AE. Racing Club
28 มีนาคม 2024 20:00:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า:  «  1 [2] 3 4 ... 8  »  [5»]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติศาสตร์ 77 จังหวัดของไทย  (อ่าน 39248 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #20 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:15:52 »

นนทบุรี ๓
ด่านเหล่านี้ได้เงินทางภาษีน้ำตาลโตนด และนายด่านบางคนได้รับอำนาจจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้จัดการสุรารัฐบาลด้วย
ภาษีฝิ่น มีเจ้าพนักงานต่างหากจากสุรา    แบ่งผู้จัดการออกเป็น  ๒ แขวงตอนปากเกร็ด แลบางบัวทองแขวงหนึ่ง ตอนบางใหญ่ตลาดขวัญแขวงหนึ่ง
ทะเบียนเรือเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายหนึ่งของกรมเจ้าท่า ทำการโดยเฉพาะ ตั้งที่ทำการที่เมือง การตรวจตราจับกุมอาศัยกำลังเจ้าพนักงานฝ่ายบ้านเมือง การอื่นๆ อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าแผนก
หวย มีผู้รับผูกขาดมาจากนายอากร รับกินเองใช้เอง รวมทั้งเมืองนนท์มี ๓ แขวง แบ่งอาณาเขตแขวงไม่ถูกกับอาณาเขตการปกครอง แบ่งตามสะดวกของการหวย หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการส่งเงินหวยให้เจ๊กมากที่สุดคือ หมู่บ้านบางตะนาวศรี เจ๊กว่าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหมื่นบาท หวยที่นี่แปลกกว่ากรุงเทพ  ใช้เพียง  ๒๘  ต่อต้นทุน
สุราโรงทำนองเป็นผู้ผูกขาด การแบ่งแขวงก็แบ่งตามความสะดวกในการสุรา การตรวจตราจับกุมส่วนเหล้าเถื่อน น้ำตาลเมา เป็นธุระของฝ่ายบ้านเมือง การตรวจตราโรงร้านเป็นธุระของเจ้าพนักงานโรงสุราที่จัดกันมาต่างหาก
๓.  ว่าด้วยการสำมโนครัว
เมืองนนทบุรีมีจำนวนพลเมืองที่ได้สำรวจอย่างแน่นอน ๗๒,๔๐๗ คน พลเมืองโดยมากเป็นมอญและแขก ไทยมีมากกว่ามอญ มอญมากกว่าแขก แขกน้อยกว่าไทย มอญได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบตั้งแต่คลองบางตลาดไปจนสุดเขตแดนของเมืองนี้พวกหนึ่ง อยู่ในแถวคลองขุนศรี คลองญี่ปุ่น อำเภอบางบัวทองพวกหนึ่ง มอญพวกนี้ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่าเป็นพวกที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มา ๒ คราว คราวที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ คราวที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๗ ในคราวนี้ มาถึง ๓๐,๐๐๐ เศษ รัฐบาลได้จัดให้อยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง เมืองปทุมธานีบ้าง
ส่วนแขกนั้นได้แยกย้ายกันอยู่หลายแห่ง ที่บ้านตลาดขวัญพวกหนึ่ง ตลาดแก้วพวกหนึ่ง คลองบางตลาดพวกหนึ่ง บ้านท่าอิฐพวกหนึ่ง แขกละหารพวกหนึ่ง แขกบ้านละหาร เป็นแขกบ้านท่าอิฐ บางตลาด ตลาดแก้ว ยกออกไป แขกเหล่านี้เข้าใจว่าได้มาอยู่ก่อนพวกมอญ แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน
๔.  ว่าด้วยการศาสนาแลการเล่าเรียน
ทางฝ่ายพุทธศาสนานับว่าเจริญ พระสงฆ์องค์เจ้าปฏิบัติกิจการในศาสนาอย่างเคร่งครัดดีฝ่ายศาสนาอิสลามต่างหมู่บ้านก็ต่างมีโบสถ์ เป็นที่กระทำพิธีกรรมตามศาสนา โบสถ์ได้ทำเป็นตึกอย่างถาวรถึง ๓ แห่ง คือ ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ ท่าอิฐ พวกแขกบ้านอื่นๆ นอกจากบ้านตลาดขวัญปรองดองกันในทางศาสนาเรียบร้อย ส่วนหมู่บ้านตลาดขวัญไม่สู้ปรองดองกันต้นเหตุเกิดจากเรื่องถือ ๑๐ ถือ ๒๐
