
การปกครองของพม่าระยะหลังมิได้มุ่งให้หัวเมืองลานนาไทยเป็นประเทศราชอย่างแท้จริงดังแต่ก่อน เพราะมีการกบฏบ่อยครั้ง ประกอบกับพม่าต้องทำสงครามกับมอญ จึงปกครองชาวลานนาอย่างกดขี่และเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ทำให้ชาวลานนาไทยหลายกลุ่มลุกฮือขึ้นต่อสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ      จนกระทั่งถึงสมัยของเจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ "หนานทิพย์ช้าง" สามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ ต่อมาบ้านเมืองก็ประสบความวุ่นวายอีก ทางเมืองนครลำปางเกิดการแย่ง  ชิงอำนาจ ระหว่างเจ้าชายแก้ว (ลูกของหนานทิพย์ช้าง) เจ้าเมืองนครลำปาง กับท้าวลิ้นก่าน เจ้าเมืองคนเดิมแต่เจ้าชายแก้วสู้ไม่ได้ จึงหนีไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่ ภายหลังจากที่พม่ากลับเข้ามามีอำนาจใน   ลานนาไทยอีก ได้พิจารณาคดีนี้ โดยให้เจ้าชายแก้วและท้าวลิ้นก่านดำน้ำแข่งกัน ปรากฏว่าท้าวลิ้นก่าน    พ่ายแพ้ จึงถูกพม่าประหารชีวิต พร้อมทั้งริบทรัพย์สินและครอบครัว สำหรับสถานที่ที่ดำน้ำชิงเมือง  อยู่บริเวณหน้าวัดปงสนุก ซึ่งแม่น้ำวังไหลผ่านในสมัยนั้นยังมีศาลท้าวลิ้นก่านปรากฏอยู่ตรงข้าง       วัดปงสนุกมาจนกระทั่งทุกวันนี้
พม่าแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นที่ "เจ้าฟ้าหลวงไชยแก้ว" ครองเมืองนครลำปาง แต่พม่า   ยังปกครองชาวนครลำปางอย่างกดขี่ทารุณอยู่ หากผู้ใดขัดขืนก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก นับตั้งแต่    การจองจำ ริบทรัพย์สมบัติ ลูกเมีย ไปจนถึงการประหารชีวิต อันเป็นสภาวะที่ชาวนครลำปางสุดแสนจะทนทานต่อไปได้
ดังนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์           (รัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ เจ้ากาวิละ (โอรสของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว) จึงพาอนุชาทั้งหกเข้าสวามิภักดิ์ แล้วนำทหารชาวนครลำปางเข้าสมทบยกขึ้นไปตีเชียงใหม่พม่าได้จับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วไว้เป็นประกัน     เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เจ้ากาวิละ จึงนำทหารชาวนครลำปางตีหักเข้าเมืองได้ก่อนช่วย   พระบิดาออกจากที่คุมขังได้สำเร็จ แล้วนำกำลังสมทบกับกองทัพไทยใต้ตีพม่าแตกพ่ายไป
ความดีความชอบครั้งนี้ เจ้ากาวิละได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง  "นครลำปาง"  และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ตามลำดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ  เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้ากาวิละและ    พระอนุชา ได้นำเอาบ้านเมืองเข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทยที่ยกขึ้นไปตีพม่าที่เชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๑๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านครลำปางกับราชวงศ์จักรีมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายฝ่ายเหนือต้องการสวามิภักดิ์ต่อคนไทยด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ เนื่องจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทได้สู่ขอเจ้าศรีอโนชา กนิษฐาของเจ้ากาวิละเป็นชายาทางกรุงเทพฯก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เมืองนครลำปางอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับยกย่องให้มีฐานะสูงขึ้น เป็นถึงเจ้าประเทศราช อย่างไรก็ตามพม่าก็มิได้ลดละความพยายามที่จะกลับเข้ามามีอิทธิพลในลานนาไทยอีก เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมผู้คนและเสบียงอาหาร     เข้าโจมตีกรุงเทพ ฯ 
สงครามคราวพม่าตีนครลำปาง  และป่าซาง  (พ.ศ. ๒๓๓๐)
หลังจากที่พระเจ้าปะดุงพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไปจากสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. ๒๓๒๘) และสงครามที่ท่าดินแดง (พ.ศ. ๒๓๒๙) แล้ว บรรดาหัวเมืองประเทศราชลื้อ เขิน ของพม่าแถบเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองสาด เมืองปุก็พากันกระด้างกระเดื่องแข็งเมือง พระเจ้าปะดุงจึงโปรดให้ยกกองทัพไป  ปราบปรามใน พ.ศ. ๒๓๓๐ โดยมีหวุ่นยีมหาชัยสุระเป็นแม่ทัพใหญ่ คุมรี้พล ๔๕,๐๐๐ คน ลงมาทางหัวเมืองไทยใหญ่ ครั้นยกมาถึงเมืองนายได้แบ่งกำลังออกเป็นสองส่วนออกปราบบรรดาหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง สำหรับกองทัพพม่าที่ยกเข้าทางหัวเมืองลานนาไทย จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพคุมรี้พล ๕,๐๐๐ คน ยกลงมายึดเมืองฝางไว้เป็นแหล่งชุมนุมพล และสะสมเสบียงอาหารไว้รอกำลังส่วนใหญ่เพื่อเตรียมเข้าตีนครลำปาง
ฝ่ายโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งหลบหนีกองทัพไทยไปอยู่เมืองเชียงแสนมีกำลังรักษาบ้านเมืองไม่มากนัก เพราะกำลังส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์ไปช่วยทำนาที่เมืองฝาง จึงทำให้พระยาแพร่       ชือมังชัย และพระยายองเห็นเป็นโอกาสคุมกำลังเข้าโจมตีเมืองเชียงแสนโปมะยุง่วนสู้ไม่ได้หนีไปอาศัยอยู่กับพระยาเชียงราย จึงถูกพระยาเชียงรายควบคุมตัวส่งแก่ พระยาแพร่ และพระยายอง แล้วพระยาแพร่และพระยายองคุมตัวส่งแก่เจ้ากาวิละ ที่นครลำปางเนื่องจากเห็นว่าโปมะยุง่วนเป็นบุคลสำคัญระดับเจ้าเมือง ทางนครลำปางจึงคุมตัวส่งลงไปถวายยังกรุงเทพฯ การจับโปมะยุง่วนเป็นเชลยได้   กลายเป็นผลดีต่อฝ่ายไทยอย่างมาก เพราะได้นำตัวไปสอบสวนข้อราชการสงคราม ทำให้ทราบข่าว   แน่ชัดว่า พม่าเตรียมกองทัพเข้ามาตีนครลำปางในฤดูแล้ง เมื่อตีได้แล้วก็จะกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง(คำให้การของโปมะยุง่วนต่อมากลายเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง         ที่เรียกว่า คำให้การของชาวอังวะ)
การที่พม่ามีนโยบายเข้ามายึดเชียงใหม่เป็นที่มั่น นับว่าเป็นอันตรายต่อบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงคิดหาทางป้องกันไว้ก่อน โดยมีพระบรมราชโองการให้เจ้ากาวิละแบ่งครอบครัวจากนครลำปางส่วนหนึ่ง ขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางเมืองนครลำปางโปรดให้เจ้าคำโสมอนุชา เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองสืบแทน เนื่องจากมีกำลังน้อยเจ้ากาวิละเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะเป็นเมืองร้างมาหลายปี ดังนั้นจึงอพยพครอบครัวไปตั้งที่ป่าซางก่อนเป็นการชั่วคราว โดยมีกองทหารจากเมืองสวรรคโลก              และกำแพงเพชรยกขึ้นมาช่วยป้องกันบ้านเมือง ในระหว่างนั้นได้รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายบริเวณชายแดน มาไว้ในบ้านเมืองตามนโยบายที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" แต่ยังไม่ทันจะอพยพขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่  พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีเสียก่อน ดังนั้นจึงตั้งมั่นอยู่ที่ป่าซางถึง ๕ ปี เศษ
ครั้นถึงฤดูแล้ง พ.ศ. ๒๓๓๐ กองทัพของหวุ่นยีมหาชัยสุระยกลงจากเชียงตุงเข้ายึดเชียงใหม่คืน ตีเชียงรายแล้วเข้าสมทบกับกองทัพของจอข้องนรทาที่ฝาง รวมรี้พลได้ ราว ๓๐,๐๐๐ คน ยกลงมาทางเมืองพะเยา เข้าตีนครลำปาง ส่วนทางป่าซางพระเจ้าปะดุงทรงมีรับสั่งให้ยีแข่งอุเมงคีโป  คุมกำลัง ๑๖,๐๐๐ คน* จากเมืองเมาะตะมะ เข้าโจมตีล้อมไว้ป้องกันมิให้ยกไปช่วยทางนครลำปาง   ฝ่ายกองทัพพม่าที่ล้อมนครลำปาง เจ้าคำโสมได้นำทัพชาวเมืองต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างเข้มแข็ง พม่าพยายามเข้าปล้น เมืองหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จจึงตั้งค่ายล้อมไว้ให้ขาดเสบียงอาหาร
ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ  กำลังเตรียมกองทัพจะไปตีเมืองทวาย ครั้นทราบข่าวการศึกทางหัวเมืองเหนือ จึงโปรดให้พระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท    ยกขึ้นมาช่วย พอยกขึ้นมาถึงนครลำปาง โปรดให้ตั้งค่ายโอบล้อม พม่าไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อพร้อมแล้วก็ ส่งสัญญาณให้กองกำลังในเมืองตีกระหนาบออกมาพร้อมกัน พม่าสู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีกลับไปยัง   เชียงแสน ส่วนที่ป่าซางกองทัพไทยก็ได้ยกขึ้นไปช่วยตีกระหนาบข้าศึกแตกพ่ายไป เช่นเดียวกัน
ภายหลังเสร็จจากการศึกสงครามคราวนี้ เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้าคำโสม     เจ้าเมืองนครลำปาง ได้พาพระอนุชา (เจ้าเจ็ดตน) เข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท   แล้วถวายพระพุทธสิหิงค์ให้นำไปประดิษฐาน ณ กรุงเทพ ฯ  มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในปีจุลศักราช ๑๑๘๑ (พ.ศ. ๒๓๓๗) เจ้ากาวิละได้เรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้าแล้ว         มีโอวาทคำสอน โดยมุ่งให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีสาระสำคัญ     ตอนหนึ่งว่า
"ตั้งแต่เจ้าเราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไป ถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้น   ราชตระกูลแห่งเราทั้งหลาย แม้นว่าลูกหลาน เหลน หลีด หลี้ บุคคลใดยังมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบกับ    พระมหากษัตริย์เจ้า แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็น ข้าม่าน ข้าฮ่อ ข้ากูลา ข้าแก๋ว ข้าญวน ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวาย พลันฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัปป์ อย่าได้เกิดได้งอก ผู้ใดยังอยู่ตามโอวาทคำสอนแห่งเรา        อันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ ขอให้มีเตชะฤทธีอนุภาพปราบชนะศัตรูมีฑีฆา อายุมั่นยืนยาว"
สงครามคราวพม่าตีเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๔๐)
ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไป เมื่อครั้งตีนครลำปางและป่าซาง       ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ เจ้ากาวิละจึงได้อพยพผู้คนจากป่าซาง ขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๓๙     ยังจัดราชการบ้านเมืองไม่เป็นที่เรียบร้อย พม่าก็ยกกองทัพเข้ามาโจมตี ใน พ.ศ. ๒๓๔๐ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าปะดุงยังคิดเสียดายอาณาเขตในแคว้นลานนาไทยอยู่ จึงสั่งให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระคุมกองทัพมาประชุมพลที่เมืองนาย รวมรี้พล ๕๕,๐๐๐ คน จัดเป็น ๗ กองทัพ พม่าจัดวางกำลังล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างแน่นหนาถึง ๓ ชั้น ประสงค์จะตีหักเอาเมืองให้ได้ แต่เจ้ากาวิละก็สามารถคุมกำลัง  ป้องกันเมืองไว้ได้
ทางกรุงเทพฯเมื่อทราบข่าวศึกเมืองเชียงใหม่จึงโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพขึ้นมาช่วยเหลือ ประชุมทัพที่นครลำปาง ส่งกองทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าซึ่งสกัดอยู่ที่ลำพูน และป่าซางแตกพ่ายไป แล้วกองทหารชาวนครลำปางได้สมทบกับกองทัพหลวง รวม ๔๐,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีกระหนาบพม่าที่ล้อมเชียงใหม่แตกพ่ายไปอย่างยับเยิน จับเชลยอาวุธ  และช้างม้าพาหนะไว้ได้จำนวนมาก
  สงครามขับไล่พม่าออกจากเขตแดนลานนาไทย (พ.ศ. ๒๓๔๕ - ๒๓๔๗)
ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแก่กองทัพไทยในสงครามพม่าตีเชียงใหม่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ เจ้ากาวิละได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองเหนือไปโจมตีเมืองสาด หัวเมืองประเทศราชของพม่าเป็นการตอบแทนบ้าง จับได้เจ้าเมืองกับลูกชายรวมทั้งทูตพม่าซึ่งส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ    ตังเกี๋ยลงไปถวายยังกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังกวาดต้อนครอบครัว ชาวเมืองสาดประมาณ ๕,๐๐๐ คน มาใส่บ้านเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเจ้าปะดุงขัดเคืองมาก จึงโปรดให้อินแซะหวุ่น คุมกองทัพ ๔๐,๐๐๐ คน มาตีเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๔๕
สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพไทยขึ้นมาช่วยเหมือนครั้งก่อน ครั้นถึงเมืองเถินพระองค์ประชวรเป็นโรคนิ่ว ไม่สามารถ เสด็จต่อไปได้อีก จึงแต่ง   กองทัพขึ้นมาสมทบกับกองทัพของนครลำปาง ขึ้นไปช่วยทางเชียงใหม่จนสามารถขับไล่พม่าแตกพ่ายไป เมื่อเสร็จสงคราม เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ และเจ้าดวงทิพเจ้าเมืองนครลำปาง ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชที่เมืองเถิน ทรงมีรับสั่งให้ช่วยกันขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนให้ได้ แล้วพระองค์เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ ได้ไม่นานก็ทิวงคต
พอถึงฤดูแล้งกองทัพหลวงมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และเจ้าพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพของเชียงใหม่ นครลำปาง น่าน และเวียงจันทน์ ยกไปตีเชียงแสนใน พ.ศ. ๒๓๔๗ แต่ปรากฏว่าการบังคับบัญชากองทัพไม่เด็ดขาด เนื่องจากมีหลายกองทัพ ส่วนกองทัพวังหลวงที่ยกขึ้นไปนั้นก็      ไม่ตั้งใจทำสงครามอย่างเต็มที่ เนื่องจากถูกปรับโทษจากการยกไปตีเชียงใหม่ล่าช้า ตั้งล้อมเชียงแสนอยู่ได้ ๒ เดือน กองทัพชาวใต้ ได้เลิกทัพกลับเสีย ก่อนคงเหลือแต่กองทัพของลานนาไทย และ         เวียงจันทน์ยังคงล้อมเชียงแสนต่อไป จนกระทั่งในที่สุดชาวเชียงแสนลักลอบเปิดประตูเมืองให้เนื่องจากเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันจึงสามารถ ยึดเชียงแสนไว้ได้ เจ้ากาวิละสั่งให้รื้อกำแพงเมือง และทำลายเมืองเพื่อมิให้เป็นที่มั่นของข้าศึกอีกต่อไป แล้วอพยพครอบครัวชาวเชียงแสนลงมา ได้ครอบครัวประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ส่งลงไปกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน ที่เหลือส่งไปเวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่และนครลำปาง ชาวเชียงแสนที่อพยพลงมาอยู่ที่นครลำปางอาศัยอยู่แถบบริเวณวัดปงสนุกสืบต่อลูกหลานกันมา จนถึงปัจจุบัน
ความดีความชอบในครั้งนี้เจ้ากาวิละได้รับบำเหน็จความชอบมาก โปรดให้สถาปนาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้กองทัพของลานนาไทยประกอบด้วย เชียงใหม่ นครลำปาง แพร่ เมืองเถิน น่าน รวมทั้งกองทัพของลานช้างได้แก่          หลวงพระบางและเวียงจันทน์ ร่วมกันยกขึ้นไปตีเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงแขง ตลอดจนบรรดาหัวเมืองต่างๆ แถบไทยใหญ่ ลื้อ เขิน มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงเทพฯ ทำให้อาณาเขตของ ไทยแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าครั้งใดๆ นับตั้งแต่นั้นมาบรรดาหัวเมืองลานนาไทย ทั้งปวงจึงปลอดภัยจากการรุกรานของพม่าข้าศึก  ด้วยเดชะพระบารมีแห่งบรมราชจักรีวงศ์
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงขอนำคำจำกัดความของ "การเทศาภิบาล"  ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้       ซึ่งมีความว่า
"การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำ แต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไป   ดำเนินงานในส่วนภูมิภาคให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร เพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและ   เกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกัน เป็นขั้นอันดับกันดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้  สอดคล้องกับ ทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อยและรวดเร็วแก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทาง    ราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล  ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้นหมายความรวมว่า เป็น "ระบบ" การปกครองอาณาเขต ซึ่งเรียกว่า "การปกครองส่วนภูมิภาค" ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล" นั้น คือส่วนหนึ่งของการปกครองแบบเทศาภิบาล ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆแทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม ซึ่งเรียกว่าการปกครองแบบ          "กินเมือง" ดังนั้นระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้   ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูป   การปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลแล้ว แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่     ดัง จะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้มั่นคง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่าควรจะ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #53 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:39:34 »

ลำปาง ๒
รวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงมีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่           เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกรวมเป็นมณฑลภูเก็ต บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงาน จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่า มาเป็นแบบใหม่และเมื่อโปรดเกล้าฯ   ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวบรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่าและได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันตกเป็นมณฑลไทรบุรี และได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง  ในปี  พ.ศ.  ๒๔๔๒
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการปกครองมณฑลอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพมณฑลอุดร  และมณฑลอีสาน  ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ.   ๒๔๔๗     ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ.   ๒๔๔๙     จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี
พ.ศ.   ๒๔๕๐     ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่ อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ.   ๒๔๕๘     จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น  โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ   เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัด เป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น จังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศ ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒)    เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑล   รายงานต่อกระทรวง  เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหาร    แห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการ  ส่วนภูมิภาคเป็น

๑)    จังหวัด
๒)    อำเภอ
จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ   และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น     
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #54 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:40:35 »