การเล่าเรียนนั้นในเมืองนนทบุรีมีโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่สำคัญ โรงเรียนนี้จัดดีทั้งการปกครองแลการสอน ฝรั่งบางคนที่ได้มาเห็นการสอนของโรงเรียนสรรเสริญว่าจัดดีกว่าโรงเรียนเมืองนอกที่เทียบชั้นเดียวกัน ส่วนโรงเรียนของกรมศึกษาธิการ มีโรงเรียนตัวอย่างประจำเมือง ตั้งอยู่ที่วัดท้ายเมือง นอกจากโรงเรียนตัวอย่างได้จัดให้มีโรงรียนประจำอำเภอ  นอกจากโรงเรียนประจำอำเภอยังได้มีโรงเรียนตามหมู่บ้านใหญ่ ๆ        การเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนั้นได้อาศัยพระเป็นกำลังสำคัญ  เจ้าอธิการบางวัดได้พยายามจัดสร้างโรงเรียนอย่างมั่นคงขึ้นหลายแห่งการศึกษาเฉพาะในเมืองนี้นับว่าได้รับอุปการะจากวัดมาก
๕.  ว่าด้วยโรงงาน การกสิกรรม พานิชการแลการหัตถกรรม
การหัตถกรรมซึ่งเป็นของพื้นเมือง มีการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างหนึ่ง การจักสานอย่างหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผานั้นชาวบ้านแถวปากคลองอ้อมทำหม้อตาล ชาวบ้านแถวเกาะเกร็ด ปั้นโอ่งอ่างกระถางต้นไม้ เครื่องปั้นดินเผานี้เป็นของพื้นเมืองมีมานาน ทำได้อย่างดี ไม่มีที่อื่นสู้ดินที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา ใช้ดินท้องนาที่ในบริเวณเกาะศาลากุนแลบ้านแหลมใหญ่ วิธีนั้นซื้อนากันเป็นแปลง ๆ แล้วขุดเอาดินที่นานั้นมาใช้  นอกจากดินในที่ ๒ แห่งนี้ใช้ไม่ได้หรือจะใช้ก็ไม่ดี
ส่วนการจักสาน มีทำงอบและเข่งปลาทู พวกทำงอบอยู่แถวคลองบางกรวยแลบางราวนก  บางคูเวียง  พวกทำเข่งปลาทูอยู่แถวตั้งแต่บางแพรกไปจนคลองบางตลาด
โรงงานที่มีในเมืองนนท์ มีโรงอิฐหลวง ตั้งอยู่ที่ป้อมเกร็ดใต้ปากคลองบางบัวทองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โรงอิฐนี้เป็นของพระคลังข้างที่ ทำอิฐอย่างฝรั่งได้ผลดี โรงสีตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ  โรงทำอิฐ ทำการสีข้าวของตนเองแลรับจ้างสีข้าวราษฎร ได้ประโยชน์ดีเหมือนกันโรง..เซนเซอร์..บนั้นมีโรง..เซนเซอร์..บเครื่องจักรโรงหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางใหญ่ แลโรงที่ใช้แรงกระบือ ตั้งอยู่ตามระยะคลองอ้อมถึง      ๓  โรง  เป็นโรงสำหรับรับจ้าง..เซนเซอร์..บอ้อยของราษฎร
๖.  เรือไฟ รถไฟ
เมืองนนทบุรีมีรถไฟสายหนึ่งเดินตั้งแต่วัดสิงขรผ่านตามสวนมาข้ามที่คลองบางกรวยตัด ไปบางใหญ่ ทางหนึ่งแยกมาเมืองนนท์ตรงบ้านตึก เยื้องศาลากลางข้ามทางหนึ่ง ทางที่ตัดไปบางใหญ่นั้นเจ้าของได้ตั้งใจจะทำไปอำเภอบางบัวทอง ที่สุดบ้านเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา กลางกรุงเก่าแต่ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ ตอนที่ไปบางใหญ่กับเมืองนนท์จะได้ประโยชน์เฉพาะรับคนโดยสาร คงจะไม่ได้ประโยชน์ในทางบรรทุกสินค้า แต่ตอนบ้านเจ้าเจ็ดมาบางบัวทองนั้นเข้าใจว่าจะได้ประโยชน์ ในทางบรรทุกข้าวมาก*
เรือที่รับส่งคนโดยสารนั้น มีเรือยนต์ของบริษัทแม่น้ำมอเตอร์โบ๊ต เดินระหว่างปากคลองบางใหญ่ไปออกคลองบางกอกน้อย รับส่งคนขึ้นลงที่ท่าข้างวังหลวงสายหนึ่ง เดินระหว่างปากคลองบางใหญ่มาส่งตลาดเมืองนนท์ แต่เดินเฉพาะฤดูที่น้ำเดินได้สายหนึ่ง เดินระหว่างเมืองปทุมแลปากเกร็ดไปส่งที่ท่าบางกระบืออีกสายหนึ่ง