อุทัยธานี
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
   กรมศิลปากร ได้สำรวจและขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๒ ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๒ ที่บริเวณเชิงเขานาค ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พบว่าดินแดนบางแห่งของจังหวัดอุทัยธานี เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะประมาณ ๓,๐๐๐ ปี – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
   บริเวณที่พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะนั้น เป็นเนินดินอยู่ติดกับเชิงเขานาคและลาดลงสู่ลำน้ำตากแดดซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง เขานาคเป็นเทือกเขายาวไปทางทิศเหนือและใต้สูงประมาณ  ๑๐๐  เมตร หัวเขาด้านทิศเหนือจดลำตากแดด ในฤดูแล้งจะมีน้ำขังอยู่เป็นห้วง ๆ ที่เชิงเขานาคเป็นเนินดินเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ลาดลงสู่ลำน้ำตากแดด แหล่งโบราณคดีที่พบอยู่ทางฟากด้านทิศตะวันตก เป็นภูมิประเทศเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณ เนื่องจากเป็นเนินดินน้ำท่วมไม่ถึง อยู่ใกล้ลำน้ำและภูเขา เหมาะแก่การเพาะปลูกและล่าสัตว์ หาอาหาร ใกล้น้ำบริโภค อาจจะใช้ลำน้ำเป็นทางคมนาคมติดต่อกับชุมชนอื่นได้อีกด้วย
   การขุดตรวจในบริเวณที่ชาวบ้านเคยพบโครงกระดูกนั้น เป็นดินร่วนปนทรายลึกลงจากผิวดิน พบเศษเครื่องปั้นดินเผาเศษสำริด แต่มีจำนวนน้อย พบร่องรอยโครงกระดูกมนุษย์ ๑ โครง กระดูกป่นเป็นผงเหลือแต่ฟันรวมกันอยู่หลายซี่ ในระดับลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายสีน้ำตาลอ่อน และมีเศษหินผุปนรวมอยู่ด้วย ต่ำจากระดับลึก ๖๐ เซนติเมตร เป็นดินปนกรวดหินปูนก้อนเล็กๆ และไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ เลย ถัดจากหลุมนี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕๐ เมตร ได้พบเครื่องปั้นดินเผาบนผิวดินจำนวนมาก ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ในระดับลึกจากผิวดินประมาณ ๖๐ เซนติเมตร โครงแรกที่พบเป็นการฝั่งเดี่ยว นอนหงายเหยียดตรง แขนแนบลำตัว วางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ศีรษะเอียงไปทางขวา อยู่ในสภาพที่แตกเป็นชิ้นๆ เนื่องจากแรงกดของดิน ไม่มีเครื่องประดับหรืออาวุธฝั่งรวมอยู่ด้วย มีแต่กองเศษภาชนะดินเผาวางอยู่ข้างตัวตั้งแต่ไหล่ลงไปถึงปลายเท้า กระดูกอยู่ในสภาพค่อนข้างเปื่อย กระดูกสันหลัง ซี่โครง และเชิงกรานผุหมดยากต่อการสันนิษฐานว่าเป็นชายหรือหญิงฟันแข็งแรง แต่หน้าฟันลึกมาก อาจเป็นเพราะว่า กินอาหารที่ปนเศษกรวดทรายอันเกิดจากการใช้ฟันบดอาหารจำพวกแป้ง ฟันกรามใหญ่ซี่สุดท้ายยังอยู่ในที่ แสดงว่าผู้ตายมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี และเสียชีวิตคงจะอายุไม่เกิน ๔๐ ปี โครงกระดูกสัดส่วนสูงโดยประมาณไม่เกิน ๑๖๐ เซนติเมตร
   อีกหลุมหนึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังรวมกัน ประมาณ สี่โครง ซ้อนอยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดตรง แขนแนบลำตัววางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน โครงกระดูกทุกโครงในหลุมนี้ผุเปื่อยมาก ที่ยังคงรูปร่างอยู่แยกได้ ๔ โครง นอกนั้นเป็นกระดูกส่วนต่างๆ เช่น กะโหลก กระดูกแขนขา ชิ้นส่วนของกระโหลกศีรษะ ฝังรวมๆ กันอยู่แต่วางเรียงกันอยู่อย่างเป็นระเบียบนอกจากโครงกระดูกผู้ใหญ่แล้ว พบฟันน้ำนมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกับเศษกระโหลกบางๆ เข้าใจว่าเป็นศพเด็กเล็กๆ ฝังรวมอยู่ด้วย หลุมฝังศพนี้ไม่มีภาชนะดินเผาที่รวมอยู่เป็นกลุ่มเลย ภาชนะที่พบวางอยู่ทางด้านขวาของปลายเท้า เครื่องประดับที่พบมี กำไลสำริดสวมติดข้อมือซ้ายซ้อนกัน ๒ วง มีลวดลายคล้ายเชือกถักแบบถักเปีย และมีห่วงสำริดหรือแหวนสำริดกองอยู่ระหว่างกระดูกต้นขา นอกนี้ยังพบลูกปัดหินลายขาวดำ (Boudid Agate) และลูกปัดหินสีส้ม (Carnalian) ที่บริเวณคอลูกปัดแก้วสีแสดหรือแดงคล้ำ และลูกปัดแก้วสีน้ำเงินขนาดเล็กที่บริเวณข้อมือ นอกจากนี้ได้พบขวานเหล็กและเครื่องมือเหล็กฝังรวมอยู่หลายชิ้น ขวานเหล็กเล่มหนึ่งวางทับอยู่บนกระดูกต้นขาขวามีเศษผ้าเนื้อหยาบติดอยู่ใกล้กับคมขวานเหล็ก ลักษณะใยเส้นด้ายอาจจะทำด้วยเปลือกไม้ ขวานเหล็กอีกอันหนึ่งยังมีร่องรอยของด้ามไม้ติดอยู่ เนื้อไม้เป็นเส้นคล้ายไม้ไผ่ เข้าใจว่า  มนุษย์สมัยนั้นอาจนำซอไม้รวกมาทำเป็นด้ามก็ได้เพราะซอไม้รวกแก่จัดจะมีความแข็งและเหนียวไม่แพ้ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เศษผ้าและไม้ที่ยังไม่ผุเปื่อยไปทั้งๆ ที่มีอายุนับพันปีนี้ก็เนื่องจาก มีสนิมเหล็กช่วยรักษาไว้สำหรับสิ่งของอื่นที่พบมี แร่ดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด เศษเหล็กที่เหลือจากการหลอมก้อนแร่ เปลือกหอยกาบกระดูกและเขาสัตว์ โดยเฉพาะกระสุนดินเผามีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑.๐๐-๒.๐๐ เซนติเมตร กระดูกสัตว์ต่างๆ เป็นสัตว์หลายประเภท เช่น หมู เก้ง กวาง สัตว์ประเภทฟันแทะ (Rodent) วัวควาย กระดูกปลา กระดองเต่า เขาสัตว์ มีรอยตัดด้วยมีดคม
   วันที่ ๒๙ เมษายน – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ ได้มีการขุดสำรวจเรื่องราว ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ที่เชิงเขานาคอีกครั้งหนึ่ง พบโครงกระดูกลึกจากผิวดินประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ในลักษณะนอนหงายซ้อนกันเหยียดยาว แขนแนบลำตัวอยู่ในชั้นดินปนกรวด วางศีรษะไปทางทิศตะวัน-ตกเฉียงเหนือ มีภาชนะดินเผาวางเป็นกลุ่มอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนหลักฐานที่พบเพิ่มเติมและแตกต่างจากครั้งที่แล้วมี ถ้วยสำริดที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ ตุ๊กตาดินเผาเป็นรูป สัตว์สี่เท้าบางจำพวก เช่น กบ เสือ และอื่นๆ ที่ชำรุด เสียมเหล็ก ขวานเหล็ก ที่มีรอยจักสาน ของภาชนะที่ใส่ติดอยู่พร้อมเมล็ดพืช กำไลสีเขียวลักษณะแบน มีรูสำหรับต่ออยู่ ๓ แห่ง อยู่ที่เดียวกับท่อนแขนที่มีกำไลสำริดสวมอยู่ ๘ อัน หัวลูกศรและปลายหอก ฉมวก ที่ทำด้วยโลหะ ขวานหินมีป่า ขวานหินขัดและขวานหินกระเทาะ ลูกกระพรวนสำริดที่มีสภาพสมบูรณ์ นอกนั้นก็เป็นเศษภาชนะดินเผาลูกปัดหินกำไล และแหวนสำริด เปลือกหอย เขาสัตว์ ตะกรัน เป็นต้น
   นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจพบแหล่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ในท้องที่อื่นอีกหลายแห่ง คือ พบเครื่องมือหินกระเทาะสมัยหินเก่า ทำจากหินกรวด ที่นำมาจากเหมืองแค่ อำเภอบ้านไร่ พบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาที่อยู่บนเทือกเขาปลาร้า เขตอำเภอลานสัก พบขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือเหล็กเป็นรูปคล้ายเคียวในถ้ำเขาฆ้องชัย อำเภอลานสัก พบขวานหินขัดที่ถ้ำเขาปฐวี อำเภอทัพทัน, พบขวานหินขัดรูปเหมือนปัจจุบันเศษภาชนะดินเผา และกระดูกสัตว์ ที่ถ้ำเขาตะพาบ ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ พบขวานหินขัดสมัยใหม่ ที่บริเวณถนนตรงหมู่บ้านชวนพลู หรือสวนพลู อำเภอบ้านไร่ เป็นจำนวนมาก พบโครงกระดูก เศษภาชนะดินเผา และลูกปัดหินสี แวดินเผาที่บ้านท่าทอง บ้านดงยางใต้ อำเภอเมืองอุทัยธานี  โดยเฉพาะ ที่บ้านท่าทอง พบลูกปัดหุ้มด้วยทองคำเป็นต้น ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่า พื้นที่ทุกแห่งของจังหวัดอุทัยธานีเคยเป็นที่อยู่ หรือเส้นทางของมนุษย์ในสมัยโบราณมาก่อน พ.ศ. ๑๐๐๐
   เมื่อมีมนุษย์มาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยโบราณ นิทานของพื้นบ้านของหมู่บ้านหนองเต่า อ.เมือง ก็ได้มีเล่าต่อสืบทอดกันมาว่าที่บริเวณเขานาคนั้น เดิมเป็นที่อยู่ของพวกพญานาค (เข้าใจว่าเป็นมนุษย์ชาวเขาเผ่านาคา) และห่างจากเขาไปทางทิศตะวันออกนั้น มีหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของเต่าทอง (เข้าใจว่าเป็นพวกหากินตามชายน้ำ) พญานาคซึ่งคงจะเป็นพวกนาคาที่มีความดุร้ายหรือมนุษย์ที่กินคน ก็พยายามที่จะจับเต่าทองไปเป็นอาหาร ส่วน เต่าทองนั้น ได้พยายามหลบหลีกและคบหา อยู่กับพวกเทวดา ซึ่งต้องเป็นคนที่มีวิชาความรู้มาก จนในที่สุดทนหนีพญานาคไม่ได้ ก็ไปขอร้องให้พวกเทวดาช่วยสาปแช่งให้พญานาคตายแข็งเป็นหินอยู่ที่เขา ส่วนพญานาคตนอื่นก็หนีไป ทิ้งไว้แต่พญานาคที่ดื้อกว่าให้ถูกสาปเป็นหิน เขาลูกนี้จึงชื่อว่าเขานาคส่วนหนองน้ำใหญ่นั้น เรียกว่าหนองเต่า เป็นหมู่บ้านใหญ่จนทุกวันนี้
   อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า พญานาค ตนหนึ่งเกิดไปชอบหญิงสาวคนหนึ่งเข้าก็เห็นจะชื่อนางเป็นคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับเจ้าหลวงซึ่งชอบพออยู่กับเธอเหมือนกัน มาระยะหลัง เธอก็เกิดตัดสินใจไม่ถูกว่าจะอยู่ร่วมเรียงเคียงหมอนกับใครดี เมื่อเป็นอย่างนี้เจ้าหลวง กับพญานาค ก็ตกลงนัดพบกันอย่างลูกผู้ชาย เพื่อเจรจาความต่อหน้านางให้แตกหักเสร็จสิ้นกันไป ในที่สุดก็ตกลงใจกันไม่ได้ จึงเกิดการต่อสู้กันอย่างชนิดต้องใช้วิชาตัวเบาฝ่ามือพญามารเข้าต่อสู้กับขวานพยัคฆ์เหิรเจ็ดคาบสมุทร เสียงสนั่นหวั่นไหวจนพวก เทวดา ต้องเผ่นออกมาดูศึกหน้านาง ครั้งหนึ่งคมขวานจามไปถูกแผ่นดิน ถึงกับแยกเป็นลำน้ำตากแดดพวกเทวดา เห็นว่าไม่ได้เรื่อง จึงสาปให้เจ้าหลวงตายแข็งเป็นหินอยู่ที่ เขาหลวง ส่วนพญานาค ก็ให้กลายเป็นเขานาคตากแดดจนตาย สำหรับนางต้นเหตุให้เกิดวิวาทนั้นได้ตัดเนื้อนมขว้างไปให้ เจ้าหลวงข้างหนึ่ง กลายเป็น ภูเขานมนาง อยู่คนละฝั่งกับลำน้ำตากแดด เขตอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนอีกข้าง  ขว้างให้พญานาคออกไปเสียไกลเป็น ภูเขาแหลม อยู่ในท้องที่อำเภอทัพทัน ส่วนสถานที่ต่อสู้กันนั้น เรียกว่า วังรอจนทุกวันนี้ เป็นเรื่องเล่ากันสนุกๆ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดทางโบราณคดีแต่อย่างใด นอกจากสถานที่ที่มีจริงตามเรื่องนี้
   บริเวณเชิงเขาซับฟ้าผ่า อยู่ในเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสักซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เขา อยู่ใกล้ห้วยน้ำซับ มีหินวงกลม อยู่รวมทั้งหมด ๖ วง ลักษณะเป็นหินอัคนี ขนาดต่างๆ เรียงซ้อนเป็นแนวคล้ายกองหินทำเป็นรูปวงกลมบางวงมีขนาดกว้าง ๒.๐๐-๒.๕๐ เมตร บางวงมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๓๗ เมตร วงหินวงกรมเหล่านี้ เข้าใจว่ามีอายุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ นอกจากนี้ ยังพบหินวงกลมในป่าเขตบ้านน้ำพุ ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ อีกแห่งหนึ่งสอบถามได้ความว่า เป็นที่ฝังศพชาวละว้ามาแต่โบราณ หินวงกลมนี้ บางคนเรียกว่า "สังเวียนไก่" ในที่แห่งแรกเคยมีผู้พบเศษภาชนะดินเผาด้วย
                มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นิยมเขียนภาพไว้บนผนังถ้ำ หรือหน้าผาสูง เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็น มักเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการจดจำหรืออาศัยเค้าโครงของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ในชีวิตประจำวัน รูปแบบและลักษณะของภาพมักจะออกมาตามความคิดฝันที่ติดหูติดตา ที่จังหวัดอุทัยธานีได้มีการสำรวจพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่หน้าผา    บนเทือกเขาปลาร้า     ตำบลห้วยคต อำเภอ
บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีขนาดสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ เมตร หน้าผานี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นหน้าผาขนาดใหญ่ และมีภาพเขียนรูปคน สัตว์ และรูปทรงเรขาคณิต อยู่บนหน้าผาหลายรูป
   ภาพเขียนสีรูปคนนั้น เขียนเป็นเส้นด้ายด้วยสีแดงคร่ำ บางรูปจางเป็นสีส้ม รูปคนเขียนลงสีทึบ ภายในสวมเครื่องประดับเป็นขนนกที่หัว ที่เอวมีเครื่องประดับห้อยอยู่ ดูเหมือนอวัยวะเพศ ที่มือสวมกำไลสี่เหลี่ยม บางรูปภายในเขียนเป็นเส้นตัดขวางเป็นก้างปลา สามารถแยกลักษณะการเขียนภาพคนได้ ๓ ชนิด คือ ภาพคนที่ลงสีทึบภายใน ภาพคนที่วาดเฉพาะเส้นรอบรูปภายในโปร่ง และภาพคนที่วาดเป็นเส้นรอบนอกของรูป ภายในเขียนแบบประจุดอยู่เต็มช่วงลำตัว เป็นลักษณะพิเศษมีอยู่ ๓ รูป คนละขนาดและยืนเรียงกันอยู่ด้านในสุดของหน้าผา รูปหนึ่งมีประจุดในลำตัว อีก ๒ เป็นเส้นตรงและเส้นตัดขวางอยู่ภายในลำตัวมือและเท้าไม่ได้วาดต่อให้ครบ ภาพคนบางรูปเขียนในท่าจูงวัว และบางรูปมือถือไม้อยู่กับสุนัข เป็นต้น
   ภาพเขียนสีรูปสัตว์ มีรูปวัวที่ภายในเขียนเป็นรูปตัดขวางในลำตัว บางรูปเขียนเป็นเส้นรอบรูป ส่วนภายในทาสีประกอบเป็นสีดำ แสดงให้เห็นด้านข้าง เห็นขา ๓-๔ ขา สัตว์บางตัวมีขนนกประดับที่หัวด้วย พื้นผนังหน้าผามีเส้นร่างสีดำเต็มไปหมด เข้าใจว่า เขียนภาพร่างก่อนที่จะลงสี รูปสัตว์ที่เขียนมีภาพ วัว ไก่ กบ เต่า ค่างหรือลิง สุนัข เป็นต้น สีที่เขียนเป็นสีแดงคร่ำ
   ภาพเขียนสีที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตส่วนใหญ่เป็นเส้นร่างสีดำ ดูไม่ออก บางแห่งทาสีดำเป็นพืชคล้ายรูปสัตว์ บางรูปเป็นเส้นโค้งหลายเส้นกระจายออกจากจุดกลางวนไปทางซ้าย บางภาพเป็นรูปสัตว์แบบขาวดำ
   ภาพเขียนสีที่พบในจังหวัดอุทัยธานีนี้เป็นภาพเขียนที่เข้าใจว่า ผู้เขียนช่วยกันเขียนหลายคน จึงมีรูปแบบลักษณะของภาพแตกต่างกัน บางรูปเขียนทับซ้อนเส้นร่างเดิม บางรูปถูกน้ำฝนไหลชะ สีหลุดเห็นเป็นรูปเลือนลาง และเปลี่ยนสีแดงคร่ำเป็นสีส้มหรือแดง เดิมเข้าใจว่า คงมีภาพเขียนอยู่เต็มหน้าผาแห่งนี้ การเขียนนั้นผู้เขียนต้องตั้งร้านไม้สำหรับเขียนจึงจะสามารถเขียนภาพได้ สูงประมาณ
 ๗-๘ เมตร ภาพเขียนที่พบบนยอดเขาปลาร้านี้ มีลักษณะพิเศษคือ รูปคนมีเครื่องประดับ ภาพคนเขียนไว้หลายแบบในที่เดียวกัน และเป็นภาพเขียนสีที่มีลักษณะชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด อายุประมาณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะ
   สรุปได้ว่า พื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานีเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยหินเก่า จากจังหวัดกาญจนบุรีเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตอำเภอบ้านไร่ แถบลำธารเก่าบริเวณทางเข้าเหมืองแร่ แล้วอพยพกระจัดกระจายไปอยู่ตามถ้ำตามชายน้ำ มีวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยหินใหม่ ซึ่งพบเครื่องมือหินขัดใกล้ลำธาร บ้านสวนพลู หรือบ้านชวนพลู ในเขตอำเภอบ้านไร่ ถ้ำเขาฆ้องชัย ในเขตอำเภอลานสักเป็นต้น จนอพยพเข้ามาถึงเชิงเขานาค ก็เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมสมัยโลหะ อยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านชุมชนเล็กใกล้ลำน้ำตากแดด ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อาจมีพาหนะใช้ เช่นเลื่อนหรือล้อสำหรับทางน้ำอาจจะมีเรือขุดใช้ รู้จักถลุงแร่ เป็นช่างทำเครื่องเหล็ก และเครื่องสำริด ทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม มีการแลกเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องใช้ระหว่างชุมชนใช้เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น กำไล ลูกปัด ห่วงหู หรือห่วงจมูก แหวน เป็นต้น เครื่องมือที่ช่วยในการเพาะปลูก       ทำด้วยเหล็ก  มีรูปร่างคล้ายเสียมในสมัยปัจจุบันอาวุธของมนุษย์สมัยนี้ได้แก่
ใบหอก ขวาน และอาจจะใช้คันกระสุนสำหรับล่าสัตว์ขนาดเล็ก ภาชนะดินเผามีขนาด รูปร่าง และลวดลายต่างๆ กันส่วนมากค่อนข้างบางประดิษฐ์ด้วยฝีมือปราณีต ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินปนทราย ประเพณีการฝังศพ นิยมวางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่มีโลงใส่ และฝังเครื่องมือเครื่องใช้ของคนตายรวมไปกับศพมนุษย์สมัยนี้มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๖๐ เซนติเมตร มักเสียชีวิตในวัยฉกรรจ์ อายุไม่เกิน ๔๐ ปี มนุษย์สมัยโลหะที่อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี พบว่า ได้ปั้นตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์คล้ายกบ และสัตว์สี่เท้าบางจำพวก จะเป็นเครื่องเล่นของเด็ก หรือใช้สำหรับพิธีกรรมบางอย่าง ไม่สามารถสันนิษฐานได้ใกล้เคียง เพราะพบในสภาพที่ชำรุดไม่สมบูรณ์
   ส่วนชาวละว้า ลุ และกระเหรี่ยง นั้นเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาแต่เดิม เมื่อได้รับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและผสมเผ่าพันธุ์กับชาติอื่น ก็สืบทอดเชื้อชาติและเปลี่ยนแปลงตนเองให้เจริญ ถึงกับสามารถตั้งบ้านเมืองในสมัยทวาราวดี