นอกจากเรือประจำมีเรือผ่านที่ไปกรุงเก่า อ่างทอง บ้านผักไห่ อีกพวกหนึ่งแลนอกจากเรือรับส่งคนโดยสารมีเรือโยงลากเรือไปส่งกรุงเก่าและแควเหนืออีกพวกหนึ่ง
๗.  ตลาดค้าขาย
ตลาดค้าขายมีตลาดใหญ่ที่อำเภอปากเกร็ด เป็นตลาดแพจอดเรียงเป็นตับ ตั้งแต่หน้าวัดสนามไชยไปจนเลยวัดบ่อ ตลาดนี้เป็นตลาดสำคัญของเมืองนี้ ทำการติดต่อกับพวกตลาดย่อย แลแม่ค้าเร่ แถบเมืองปทุม บางบัวทอง บ้านแหลมใหญ่ บ้านใหม่ตลาดเนื้อ
ที่ปากคลองบางราวนก บางคูเวียง มีตลาดแพอีกตลาดหนึ่ง ทำการติดต่อกับพวกคลอง บางใหญ่ บางราวนก บางคูเวียง ไปจนคลองนราภิรมย์ นอกจากสองตลาดนี้ไม่มีตลาดที่เป็นแก่นสาร ส่วนตลาดขายของสวนนั้นมีอยู่ ๔ แห่ง ๑.ปากคลองบางเขน ของสวนที่ออกจากคลองบางเขน บางตะนาวศรี บางแพรก แลบางอื่นๆ ไปรวมขายที่นั่น ๒. ปากคลองบางกรวยตรงวัดชลอของสวนในแถวบางขนุน บางขุนกอง บางศรีเมือง บางศรีทอง บางกรวย มารวมขายที่นั่น  ๓. ปากคลองบางราวนก บางคูเวียง ของสวนในคลองบางราวนก บางคูเวียง มารวมขายที่นั่น ๔. ปากคลองบางใหญ่ ของสวนในคลองบางใหญ่ บางเลน บางรักน้อย บางรักใหญ่ไปขายที่นั่น ตลาดสวนติดเวลาเช้าเวลาเดียวสายหน่อยเลิกหมด
๘.  การทำมาหากิน
ชาวเมืองนนท์ทำสวนแลทำนาเป็นพื้น การหัตถกรรมมีเครื่องปั้นดินเผาและการจักสานเป็นงานที่สำหรับทำในเวลาว่าง ชาวเมืองนนท์น่าชมที่ไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปในใช่เหตุ ว่างนั่นทำนี่ เป็นพลเมืองขยันต่อการงานจริงๆ แลนอกจากการทำนา ทำสวนเครื่องปั้นดินเผา  ยังมีพวกที่ทำน้ำตาลโตนดอีกพวกหนึ่ง น้ำตาลโตนดกรอกเป็นหม้อเป็นคะนนเป็นสินค้าซึ่งออกจากเมืองนนท์ปีละมากๆ
๙.  นิสัยความประพฤติพลเมือง
นิสัยชาวเมืองนนท์ใจกว้าง การตีรันฟันแทงนับว่าเป็นมือขวา การพนันไม่สู้จะชอบเป็น   นักเลงยาฝิ่นน้อย  เป็นคนหมั่นต่อกิจการงาน
๑๐.  ผลประโยชน์รายได้
เมืองนี้ประโยชน์รายได้รวมทุกประเภทราว ๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้จากค่าอากรค่านาแลอากรสวนใหญ่  มากกว่าอย่างอื่น
๑๑.  ที่เที่ยว
ที่เที่ยวมี  ๒  ประเภท   เที่ยวหาอากาศสบายที่วัดเขมาแห่งหนึ่ง  วัดเสาธงทองแห่งหนึ่งวัดเขมาอยู่ตรงปากคลองบางกรวยข้าม วัดเสาธงทองอยู่ตรงอ้อมเกร็ดเยื้องปากคลองบ้านแหลมใหญ่ข้าม เที่ยวเพื่อเย็นตาสบายใจแลดูฐานเดิมแห่งลำแม่น้ำเก่าต้องเที่ยวในคลองอ้อมออกคลองบางกอกน้อย
๑๒.  โบราณคดี
เมืองนี้ครั้งกรุงเก่า เป็นเมืองห่างจากพระนครหลวง แลเป็นเมืองจัตวาปักษ์ใต้ไม่สู้จะมี  เหตุการณ์แลถาวรวัตถุเกี่ยวเนื่องโบราณคดี มีบ้างก็เป็นเรื่องขุดแม่น้ำลำคลองดังที่ว่ามาในตอนต้น  นั้น  นอกจากเรื่องขุดแม่น้ำลำคลองมีเรื่องเกี่ยวกับวัดเขมาอยู่ตอนหนึ่ง  คือ  เมื่อจุลศักราช  ๑๑๒๗   ปี พ.ศ. ๒๓๐๘  ในครั้งนั้นมีศึกพม่ามาติดพระนคร  มีความตามพระราชพงศาวดารดังนี้
ฝ่ายกองทัพหน้าพม่าข้างทางใต้ ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตอกระออมนั้น ถึง ณ เดือนสิบ ปีระกาสัปตศก เมฆราโบ จึงยกทัพเรือพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทย ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบำหรุนั้นแตกแล้วก็ยกลงมาตีทัพเรือพวกไทยตำบลบางกุ้งก็แตกฉานพ่ายหนี จึงยกล่วงหน้าเข้ามาถึงเมืองธนบุรี พระยารัตนา ธเบศมิได้สู้รบหนีกลับขึ้นไปกรุงเทพมหานคร กองทัพเมืองนครราชสีมา ก็เลิกไปทางฟากตะวันออก   ยกกลับไปเมืองสิ้น พม่าก็ได้เมืองธนบุรี เข้าตั้งอยู่ ๓ วันแล้วเลิกทัพกลับไป ณ  ค่ายตอกระออมดังเก่า