สมัยทวาราวดี
   ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ นั้น ได้มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็ก และรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียมาจัดตั้งเป็นบ้านเมืองบนดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นเมืองโบราณสมัยนี้จึงเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอุทัยธานี เป็นต้น ส่วนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะตอนปลายก็ได้รับเอาความเจริญดังกล่าว และคงจะพากันอพยพ เข้ารวมกลุ่มในอารยะธรรมศิลปทวาราวดีบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีบางส่วนที่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ห่างไกล
                จังหวัดอุทัยธานี ปรากฏว่าได้มีการสำรวจพบหลายแหล่งในท้องที่เขตอำเภอต่างๆ คือ
   ๑. เมืองโบราณบ้านด้ายหรือบ้านใต้ อยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง อุทัยธานี ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแควตากแดด   ลักษณะตัวเมือง   เกือบจะเป็นรูปวงรี ด้านทิศเหนือใช้ลำน้ำตากแดดเป็น
คูเมือง ส่วนด้านอื่นๆ เป็นคูและกำแพงดิน ตัวคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงดินหนาประมาณ ๒๐ เมตร สูงราว ๕ เมตร แนวโบราณสถานรอบยาว ๘๖๕ เมตร ส่วนรอบนอกยาว ๑,๒๗๐ เมตร วัดตั้งแต่ลำน้ำตากแดดเข้าไป แล้วอ้อมออกลำน้ำตากแดดตอนล่างแนวโบราณสถานนี้ กว้าง ๑๗๐ เมตร ห่างด้านละประมาณ ๒๐ เมตร กำแพงดินส่วนที่ใกล้ลำน้ำถูกตัดเป็นทางเดินมีเศษภาชนะดินเผาติดปะปนอยู่ในเนื้อดิน กลางเมืองมีสระน้ำขนาดกว้าง ๘๗ เมตร ยาว ๑๑๐ เมตร ลึกเข้าไปด้านละประมาณ ๒๐ เมตร จะเป็นตัวสระรูปวงรี เนื้อที่ของเมืองโบราณแห่งนี้มีประมาณ ๑๐๐ ไร่ ๙๙ ตารางวา มีซากโบราณสถานอยู่ ๑ แห่ง  ที่เชิงเขานาคนอกคูเมืองด้านทิศตะวันตกทางทิศใต้ของกำแพงดิน มีซากเจดีย์ รูปสี่เหลี่ยมขนาด ๓๓ เมตร ฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ส่วนบนถูกทำลายหักพังไม่เป็นชิ้นดี มุมกำแพงด้านทิศเหนือ พบระฆังหินสีเทากว้าง ๗๘ เซนติเมตร ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร หักเป็นสองท่อน กับมีผู้เคยพบพระพุทธรูปสำริดฝังอยู่ริมลำน้ำตากแดด พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ฐานเป็นรูปบัว เศียรหักไปส่วนหนึ่ง ตุ้มหูสำริด กำไลหิน เป็นต้น
   ๒. เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ในท้องที่ตำบลดงขวาง อำเภอหนองขาหย่าง ตัวเมืองถูกแปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร คูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงดินกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ตอนกลางลาดเป็นแอ่งคล้ายท้อง  กะทะ ถูกปรับเป็นที่นาไปเกือบหมด รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๔๐ ไร่ เมืองนี้มีทางเข้า ๓ แห่ง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และทิศเหนือ โบราณวัตถุที่เคยพบมีลูกปัดสีต่างๆ เป็นจำนวนมาก เครื่องปั้นดินเผาก้อนตะกั่ว ตราดินเผา รูปดอกไม้กับรูปสิงห์ ลักษณะเลือนลางมาก แท่งหินบดยา แว ถ้วยหรือตระกรันดินเผา ขวานหินขัดทำด้วยหินทราย ก้อนแร่เหล็กพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้นนอกจากนี้พบระฆังหินแบบเจาะรู ๒ รู และรูเดียวขนาดใหญ่ ๒x๕ ศอก จากทางเข้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีร่องรอยเจดีย์เล็ก ๆ เรียงรายห่างกันประมาณ ๒๐ เมตร ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร จนถึงองค์เจดีย์ใหญ่ ที่ดงหนองสระ หรือดงเจดีย์ราย เข้าใจว่าจะเป็นโบราณสถานที่สำคัญ และชาวเมืองออกมาทำบุญกันที่นี่ทุกวันพระ บนเขาระแหงที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโบราณแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าว่ามีเจดีย์เก่าแก่อยู่ด้วย
   ๓. เมืองโบราณเมืองการุ้ง อยู่ในท้องที่ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมถนนสายหนองฉาง-บ้านไร่ ตรงกิโลเมตรที่ ๔๐ เดิมเป็นพื้นที่ป่าทึบ ปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะของตัวเมืองเป็นวงกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๘๐๐ เมตร ประกอบด้วยคูเมือง กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๒ เมตร มีกำแพงดินล้อมรอบ คูเมืองบางตอนถูกเกลื่อนลง คูเมืองยาวตลอดเป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร บางแห่งตื้นกว่าระดับเดิม และมีการขุดลอกคูเมืองใหม่ ภายในบริเวณเมืองมีซากเจดีย์หักพังอยู่ค่อนไปตรงกลาง ตัวเมืองด้านในอยู่ติดกับทิวเขาอีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับถนนที่ตัดผ่านในระยะหลัง ภายในเมืองมีสระน้ำอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ และที่นอกกำแพงดินด้านทิศใต้มีสระโบราณอีกแห่งหนึ่ง โบราณวัตถุที่พบนั้น มีพระพุทธรูปปางเสด็จดาวดึงส์และสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกับเมืองสมัยทวาราวดีทั่วๆ ไป
   ๔. เมืองโบราณบึงคอกช้าง อยู่ในท้องที่ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ ตัวเมืองตั้งอยู่ในป่า ซึ่งได้ทำการสำรวจและขุดตรวจ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ปรากฏว่า คูเมืองกว้างประมาณ ๒๐ เมตร กำแพงดินสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๖-๗ เมตร มีประตูเข้าเมืองทั้ง ๔ ทิศ และริมประตูเมืองทั้ง ๔ มีสระน้ำเฉพาะด้านทิศตะวันออก มีคันคูอีกชั้นหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ขุดเพื่อเชื่อมโยงกับลำห้วยทางด้านตะวันออก เพื่อให้น้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในคูเมือง เนื่องจากเมืองอยู่ในป่าทึบจึงมีซากวัชพืชทับถมผิวดินหนามาก ไม่อาจพบเศษเครื่องปั้นดินเผาได้ โบราณสถานที่สำรวจมีอยู่ ๕ แห่ง คือ ภายในตัวเมือง ๑ แห่ง ตั้งอยู่ใกล้คูเมืองด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นเนินศิลาแลง ขนาดของเนินมีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร ตอนกลางถูกขุดเป็นโพรง นอกคูเมืองมีโบราณสถานก่อด้วยอิฐอีก ๓ แห่ง มีขนาดกว้าง ๑๔ เซนติเมตร ยาว ๓๗ เซนติเมตร และหนา ๗-๘ เซนติเมตร มีแกลบผสมมาก ขนาดของเนินที่ใหญ่ที่สุด กว้างด้านประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ส่วนอีก ๒ แห่ง เป็นเนินขนาดเล็กกว้างประมาณ ๖-๗ เมตร สูงประมาณ ๑/๒ เมตร
   นอกจากนี้ ยังพบซากโบราณสถานอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอีก ๑ แห่ง ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐที่เผาแกร่งและมีสีแดงเข้ม มีส่วนผสมกับทรายมากกว่าแกลบและมีน้ำหนักอิฐขนาดกว้าง ๑๒ เซนติเมตร ยาว ๒๔ เซนติเมตร และหนา ๖ เซนติเมตร โบราณสถานแห่งนี้ อยู่ในสภาพถูกทำลาย ที่บริเวณเมืองนี้ พบหลักฐานที่สำคัญมาก คือ ศิลาจารึกอักษรโบราณ ๓ หลัก เป็นอักษรปัลลวะ ภาษามอญ แปลเป็นความว่า
๑. สมัยที่ปรัชญาเป็นเลิศ
   ๒. บุญย่อมส่งเสริมนักพรต
   ๓. จงเลือกไปทางนี้
   นอกจากการสำรวจพบเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ที่เด่นชัดในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี
ดังกล่าวนี้แล้วยังได้สำรวจพบเรื่องราวสมัยทวาราวดี ในพื้นดินแถบนี้หลายแห่ง คือ
   ๑. พบโบราณสถานสมัยทวาราวดีที่บ้านเก่า หมู่ที่ ๒ ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก เป็นเนินสูง ๑ เมตร ตรงกลางถูกขุดเป็นบ่อ พบอิฐขนาดใหญ่มีลักษณะแปลกมีลวดลายขีดเขียนด้วยน้ำมือเป็นเส้นคู่บ้าง เป็นลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตในรูปหลายแบบบ้าง ซึ่งทำเป็นลวดลายขีดเขียนแบบแผ่นอิฐก่อนเผา โดยขีดเขียนเพียงด้านเดียว และยังมีผู้พบอิฐที่มีรูปมนุษย์และรูปเทวดาบริเวณโบราณสถานนั้น นอกจากพบอิฐที่มีขนาด ๓๔+๑๙+๘.๕ เซนติเมตร ขนาด ๓๓+๑๙.๕+๘ เซนติเมตร และ ๑๗+๓๓.๕+๑๐ เซนติเมตร แล้วยังพบในเสมา ดินเผาขนาด ๕๐+๒๗.๕+๘ เซนติเมตร อีกด้วย สันนิษฐานว่า คงจะเป็นโบสถ์เก่าสมัยทวาราวดี เสียดายที่ถูกทำลายมาก่อนแล้ว จึงไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากนัก
   ๒. พบพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดีและแม่พิมพ์ดินเผา เป็นจำนวนมากในถ้ำศูนย์ตา ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นถ้ำที่เข้าใจว่าคงเป็นแหล่งสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวาราวดี ยังสำรวจไม่พบว่า บริเวณนั้นมีภูมิสถาน ที่เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี อยู่ใกล้เคียงเลย ภายในถ้ำปรากฏว่ามีเศษพระพิมพ์ดินเผา และแม่พิมพ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่สมบูรณ์นั้น ได้มีผู้นำเอาไปจนหมดสิ้นแล้ว ลักษณะพระพิมพ์ดินเผานี้ เป็นรูปพระนั่งห้อยเท้าอยู่ในซุ้มใต้พุทธคยา แบบเดียวกับที่เคยพบที่บ้าน
พงนึก จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปไม้จำหลักสมัยหลังๆ เป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าถ้ำแห่งนี้ เดิมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจถือเป็นวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้นก็ได้
   ๓.รูปปูนปั้นของนางดารา สมัยทวาราวดี แสดงแบบของการแต่งกายของคนในสมัยนั้น เป็นศิลปศรีวิชัย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ได้ไปจากจังหวัดอุทัยธานี ไม่ทราบว่าจากที่แห่งใด เข้าใจว่าจะได้ไปจากเมืองการุ้ง
   ๔. พบร่องรอยของเมืองโบราณในเขตตำบลห้วยคต อำเภอบ้านไร่ ตรงทางแยกบ้านทุ่งนางาม เรียกบ้านน้ำวิ่ง มีคูเมืองและเคยพบเศษภาชนะดินเผา และมีร่องรอยคูเมืองที่อยู่ระหว่างตำบลห้วยรอบกับบ้านหินโจน มีคันคูเป็นรูปวงรี และมีลำคลองผ่านกลางทะลุไปอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านเรียกบึงทะลุ ประกอบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นชาวมอญ ที่อยู่สืบทอดกันมานาน เคยมีผู้พบเศษอิฐหักกระจัดกระจายอยู่บ้าง
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #55 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:41:06 »

อุทัยธานี ๒
จังหวัดอุทัยธานี มีเมืองโบราณ สมัยทวาราวดี เกิดขึ้นในท้องที่หลายแห่งบางแห่งมีโบราณสถานที่สำคัญ จนเชื่อว่า ในสมัยทวาราวดีได้มีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น และมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเผ่าพันธุ์ มอญทวาราวดี (คือเผ่าพันธุ์ ที่ผสมกับชาวละว้าและธิเบต) มีวัฒนธรรมทวาราวดี สร้างสรรศิลปวัตถุขึ้นโดยวิวัฒนาการไปอย่างช้าๆ เปลี่ยนรูปแบบของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ รับอิทธิพลทางศิลปของอินเดียจนสามารถสร้างรูปปูนปั้นนางดารา พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปสำริดและเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงการก่อสร้างด้วยอิฐแดงและเผาอิฐได้ เป็นต้น จนนับว่าดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความเจริญสูงสุดในสมัยทวาราวดีซึ่งหมายถึงเมืองโบราณต่างๆ ที่พบในจังหวัดอุทัยธานีด้วย

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
   ในราว พ.ศ. ๑๔๓๖ ขอมได้ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดนั้น อำนาจของพวกละว้าที่อาศัยอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆ นั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร เพราะขอมได้ส่งคนไปปกครองเฉพาะเมืองสุโขทัย เมืองละโว้ และเมืองศรีเทพ ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ของขอมก็ยังได้ส่งพระพุทธรูปชื่อ "พระชัยพุทธมหานาค" ออกมาประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยถึง  ๒๓    แห่ง   ได้แก่
ลโวทยปุระ (เมืองละโว้)  สุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณเก่า) คัมพูปัฏฎนะ (เข้าใจว่าเมืองแถบสระโกสิ-นารายณ์ หรือเมืองนครปฐม) ชัยราชบุรี (เมืองราชบุรี) ศรีชัยสิงห์บุรี (เข้าใจว่าเมืองสิงห์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี) ศรีชัยวัชรบุรี (เข้าใจว่าเป็นเมืองเพชรบุรี) เป็นต้นเป็นเรื่องที่น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองโบราณในเขตจังหวัดอุทัยธานีก็น่าจะมีส่วนได้รับพระพุทธรูปดังกล่าวด้วยไม่พบหลักฐานอื่นใดนอกจากซากอิฐศิลาแลงในแถบสระนารายณ์ หมู่ ๖  ตำบลหนองหลวง เขตอำเภอสว่างอารมณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสระสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวประมาณ ๓๐-๓๗ เมตร ลึกประมาณ ๑ เมตร ทางด้านใต้ของขอบสระ มีแท่งศิลาใหญ่ มีถนนเก่าปรากฏอยู่ด้วย ส่วนโบราณวัตถุที่พบมีพระพุทธรูปตรีกาย หรือพระพุทธรูปสามองค์นั่งเรียงอยู่บนฐานเดียวกัน ตามคติมหายานที่ถือว่า พระพุทธเจ้ามี ๓ กาย คือพระธรรมกายพระสัมโภคีกาย และพระนิรมานกาย (หรือพระธยานิพุทธ พระอาทิพุทธ) พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ นั่งปางมารวิชัย ทรงรัดเกล้าที่เรียกว่า เทริดขนนกและกุณฑลแบบแปลกประทับนั่งสมาธิราบครองจีวรห่มเฉียง มีขอบจีวรต่อจากชายขอบสี่เหลี่ยมที่พาดอยู่บนพระอุระด้านซ้าย ลงมาคลุมพระหัตถ์ซ้ายและพระโสณี แผ่นหลังติดอยู่กับเรือนแก้ว ซึ่งส่วนบนทำเป็นรูปปลายใบไม้ หมายถึง พระศรีมหาโพธิ์ เนื้อเป็นสำริด สูง ๓๑.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๗.๘ เซนติเมตร พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตสำริด ศิลปสมัยลพบุรี  พบที่วัดหนองพังค่า อำเภอเมืองอุทัยธานี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะยืนยันได้ว่า ในสมัยนี้ มีพระพุทธรูปฝีมือลพบุรี ที่ได้รับอิทธิพลของขอมเข้ามาในจังหวัดอุทัยธานีแล้ว ชนชาติที่อาศัยอยู่ก็คงจะเป็นชาวทวาราวดีที่สืบเชื้อสายจากมอญหรือละว้า
   ต่อมา "ท้าวมหาพรหม" ซึ่งปรากฏในตำนานว่าเป็นผู้ตั้งเมืองอุทัยเก่า ก็ใช้เวลาช่วงนี้รวบรวมชนชาติไทยเป็นชุมชนเล็กๆ จนในที่สุดก็สร้างบ้านเมืองเป็นหลักฐานที่บ้านอุทัยเก่า ในท้องที่อำเภอหนองฉาง ซึ่งพบแนวศิลาแลง วางเรียงเป็นทางยาวอยู่ลึกประมาณ ๒ เมตร และระฆังหินประมาณการสร้างเมืองคงตกราวสมัยสุโขทัย หมู่บ้านแห่งนี้จึงเรียกกันทั่วๆ ไปว่า "บ้านอู่ไทย" ซึ่งหมายถึง เป็นที่อยู่ของชาติไทย ดูจะเข้าเค้าที่ว่าในพื้นที่หลายแห่งของจังหวัดอุทัยธานีมักเป็นที่อยู่ของชนชาติต่างๆ เช่น หมู่บ้านมอญ หมู่บ้านละว้า หมู่บ้านไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้นำเอาคำ
"อุทัย" ไปหาความหมายเป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง  และเป็นเมืองที่พึ่งตั้งขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์แรกขึ้นจากขอบฟ้า จึงทำให้เข้าใจว่าเมืองอุทัยเก่าเป็นเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอยู่ทำมาหากิน และมีพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์กว่าแหล่งอื่นถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่น่าจะกลายเป็นเมืองใหญ่ได้รวดเร็วถึงขนาดนั้น ที่น่าจะเข้าใจก็คือหมู่บ้านอู่ไทยนั้น มีผู้คนที่เป็นชนชาติไทยไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินเป็นกลุ่มก้อน และคงจะได้ชักชวน พี่น้องคนไทยด้วยกันมาอยู่เสียที่แห่งนี้ เนื่องด้วยมีที่ดินทำมาหากินกว้างขวาง มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นหมู่บ้านที่เจริญกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ที่เป็นหมู่บ้านชาวมอญ หมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงดังนั้นหมู่บ้านอู่ไทยจึงเป็นแหล่งกลางสำหรับหมู่บ้านอื่น  ไปมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยส่วนที่จะมีการเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านไกลๆ นั้น ก็คงจะมีบ้างเพราะพื้นที่แถบนี้มีเมืองโบราณสมัยทวาราวดี เกิดขึ้นแล้วหลายแห่งและมีชื่อเรียกนำหน้าด้วยคำว่า "อู่" เช่นเมืองอู่บน หรือเมืองบน ที่บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ตะเภา ที่บ้านอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ล่าง เข้าใจว่าเป็นเมืองลพบุรี ตามคำพังเพยที่ว่า "ฝูงกษัตริย์เมืองบน ฝูงคนเมืองล่าง (หรือลพบุรี)………….." เป็นต้น ส่วนที่เป็นชื่ออื่นก็มี เมืองจันเสน ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองดงแม่นาง เมือง ที่ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมืองประคำ ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี
   บ้านเมืองที่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยนั้น ได้เกิดขึ้นหลายแห่งในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีเมืองพระบาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองชัยนาท,
เมืองแพรก ศรีราชา ที่อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท, เมืองไพสาลี ที่ตำบลสำโรงไชย อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์, เมืองศรีราชาที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น นับเป็นความเจริญของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้วิวัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงตัวเองสร้างสรรโบราณวัตถุสถานสำคัญขึ้น สำหรับเมืองอู่ไทยนั้น ในระยะหลังๆ เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เกิดกันดารน้ำอันเป็นเหตุให้มีการอพยพทิ้งหมู่บ้าน ไปหาแหล่งทำมาหากินในที่อื่น และอาจจะเลยเข้ามาอยู่ในแถบแม่น้ำสะแกกรัง เขตจังหวัดชัยนาท จนสามารถตั้งหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็ก ๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่าบ้านสะแกกรัง ส่วนเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่า ก็คงจะร้างลงระยะหนึ่ง ต่อมา "พะตะเบิด" ชาวกระเหรี่ยงได้อพยพผู้คนเข้ามาอยู่ที่เมืองอู่ไทย หรือ เมืองอุทัยเก่าอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยอยุธยา พร้อมกับได้สร้างโบราณสถานหลายแห่งตามลำดับ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ  โดยขุดดินทางด้านทิศใต้ ของตัวเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า ทะเลสาบ และปรากฏในตำนานว่า "พะตะเบิด"  ได้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยเก่าที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดชาวกระเหรี่ยงจึงมีอำนาจและเป็นเจ้าเมือง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่านี้เป็นชนชาติกระเหรี่ยง ละว้า ถึงอย่างไร ก็น่าจะมีคนไทยหลงเหลืออยู่บ้างแต่ถ้าได้ศึกษาถึงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์แล้วจะเห็นได้ว่า ชนชาติละว้า หรือชนชาติกระเหรี่ยง เป็นเผ่าพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากมนุษย์เผ่าพันธุ์ไทย อย่างน้อยก็เกี่ยวพันกันอยู่ก็น่าที่จะเข้าใจว่า  "พะตะเบิด"   ก็เป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์ไทยได้     นอกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรถึงการ
ปกครองที่ต่อเนื่องมาจาก "พะตะเบิด" หรือผู้ปกครองคนต่อมา
   เมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่าในสมัยอยุธยานั้นได้มีการสร้างวัดตามทิศต่างๆ ดังนี้ ทิศเหนือ วัดหัวหมาก ทิศตะวันตก วัดยาง ทิศตะวันออก  วัดแจ้ง และทิศใต้ วัดหัวเมือง โดยมีหลักเมืองทำด้วยไม้แต่อยู่ตรงกลางค่อนไปทางทิศใต้ ห่างจากวัดหัวเมืองประมาณ ๑๐๐ เมตร ตัวเมืองอุทัยเก่ามีอาณาเขตที่ถือเอาวัดเป็นเกณฑ์ประมาณกว้าง ๓๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร นอกตัวเมืองทางด้านทิศใต้เป็นทะเลสาปและมีวัดกุฏิตั้งอยู่ริมทะเลสาปด้านใต้ ซึ่งมีแนวคลองผ่านเข้าตัวเมือง ถัดจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตรเป็นหมู่บ้านคลองค่าย ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารในสมัยอยุธยา สำหรับเกณฑ์ไปช่วยเมืองหลวงในยามศึกสงครามและเป็นหน้าด่านป้องกันพม่าที่ยกทัพเข้ามาทางเขตเมืองอุทัยเก่า

สมัยกรุงศรีอยุธยา
   ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเมืองอุทัยเก่านั้นเป็นเมืองอยู่ใกล้ชายแดน ควรจะเป็น "เมืองด่าน" ใช้ระมัดระวังพม่าที่เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา และด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นเส้นทางที่พม่าใช้เดินทัพเข้ามาแต่โบราณ จึงให้จัดตั้งด่านป้องกันขึ้นหลายแห่งคือ ด่านเมืองอุทัย (ที่บ้านคลองค่าย) ด่านแม่กลอง ด่านเขาปูน ด่านหนองหลวง ด่านสลักพระ โดยถือเอาเมืองอุทัยเก่าเป็น "หัวเมืองด่านชั้นนอก" โดยมีเจ้าเมืองอุทัยเก่าเป็นผู้ดูแลด่านต่างๆ เมืองอุทัยเก่าในสมัยนั้นมีอาณาเขตการปกครองดังนี้ ทางทิศตะวันออกติดต่อกับเมืองแพรก (เมืองสรรค์บุรี) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดกับเมืองพระบาง (เมืองพังค่าจังหวัดนครสวรรค์)ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับเมืองแปป (เมืองกำแพงเพชร) และเมืองฉอด (อยู่ที่จังหวัดตาก) ถือแนวแม่น้ำและลำคลองเป็นแนวเขต เช่นแม่น้ำกลอง คลองห้วยแก้ว ลำห้วยเปิ้นเป็นต้น  สำหรับด่านสำคัญที่อยู่ปลายแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือได้ให้พระพล (พระพลสงคราม) เป็นผู้รักษาด่านแม่กลอง และพระอินทร์ (พระอินทรเดช) เป็นผู้รักษาด่านหนองหลวงซึ่งเป็นด่านที่สำคัญของเมืองอุทัยเก่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) ในพงศาวดารพม่าปรากฏว่า "สมเด็จพระนเรศวรยกทัพติดตามตีกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงหนองหลวง แล้วจึงกลับคืนพระนคร"
   ต่อมาสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่งมีบัญชาการตามหัวเมืองนั้นๆ ได้ระบุในกฎหมายเก่า ลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานีเป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"
   ตัวเมืองอุทัยเก่านั้นเป็นเมืองดอนตั้งอยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องกับเชิงเขาบรรทัดที่เป็นเขตแดนติดกับเมืองมอญ (เมาะตะมะและเมาะตำเลิม) มีที่ราบทำนาได้มาก ทั้งมีธารน้ำไหลลงมาจากภูเขากักตุนเก็บน้ำเข้ามาใช้ในการทำนา ไม่มีเวลาที่นาจะเสีย จึงมีผู้คนได้ตั้งบ้านเรือนทำนากันมาก จนเป็นบ้านเมืองใหญ่ ด้วยเหตุที่หัวเมืองตั้งอยู่บนที่ดอนห่างจากคลองสะแกกรังประมาณ ๕๐๐ เส้น ลำห้วยที่มีอยู่เดิมใกล้ๆ ตัวเมืองก็ตื้นเขินและใช้การไม่ได้ เรือจึงขึ้นไปไม่ถึงเมื่อจะขายข้าวต้องบรรทุกเกวียนมาทางบกลงมาที่แม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นปลายเขตแดนเมืองชัยนาท และเมืองมโนรมย์ และการส่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็ต้องอาศัยแม่น้ำสะแกกรังเป็นหลัก ดังนั้นประชาชนที่รับซื้อผลิตผลสินค้าของชาวอุทัยธานี จึงพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งเป็นตลาดค้าขายของชาวเมืองอุทัยธานี
   พ.ศ. ๒๒๐๖ แผ่นดิน ของสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พม่าได้ปราบปรามพวกมอญเมืองเมาะตะมะ ซึ่งเป็นกบฏจับมังนันทมิตร อาของพระเจ้าอังวะ พาเข้ามาในดินแดนไทยดังนั้น "ครั้นถึงกติกมาสได้ศุภวารดฤถี พิชัยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดี และท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลายกพลโยธาแยกกันไปทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง ทางด่านเขาปูนและด่านสลักพระแดนเมืองอุทัยธานีบ้าง ส่วนกองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย ซึ่งลงมาจากเมืองเชียงใหม่ถึงเมืองตากนั้นก็รีบยกมาทางเมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ ผ่านเมืองอุทัยธานีถึงเมืองศรีสวัสดิ์รบกับพม่าที่ไทรโยค และท่าดินแดงร่วมกับทัพใหญ่ของเจ้าพระยาโกษาธิบดีคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เป็นแม่ทัพใหญ่พร้อมด้วยพระยาวิเศษชัยชาญ พระยาราชบุรีและพระยาเพชรบุรี จนพม่าแตกพ่ายหนีไปด้วยกำลังทหารหาญกับชาวด่านเมืองอุทัยธานีที่ได้ติดตามทัพ พระยาสีหราชเดโชชัยมาช่วยรบในคราวนี้ด้วย
   