ในขณะนั้นมีกำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่ง บรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่าย ณ กรุงเทพมหานคร  โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่า    ถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอีก   นายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบหรือจะไปเสีย นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่น เบาก่อน  ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้วก็ถอยกำปั่นล่องลงมาทอดอยู่  ณ  ปากคลองบางกอกใหญ่
ครั้น ณ เดือนยี่ เมฆราโบ ก็ยกทัพเรือเข้ามาเมืองธนบุรีอีก ไม่มีใครอยู่รักษาเมืองแลสู้รบ พม่าเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชยเยนทร์ฟากตะวันตก ยิงโต้ตอบกับปืนกำปั่นจนเวลาค่ำ กำปั่น     จึงถอนสมอลอยขึ้นไปตามน้ำ ขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี แลกองทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่   เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสียมิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า พม่าเข้าตั้งอยู่ ณ เมืองธนแล้ว จึงแบ่งทัพขึ้นมา  ตั้งค่าย ณ วัดเขมาตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบ  ช่วง ล่องลงไปให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมา ก็ได้จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง   ยิงค่ายพม่า  ทั้งสองฟาก พม่าต้องปืนล้มป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้น สลุบช่วงก็ถอนขึ้นมาหากำปั่นใหญ่  ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนท์
ฝ่ายทัพพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนท์ ครั้นเวลาค่ำให้ยกสลุบช่วงล่องลงไปอีก จุดปืนชายแคมยิงค่ายเมืองนนท์ พม่าหนีออกไปซุ่มอยู่หลังค่าย อังกฤษแลไทยลงกำปั่นขึ้นไปเก็บของในค่าย พม่ากลับกรูกันเข้ามาข้างหลังค่ายไล่ฟันแทงไทยแลอังกฤษแตกหนีออกจากค่ายลงกำปั่น แลตัดศรีษะล้าต้าอังกฤษได้คนหนึ่ง เอาขึ้นเสียบประจานไว้หน้าค่าย นายกำปั่นจึงบอกแก่ล่ามว่าปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า เสียเปรียบข้าศึกจะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอกแล้วจะขอเรือรบ พลทหารสิบลำจะลงไปรบพม่าอีก   ล่ามกราบเรียนแก่เจ้าพระยาพระคลัง พระยาพระคลังกราบบังคมทูล จึงโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกลงบรรทุกเรือใหญ่ขึ้นไปกำปั่น แต่เรือสิบลำนั้นหาทันจัดแจงให้ไปไม่ ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องเรือกำปั่นแลสลุบช่วงลงไปจนพ้นเมืองธนบุรีแล้ว  จึงทอดสมออยู่
ขณะนั้นไทยในกรุงเทพมหานคร ลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณ สวนอังกฤษจับขึ้นไว้บนเรือมากกว่าร้อยคน แล้วก็ใช้ใบหนีไปออกท้องทะเล ครั้นเพลาค่ำไทยหนีขึ้นมาถึงพระนครได้ ๒ คน จึงรู้เนื้อความว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่า หนีไปแล้วได้แต่มัดผ้า ซึ่งขนขึ้นไว้สี่สิบมัด
นอกจากวัดเขมามีวัดหนึ่งที่เกี่ยวด้วยโบราณคดี คือวัดบางอ้อยช้าง ท้องที่อำเภอบางกรวย วัดนี้ว่ากันว่า เป็นวัดที่ขุนหลวงหาวัดได้เคยจำพรรษาอยู่ จะจริงเท็จฉันใดไม่พบหลักฐาน…..”