สมเด็จพระปฐมมหาชนก กำเนิดที่บ้านสะแกกรัง
   " บ้านสะแกกรัง" เดิมนั้นมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน เป็นตลาดค้าขายสำคัญมาแต่โบราณ ครั้นมีเจ้านายเดินทางมาซื้อพืชผล และเป็นที่สนใจของเจ้านายคนอื่นๆ จนถึงกับ "จมื่นมหา-สนิท (ทองคำ) " ซึ่งเป็นบุตร "เจ้าพระยาวงศาธิราช (ขุนทอง)" ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังปรากฏในคำโคลงมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ว่า
"ในระหัศราชะหัตถ์นั้น    เสนอสาร
เพียงเกี่ยวโกสาปาน   ญาติยั้ง
อนุสันตตินั่นตำนาญ   อื่นออกยาเอย
นาม ราชะนกูล ตั้ง   คฤหาสน์แคว้นแขวงอุทัย"
   บ้านสะแกกรัง ที่มีพ่อค้าคอยรับซื้อข้าวพืชพันธุ์ของป่าอยู่นั้น เมื่อปรากฏว่ามีเจ้านายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ดังกล่าว ก็ได้มีการสร้างวัดขึ้นตามแหล่งชุมนุมชน เช่นวัดกร่าง (วัดพิชัยปุรณาราม) วัดท่าซุง, วัดเดิมบนยอดเขาสะแกกรัง เป็นต้น ด้วยเหตุที่เมืองอุทัยเก่าเป็นเมืองด่านการขนย้ายช้างใช้ในการสงคราม และช้างป่าเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา จำเป็นต้องใช้ลำคลองสะแกกรังเป็นเส้นทางขนส่ง โดยต่อแพล่องส่งลงไปยังกรุง อันเป็นเหตุให้ "บ้านสะแกกรัง" เป็นแหล่งรวมช้างศึก และได้จัดสร้าง "พะเนียดช้าง" (บริเวณวัดใหม่จันทารามพบเสาตะโพนช้าง และพระพุทธรูปองค์ใหญ่) เป็นที่พักสำหรับขนถ่ายช้าง ไปลงที่ท่าช้าง ซึ่งเป็นที่ลาดกว้าง ตั้งแต่ห้าแยกลาดเทลงไปจนถึงแม่น้ำสะแกกรัง ส่วนตลาดนั้นอยู่ถัดเข้ามาข้างใน    (แถวหน้าวัดหลวงราชาวาสเดี๋ยวนี้ตั้งแต่บ้านขุนกอบกัยกิจเข้าไป)     ซึ่งไม่ห่างจาก
"พะเนียดช้าง" เท่าไรนัก ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ได้เป็นพระยาราชนิกูล อยู่ที่บ้านสะแกกรัง     จนบุตรชายคนใหญ่ชื่อ "ทองดี" เกิดที่นั่น   จากพระราชหัตถเลขาของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึง เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เป็นภาษาอังกฤษแปลจากหนังสือ The Kingdom and People (The Royal Dynasty) หน้า ๖๕-๖๖ มีความว่า
   "สมเด็จพระนารายณ์ จึงได้ทรงแต่งตั้งนายปาน ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศแทนพระยาคลังซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นต้นตระกูลของบรรพบุรุษของเราต่อมา แต่เรื่องราวการรับราชการในสมัยต่อมานั้นไม่ปรากฏ จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระภูมินทร์ราชาธิราช ซึ่งปกครองประเทศสยามระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๖-๑๗๓๒ (พ.ศ. ๒๒๔๙-๒๒๗๕) ซึ่งเป็นพระมหาชนกปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีและเป็นพระอัยกาของพระบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน (คือตัวฉันเอง) และกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง (คือพระอนุชาองค์รองของฉัน) ของประเทศสยาม อันเป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางกระทรวงต่างประเทศซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะแกกรังอันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่เชื่อมอาณาเขตติดต่อภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศสยาม ประมาณเส้นรุ้ง ๑๓๐ ๑๕๐ ๓๐" เหนือจะกว่าเล็กน้อย เส้นแวง ๙๙๐ ๙๐" ตะวันออก ซึ่งเล่ากันว่าบุคคลผู้มีความสำคัญได้ถือกำเนิดที่นี่ และกลายเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษของราชวงศ์สยาม ได้สมรสกับบุตรสาวคหบดีชาวจีนผู้มั่งคั่งซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณกำแพงเมือง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชวัง ได้รับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์โดยมีหน้าที่ร่างราชสาส์นต่างๆ และทำการติดต่อกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ทั้งที่เป็นหัวเมืองอิสระ และที่ยังไม่เป็นอิสระต่อประเทศสยามที่อยู่ทางภาคเหนือ) และมีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร ได้รับพระราชทานนามว่า "พระอักษรสุนทร เสมียนตรา" คุณพระมีบุตรธิดากับภรรยาคนแรกรวม ๕ คน และต่อมาภรรยาได้ถึงแก่กรรม คุณพระจึงได้แต่งงานกับน้องสาวของภรรยา มีบุตรหญิงคนหนึ่ง ต่อมาพระยาราชนิกูลได้ย้ายเข้าไปทำราชการที่กรุงศรีอยุธยาและนายทองดีบุตรชายคนใหญ่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งถือกำเนิดที่บ้านสะแกกรังนั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้ย้ายตามบิดาเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ และได้บรรดาศักดิ์เป็น "พระอักษรสุนทรศาสตร์" เสมียนตรา มีหน้าที่ร่างราชสาส์นต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ และรักษาพระราชลัญจกร ต่อมาได้แต่งงานกับสตรีงามชื่อ "หยก" (บางแห่งว่า "ดาวเรือง") มีบุตรและธิดา ๕ คน คือ ๑ "สา" เป็นหญิงภายหลังได้สถาปนาเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี (ส) ๒ "ราม" เป็นชายภายหลังได้สถาปนาเป็น "พระเจ้ารามณรงค์" ๓ "แก้ว" เป็นหญิงภายหลังได้สถาปนาเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)" ๔ "ทองด้วง" เป็นชายภายหลังสถาปนาตนเป็น "พระเจ้าแผ่นดินต้น" (ต่อมาได้ถวายพระนามตามพระพุทธรูปว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก") และ ๕ "บุญมา" เป็นชายภายหลังได้สถาปนาเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท" (ซึ่งนับว่าเป็นปฐมวงศ์ของกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาอันมีสกุลวงศ์ต่อเนื่องกันมาดังนี้
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #56 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:41:33 »

อุทัยธานี ๓
  ลำดับสกุลวงศ์สมเด็จพระชนกาธิบดี
สมเด็จพระเอกาทศรถ         พระยาพระราม
กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา         ขุนนางเชื้อสายมอญ
ราชวงศ์สุโขทัย         อพยพเข้ามาในแผ่นดิน
            สมเด็จพระมหาธรรมราชา

พระราชธิดา                  สืบเชื้อสายมาจาก
      พระยาพระราม

ท้าวสมศักดิ์วงศามหาธาตี (ม.จ.บัว) สมญานาม   หม่อมเจ้าชายเจิดอำไพ สืบเชื้อสาย
ว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" เป็นพระสนมเอกของ      มาจาก สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช


เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพ      เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูต
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช      ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
            เจ้าพระยาวงศาธิราช (ขุนทอง) เสนาบดีคลังใน
            สมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ
พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ปลัดทูลฉลองในกรม
มหาดไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านสะแกกรัง
คุณหญิงหยก (บางแห่งว่าดาวเรือง)      สมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) เป็น สมเด็จพระ
บุตรีคหบดี ชาวอัมพวา         ปฐมบรมมหาชนกนาถ กำเนิดที่บ้านสะแกกรัง


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   สมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (บุญมา)
(ทองด้วง) สถาปนาเป็นสมเด็จพระปฐมกษัตริย์   เป็นที่ สมเด็จพระอนุชาธิราช แม่ทัพในสมัย
ราชวงศ์จักรี สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพ)   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี - รัชกาลที่ ๑   


   ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเกิดศึกกลางเมืองขึ้น ทำให้ไพร่ฟ้าข้าราชการล้มตายจนไม่มีกำลังป้องกันพระนครและบ้านเมือง "จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทำตามคำซึ่งกราบทูลนั้น เจ้าพระยาราชภักดี ก็จัดแจงแต่งทัพหลวงให้ถือตราพระราชสีห์ออกไปเกลี้ยกล่อมเลขจัดพลัด ณ หัวเมืองวิเศษวิเศษไชยชาญเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี เมืองชัยนาทบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองนครสวรรค์ ได้คนเป็นอันมาก
   พ.ศ. ๒๓๐๙ แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กองทัพเนเมียวสีหบดี ๔,๐๐๐ คน ได้ยกลงมาจากเมืองนครสวรรค์ ลงมาทางเมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองสรรคบุรี ถึงเขตกรุงศรีอยุธยา ส่วนกองทัพมังมหานรธา ๓,๐๐๐ คน ได้มาตั้งอยู่ที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำพระประสบ ข้างด้านเหนือ นอกจากนี้พระเจ้า
อังวะ ยังให้สุรินทจอข่อง คุมพลอีก ๑,๐๐๐ คน ยกลงมาพักอยู่เมืองเมาะตะมะ แล้วยกหนุนเข้ามาทางด่านอุทัยธานี ตั้งทัพอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ และพระยาเจ่งรามัญคุมพล ๒,๐๐๐ คน ยกหนุนเข้ามาทางกาญจนบุรี ตั้งทัพที่ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์ขณะที่รอทัพอยู่นี้ พม่าได้ลาออกไปเที่ยวค้นทรัพย์จับคนทางเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรคบุรี เมืองสุพรรณ เมืองสิงห์ถึงอุทัยธานี จนทำให้คนไทย รวมกำลังกันที่ "บ้านบางระจัน" ต่อสู้พม่าได้ถึง ๘ ครั้ง ก็สู้พม่าไม่ได้ ต่อมาน้ำท่วมกรุงศรีอยุธยา พม่าได้รื้ออิฐวัดมาก่อกำแพงเป็นค่าย แล้วรุกมาตั้งที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร วัดแดง  ยกเป็นหอรบสูง แล้วระดมกำลังปล้นกรุง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ จึงเผาพระนคร จับคนปล้นทรัพย์สินจนสิ้น แม่ทัพพม่าฝ่ายเหนือก็เชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุและพระขัตติยาวงศา เสนามาตย์ไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติศัสตราวุธ ยกออกทางด่านอุทัยธานี เดินบกไปถึงเมืองเมาะตะมะ ขณะนั้นบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายอย่างหนัก ผู้คนต่างหนีพม่าเข้าป่าลึก บ้างก็ถูกกวาดต้อนไปกับเขาด้วย รวมทั้งชาวเมืองอุทัยส่วนหนึ่งที่หลบหนีไม่ทันด้วย พระเถระที่ปรากฏชื่อมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา (จาก "ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ " เป็นตัวเขียนอักษรขอมลายรดน้ำปิดทอง อยู่ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถบานที่ ๗ ด้านซ้ายทางทิศเหนือ) นั้นชื่อ "พระครูอนุโลมมุนีเป็นพระสมณศักดิ์เจ้าคณะเมืองอุทัยธานี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าอยู่ที่วัดใด

สมัยกรุงธนบุรี
   เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ต้องทำการปราบปรามบรรดาชุมนุมต่างๆ เป็นการขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป
   ในปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ เจ้ากรุงธนบุรีทรงปรารภที่จะปราบปรามหัวเมืองเหนือและได้ข่าวว่า เมื่อเดือนหก "เจ้าพระฝาง" ซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้นเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระองค์จึงยกทัพไป ๓ ทัพ เข้าตีเมืองพิษณุโลกและเมืองสวางคบุรีจนแตกพ่ายไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นถึงความสำคัญ ของเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกพม่าย่ำยียับเยินจนเป็นเมืองร้าง จึงแต่งตั้งให้ "ขุนสรวิชิต (หน)" ไปตั้งกองด่านรักษาเมืองอุทัยเก่าประมาณ ๒ กิโลเมตร
   ครั้งอะสีหวุ่นคยี (อะแซหวุ่นกี้) แม่ทัพคนสำคัญของพม่า ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๘ นั้น ได้ให้โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนอะแซ
หวุ่นคยีเองยกกองทัพหลวงพล ๑๕,๐๐๐ คน เดินทัพเข้าทางด่านแม่ละเมาะ เมืองตากด่านลานหอยและเมืองสุโขทัย แล้วคุมพล ๓๐,๐๐๐ คน เข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ครั้งพม่ายกทัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร เห็นไทยตั้งค่ายรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง จึงตั้งค่ายที่เมืองกำแพงเพชรแล้วแต่งกองโจรเดินลัดป่าทางฝั่งตะวันตกอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ลงไปเมืองอุทัยเก่ากอง ๑ พอวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงทราบว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชร "ยกลงมาตั้งค่าย ณ บ้านโนนศาลาสองค่าย บ้านสลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง ในแขวงเมืองกำแพงเพชร แล้วแยกไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง เข้าเผาบ้านอุทัยธานีเสีย" แล้วจะยกไปทางไหนสืบไม่ได้ความ พระองค์ทรงระแวงพม่าที่ยกไปจากเมืองอุทัยธานีจะไปซุ่มสั่งดักทางดอยตีกองลำเลียง ใต้เมืองนครสวรรค์ลงมาอีก จึงโปรดให้แบ่งไพร่พลในกองทัพหลวง ๑,๐๐๐ คน ให้เจ้าอนุรุธเทวา บัญชาการทัพเป็นจางวางบังคับทั้งสามกอง มีกองทัพของขุนอินทร์เดชเป็นแม่กอง กองทัพหลวงปลัดเมืองอุทัยธานีกับหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี เป็นกองหน้า และกองทัพของเจ้าเชษฐกุมาร เป็นกองหลวง ซึ่งยกลงมาคอยป้องกันลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งไปจาก พระนครไม่ให้พม่าที่ยกมาเมืองอุทัยธานีซุ่มดักทางคอยโจมตี
   ครั้นเมื่อพม่าได้เมืองพิษณุโลกแล้วเสบียงอาหารภายในเมืองอัตคัตผู้คนในเมืองอดอยากอ่อนแอ อะแซหวุ่นคยี จึงให้มังแยยางูคุมพลไปทางเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มศักดิ์ให้กะละโบ่ คุมพลมาลาดตะเวนทางเมืองกำแพงเพชร รวบรวมหาเสบียงอาหาร ต่อมาอะแซหวุ่นคยีได้ข่าวว่าพระเจ้า
มังระสิ้นพระชนม์ จึงกูจาราชบุตรได้ครองราชสมบัติ จึงรีบเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คนกลับออกทางเมืองสุโขทัย เมืองตาก และด่านแม่ละเมา จึงทิ้งให้กองทัพกะละโบ่ กับมังแยยางูในเมืองไทยด้วยสั่งกลับไม่ทันคงสั่งแต่เพียงให้กองทัพกะละโบ่ รอกลับพร้อมกับ มังแยยางูพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า พม่าเลิกทัพกลับแล้วยังคงมีกองทัพของกะละโบ่และมังแยยางูเหลืออยู่ จึงแบ่งกองทัพออกเป็น ๔ กอง ติดตามพม่าไปเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนทัพหลวงนั้น ตั้งค่ายรอรับครอบ-ครัวที่แตกฉานมาจากพิษณุโลกที่บางแขม เมืองนครสวรรค์ ครั้นวันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๑๙ พม่าข้างเมืองอุทัยธานียกแยกขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์ กองทัพไทยตามไปพบกองทัพมังแยยางูที่บ้านนายยม ใต้เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ก็ระดมกำลังตีจนแตกพ่าย พากันหนีไปทางเหนือ เข้าไปในแดนลานช้าง พอถึงเดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่ากะละโบ่ตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรประมาณ ๒,๐๐๐ คนเศษ จึงให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยานครสวรรค์ ยกกองทัพไปสมทบกันตีพม่า ส่วนพระองค์นั้น เสด็จยกทัพหลวงไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง พม่ารู้ข่าวก็รีบยกทัพหนีไปทางเหนือ ส่วนพม่าอีกกองหนึ่งประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ ได้ยกแยกมาทางทิศตะวันตก เดินทัพเข้ามาถึงเมืองอุทัยธานีเที่ยวเก็บทรัพย์จับผู้คนและเผาบ้านเรือนเสียฆ่าหลวงตาลำบากตายแล้วยกหนีไปทางนารีซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๗ ขึ้น  ๑๓ ค่ำ จึงเสด็จถอยกองทัพหลวงมาประทัพ ณ เมืองนครสวรรค์ จึงชาวด่านเมืองอุทัยธานี บอกลงมากราบทูลว่าทัพพม่ายกผ่านลงมาประมาณพันเศษ เผาค่ายที่ด่านนั้นเสีย แทงหลวงตาลำบากอยู่องค์หนึ่ง แล้วยกไปทางนารี จึงดำรัสให้หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ยกติดตามไปถ้าทันเขาจงตีให้แตกฉาน แล้วให้ยกตามไปจนถึงเมืองชัยโชค"
   ครั้นได้ข่าวว่าทัพพม่ากองหนึ่ง ยกลงไปทางเมืองอุทัยธานี จึงยกกองทัพลงมาทางด่านเขาปูน ด่านสลักพระ หมายจะไปตามตีพม่าทางเมืองอุทัยธานี แล้วสั่งให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านโคนเมืองกำแพงเพชร ยกทัพลงมาตีกองทัพพม่าทางเมืองอุทัยธานีอีก ๒ กองสมทบกับกองทัพมอญ     ของพระยารามัญวงศ์กอง  ๑  กวาดร่นมาตั้งแต่ทางเหนือ มายังเมืองอุทัยธานี ส่วน
พระองค์นั้น เสด็จกลับคืนพระนคร เมื่อวันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ
   กองทัพเจ้าอนุรุธเทวา ได้พบพม่าตระเวนหาเสบียงอาหารกองหนึ่ง ที่เมืองสรรคบุรี จึงเข้าตีแตกร่นหนีขึ้นไปสมทบกับพม่า ๑,๐๐๐ คน ที่ตั้งค่ายอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ส่วนกองทัพพระยายม-ราช พระยาราชสุภาวดี นั้น ได้ยกลงมาตั้งค่ายประชิดอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ต่อมาขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพมาตั้งอยู่ ณ คอกไก่เถื่อน ต่อมากองทัพเจ้าอนุรุธเทวา หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ได้มาพบกองทัพกะละโบ่ตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เห็นเหลือกำลังจึงบอกไปยังกรุงธนบุรี จึงให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม หลานเธอ กรมขุนรามภูเบศร์ กับเจ้าพระยามหาเสนา คุมพลไปตีกองทัพกะละโบ่ทางเมืองนครสวรรค์ แล้วให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอคุมทัพเรือหนุนไปช่วยอีก แล้วพระองค์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงทางเรือ มาบัญชาการรบอยู่ที่เมืองชัยนาท เมื่อเดือน ๙ และพระองค์ได้โปรดให้เกณฑ์หากองทัพ เมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองอุทัยธานี ลงมารวมกันที่ค่ายหลวง ณ เมืองชัยนาทให้หมดสิ้น ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านเมืองอุทัยธานีนั้น ขัดสนเสบียงอาหาร จึงถอยค่ายเลิกทัพกลับไปพอดีกับกองทัพไทย เข้าใจว่าตั้งอยู่ที่บ้านทัพหมื่น บ้านทัพค่าย บ้านทัพหลวง ยกทัพติดตามทันที่ บ้านทัพทัน (คืออำเภอทัพทัน) พม่าถูกไทยฆ่าตาย แตกหนีแยกย้ายไม่เป็นระเบียบออกไปทางเขาดาวเรือง ปลายเขตแดนบ้านโคกหม้อ ขึ้นไปทางบ้านพลวงสองนาง พม่าต่างหนี ต่างปล้นสดมภ์เสบียงอาหาร ฉุดคร่าหญิงสาวจนชาวบ้านกลัวรานต่างก็เอาลูกสาวไปซ่อนตามโพรงไม้ใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้น หลบซ่อนอยู่จนเวลารุ่งสาง พอดีเวลาวัดย่ำฆ้องระฆังพระลุกขึ้นครองผ้าออกบิณทบาตร หมู่บ้านแห่งนี้เรียกกันว่า "บ้านโพรงซ่อนนาง" (ต่อมาเรียกบ้านพลวงสองนาง) ถัดมาเรียก "บ้านสว่างน้อย" กองทัพไทยได้ขับไล่พม่าเตลิดหนีจนไม่สามารถตามทัน จนรุ่งแจ้งก็ไม่เห็นพม่าจึงหยุดตั้งค่าย ตรงที่ถัดจากบ้านว่างน้อยพักผ่อนหุงหาอาหารกินกันด้วยเสียเวลาหลับนอนรุกไล่พม่ามาหลายวันหลายคืน ผ่านท้องที่ทุรกันดารมากมาย ร่างกายต่างอ่อนเปลี้ยไปตามๆ กัน ชาวบ้านที่หลบซ่อนพม่า ก็สบายใจที่กองทัพไทยมาช่วย ต่างจัดหาอาหารมาเลี้ยงทหารไทย ท้องที่ตรงนั้นเรียกกันต่อๆ มาว่า "บ้านสว่างแจ้งสบายใจ" คือ บ้านสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ เดี๋ยวนี้
   ครั้นวันพุธ เดือนสิบ ขึ้นค่ำหนึ่งพระยาราชภักดี และพระยาพลเทพ ที่ขึ้นไปตามพม่าทางเมืองเพชรบูรณ์ ได้พบพม่าที่บ้านนายยม จึงขับไล่ตีพม่าแตก หนีไปทางเมืองอุทัยธานี จับได้เก้าคน ส่วนที่หนีมาได้ครั้น ทราบว่ากองทัพพม่าทิ้งค่ายที่เมืองอุทัยธานีเสียแล้ว ก็หนีเลยไปสมทบกันที่เมืองนครสวรรค์ รวมกับพม่าที่หนีมาจากเมืองอุทัยธานีด้วย ต่อมาก็ถูกกองทัพกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และเจ้าพระยามหาเสนาระดมกำลังตีกองทัพพม่าที่ค่ายเมืองนครสวรรค์แตกหนีเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี  กองทัพไทยรุกไล่พม่าในเมืองอุทัยธานี ได้ติดตามสมทบ และทันกองทัพพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรีจึงตีกองทัพพม่าหนีร่นออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์
   เมืองอุทัยเก่า เป็นเมืองด่านที่สำคัญพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดให้พระราชทานช้างหลวงสำหรับเมืองอุทัยธานี เพื่อใช้ในกองทัพทหารด่าน คือ เมื่อปีวอก อัฐศก พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้พระราชทานช้างหลวง ๒ เชือก แก่เมืองอุทัยธานี เข้ากองทัพไปรบที่ดอนไก่เถื่อน และเมื่อปีระกา นพศก พ.ศ. ๒๓๒๐ ได้พระราชทานช้างหลวง "พระอุทัยธานี อยู่แก่พระรามรณคบ พลาย ๒ พลัง ๓ (ราม) ๕ "