(การคัดลอกนี้รักษาอักขระตามต้นฉบับเดิมทุกประการ)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงนครบาล  เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่ดินตำบลบางขวาง  อำเภอตลาดขวัญ  จังหวัดนนทบุรีเพื่อจัดสร้างเรือนจำมหันตโทษกลาง แต่ยังไม่ทันสำเร็จเรียบร้อย ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖    ทรงใช้ที่ดินส่วนหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนแบบกินนอน คือ โรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖ ถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจตกต่ำมากจึงได้ยุบกิจการโรงเรียนนี้ แล้วมอบอาคารเรียนให้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ย้ายศาลากลางจากท่าเรือตลาดขวัญ มาตั้งใหม่     ณ อาคารเดิมของโรงเรียนราชวิทยาลัย ส่วนเรือนจำกลางบางขวางนั้นได้เริ่มดำเนินการใหม่ ราว พ.ศ. ๒๔๖๒ และสร้างเสร็จเปิดดำเนินกิจการได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งจะได้กล่าวเฉพาะเรื่องในบทต่อไป
อาคารเรียนของโรงเรียนราชวิทยาลัยนี้ นอกจากจะใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแล้ว ยังจัดแบ่งบางส่วนเป็นที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี เป็นสำนักงานเทศบาลเมืองนนทบุรี ส่วนหอประชุมของโรงเรียนนั้น ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ – พ.ศ. ๒๔๙๘ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งนี้ นับว่าเป็นศาลากลางจังหวัด ที่สง่างามยิ่งแห่งหนึ่ง เนื่องจากรูปแบบการก่อสร้างมีลักษณะเฉพาะที่อิงเอกลักษณ์ไทย กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นบัญชีไว้เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งด้วย ทางกระทรวงมหาดไทยเคยขอรื้อดัดแปลง เพื่อสร้างใหม่ ทางกรมศิลปากรคัดค้านจึงคงรูปอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในสมัยก่อนการคมนาคมระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับเมืองหลวง ต้องใช้ทางน้ำเป็นพื้น     ดังในรายงานที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าใช้เรือยนต์ของบริษัทมอเตอร์โบ๊ต และมีรถไฟของเอกชนแล่นทางฝั่งตะวันตก (ชาวบ้านเรียกว่า รถไฟเจ้าพระยาวรพงศ์) ซึ่งก็ไม่ใคร่สะดวกนัก ต่อมาการใช้รถยนต์ก้าวหน้าขึ้น  ในสมัยรัชกาลที่  ๘  ได้มีการตัดถนนรถยนต์เชื่อมระหว่างนนทบุรี – กรุงเทพ ขึ้นเป็นสายแรก เรียกว่า ถนนประชาราษฎร์ สายต่อมาคือถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำตัดค้างไว้แต่สมัยรัชกาลที่ ๘ แต่สำเร็จใช้เดินรถได้ในสมัยรัชกาลที่ ๙  ให้ชื่อว่าถนนพิบูลสงคราม
กล่าวได้ว่าจังหวัดนนทบุรีได้เริ่มพัฒนามากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๘ โดยเฉพาะการคมนาคม และการศึกษา ส่วนรูปแบบการปกครองก็เปลี่ยนไปตามลักษณะการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพราะประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๗๕  สมัยรัชกาลที่ ๗ ความเจริญเหล่านี้มีอุปสรรคทำให้ชะงักลงด้วยเหตุ ๒ ประการคือ เกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ - พ.ศ. ๒๔๘๘ และเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งทำให้สวนทุเรียน   จมน้ำ  ทุเรียนตายเกือบหมด เกิดการเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่