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
   บ้านสะแกกรัง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์กว่าบ้านอื่นๆ ประกอบกับเมืองอุทัยธานีเก่าถูกพม่าทำลายเสียหายมาก เช่น พระปรางค์ที่วัดแจ้ง (นัยว่าสร้าง พ.ศ. ๒๐๘๑) ถูกพม่าทำลายยอดปรางค์หักเสีย (ในระยะหลังๆ พระอาจารย์ทิม คงคสโร ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพุทธศาสนิก-ชนช่วยกันหาช่างมาปฏิสังขรณ์   ต่อจากฐานเก่าจนสำเร็จเป็นองค์พระปรางค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘)   วัด
อื่นๆ ก็ถูกพม่าเผาทำลายจนร้าง ผู้คนต่างได้อพยพหนีมาอยู่ที่บ้านสะแกกรังซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมกับการทำมาหากิน ทำนา ค้าขายขาว และยังมีความสำคัญต่อการลำเลียงขนส่งข้าวปลาอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนช้างศึกช้างป่า เข้าสู่พระนคร จึงเป็นเหตุให้บ้านสะแกกรังเริ่มครึกครื้นเป็นตลาดใหญ่ จนถึงกับทำให้เมืองอุทัยเก่าซบเซาลง บรรดาเจ้านาย นายทหารชาวด่าน ก็นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้ ด้วยมีลำคลองสะแกกรังเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือได้สะดวกต้องกับพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี
   ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้จัดการบ้านเมืองให้เป็นระเบียบ แต่งตั้งเจ้าเมืองปกครองตามเมืองต่างๆ ส่วนที่เป็นด่านอยู่ก่อนก็คงมีนายด่านเป็นผู้ดูแลรักษาเหมือนเดิม และได้สำรวจบัญชีช้างหลวงที่สูญหายหลังจากสงครามด้วยสำหรับหลวงสรวิชิต (หน) นายด่านเมืองอุทัยธานี ผู้ซึ่งขึ้นม้านำทหารออกมารับเสด็จ ณ ทุ่งแสนแสบเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เกิดจลาจล แล้วนำทัพเข้าสู่พระนครนั้น ก็ทรงโปรดให้รับราชการอยู่ด้วย ภายหลังได้แต่งตั้งให้เป็น พระยาพิพัฒนโกษา และเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตามลำดับเนื่องจากมีความดีความชอบหลายประการ รวมทั้งมีความสามารถในการเรียบเรียงหนังสือด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปรากฏว่าได้ตั้งให้หลวงณรงค์เป็นพระอุทัยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานี นอกจากนี้ พระองค์ยังได้โปรดให้จัดตั้งด่านเพิ่มเติมขึ้นอีก ด้วยทรงระแวงพม่า ที่จะเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เช่น ด่านทัพสะเหล่าปูนอุมปุม, ด่านอัทมาต เป็นต้น และปรากฏในพงศาวดารว่า  “พระอุทัยธรรมเป็นกองหลัง ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ระวังพม่าจะยกมาทางด่าน เมืองอุทัยธานี พร้อมกับจัดให้มีการลาดตระเวนด่านเมืองเมาะตะมะและเมืองเมาะตำเลิม ตลอดจน แต่งคนออกไปสืบราชการเป็นประจำเจ้าเมืองที่ปรากฏชื่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ “พระยาอุไทยธานี” อันเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองอุทัยธานี
   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ นั้น ได้ดำเนินรอยตามสมเด็จพระราชบิดา กล่าวคือ ทรงเห็นถึงความสำคัญของทหารด่าน และการสืบราชการในเมืองมอญ เช่น พ.ศ. ๒๓๒๕ หลวงอินทกำโนน ขุนยกกระบัตร ขุนสรวิชิต ขุนหมื่นกรมการ คุมไพร่ออกไปตั้งรักษาด่านทัพสะเหล่าปูนอุมปุม เป็นต้น แม้แต่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ชาวด่านเมืองอุทัยธานีเอง ก็ทรงโปรดปรานทำนุบำรุงอยู่จนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘ เมื่อ จ.ศ. ๒๓๕๒ นั้น เมืองอุทัยธานีได้จัดส่ง ไม้ชื่อ ไม้เสา ไม้ไผ่ ไม้อุโลก หวาย น้ำมันยาง สีผึ้ง และอื่นๆ สำหรับทำเครื่องพระเมรุ พระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๑ ) ซึ่งกำหนดจะถวายพระเพลิง ณ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ตามตราเจ้าพระยาจักรี ที่ให้ขุนไชยเสนารับมาและยังได้จัดผ้าขาว ๒๐๐ ชิ้น ขมิ้น ๑ เพื่อจัดทำผ้าสบง สดับปกรณ์ ตามหนังสือ เจ้าพระยาจักรีส่งไปเกณฑ์ ลงวันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเส็ง ในปีนั้นขุนสถารพลแสนมหาดไทย ได้คุมน้ำพระพัทสัจจา มาพระราชทานที่เมือง
อุไทยธานี และโปรดให้มีตราถึง เมืองอุไทยธานี ให้เจ้าเมืองกรมการ เลาพลเมือง ราษฏร โกนผมไว้ทุกข์ แต่กองอาทมาตชาวด่าน ต้องลาดตะเวนให้งดไว้
   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ นั้น เมืองอุไทยธานีได้มีหน้าที่แต่งคนออกไปสืบข้อราชการ ทางเมืองเมาะตะมะ และเมาะตำเลิม ซึ่งมีความปรากฏในสารตรา (เลขที่ ๒๑ จ.ศ. ๑๑๘๘)    พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่พระยาจักรีมีมาถึงพระยาอุไทยธานี      เรื่องได้รับหนังสือ กางดุ
กระเหรี่ยง มีมาถึงหลวงอินกำโนน เป็นอักษรรามัญแจ้งราชการว่า “กางดุจัดให้กางภุระกับไพร่ ๑๕ คน ออกไปลาดตระวนถึงคลองมิคลานพบจางกางเก้าะกง กระเหรี่ยงพม่า ๙ คนบอกว่า เมืองเมาะตะมะมีอังกฤษอยู่ ๕๐๐ คน อังกฤษตีเมืองอังวะได้แต่ ณ วัน ๗ ค่ำ ฯลฯ เห็นว่าอังกฤษแต่งให้พูดจาจะให้เลื่องลือ ความจะหาจริงไม่ ซึ่งพระยาอุไทยธานีกรมการไม่ไว้ใจแก่ราชการ ให้หลวงอินนายกองคุมไพร่ ออกไปลาดตระเวนพิทักษ์รักษาด่าน ทั้งกลางวันกลางคืน สืบข้อราชการอยู่อีกนั้น ชอบด้วยราชการอยู่แล้วให้พระยาอุไทยธานี กรมการ กำชับหลวงอินกำโนนกองอาฏมาต และหลวงขุนหมื่นชาวด่าน ให้ระวังระไวพิทักษ์รักษาด่านทางจงกวดขันแล้วให้สืบเอาข้อราชการให้ได้ความจงแน่ ถ้าได้ข้อราชการประการใดให้บอกลงไปให้แจ้งหนังสือมา ณ วันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕   จุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฏศก         “  สำหรับข่าวจากกางดุ กระเหรี่ยงนั้นได้แจ้งให้ทราบเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ พ.ศ. ๒๓๖๘ มีความละเอียดแจ้งว่า “อังกฤษเป็นเจ้าขึ้นนั่งเมืองอังวะ ในเมืองเมาะตะมะ ยิงปืนใหญ่ ๑๕ นัด ในเมืองย่างกุ้ง ยิงปืนใหญ่ ๑๕ นัด”
   นอกจากหน้าที่สำคัญทางชายแดน ดังกล่าวแล้ว เมืองอุไทยธานียังส่งกระวานจำนวน ๒ หาบเป็นประจำทุกปี ซึ่งเก็บที่ป่าคอกควาย ป่าระบำ ป่าอุมรุต ป่ากลมซึ่งมีใบบอก (เลขที่ ๒๑๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ว่า     “ด้วยถึง ณ วัน เดือนเก้า  เดือนสิบ  เป็นเทศกาลผลกระวานลูกแก่ขุนหมื่นและ ไพร่กอง
อัฏมาต เคยเก็บผลกระวาน ทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๒ หาบ ข้าพเจ้ากรมการ ได้จัดแจงเร่งรัดขุนหมื่น กองอัฏมาต ออกไปเก็บผลกระวานในตำบลป่าหน้าด่าน เมืองอุไทยธานี ได้ผลกระวานหนักสองหาบครบจำนวน……” และจะมีใบบอกส่งกระวานส่วย เป็นประจำทุกปี (ดังใบบอกเลขที่ ๑๐๐ จ.ศ. ๑๒๐๘, เลขที่ ๕๙ จ.ศ. ๑๒๐๙ แล
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #57 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:41:51 »

อุทัยธานี ๔
เลขที่ ๑๔๗ จ.ศ. ๑๒๑๐ เป็นต้น) บางครั้งก็ให้เป็นเงินแทนผลกระวานที่ยังค้างอยู่ (ร่างสารตราเลขที่ ๑๘๒/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) พ.ศ. ๒๓๘๓ ได้ส่งครกสำหรับตำดินปืนไปยังกรุงเทพฯ มีความปรากฏในใบบอก (เลขที่ ๘ จ.ศ. ๑๒๐๒) ว่า………
   “…..ด้วยมีตราพระราชสีหะ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขึ้นไปถึงข้าราชการกรมการว่าให้เกณฑ์ครกไม้หว้า ประดู่ ไม้ยาง จ่ายครัวแขกและตำดินสำหรับราชการสี่สิบใบนั้น ข้าราชการกรมการได้ทราบในท้องตราพระราชสิหะ ซึ่งโปรดขึ้นไป ทุกประการแล้ว ข้าราชกรมการตัดได้ครกไม้ยางสิบสองใบ ไม้หว้าแปด ไม้ใหญ่แปดกำสูงศอกคืบ ได้ขนาดอย่างตามท้องตราเกณฑ์นั้นแล้ว โดยแต่งให้นายเมืองคุมครกมาส่งด้วยแล้ว…..” พ.ศ. ๒๓๘๖ มีร่างสารตรา (เลขที่ ๑๕๕/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) แจ้งว่าเมือง
อุไทยธานี ได้ส่งมาดเรือยาว ๙ วา กำลัง ๕ ศอกเศษลงไปยังกรุงเทพฯ ต่อมา ณ ๕ ฯ ๔ ค่ำ ปีเถาะ ได้มีสารตรา (เลขที่ ๒๔/๑ จ.ศ. ๑๒๐๕) โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสัดดี เป็นพระศรีสุนทรปลัดเมืองอุไทยธานี ครั้งเมื่อมีการซ่อมแซม และปักหลักสายโซ่ที่เมืองนครเขื่อนขันฑ์ และเมืองสมุทรปราการได้เกณฑ์ (ร่างตรา ๓๘/๓ จ.ศ. ๑๒๐๕) ให้เมืองอุไทยธานีส่งไม้ยาง ยังค้างอยู่ ยางใหญ่ ๕ กำ จำนวน ๓๐ ต้นไปกรุงเทพในเดือน ๙ ข้างแรม ปีเถาะ

ปัญหาเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองเมาะตำเลิม
   ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ขุนจ่าสัจ ขุนทิพย์ไพรีมีชื่อกองอาฎมาต ขุนเพชรนารายณ์ไพรีมีชื่อด่านพล ขุนอิน ขุนวิชิต ไพรี มีชื่อด่านหลวงสรวิชิต ได้ออกไปสืบราชการ ณ เมืองเมาะตำเลิมเมื่อวัน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลจัตวาศกนั้น ปรากฏในคำให้การ (เลขที่ ๑๓๒/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) ว่า ในระหว่างทางขุนอิน ขุนวิชิตป่วยไปไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงบ้านกางโกะเกะ ขุนเพชรนารายณ์ ได้ป่วยเป็นไข้ จึงให้อยู่รักษาตัวโดยมีมะผิม มะมีบ่าวดูแล ครั้นขุนจ่าสัจ ขุนทิพย์ กลับจากสืบราชการแล้ว ได้ถามกางโกะเกะ และทราบว่าขุนเพชรนารายณ์หายป่วยกลับไปแล้ว เมื่อถึงเมืองอุไทยธานี ไม่เห็นขุนเพชรนารายณ์ และทราบว่าคนทั้งหมดอยู่ที่บ้านระแหง กับมะเกาะ น้องมะมี พระยาอุไทยธานีจึงให้ขุนจ่าสัจ ขุนพิทักษ์ กับไพร่ ๕ คนไปตามตัว เดินทางไปถึงบ้านระแหงเมื่อวันที่ ๑ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะ เบญจศก จึงทราบข่าวจากมะเกาะว่า ขุนเพชรนารายณ์ตายเสียแล้วที่บ้านกางชมภู ส่วนมะมี มะผิน มะกลิ่น บ่าวทำมาหากินที่นั่น และได้ขอติดตามบ่าวจนถึงบ้านมะฝาง บ้านกระเหรี่ยง
   ต่อมาได้มีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนที่เกี่ยวกับเมืองเมาะตำเลิม เมืองมะริด เนื่องจากอังกฤษมีอำนาจในประเทศพม่า มีจดหมายเหตุสำคัญหลายฉบับ เช่น จดหมายเหตุ (เลขที่ ๙/๙ จ.ศ. ๑๒๐๖ พ.ศ. ๒๓๘๗ ) ว่า “เขตแดนเมืองอุไทยธานี ตั้งแต่เขาใหญ่ปลายคลองแม่เมยมาตามลำคลองแม่ทรางออกลำน้ำตองโป๊ะตะวันออก มาจดลำน้ำตีโล ต่อกับด่านเมืองศรีสวัสดิ์ ในระหว่างมีคลองแม่ทราง แม่กรอม แม่นางดัด แม่สะเริง แม่กริว แม่อำจาม ปลายคลองออก แต่เข้าต้นคลองไปออกแม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันออก  เป็นแดนเมืองอุไทยธานีแม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันตกเป็นแดนอังกฤษ” ต่อมา พ.ศ. ๒๓๘๘ มีสารตรา (เลขที่ ๒๔๘/๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ว่า
   “หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงพระยาอุไทยธานี ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระยาขานุจักร์ ออกไปสืบราชการทางเมืองเมาะตำเลิมกลับเข้ามา ณ กรุงเทพ อังกฤษ เจ้าเมืองเมาะตำเลิม  มีหนังสือให้พระยาขานุจักร์ ถือเข้ามาถึงเสนาบดีผู้ใหญ่ ณ กรุงเทพฯ ว่าเขตแดนเมืองเมาะตำ-เลิม กับเขตแดนเมืองอุไทยธานีเมืองตากบ้านระแหง จะต่อกันเพียงใด จะขอแบ่งปันให้เป็นแน่นอนอย่าให้วิวาทกันด้วยเขตแดนต่อไปนั้น เขตแดนเมืองอุไทยธานี จะต่อกันกับเขตแดนเมืองเมาะตำเลิมที่ตำบลใด สมเด็จพุทธเจ้าอยู่หัวจะใคร่ทรงทราบ บัดนี้ ให้หมื่นพลันเมืองบน ข้าหลวงมหาดไทย ถือตราขึ้นมาให้พระยาอุไทยธานี กรมการจัดหลวงขุนหมื่นกรมการ ชาวด่านที่สันทัดทาง และรู้จักที่ตำบลเขตแดนเมืองอุไทยธานี กับเมืองเมาะตำเลิมกันต่อที่แห่ง ที่ตำบลใด เป็นแน่ให้ได้สัก ๒-๓ คน ให้พระยา
อุไทยธานีพาเอาตัวหลวงขุนหมื่น กรมการ ชาวด่านรีบลงไป ณ กรุงเทพฯ โดยเร็วถ้าขุนจ่าสัจกลับมาเมืองอุไทยธานีแล้ว ก็ให้เอาตัวขุนจ่าสัจลงไปด้วย จะได้ไล่เลียงไถ่ถาม ด้วยเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองเมาะตำเลิมให้ได้ความเป็นแน่ หนังสือมา ณ วัน ๑๓ เดือน ๖  ปีมะเส็ง สัพศก…”
   ครั้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙  (จากสารตราเลขที่ ๔๕/๔ จุลศักราช ๑๒๐๗) พ.ศ. ๒๓๘๘ เจ้าพระยาโกษาธิบดี สมุหกลาโหม กับพระยาราชสุภาวดี ได้จัดแจงที่เขตแดนหัวเมือง ของกรุงเทพฯ ที่ติดต่อกับเขตแดนหัวเมืองอังกฤษทางทิศตะวันตก พร้อมกับสอบถามพระยาอุไทยธานี พระสุนทร ปลัดผู้เป็นพระยาตาก และพระปลัดเมืองตากเกี่ยวกับเขตแดนเมืองอุไทยธานี เมืองตากเมื่อได้ความแล้วก็ได้ทำแผนที่เขตแดนที่แน่นอน และในสารตรา (เลขที่ ๔๕/๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) เรียบเรียงเป็นความปัจจุบันดังนี้
   “สารตรา ท่านเจ้าพระยาจักรี ให้มาแก่ พระปลัด กรมการเมืองอุไทยธานีด้วยพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ณ วัน ๘ แรม ๑๒  ค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรันอังกฤษเจ้าเมืองเมาะตำเลิม มีหนังสือให้มะโกน ไทยรามัญ ถือไปยังเสนาบดี ณ กรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งว่า เมืองอังวะมีหนังสือมาถึง กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน เจ้าเมืองเมาะตำเลิมว่า เมืองเชียงใหม่ไปรุกที่เขตแดนของพม่าๆ หาได้ทำสิ่งใดที่ไปรุกเขตแดนไม่ เพราะอังกฤษทำหนังสือสัญญาไว้แต่ก่อนว่า พม่าเป็นไมตรีกับอังกฤษๆ เป็นมหามิตรกับกรุงเทพฯ พม่าก็ต้องเป็นใจความดังนี้ ฉบับหนึ่งว่าขุนนางอังกฤษจะขึ้นมาดูเขตแดนฝ่ายเหนือกะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน จะใคร่พบขุนนางฝ่ายกรุงที่รู้เขตแดนแน่ พูดจาเด็ดขาดได้ ไปที่ปลายเขตแดนพร้อมกันในเดือนยันณุว่าเร-(มกราคม) หน้า คิดเป็นเดือนยี่ข้างไทยจะได้ว่ากล่าวด้วยที่เขตแดนชี้แจงกันให้เด็ดขาด หนังสือซึ่งมะโกนไทย ถือเข้ามาเมื่อเดือน ๙ สองฉบับ และเมื่อ ณ เดือน ๖ ปีมะเส็ง สัพศก พระยาขานุจักร์ ซึ่งออกไปสืบราชการกลับเข้ามา กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน มีหนังสือมอบให้ พระยาขานุจักร์ถือเข้ามาเป็นภาษาอังกฤษ ๕ ฉบับ อักษรรามัญ ๗ ฉบับ ว่าด้วย กะปิตันริยมาเรียนดุรัน รับไปดูที่เขตแดนเมืองกระกับเมืองมะริดต่อกัน กับว่าด้วยพระสุนทร ปลัดเมืองตาก มีหนังสือให้พระสุทัตธานีถือไปตามลูกหนี้ ซึ่งหนีไป ณ เมืองเมาะตำเลิมพระสุทัตธานีไปทำล่วงเกิน (?) ในบ้านเมืองอังกฤษและหนังสือซึ่งอังกฤษให้พระยาขานุจักร์ มะโกนไทย ถือเข้ามานั้นโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดี มีหนังสือตอบให้มะโกนไทย ถือกลับออกไปแต่ วัน เดือนสิบ ขึ้น ๔ ค่ำแล้ว ซึ่งอังกฤษกำหนดมาว่าเดือนยี่จะขึ้นไปดูที่เขตแดนฝ่ายเหนือ ขอให้ขุนนางไทยที่เป็นผู้ใหญ่พูดจาเด็ดขาดได้ไปให้พร้อมกัน จะได้ว่ากล่าวด้วยที่เขตแดนชี้แจงกันให้เด็ดขาดนั้น เขตแดนเมืองตากกรมการ เป็นผู้น้อยแต่ลำพัง เจ้าเมืองกรมการ จะพูดจากับอังกฤษ ความจะไม่เด็ดขาด โปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแพงเพ็ชรเป็นข้าหลวงผู้ใหญ่ ไปคอยพูดจากับอังกฤษได้มีตราขึ้นไปถึงพระยากำแพงเพ็ชร พระยาตาก กรมการ ความแจ้งอยู่แล้ว แต่เขตแดนเมืองอุไทยธานีที่ติดต่อกับแดนอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ว่า พระยาอุไทย-ธานีก็เป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่ ได้ทำแผนที่ก่อนที่จะแจ้งพอจะพูดจากับอังกฤษได้ โปรดเกล้าฯ ให้พระยา
อุไทยธานี พระปลัด หลวงยกกระบัตร กรมการคอยรับรองพูดจากับอังกฤษ ให้ถูกต้องตามทำนองและแผนที่เขตแดนซึ่งชาวด่านบอกตำบลให้ทำนั้น เขตแดนข้างฝ่ายเหนือ ด่านเมืองอุไทยธานี ได้รักษาต่อกับเมืองตาก ตั้งแต่เขาใหญ่ปลายคลองแม่น้ำตองเมย มาตามคลองแม่ทรางออกลำคลองแม่น้ำตองโป๊ะ ฝั่งตะวันออกเป็นเขตมาจนลำน้ำตีโลต่อกับด่านเมืองศรีสวัสดิ์ ในระวางมีคลองแม่ทราง แม่กรวม แม่นางดัด แม่สะเลิง คลองแม่กริว แม่อำจาม ปลายคลองออกแต่เขา ต้นคลองไปออก แม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันออก ในป่าอันนี้ ผู้คนได้ไปเที่ยวเก็บผึ้งอยู่ทุกปี พระยาอุไทยธานีลงไปเฝ้าทูลละออง ได้พาหลวงขุนหมื่นชาวด่านลงไปชี้แจง ให้ทำแผนที่เขตแดนต่อกันกับแดนอังกฤษ ตั้งแต่ทิศเหนือ เป็นลำดับต่อๆ กันลงไปทุกเมือง จนสุดเขตแดนเมืองกระ พระยาอุไทยธานี ได้ทำแผนที่รู้ความถ้วนถี่แล้ว ถ้าอังกฤษจะมาพูดจากับพระยาอุไทยธานี  พระปลัด กรมการ จะเอาที่เขตแดนให้ล้ำเกินเข้ามา ที่แห่งใด ตำบลใด ก็ให้ตอบว่าที่เขตแดนแต่เดิมมาอยู่แต่เพียงนั้น จะมาเอาถึงที่ตำบลนั้น เป็นแดนเมืองอุไทยธานี ล้ำเกินเข้ามานักยอมให้ไม่ได้ ถ้าเขาว่าจะเอาแต่เพียงแม่น้ำตองโป๊ะข้างตะวันตก ก็ให้ว่าชอบแล้ว เขตแดนแต่ก่อนมา ก็อยู่แต่เพียงนี้ อังกฤษมาดูแลว่ากล่าวเป็นสัตย์ เป็นธรรมสมควรหนักหนาความอันนี้จะบอกลงไปยังท่านอัครมหาเสนาบดีให้ทราบ ถ้าเขาดูเขตแดนเมืองอุไทยธานีแล้ว ก็ให้ถามเขาว่าจะไปดูเขตแดนเมืองไหน ที่แห่งใด ตำบลใดอีกบ้าง จะไปเมืองใด จะได้มีหนังสือไปให้เจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ๆ ออกมาคอยพูดจาชี้แจงที่เขตแดนให้ ถ้าอังกฤษจะไปที่เขตแดนที่เมืองตากก็ให้พระยาอุไทยธานี พระ-ปลัดกรมการมีหนังสือแต่งตั้ง คนถือไปแจ้งความกับพระยากำแพงเพ็ชร ณ เมืองตาก ถ้าอังกฤษว่าจะไปดูเขตแดนข้างเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ ก็ให้มีหนังสือลงมาถึงเจ้าเมืองกรมการเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ ให้รู้ความ จะได้ออกไปพูดจากับอังกฤษด้วยที่เขตแดนทันกำหนด และการซึ่งจะพูดจากับอังกฤษนั้น ให้พระยาอุไทยธานี พระปลัดกรมการ พูดจาให้นิ่มนวล (?) เรียบร้อยอย่าให้พูดให้แข็งแรง การหาสำเร็จด้วยพูดจาแข็งแรงไม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้คัดสำเนาหนังสือเสนาบดี มีตอบไปถึงอังกฤษ ๓  ฉบับ กับแผนที่เขตแดนเมืองอุไทยธานี มอบให้พระยาอุไทยธานีเอาขึ้นมาด้วย จะได้พิเคราะห์ดูให้ถ้วนถี่ จะได้รู้ราชการพูดจากับอังกฤษถูกต้อง ไม่ผิดกับความในท้องตราและหนังสือเสนาบดี ซึ่งมีตอบไปถึงอังกฤษจึงทุกประการ ถ้าพระยาอุไทยธานี ได้พูดจากับอังกฤษคอยที่เขตแดนความตกลงแล้วกันแลประการใดให้บอกลงไปให้แจ้งหนังสือมา ณ วันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐       ปีมะเส็ง นักสัต สัพศก”
   หลังจากที่พระยาอุไทยธานี ได้รับทราบตามสารตราข้างต้นแล้ว ก็มีใบบอก (เลขที่ ๒๑๑
จ.ศ. ๑๒๐๗) เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๒   ปีมะเส็งมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า
   “ข้าพเจ้า พระยาอุไทยธานี พระปลัดกรมการ เกณฑ์กรมการหกคน, ขุนหมื่นสิบหก, ไพร่สี่สิบเอ็ดคน, เข้ากันหกสิบสามคน, เกณฑ์ด่านพลหลวงพลหนึ่ง, ขุนหมื่นสามคน, ไพร่แปดคน, เข้ากันสิบสองคนเกณฑ์ด่านสรวิชิต หลวงสรวิชิตหนึ่ง ไพร่สิบห้าคนเข้ากันยี่สิบสองคน เกณฑ์การอาฏมาต หลวงอินนายกองหนึ่ง ขุนจ่าสัจปลัดกองหนึ่ง ขุนหมื่นแปดคน ไพร่สี่สิบคนเข้ากันห้าสิบคนเข้ากันข้าพเจ้ากรมการด่านพลด่านสรวิชิตด่านอาฏมาตนายไพร่ร้อยสามสิบเจ็ดคน ให้หลวงแพ่งหลวงจ่าเมืองกรมการอยู่รักษาเมืองแต่ข้าพเจ้า พระยาอุไทยธานีพระปลัดหลวงกำแหง ผู้ว่าที่หลวงยกกระบัตรหลวงสุนทรภักดี ขุนละคอน ขุนทิพรองนา ขุนรองสัสดีหมื่นรองแขวง กรมการกับนายด่านทั้งปวง กราบถวายบังคมลาขุนหมื่นและไพร่โดยออกไปจากเมืองอุไทยธานี แต่ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมแปดค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก ไปคอยอังกฤษอยู่ที่แม่กริว แม่อำจามแกร (?) เมืองอุไทยธานี ฝากแม่น้ำตองโป๊ะฝากตะวันออกด้วยแล้ว….”
   ในที่สุดพระยาอุไทยธานีและอังกฤษก็ได้พูดจากำหนดเขตแดนจนเป็นที่เรียบร้อย
   ครั้นเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๕  ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเส็ง หลวงชมภู ชาวกระเหรี่ยง อยู่เมืองตาก ได้พาครอบครัวกระเหรี่ยงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลอุ้มผาง ในแม่จัน แม่กลอง แขวงเมืองอุไทยธานี มีชายฉกรรจ์ ๑๕ คน ครอบครัวชาย หญิง ๓๐ คน รวม ๔๕ คน ด้วยพระยาตากถึงแก่กรรมไม่มีที่พึ่ง พระยาราชสุภาวดีได้มีหนังสือ (เลขที่ ๒๕๐/๑-๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ถึงพระยาอุไทยธานีและพระยาตาก ถึงความสมัครใจของหลวงชมภู ที่จะขออยู่เมืองอุไทยธานี ต่อมาวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒  ค่ำเดือน ๒ หลวงแพ่งเมืองอุไทยธานี ได้มีใบบอก (เลขที่ ๒๐๙ จ.ศ. ๑๒๐๗) ให้หมื่นชำนิ พาหลวงชมภู กระเหรี่ยงลงมาขอบารมีที่พึ่งจาก พระยาอักษรสุนทรเสมียนตรา
   วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๘ นายแจ้ง ผู้ว่าที่ขุนสุพมาตราได้คุมเอาถาดหมาก คนโทเงิน เครื่องยศ สำหรับที่หลวงยกกระบัตร ซึ่งถึงแก่กรรมส่งคืนเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ตามใบบอก (เลขที่ ๒๑๐ จ.ศ. ๑๒๐๗) ของพระยาพิไชยสุนทร
   เมื่อวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๘๙ แสนเชือกขุนหมื่นกรมช้าง ได้ถือตราสาร (เลขที่ ๓๑/๑ จ.ศ. ๑๒๐๘ ) ของเจ้าพระยาจักรีขึ้นมาติดตามช้างสำคัญที่หลบหนีเข้าป่า ณ เมืองอุไทยธานีและขอมะจูกับบุตรของมะจู ๒ คน จากพระยาอุไทยธานี ช่วยในการติดตามด้วย

สาเหตุที่ย้ายเมืองอุไทยธานีมาบ้านสะแกกรัง
   เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น    ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ได้เป็นพระยาอุไทยธานี    เจ้าเมือง
อุไทยธานี ครั้นขึ้นไปถึงเมืองอุไทยธานีก็คิดว่า ถ้าบ้านเรือนอยู่ที่สะแกกรัง จะหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมได้ดีขึ้นและจะว่าราชการเมืองอุไทยธานี (ที่เมืองอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง ) ก็ไปจากที่นั้นได้ไม่ลำบากอันใดพระยาอุไทยธานีคนนี้เป็นเพื่อนกันกับพระยาชัยนาท ในเวลานั้นจึงขอตั้งบ้านเรือนบนฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อจะค้าขายข้าวหาประโยชน์นับว่ากลัวความไข้ ไม่กล้าขึ้นไปว่าราชการที่เมืองอุไทยธานีเก่า สำหรับศาลาที่ว่าการเมืองอุไทยธานี ได้ใช้หลังบ้านพักของเจ้าเมืองอุไทยธานี  ปลูกโรงไม้ยาวชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องแบบไทย ส่วนพวกกรมการเมืองอุไทยธานี นั้น ก็ได้ย้ายตามมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังตามเจ้าเมือง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้เกิดปัญหาเรื่องเงิน อากรสมพัตสรตลาดเงินค่าเสนากร ซึ่งไม่ชำระกันเนื่องจากเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองชัยนาท ไม่ถูกต้อง อันมีจดหมายเหตุ (ร่างตราเลขที่ ๑๔๐/๒ จ.ศ. ๑๒๑๐) ดังนี้
   “หนังสือพระยามหาอำมาตย์ฯ มาถึงพระยาอุไทยธานี ด้วยหลวงปลัด หลวงอนุรักษ์ภักดี กรมการเมืองชัยนาทบอกลงไปว่า บ้านสะแกกรังที่พระยาอุไทยธานีตั้งอยู่กับราษฎรตั้งเรือนทำมาหากินตามริมฝั่งน้ำตะวันตก ตั้งแต่ปากกระบาดขึ้นไปจนบ้านท่าคล่อเหนือบ้านสะแกกรัง สมพัสษร อากรตลาดหาได้ชำระไม่ แต่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านทุ่งแฝก เสนาอากรเรียกเป็นแขวงเมืองไชย-นาทต่อๆ มา ครั้ง ณ ปีมะเส็ง สัพศก นายโพ พวกหมื่นเทพอากรมาบอกพระยาไชยนาท กรมการว่า บ้านทุ่งแฝก บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง พระยาอุไทยธานีว่า เป็นแขวงเมืองอุไทยธานี หาได้ชำระเงินอากรไม่ พระยาไชยนาท กรมการว่าให้ทำเรื่องราวมาจะบอกลงไป ณ กรุงเทพฯ นายโพหมื่นเทพอากรก็หาทำเรื่องราวมายื่นไม่ อยู่ ณ ปีมะแม นพศก พวกหมื่นเทพอากรมาว่า หลวงปลัด กรมการ แต่งกรมการพาหมื่นเทพอากรไปว่ากล่าวกับพระยาอุไทยธานีๆ ว่า บ้านทุ่งแฝกเป็นแขวงเมืองไชยนาทแต่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นที่เมืองอุไทยธานี พระยาอุไทยธานีได้ทำแผนที่ลงไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้วครั้นสืบเถาแก่ผู้ใหญ่ก็ว่า บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่าเป็นแขวงเมืองไชยนาทหลายคนนั้น ความทั้งนี้จะเท็จจริงประการใดไม่แจ้ง และแขวงไชยนาทเขตแดนกว้างขวางเกี่ยวคาบมาจนถึงเมืองอุไทยธานี พระอุไทยธานีว่าไม่ทำแผนที่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นที่เมืองอุไทยธานีลงมาทูลเกล้าฯ ถวายกันเอาที่เขตแดนเมืองไชยนาทมา ทั้งนี้ชอบอยู่แล้วหรือ กรมการและราษฏรเมืองไชยนาทที่เป็นคนผู้ใหญ่ กับที่กรุงเทพฯ ก็รู้กันอยู่ว่าบ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นเมืองไชยนาทแต่เดิม เมื่อพระยาอุไทยธานี เป็นที่เจ้าเมืองจะตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แขวงเมืองอุไทยธานีว่าที่ไชยภูมิไม่ที่ จึงว่ากล่าวกับ กรมการเมืองไชยนาทจะขออยู่ ณ บ้านสะแกกรัง ก็อยู่ต่อๆ มา ครั้งนี้พระยาอุไทยธานี จะครอบงำเอาที่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นเมืองอุไทยธานี ปรารถนาจะได้ปลูกสร้างต้นผลไม้และทำไร่กัน (?) ที่จะตั้งอากรสมพัสษรไม่ให้นายอากรเรียกเอาด้วย ฝ่ายเมืองไชยนาทไม่ยอม เป็นความวิวาทกันอยู่ไม่รู้แล้วเดี๋ยวนี้พระยาไชยนาทกลับมาแต่ราชการทัพพระยาอุไทยธานี พระยาไชยนาท ก็เป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่เขตแดนเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างไรก็ให้นัดหมายดูแล พูดจาปรึกษาหารือกันจะเป็นที่เขตแดนเมืองใด ก็ให้ว่ากันเสียให้เด็ดขาด ตกลงเป็นที่เมืองไชยนาทฯ จะได้นำเรียนเงินอากรสมพัสษรต่อไป จะใช้แต่กรมการพูดจะไปมา การก็จะหาแล้วกันไม่ได้มีตรามาถึงพระยาไชยนาท ความแจ้งอยู่แล้ว ถ้าชำระว่ากล่าวไม่ตกลงจะบอกขอข้าหลวงขึ้นมาสอบสวนดู หรือจะแต่งกรมการผู้ใหญ่ทั้งสองทางทำแผนที่เมืองไชยนาท เมืองอุไทยธานี ลงไปว่ากล่าว ณ กรุงเทพฯ ได้ ก็ให้เร่งคุมแผนที่ลงไป จะได้ตัดสินให้เป็นอันแล้วแก่กัน หนังสือมา ณ วันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก สัมฤทธิ์ศก”
   นอกจากนี้ยังมีหนังสือไปถึงพระยาไชยนาท (ร่างตราเลขที่ ๑๙๐/๔ จ.ศ. ๑๒๑๐) ถึงเรื่องบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองอุไทยธานีหรือเมืองไชยนาท และให้นัดหมายพูดจากันไม่เป็นที่ตกลง
   ในที่สุดพระยามหาอำมาตย์ จึงให้กรมการขึ้นมาสอบสวนเขตแดนเมืองอุไทยธานีและให้สอบเขตแดนเมืองไชยนาทกับเมืองอุไทยธานีที่ติดต่อกัน เพื่อสะดวกต่อการเก็บอากรสัมพัสษรตลาด และเงินค่าเสนาอากรด้วยเห็นว่า (จาก “ประชุมนิพนธ์ พระนิพนธ์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุ-ภาพ”) เจ้าเมืองอุไทยธานีไม่ควรจะมาอยู่ในแขวงเมืองไชยนาท อีกทั้งเวลานั้นพวกเจ้าเมืองกรมการ
อุไทยธานีตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งมั่นคงเสียแล้ว จะไล่ไปก็จะเกิดเดือดร้อนจึงให้ตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้กว้าง ๑๐๐ เส้น ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรัง ไปจดแดนเมืองอุไทยเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานีฯ จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดน ทางฝั่งคลองสะแกกรังฟากเหนือ ตรงบ้านเจ้าเมืองอุไทยธานี ข้ามไปก็เป็นเขตแดนเมืองมโนรมย์ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท ครั้นเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นแขวง เมืองอุไทยธานีเก่า จึงมีเพียง ๔ แขวงหนองขุนชาติ แขวงหนองกระดี่ แขวงหนองหลวง และแขวงแม่กลอง ซึ่งเรียกกันติดปากว่า “แม่กลองหนองหลวง” เพราะมีเขตแดนติดต่อกันส่วนแขวงหนองขุนชาตินั้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแขวงอุทัยเก่า

จังหวัดอุทัยธานีสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตย
   จังหวัดอุทัยธานี ถึงแม้จะมีความเป็นอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ-ปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ยังมีภูมิประเทศที่ค่อนข้างจะทุรกันดารปราศจากการคมนาคมใดๆ นอกจากทางเกวียนที่ต้องบุกผ่านป่า หรืออาศัยเรือขึ้นล่องติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยลำน้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านตัวเมือง ปากแม่น้ำสะแกกรังตั้งอยู่ตรง ต.คุ้มสำเภา อ. มโนรมย์ จ.ชัยนาทนั้น ที่ปากน้ำเดิมนั้นหน้าฤดูแล้งราษฎร์จะช่วยกันทำคันดินใหญ่เป็นเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำในแม่น้ำสะแกกรังแห้ง เรือแพที่จะผ่านเข้าออกต้องเข็นข้ามเขื่อนนี้ ซึ่งเป็นเขื่อนดินทำเป็นตัวทำนบกั้นน้ำไว้ให้ชาวเมืองได้อาศัยน้ำอาบ กิน และเพาะปลูก ตลอดจนการสัญจรไปมาในยามปกติด้วยภูมิประเทศของจังหวัดนี้เป็นที่ดอนแห้งแล้ง ในฤดูน้ำลดลง แม่น้ำสะแกกรังจะแห้งขอด ซึ่งเป็นเหตุให้ลำบากแก่การคมนาคมและการประกอบกสิกรรมทั่วไปส่วนใหญ่ชาวจังหวัดอุทัยธานีมีอาชีพทำนาเป็นล่ำเป็นสัน นับเป็นเมืองประเภทอู่น้ำอู่ข้าวที่สำคัญ ครั้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น เขื่อนที่กั้นตรงปากน้ำก็เลิกทำเพราะน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีบริบูรณ์อยู่ตลอด
   ต่อมาได้มีการเลิกภาคที่ตั้งขึ้นเป็นมณฑลในรัชกาลที่ ๖ ใหม่ โดยรวมเป็นมณฑลเดียว และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนไปรวมขึ้นอยู่กับมณฑลอยุธยา  จังหวัดอุทัยธานีในสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงตามโครงร่างของการบริหารราชการที่ขยายวงกว้างขึ้น ยกเลิกชั้นข้าราชการและนำเอาระบบการกำหนดเงินเดือนตามตำแหน่งมาใช้แล้วเปลี่ยนแปลงใช้การจัดชั้นข้าราชการควบคู่ไปกับการจัดชั้นตำแหน่งประกาศยกเลิกมณฑลเสียในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด พร้อมกับให้มีเทศบาลเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นให้เรียก “ข้าหลวงประจำจังหวัด”
   จังหวัดอุทัยธานีทุกวันนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังรักษาศิลปวัฒน-ธรรมของบ้านเมืองไว้เป็นอย่างดี จนมีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า
   “ดำน้ำสามผุด ไม่หลุดอุทัย” และ “อยู่อุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำมืดก็นอนที่อุทัย”





ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุทัยธานี . กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์ , ๒๕๒๘
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #58 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:42:45 »

เชียงใหม่
ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงศ์มังราย และสมัยพม่าปกครอง)
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว
เมืองเชียงใหม่มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาไทยมาตั้งแต่พระยามังรายได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ นับถึงปัจจุบันมีอายุร่วมเจ็ดร้อยปี และเมืองเชียงใหม่ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ตลอดมา เชียงใหม่มีฐานะเป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ ๒๐๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑) ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่กษัตริย์พม่าชื่อบุเรงนอง และได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานร่วมสองร้อยปี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและ      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงช่วยเหลือล้านนาไทยภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้าน ในการทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงเทพ และมีเชื้อสายของพระยากาวิละซึ่งเรียกว่าตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครองเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และลำปางสืบต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราชได้ยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลพายัพ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงการปกครองแบบจังหวัด เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนปัจจุบัน
เพื่อให้สะดวกในการอ่านเรื่องราวของเชียงใหม่และล้านนาไทย จึงขอแบ่งยุคสมัยใน  ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่เป็น ๔ สมัย ดังนี้
1.สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙)
2.สมัยราชวงศ์มังรายปกครอง (พ.ศ. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑)
3.สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗)
4.สมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๗๖)
สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙)
ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้มีบ้านเมืองและชุมชนใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมืองหริภุญไชย เมืองพะเยา และยังได้มีการค้นพบเมืองเล็กๆ อีกมากมายหลายเมืองตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เวียงฝาง เวียงปรึกษา เวียงสีทวง เวียงพางคำ เวียงสุทโธ   เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน๑) ฯลฯ เป็นต้น เชื่อกันว่าบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวและเมืองต่างๆ ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พอสังเขปดังนี้
จากข้อมูลเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการที่ชุมชนเผ่าไทเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนบนของภาคเหนือในสมัยแรกนั้น มีผู้นำสำคัญ ๒ ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมารและราชวงศ์ลวจังกราช ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และตำนานสุวรรณโคมคำ
ราชวงศ์สิงหนวัติกุมาร๒ ตำนานเล่าว่ามีราชบุตรชื่อ สิงหนวัติกุมาร ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองไทยเทศเมื่อมหาศักราช ๑๗ (ตอนต้นพุทธกาล) มาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแม่น้ำโขงและไม่ไกลจากเมืองสุวรรณโคมคำมากนัก เมืองใหม่ชื่อ นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร ข้อความในตำนานต่อมาสับสนแต่จับใจความได้ว่า เมืองนาคพันธุ์ฯ นี้ได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน เมืองนี้มีกษัตริย์ปกครองสืบมาถึง พ.ศ. ๑๕๔๗ มีคนจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในเวลากลางคืน คืนนั้น เมืองนี้ได้เกิดภัยพิบัติฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว และเมืองได้ล่มจมเป็นหนองน้ำไป ชาวเมืองที่ไม่ประสบภัยได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงปรึกษาขึ้น๓ ราชวงศ์สิงหนวัติก็สิ้นสุดลง สำหรับศักราชส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน
เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน และเมืองเชียงแสน
ประมาณ พ.ศ. ๑๑๘๑ ได้เกิดเมืองชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสนขึ้นบริเวณดอยตุง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตามตำนานเล่าว่า พระยาลวจังกราชได้รับบัญชาจากพระอินทร์ให้ลงมา   ปกครองเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นไม่มีกษัตริย์ปกครองและพระยาอนิรุทธได้เชิญเจ้าเมืองทุกเมืองไปประชุมตัดศักราช เมืองนี้ไม่มีกษัตริย์ไปประชุม จึงทูลขอผู้ปกครองจากพระอินทร์ เทพบุตร    ลวจังกราชจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมทั้งมเหสีและบริวารไต่ตามบันไดเงินลงมาบริเวณดอยตุง ชาวบ้านจึงพร้อมใจให้เป็นผู้ปกครองเมืองนี้ชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสน และทรงมีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายพระองค์จนถึงพระยาลาวเมง พระราชบิดาพระยามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องจากตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน
มีนักวิชาการบางท่านตีความเรื่องนี้ว่า พระยาลวจังกราชนั้น เดิมเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง เดิมคงเรียกว่า ปู่เจ้าลาวจก เพราะเป็นผู้มีจอบมาก (จก = จอบ) และให้ประชาชนเช่าจอบเพื่อทำนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำจอบเป็นเทคนิคชั้นสูง ผู้ใดผลิตจอบได้ก็จะสามารถควบคุมการผลิตได้ ปู่เจ้าลาวจกคงจะได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าเผ่าไทบริเวณนั้น และปกครองเมืองเงินยางเชียงแสน และมีเชื้อสายสืบมาจนถึงพระยามังราย๔
เมืองหริภุญไชย
นอกเเหนือจากเมืองต่างๆ ดังกล่าวนามข้างต้นแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซากเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองท่ากาน เวียงมะโน เวียงเถาะ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของลำพูน อาจารย์ ร.ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ในรายงานเรื่องแคว้นหริภุญไชย : โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ได้กล่าวถึงเมืองลำพูน ซึ่งตรงสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ปกครองสุโขทัยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง จาก     หลักฐานต่างๆ พอช่วยให้ทราบเรื่องราวของหริภุญไชยได้พอสรุปดังนี้
เมืองนี้ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดย ฤาษี ชื่อ วาสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทูลเชิญ     พระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครอง ราว พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางได้นำบริวารและพระสงฆ์เสด็จขึ้นมาทางน้ำมาปกครองเมืองหริภุญไชย และมีเชื้อสายของพระนางปกครองสืบมาหลายพระองค์ นับเวลานานถึงหกร้อยปี จนกระทั่งถึงสมัยพระยาบาหรือยีบา ได้เสียเอกราชแก่พระยามังรายในราว พ.ศ. ๑๘๒๔ หริภุญไชยจึงมีสภาพเป็นเมืองหนึ่งของดินแดนล้านนาไทยเรื่อยมา และในสมัยพระยากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองลำพูนให้เจริญขึ้น และมอบให้เชื้อสายของพระองค์ไปปกครองเรื่อยมา อนึ่งในสมัยพระนางจามเทวีนี้ พระนางได้ทรงสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นครให้ราชบุตรปกครองอีกเมืองหนึ่งด้วย๕
เมืองหริภุญไชยเป็นเมืองโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีศิลปกรรมที่มีลักษณะของตนเอง คือ ศิลปสกุลช่างหริภุญไชย ตลอดจนพบว่ามีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญไชยด้วย ปัจจุบันหริภุญไชยหรือลำพูนมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือของไทย


เมืองพะเยา
เมืองพะเยาเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามเอกสารตำนานต่างๆ๖ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ก็เช่นเดียวกับหริภุญไชย สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลต่างๆ ได้แก่ เอกสารประเภทตำนาน เป็นต้นว่า ตำนานพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ ข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า
“ … เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิง … เบื้องหัวนอนเถิงลุนคา               ขุนคา ขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง … ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … ๗”
ข้อความในจารึกแสดงว่ามีเมืองพะเยาก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามตำนานเมืองพะเยา เขียนว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรม ซึ่งพระองค์ได้เป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และมีเชื้อสายของพระองค์ปกครองสืบมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พระยา   งำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพระยามังราย ได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย
นอกจากพระยางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้เล่าว่า พระยาเจือง หรือขุนเจือง ผู้นำที่พะเยามีความสามารถมาก พระองค์มีพระชนมายุระหว่าง พ.ศ. ๑๖๒๕ - ๑๗๐๕ โดยพระยาเจืองเป็นกษัตริย์พะเยา ในสมัยของพระองค์ ดินแดนล้านนาไทยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียตนาม (แกว) ล้านช้าง๘ สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่งของล้านนาไทย อนึ่งจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีที่เมืองพะเยาของ ร.ศ.ศรีศักดิ์ ได้พบเครื่องมือหินและโลหะ คือ หัวขวานสำริดและผาลไถ ทำด้วยเหล็กกำหนดอายุไม่ได้ที่เมืองพะเยา สันนิษฐานบริเวณที่ราบลุ่มเชียงรายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ได้พัฒนาเป็นสังคมบ้านเมืองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากนี้เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปสกุลช่างพะเยา๙ และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
เมืองพะเยามีกษัตริย์ปกครองสืบมาต่อจากพระยาจอมธรรมหลายพระองค์จนถึงสมัย    พระยาคำลือ ซึ่งขณะนั้นเชียงใหม่มีกษัตริย์ชื่อพระยาคำฟู ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๖ - ๑๘๗๙ กษัตริย์ลำดับที่ ๕ พระยาคำฟูได้ร่วมมือกับพระยาเมืองน่านยกกองทัพไปตีพะเยาและยึดครองพะเยาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ซึ่งปรากฏข้อความในศิลาจารึกวัดลี แต่ในตำนานพะเยาเขียนว่า พระยา   คำฟูยกทัพไป พ.ศ. ๑๘๘๑1 อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ ทำให้พะเยาเสียเอกราชตกเป็นเมืองในอาณาเขตของแคว้นล้านนาตั้งแต่นั้นมา
โดยสรุป ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณแม่น้ำต่างๆ คือ แม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำอิง ฯลฯ มีชุมชนตั้งอยู่แล้วก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้   ดินแดนบริเวณนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน และเมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว สันนิษฐานว่าจะมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดและรับเอาวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่และเจริญรุ่งเรืองแล้วมาเป็นของตนเอง เป็นต้นว่าล้านนาไทยเชียงใหม่อาจจะรับเอากฎหมายธรรมสัตถของมอญซึ่งใช้อยู่ในหริภุญไชยมาตราเป็นกฎหมายมังรายศาสตร์ และรับเอาอักษรมอญมาดัดแปลงเป็นอักษรพื้นเมืองล้านนาหรืออักษรไทย นอกจากนี้อาจจะรับเอาพุทธศาสนาของแคว้นหริภุญไชยมาด้วย เพราะหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามาจนถึงอย่างน้อยสมัยพระเจ้า       กือนา2 กษัตริย์ราชวงศ์มังรายปกครองเชียงใหม่เป็นลำดับที่ ๖ (พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) พระยากือนาจึงได้พยายามสร้างให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา
อนึ่ง สันนิษฐานว่า ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ดินแดนบริเวณนี้คงจะเป็นที่อยู่ของพวกละว้าหรือลัวะ (Lawa, Sua) กล๋อมหรือขอมดำ พวกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าจะอยู่นานแล้วก่อนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ได้เล่าว่า ขุนหลวงวิลังคะเป็นกษัตริย์ลัวะปกครองบ้านเมืองอยู่บริเวณดอยสุเทพ และเป็นผู้ที่ประสงค์จะได้พระนางจามเทวีเป็นพระมเหสีของตน3
หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับลัวะพบทั่วไปในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ได้พบเนินดินหรือกู่เก่าๆ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน4 และปัจจุบันพวกลัวะก็ยังอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอแม่สะเลียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอจอมทองและอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ อาจารย์ถิ่น รัติกนก และคณะ ได้ทำการศึกษา วิจัยด้านประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของละว้า ที่บ้านบ่อหลวง บ้านกองลอย บ้านอุมลอง บ้านแม่โถ บ้านวังกอง บ้านขุน และบ้านนาฟ่อน รวม ๗ หมู่บ้าน อำเภอฮอด เชียงใหม่ ซึ่งประชาชนเป็น ชาติลัวะ และพวกลัวะนอกจากจะอาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวแล้ว ยังมีชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ที่เวียงหนองสอง อำเภอป่าซาง ลำพูน และที่บ้านแม่เ..เซนเซอร์..ยะ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ผลของการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมประเพณีของลัวะหลายประการท่อาจจะตกทอดมาถึงคนในเชียงใหม่เพราะมีประเพณีคล้ายกับประเพณีเชียงใหม่ปัจจุบัน คือ ประเพณีการเกิดมี “แม่ฮับ” หรือหมอตำแย ประเพณีการอยู่ไฟหลังการคลอดบุตรเรียกว่า “อยู่เดือน” ความเชื่อเรื่องผีบ้าน ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ประเพณีการบูชาเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านที่เสามงคลหรือเสาเอก หลังคาบ้านนิยมทำไม้ไขว้เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า “กาแล” และประเพณีทำศพที่มีการจุดไฟยามหน้าศพ ตุงสามหางและตุงห่อข้าวใช้ในกระบวนแห่ศพไปฌาปนกิจ5 ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของลัวะที่พบในประเพณีของเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ดังนั้น สันนิษฐานว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่โดยพระยามังราย พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ มีเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเมือง เป็นต้นว่า หริภุญไชย พะเยา เชียงแสน มี    วัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และได้มีการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ด้วย
พระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่
พระยามังรายตำนานเล่าว่าทรงเป็นราชบุตรของพระยาลาวเมงและพระนางเทพคำข่าย  เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองเงินยางเชียงแสน ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๕ พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมแคว้นต่างๆ ที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่างๆ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงขยายอำนาจลงมาทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และพยายามขยายลงไปถึงบริเวณ   ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาละวิน บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขณะนั้นมีเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พระยามังรายมีพระประสงค์จะยึดครองเมืองหริภุญไชยไว้ในอำนาจ  จึงทรงย้ายเมืองหลวงหรือทรงมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองเชียงรายทางใต้ลงมาในราว พ.ศ. ๑๘๐๖ แต่พระองค์พบว่าภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การขยายอำนาจลงมาทางใต้ จึงทรงย้ายไปประทับที่เมืองฝางในราวปี พ.ศ. ๑๘๑๗ ที่เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองหริภุญไชยมากนัก พระองค์ทราบถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งของรัฐหริภุญไชยดี จึงดำเนินนโยบายแบบบ่อนทำลาย โดยให้อ้ายฟ้าทหารของพระองค์มาเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ ๗ ปี อ้ายฟ้าสามารถทำให้ประชาชนในเมืองนี้ไม่พอใจพระยายีบาหรือพระยาบา กษัตริย์ของตนโดยอ้ายฟ้าดำเนินกลวิธีต่างๆ หลายวิธี เช่น เกณฑ์แรงงานอย่างหนักในการไปขุดเหมืองชลประทาน ที่เรียกว่า เหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ลากไม้ในฤดูฝนมาทำคุ้มที่ประทับของพระยาบา ทำให้ไร่นาของประชาชนได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้อ้ายฟ้ายังได้กราบทูลให้พระยาบาห้ามประชาชนเข้ามาร้องทุกข์กับกษัตริย์โดยตรงดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ให้ทุกคนติดต่อร้องทุกข์กับอ้ายฟ้า แล้วอ้ายฟ้าก็ตัดสินไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก6
อ้ายฟ้าได้กล่าวกับประชาชนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนทำไปนั้นเป็นบัญชาจากพระยาบา    ทั้งสิ้น ประชาชนจึงไม่ชอบพระยาบามาก และเมื่อมีศึกพระยามังรายมาประชิด ประชาชนจึงไม่กระตือรือร้นจะช่วยรบกับผู้ปกครอง ในที่สุดพระยามังรายจึงยึดหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๔
ปัญหามีว่า ทำไมพระยาบาจึงเชื่อคำแนะนำของอ้ายฟ้า จึงให้อ้ายฟ้าเข้ามามีอำนาจในเมืองหริภุญไชยเช่นนี้ ทั้งที่อ้ายฟ้าเป็นขุนนางจากเมืองอื่น คำตอบหรือข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีได้หลายทาง ข้อแรกผู้เขียนขอเสนอข้อสันนิษฐานจากหลักฐานกฎหมายว่า ที่พระยาบาเชื่อคำแนะนำอ้ายฟ้าเพราะมีข้อความตอนหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับระบุว่า “บุคคลผู้รู้สันฐานต่างประเทศ” เป็นบุคคลหรือไพร่เมืองชั้นดีและจัดว่าเป็นไพร่ที่หาได้ยาก ถ้าทำผิดให้ลงโทษสูงสุดให้เนรเทศแทนการประหารชีวิต7 อ้ายฟ้าเป็นขุนนางที่มาจากต่างประเทศและเป็นผู้รู้สันฐานเรื่องราวของต่างประเทศ   นอกเหนือจากเมืองหริภุญไชย พระยาบาจึงยอมรับความเป็นผู้รู้ของอ้ายฟ้า และพร้อมที่ยกย่องอ้ายฟ้าโดยง่ายเพราะอ้ายฟ้าอาจจะมีความรู้เรื่องเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน เมืองเชียงราย และเมืองฝางดีกว่าทุกคนในเมืองหริภุญไชย อีกประการหนึ่งสันนิษฐานว่าพระยาบาอาจจะมีความขัดแย้งกับขุนนางของตน จึงได้ยกย่องอ้ายฟ้าขึ้นเป็นผู้ช่วยของพระองค์ทุกด้านโดยไม่เฉลียวใจว่าจะมาเป็นไส้ศึกของกระยามังราย
เมื่อพระยามังรายได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ได้ประทับอยู่ระยะหนึ่ง แล้วยกให้อ้ายฟ้าไป    ปกครองแทนพระองค์ โดยพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อเมืองชะแว เมืองนี้น้ำท่วมจึงได้ย้ายมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสารภีในปัจจุบัน เมืองนี้น้ำก็ท่วมอีก ไม่เหมาะจะให้เป็นเมืองหลวงถาวรได้ จึงได้พยายามแสวงหาทำเล       ภูมิประเทศเพื่อสร้างเมืองใหม่
ในที่สุดทรงพบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงภูเขาสุเทพ จึงได้เชิญพระสหายของพระองค์มาช่วยคิดการสร้างเมือง คือ พระยาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย พระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ดังปรากฏข้อความเรื่องนี้ในตำนาน ราชวงศ์พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า
“ … สหายคำพระยางำเมือง พระยาร่วงทั้งสองนั้น กูจักเรียกร้องเสงปองโฟ่จา (ปรึกษา) แล้วจึงควรตั้งชะแล … พระยามังรายก็ใช้อำมาตย์ผู้รู้ผู้หลวกไปเมืองพรุยาว (พะเยา) ที่อยู่พระยางำเมือง และเมืองสุกโขทัยที่พระยาล่วง (ร่วง) ก็เรียกร้องเอาพระยาทั้งสองอันเป็นมิตรรักกับด้วยพระยามังราย ก็ชักเชิญว่า จักตั้งบ้านใหญ่เมืองหลวง … พระยา     มังราย พระยางำเมือง พระยาร่วง ๓ คน ทั้งเสนาอามาตย์ไพร่บ้านไพเมือง สมณพรามณ์ ช่างไม้ ช่างต้อง (แกะสลัก) ช่างแต้ม ทั้งหลายพร้อมเพรียงเสงปองกัน จักเบิกบายชื่อโสรกยังเวียงว่า ชนพบุรีศรีนครเชียงใหม่ ก็โสรกมีสิ้นนี้”8
เมื่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๑๘๓๙ จึงให้ชื่อเมืองนี้ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็น       ศูนย์กลางการเมืองการปกครองและศูนย์กลางความเจริญของล้านนาตลอดมา
เชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #59 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:43:21 »

เชียงใหม่ ๒
เมื่อพ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ทรงปกครองและประทับอยู่เมืองนี้ตลอด    พระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และอาจจะกล่าวว่าพระองค์เป็นนักพัฒนาก็ได้ ด้วยทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านเมืองหลายเมือง ด้านการปกครองในสมัยนี้สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงปกครองเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนเมืองอื่นเช่นเมืองเชียงราย เมืองหริภุญไชยนั้น คงแต่งตั้งให้ราชโอรสหรือข้าราชการขุนนางที่มีความสามารถไปปกครองแทน เช่น เมืองเชียงรายได้ให้ราชโอรสขุนครามไปปกครอง เมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าอามาตย์เอกไปครอง1 ส่วนด้านการตุลาการหรือการพิจารณาคดีนั้น สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงรวบรวมกฎหมายขึ้นใช้ปกครองที่เรียกว่า มังรายศาสตร์2 ซึ่งสันนิษฐานว่ามังรายศาสตร์นี้อาจจะได้รับ    อิทธิพลมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญจากหริภุญไชยก็อาจเป็นได้ และกฎหมายนี้คงได้ใช้    ปกครองบ้านเมืองสืบมา3
ด้านการส่งเสริมอาชีพประชาชน พ่อขุนมังรายได้ส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพหลายอาชีพ นอกเหนือจากการเกษตรกรรม ได้พบข้อความในตำนานต่างๆ กล่าวว่าพระองค์ได้นำช่างฝีมือประเภทต่างๆ เช่น ช่างทอง ช่างต้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ฯลฯ มาจากเมืองพุกามเมื่อคราวเสด็จไปเมืองพุกาม ระบุว่า
“ … ดังเจ้าอังวะพุกามนั้นก็เสงปองโฟ่จากันแล … คันแสงปองกันแล้ว ยังช่างหล่อ ช่างตี ช่างฆ้อง ผู้ทรงสราด (ฉลาด) ทั้งหลายมาก็เลือกเอาผู้อันช่างหล่อ ช่างตีทั้งหลาย ช่างตีฆ้อง ๒ หัว ทังลูกสิถ (ศิษย์) ลูกน้องทังมวล ๕๐๐ ทังเครื่องพร้อมแล้ว จักยื่นถวายท้าวล้านนา …”4
ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้านนั้น เชียงใหม่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยาตลอดจนอาณาจักรพุกาม ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการรับเอาวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยเชียงใหม่กับอาณาจักรใกล้เคียง เช่น ในเวลาต่อมาเชียงใหม่รับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานจากสุโขทัย เป็นต้น พ่อขุนมังรายสิ้นพระชนม์ราว พ.ศ. ๑๘๕๔
เมื่อสิ้นสมัยพ่อขุนมังรายแล้ว เชียงใหม่ได้ปกครองโดยราชโอรสเชื้อสายราชวงศ์มังรายอีกหลายพระองค์ คือ พระยาคราม (พ.ศ. ๑๘๕๕ - ๑๘๕๕) พระยาแสนภู (พ.ศ. ๑๘๕๕ - ๑๘๘๗) พระยาน้ำท่วม (พ.ศ. ๑๘๖๕ - ๑๘๖๖) พระยาคำฟู (พ.ศ. ๑๘๖๖ - ๑๘๖๙) และ (พ.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๗๙) และ พระยาผายู (พ.ศ. ๑๘๘๐ - ๑๘๙๙) ในช่วงระยะเวลาที่พระยาดังกล่าวปกครองบ้านเมืองนั้น บ้านเมืองอยู่ในระยะก่อร่างสร้างเมืองให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของกษัตริย์เชียงใหม่เฉพาะพระองค์ที่สำคัญเท่านั้น หลังจากสมัยพระยาผายูแล้วกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระยากือนา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘
พระยากือนา ทรงเป็นราชโอรสของพระยาผายูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๖ ของราชวงศ์มังราย ในรัชสมัยของพระองค์นั้น พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาแพร่หลายและประดิษฐานในล้านนาไทย กล่าวคือ ในราว พ.ศ. ๑๙๑๒ พระยากือนาได้อาราธนาพระสงฆ์จากอาณาจักรสุโขทัย สุมนเถระนำเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ประดิษฐานในล้านนาไทยและเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้ ในสมัยโบราณก่อนที่รับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง สันนิษฐานว่าล้านนาไทยจะนับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนาไทยมีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ ผู้ตายซึ่งประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน เป็นต้น5
เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแพร่หลายในล้านนาแล้ว มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยกับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม ประเพณีและพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาไทยด้วย พระสงฆ์มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก เช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัย  พระยากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ 6 ร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนกษัตริย์ล้านนาไทยผู้ประพฤติไม่ถูกต้องอีกด้วย และเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม เป็นต้น นับว่าพระสงฆ์เริ่มมีบทบาทตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาเป็นต้นไป
เมื่อสิ้นสมัยพระยากือนาแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระยาแสนเมืองมา (พ.ศ. ๑๙๒๙ - ๑๙๔๕) และต่อมาก็ถึงสมัย พระยาสามฝั่งแกน7 ในรัชกาลของพระองค์ พ.ศ. ๑๙๖๗ มีพระเถระชาวเชียงใหม่ ๒๕ องค์ พระชาวลพบุรี ๘ องค์ พระรามัญ ๑ องค์ ได้ไปศึกษาภาษาบาลีและพุทธศาสนาในลังกา เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระพุทธศาสนา ๓ คณะ คือ ๑. คณะพื้นเมือง ๒. คณะรามัญ ๓. คณะสีหล (พ.ศ. ๑๙๔๕ - ๑๙๘๕) กษัตริย์ต่อมาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญพระองค์หนึ่งของล้านนาไทย คือ พระยาติโลกราช ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐
พระยาติโลกราช หรือพิลกราช ทรงเป็นราชโอรสของพระยาสามฝั่งแกน เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๐ ของราชวงศ์มังราย ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่ง ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเมืองและศาสนา ทางด้านการเมืองนั้นฐานะของเมืองเชียงใหม่มั่นคงมาก พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน       หัวเมืองไทยใหญ่ เช่น เมืองปั่น เมืองสี่ป้อ เมืองนาย เมืองลอกจอก เป็นต้น นอกจากนี้เชียงใหม่ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถหลายครั้ง ในปี พ.ศ. ๑๙๙๔ เชียงใหม่กับอยุธยาทำสงครามชิงดินแดน เนื่องจากพระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว เอาใจออกห่างจากอยุธยามาสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ ได้นำทัพเชียงใหม่ไปตีหัวเมืองเหนือของอยุธยา อยุธยาจึงส่งกองทัพมาขับไล่ และ พ.ศ. ๒๐๐๓ พระยาเชลียง เจ้าเมืองสวรรคโลก เอาใจออกห่างจากอยุธยามาสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ นำกองทัพเชียงใหม่ไปตีหัวเมืองของอยุธยา จึงเกิดสงครามนี้ขึ้นปรากฏว่าเชียงใหม่ไม่สามารถตีเมืองได้ พอดีเกิดศึกฮ่อ เชียงใหม่จึงยกทัพกลับ พ.ศ. ๒๐๑๘ พระยาติโลกราชจึงทรงติดต่อขอทำไมตรีต่ออยุธยาเป็นการยุติสงคราม อยุธยาเองก็บอบช้ำจากการทำสงครามกับล้านนาไทย ประกอบกับอยุธยาสามารถตีหัวเมืองเหนือคือสุโขทัยจากล้านนาไทยได้ใน พ.ศ. ๒๐๐๕ เมื่อได้ดินแดนทั้งหมดกลับคืนจึงไม่มีเหตุทำสงครามกันอีกต่อไป สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงยอมรับไมตรีจากล้านนาไทย ในตอนปลายสมัยพระยาติโลกราช8 อย่างไรก็ตามสงครามนี้ยังผลให้ล้านนาไทยอ่อนกำลังและเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียเอกราชแก่พม่าในที่สุด
ในสมัยพระยาติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พระองค์ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก ทรงสร้างวัดขึ้นหลายวัด เช่น วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ซึ่งต่อมาพระองค์ได้โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดนี้ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกโลก  ครั้งที่ ๘ นอกจากนี้ยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง มาประดิษฐานไว้ที่วัดเจดีย์หลวงด้วย อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพระยาติโลกราชนี้ล้านนาไทยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่ง หลังจากสมัยพระยามังรายแล้ว บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาก อาจเรียกว่าเป็นยุคทองล้านนาไทยก็ได้
เมื่อสิ้นสมัยพระยาติโลกราชแล้ว กษัตริย์พระองค์ต่อมาคือ  พระยายอดเชียงราย (พ.ศ. ๒๐๓๑ - พ.ศ. ๒๐๔๐) และหลังจากนี้ก็เป็นสมัยของพระยาเมืองแก้ว ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ ในสมัยนี้เป็นสมัยที่สำคัญอีกสมัยหนึ่ง พระยาเมืองแก้วเป็นราชโอรสของพระยอดเชียงรายในสมัยนี้เป็นสมัยที่วรรณคดีของล้านนาไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระสงฆ์มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมาก ซึ่งเป็นภาษาในพระไตรปิฎกฝ่ายหินยาน พระสงฆ์ในสมัยนี้ได้แต่งคัมภีร์ไว้มากมาย มีความไพเราะมาก เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์หรือชินกาลมาลินี แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ คัมภีร์    มังคลัตถทีปนี และเวสันตรปนี แต่งโดยพระศิริมังคลาจารย์ จามเทวีวงศ์ แต่งโดยพระโพธิรังสี เป็นต้น (คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ปัจจุบันใช้เป็นหลักสูตรสอบปริยัติธรรมประโยค ๔, ๖, ๗) หลังจากสมัยพระเมืองแก้วแล้ว พระสงฆ์ล้านนาก็ได้แต่งคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงไว้อีกหลายเล่ม เช่น สารัถทีปนี แต่งโดยพระญาณวิลาสเถระ รัตนพิมพวงศ์ แต่งโดยพระพรมปัญญาชาวลำปาง และสิหิงคนิทาน ฯลฯ9 อาจจะกล่าวได้ว่าสมัยนี้เป็นยุคทองของวรรณกรรม
สิ้นสมัยพระเมืองแก้วแล้ว ข้าราชการประชาชนได้แต่งตั้งพระยาเกษเกล้า อนุชาของพระยาเมืองแก้วขึ้นเป็นกษัตริย์สืบมา ด้วยพระเมืองแก้วไม่มีราชโอรส พระยาเกษเกล้าหรือพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๖๙ - ๒๐๘๑ สมัยนี้บ้านเมืองตกอยู่สมัยเสื่อม ซึ่งเริ่มอ่อนแอลงตั้งแต่สิ้นสมัยพระยาติโลกราชแล้ว ได้เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติในสมัยพระเมืองเกษเกล้า อำนาจการ     ปกครองตกอยู่ในมือของข้าราชการขุนนาง ข้าราชการมีอำนาจมากถึงกับสามารถถอดถอนและแต่งตั้งกษัตริย์ได้ ข้าราชการขุนนางได้พร้อมใจกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออกจากตำแหน่งกษัตริย์เชียงใหม่แล้วเนรเทศพระองค์ไปอยู่เมืองน้อย และได้อัญเชิญท้าวซายคำ ราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่แทน ต่อมาข้าราชการเห็นว่าท้าวซายคำปกครองบ้านเมืองไม่ชอบด้วยราชธรรม     ปกครองไม่เป็นธรรม ข้าราชการจึงได้ร่วมมือกันปลงพระชนม์ท้าวคำซายเสีย แล้วกลับไปอัญเชิญ    พระเมืองเกษเกล้าจากเมืองน้อยกลับมาครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง และต่อมาไม่นานพระเมืองเกษเกล้า   ถูกลอบปลงพระชนม์อีก ในระยะนี้ขุนนางเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระนางจิรประภาเทวีขึ้นปกครองอยู่ ระยะหนึ่ง
หลังจากนั้น ข้าราชการขุนนางได้พร้อมใจกันเชิญพระไชยเชษฐาธิราชแห่งเมืองล้านช้าง ซึ่งเป็นราชโอรสของพระนางยอดคำทิพ พระราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้ากับพระเจ้าโพธิสารให้มา ปกครองเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาปกครองระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๙ - ๒๐๙๐ ปกครองเชียงใหม่ได้ประมาณสองปี พระเจ้าโพธิสารราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้เสด็จกลับไปปกครองเมืองล้านช้าง เมืองเชียงใหม่จึงว่างกษัตริย์ลงอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมา ข้าราชการขุนนางจึงพิจารณาเห็นพ้องกันว่าให้อัญเชิญพระเมกุฏิ (เจ้าฟ้าแม่กุ) แห่งเมืองนาย ซึ่งพระเมกุฏิทรงเป็นเชื้อสายของขุนเครือราชบุตรพ่อขุนมังรายมาปกครองเชียงใหม่ พระ    เมกุฏิปกครองระหว่าง ๒๐๙๔ - ๒๑๐๑ นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังรายที่ปกครองเชียงใหม่ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
จากหลักฐานตำนานเชียงใหม่ฉบับวัดหมื่นล้านกล่าวว่า บ้านเมืองในสมัยพระเมกุฏินั้นอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนานับประการจากการกระทำของขุนนางพม่า10 ที่พระเมกุฏิมอบอำนาจให้ปกครองบ้านเมือง ได้มีการสั่งเกณฑ์แรงงานจากประชาชนอย่างหนัก เรียกเก็บภาษีมาก ทำให้ประชาชนไม่พอใจและเดือดร้อนมาก ดังปรากฏข้อความว่า
“ … ในขณะนั้นบ้านเมืองทั้งมวลก็คว่ำเขือก เป็นทุกข์ด้วยกาน (การ) บ้านกานเมืองมากนัก ผัวไปทางหนึ่งเมียไปทางหนึ่ง ต่อเก็บส่วยไรก็พ้นประหมาน (มาก) ชุอันเป็นหย่อมหญ้าข้าเมืองนั้นแล เขานั่งไหนไห้ (ร้องไห้) หั้น … ด้วยมหาราชเจ้ามีอาชญา หื้อคนพาลาเก็บส่วนไร้ร่ำล้นพ้นประมาณ ไพร่ฟ้าข้าเมืองหาสังจักออกจักเสียก็บ่ได้ เขาก็นั่งไหนไห้หั้น … ขณะนั้นบ้านเมืองทังมวลเกิดโกลาหนชุบ้านชุที่ ทุกขภัยอยากน้ำกั้นข้าวมากนัก บ้านเหนือรบบ้านใต้ บ้านใต้รบบ้านเหนือ ครุบชิงกัน (แย่งชิงกัน) เอาข้าวของหั้นแล บ้านเมืองทังมวล ก็ตระหมอดหอดหิว (อดอยาก) แห้งแล้งมากนัก น้ำฟ้าน้ำฝนก็บ่ตกมาได้แล …11”
สำหรับความเสื่อมของเมืองเชียงใหม่ ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณซึ่งได้เขียนไว้ในตำนานเชียงใหม่ ฉบับวัดหมื่นล้าน (พิมพ์โดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ๒๕๑๙ ปัจจุบันเท่าที่พบเป็นตำนานเรื่องเดียวที่กล่าวถึงความเสื่อมของเชียงใหม่) กล่าวว่าเมื่อบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายนั้น ประชาชนและขุนนางได้อาราธนาสมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระไปกราบทูลพระเมกุฏิทรงทราบว่า บ้านเมืองจะพินาศฉิบหายด้วยพระองค์ได้ละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิมของบ้านเมือง และการกระทำบางอย่างเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือฉิบหาย ซึ่งภาษาล้านนาไทยเรียกว่า “ต้องขึด” สมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระ    กราบทูลขอให้พระเมกุฏิทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีของล้านนาไทย ทั้งนี้เพราะพระเมกุฏิและขุนนางจากเมืองนายมีวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างแตกต่างจากล้านนาไทย การกระทำบางอย่างคนเมืองเหนือถือว่าไม่เสียหายแต่คนล้านนาไทยถือว่าจะเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือ “ต้องขึด” จากตำนานเชียงใหม่พอสรุปว่าบ้านเมืองเชียงใหม่เสื่อมเพราะการกระทำของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ได้ดังนี้
ประการแรก พระเมกุฏิอนุญาตให้สร้างกำแพงใหม่ล้อมกำแพงเก่าในลักษณะราหูอมจันทร์ ประการที่สอง พระเมกุฏิไม่ควบคุมดูแลขุนนางพม่า (ที่มาจากเมืองนาย) อนุญาตให้ประชาชนนำศพผ่านออกประตูช้างเผือก อ้อมไปทางแจ่งหัวริน ผ่านประตูสวนดอกและแจ่งกู่เฮืองแล้วจึงเผา เชื่อว่าเป็นการย่ำอายุเมืองเชียงใหม่ ประการที่สาม ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนนำโลงศพที่เผาศพแล้วเหลือโลงไว้นำโลงกลับเข้ามาในเมือง ซึ่งผิดจารีตประเพณีเดิม ประการที่สี่ ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนบางคนเผาศพภายในกำแพงเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณเกาะ และในวัด ซึ่งไม่ทำกันมาก่อน ประการที่ห้า อนุญาตให้ประชาชนกวนน้ำและระบายน้ำในหนองบัว ๗ กอให้แห้ง (ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ลุ่มตรงข้ามคูเมืองบริเวณแจ่งศรีภูมิ) ซึ่งเป็นหนองน้ำสำคัญของเมือง ประการที่หก ลำน้ำห้วยแก้วมีประชาชนไปกั้นทางน้ำให้ไหลเข้าเมืองโดยสะดวก ประการที่เจ็ด เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ชักลากมาในฤดูฝนล่องตามแม่น้ำและเหมืองฝาย ทำให้ทำนาได้ไม่สะดวก ประชาชนได้รับความลำบากมาก ประการที่แปด พระเมกุฏิห้ามประชาชนบูชาบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ เสาอินทขีล และผีบ้านผีเมือง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของคนล้านนาไทย การกระทำดังกล่าวของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ คนล้านนาไทยเชื่อว่าทำให้บ้านเมืองเสื่อม เทพยดาอารักษ์ไม่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง เมื่อพม่ายกกองทัพมาโจมตี จึงเสียเมืองแก่พม่า (พระเจ้าบุเรงนอง) โดยง่าย
ดังนั้น จะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่สมัยพระเมกุฏิปกครองนั้น บ้านเมืองอ่อนแอ ประชาชน    ข้าราชการ ขุนนาง แตกความสามัคคี จนยากจะแก้ไขให้เข้มแข็งดังเดิมได้ จึงเสียเอกราชแก่พระเจ้า    บุเรงนองในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานนับสองร้อยปีเศษ จึงสามารถขับไล่พม่าออกไปในสมัยราชวงศ์กาวิละ
เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า
เมื่อบุเรงนองยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในระยะแรกนี้พม่ามิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งให้พระเมกุฏิเจ้าเมืองเชียงใหม่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ในฐานะเมืองประเทศราชของพม่าซึ่งเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง จะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินปีละ ๑ ครั้ง เป็นอย่างน้อย จะต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของตามที่พม่าต้องการ เช่น ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ และจะต้องจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าในยามเกิดศึกสงคราม12 ต่อมาพม่าได้ปลดพระเมกุฏิออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๑๐๗ โดยพม่าอ้างว่าพระเมกุฏิคิดการเป็นกบฎ พม่าได้แต่งตั้งสตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ นางพระยาราชเทวี หรือพระนางวิสุทธิ-เทวี ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เชื้อสายราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายที่ปกครองบ้านเมืองฐานะประเทศราชของพม่า เมื่อนางพระยาราชเทวีสิ้นพระชนม์ พม่าก็ได้แต่งตั้งให้เจ้านายและข้าราชการของพม่ามา    ปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง กษัตริย์เชียงใหม่สมัยที่พม่าปกครองรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๓ พระองค์
การปกครองของพม่าในล้านนาไทย พม่าพยายามปกครองหัวเมืองล้านนาไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง พม่าจะควบคุมเป็นพิเศษ พม่าได้ควบคุมนโยบายสำคัญๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ โดยได้ควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนเจ้าเมืองล้านนาไทย ตลอดจนการปูนบำเหน็จและการลงโทษด้วย ควบคุมการเกณฑ์กำลังคนเพื่อใช้ในยามสงคราม และพม่าได้นำตัวราชบุตรหรืออนุชาเจ้าเมืองประเทศราชไปไว้เป็นตัวประกันที่เมืองพม่าด้วย
สำหรับการปกครองภายในบ้านเมืองนั้น กิจการใดที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของพม่า สันนิษฐานว่าพม่าคงอนุโลมให้เจ้าเมืองในล้านนาไทยมีอิสระ ปกครองกันเองภายใต้อำนาจของพม่า สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญ พม่าได้แต่งตั้งขุนนางและกษัตริย์พม่าเข้ามาทำการปกครองโดยตรง นับตั้งแต่สิ้นสมัยนางพระยาราชเทวีเป็นต้นมา ได้พบหลักฐานข้อความในเอกสารคัมภีร์โบราณ ได้เขียนเกี่ยวกับกฎหมายที่พม่าใช้ปกครองในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าพม่า   ดำเนินการปกครองตามจารีตประเพณีที่เคยปกครองมาแต่ก่อน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเชียงใหม่เกลี่ยดชังผู้ปกครองพม่าซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านพม่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามพม่าก็ได้ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับบางเรื่องอย่างเข้มงวดกวดขัน ซึ่งได้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงมั่น พอสรุปได้ดังนี้
พม่ากับไพร่เมือง13เชียงใหม่ ได้พบว่าพม่ามีคำสั่งให้ข้าราชการขุนนางพม่าเลี้ยงดู รักษาไพร่ไทอย่าให้ไพร่ไทเดือดร้อนทุกข์ยาก ให้ไพร่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และให้ไพร่ยินดีที่จะทำงานให้ทางบ้านเมือง ดังปรากฏข้อความว่า
“ … สักราชได้ ๙๓๑ ตัว (พ.ศ. ๒๑๑๒) เดือน ๑๑ ออก ๑๐ ค่ำ วัน ๗ รักชื่อโกชนะ ๑๖ ลูก กินเมืองพิง จาเรนั้นก็หื้อมังแรส่วย ต้องเข้าภิทูรไหว้สาเจ้าตนบุญใหญ่ ธัมมราชาหลวงเมืองเชียงใหม่แต่เช่นเกล่า (เก่า) ราชาทั้งหลายมีรีดเกล่ารอยหลังมา อันได้แต่งกินเมืองเชียงใหม่ เก็บหอมไพร่ไทอวบฟักรักสา บ่หื้อรีดมล้าง เยืองสันใด (ฉันใด)  ไพร่ไทไพร่บ้านไทเมืองบ่ร้อนบ่ไหม้บ่ทุกข์ยาก ก็หื้อเสมอกับด้วยกัน หื้อมีสมันตหื้อสุขหนุกชุ่มเย็น … ดั่งข้าใหญ่ไพร่ไทกูทั้งหลาย เช่น กูนี้ก็มีใจชื่นชมยินดีเวียกส้าง (ทำงาน) ซื้อขายกินไปใกล้ไปไกลนั่งนอนก็เสมอดั่งพร้อมกันพร้อมเพรียง …”
เกี่ยวกับการบุกเบิกที่นาของไพร่หรือประชาชน พม่าให้อนุโลมตามกฎหมายมังรายศาสตร์ว่าเรือกสวนไร่นาใดกลายเป็นนาร้างนาน ๑๐ ปี ต่อมาไพร่ไทได้แผ้วถางบุกเบิกให้เป็นไร่นา ให้ไพร่  ทำนาโดยไม่เก็บค่านา ๓ ปี ถ้าเกิน ๓ ปีไปแล้ว ให้ขุนกินเมืองเก็บภาษีตามประเพณีโบราณ ดัง       ข้อความว่า
“ … ประการ ๑ ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลาย ไร่นาเรือกสวนห้วยร้องปลาบวกหนองทั้งหลายนั้น เปล่าห่าง ๑๐ ปี ไพร่ไทข้าเจ้า (ข้า หมายถึงทาส) เอาการทั้งหลาย แผ้วถางถากฟันเยียะไร่ แปลงนานั้น บ่ล้ำสามปี อย่าได้เอาของฝาก (ภาษีหรือค่าเช่า) คันล้ำสามปีไปหากเยียะสร้างก็ดี ขุนกินเมืองกินแคว้น แก่หัวทั้งหลาย หื้อได้หยั่งแยงหยุดผ่อน อย่าเอาเต็มอาเจียรบูราณ (โบราณ)1”
กรณีที่ไพร่ไปรบในสงครามได้กู้เงินในระหว่างทำสงคราม เมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองแล้ว ให้ผู้กู้ใช้คืนสองเท่า ถ้าลูกหรือสามีไปกู้เงินในระหว่างไปรบ มีผู้รู้เห็นหลายคนว่ากู้ไปจริง (สันนิษฐานว่ากรณีนี้ผู้กู้อาจจะตายในสงคราม – ผู้เขียน) ให้ลูกเมียใช้หนี้แทนถ้าไม่มีเงินใช้เพราะยากจน ให้เจ้านายของไพร่ (อมวยขระกูล)2ใช้แทน ถ้าเจ้านายไม่ใช้แทน ให้ข้าราชการขุนนางพม่าประชุมปรึกษากันแล้วใช้เงินแทนไพร่3เพื่อให้ไพร่ไปรบข้าศึก นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของพม่าที่ให้แก่ไพร่ผู้อุทิศเวลาและชีวิตไปรบในสงคราม นอกจากนี้ พม่ายังได้ออกกฎหมายไพร่เกี่ยวกับความสะดวกสบายของลูกหลานไพร่ที่ไปรบว่า ถ้าลูกหรือสามีของไพร่ผู้ใดไปช่วยรบในสงครามต่างบ้านต่างเมือง ขุนกินเมืองหรือผู้ปกครองไพร่ผู้นั้นจะเรียกลูกหรือภรรยาของผู้ศึกษาไปใช้งานมิได้4 ข้อนี้นับเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ลูกและภรรยาของผู้ไปรบสงครามประการหนึ่งเช่นกัน
เกี่ยวกับการควบคุมไพร่เมืองหรือประชาชนนั้น ได้พบข้อความที่แสดงให้เห็นว่าพม่าได้พยายามควบคุมไพร่เมือง เพราะไพร่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองทั้งยามสงบและยามสงคราม พม่าอนุญาตให้ไพร่เมืองย้ายถิ่นฐานได้ แต่ห้ามมิให้ไพร่เมืองหลบหนีไปอยู่ป่า หรือหลบออกจากเมืองไปอยู่ในที่ๆ พม่าควบคุมไม่ถึง ถ้าพบว่าคนใดหลบหนีไปอยู่ป่าให้จดชื่อของคนผู้นั้นแล้วนำไปแจ้งให้เจ้านายทราบ เพื่อจะได้สั่งดำเนินการกับไพร่ผู้นั้นต่อไป ดังปรากฏข้อความว่า
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
หน้า:  «  1 2 [3] 4 5 ... 8  »  [5»]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2008, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!