หากจะกล่าวถึงผลดีที่ชาวเมืองนนท์ได้รับจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็อาจจะมีอยู่บ้างคือในราว พ.ศ. ๒๔๘๖ - พ.ศ. ๒๔๘๗ ครั้งนั้นเครื่องบินของสัมพันธมิตรได้โจมตีกรุงเทพฯ      หนักมาก ชาวกรุงเทพฯ จึงอพยพมาเช่าบ้านอยู่ทางจังหวัดนนทบุรี เพราะไม่มีจุดยุทธศาสตร์ และ   ต่อมาก็ได้แต่งงานกับชาวนนท์ไปหลายคู่ โรงเรียนบางแห่งก็ย้ายมา แม้กระทั่งโรงพยาบาลศิริราชก็   ยังย้ายคนไข้มาอยู่ที่บริเวณสนามศาลากลางจังหวัด โดยสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นเต็มตลอดทั้งสนาม   นับได้ว่าการอพยพของชาวกรุงมีส่วนช่วยให้ชาวเมืองนนท์มีเศรษฐกิจดีขึ้นทั้งการสังคมก็กว้างขวาง ขึ้นด้วย
รัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. ๒๔๘๙ - ปัจจุบัน)
แม้จังหวัดนนทบุรีจะเป็นเมืองชานนครหลวง แต่สภาพของตัวเมือง เมื่อเริ่มสมัยรัชกาลที่ ๙ ยังคงมีสภาพคล้ายหัวเมืองชนบทที่อยู่ห่างไกล กระทรวงมหาดไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้จังหวัดได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงได้มอบนโยบายสำคัญมากับผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น (นาย สอาด ปายะนันทน์ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๑๑) ให้สนองนโยบายของรัฐบาลให้ได้ จังหวัดนนทบุรีจึงได้พัฒนาอย่างรุดหน้าและรวดเร็วมาก  โดยเริ่มจากตัวเมือง และตัวอำเภอที่สำคัญๆ ก่อน ดังจะขอนำตอนหนึ่งจากคำปราศัยของจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ได้กล่าวต่อที่ประชุมข้าราชการ เมื่อคราวมาตรวจเยี่ยมประชาชนชาวนนทบุรี เมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๖   ดังนี้
“………..แต่เดิมมา แม้แต่ภายในตัวเมืองเอง ก็ยังอยู่กันขะมุกขะมอมมอมแมม ผมก็อยากให้เมืองนี้สวยงามขึ้น และนอกจากนั้น ถนนเชื่อมจากพระนครเข้ามาถึงแล้ว ทั้งแขก ทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่น ทั้งจีน ก็พากันมาดูเรือนจำบางขวาง เขาเห็นนนทบุรีพรอวินส์ ขะมุกขะมอมเข้า ผมก็รู้สึกอายเขาเหลือเกิน มีกอฟเวอเนอร์อยู่ทั้งคน จะปล่อยให้เก่าแก่เหมือนเดิมไม่ได้ฉะนั้นผมจึงได้เคี่ยวเข็นมายังจังหวัด พยายามจะให้เห็นจังหวัดนี้สวยงามขึ้น และมีความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควร ดังนั้น จึงได้รุกมายัง   ผู้ว่าราชการจังหวัดมาก ท่านก็เป็นคนชอบมุมานะในเรื่องนี้อยู่แล้วผมเห็นว่าท่านเหมาะกับงานนี้ จึงได้เชิญมาอยู่ที่นี่และก็ได้เห็นผลทันตาดีเหมือนกัน…………”
จังหวัดนนทบุรีจะพัฒนาอย่างไรนั้น จะขอบรรยายสรุป โดยอาศัยหัวข้อจากป้ายอนุสรณ์แสดงผลงานของการพัฒนา  ซึ่งสร้างไว้หน้าศาลากลางจังหวัดมากล่าว  ดังนี้
ผลการพัฒนาจังหวัดนนทบุรี
ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๗
ซึ่งสำเร็จด้วยความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ
๑. การพัฒนาเมืองนนทบุรี
กวาดล้างแหล่งเสื่อมโทรมทั้งเมือง (ขยายถนนให้กว้าง) และสร้างเมืองใหม่ (รวมทั้งตลาดสดและถนนโดยรอบ) เฉพาะอาคารพาณิชย์เทศบาล ๑๒๓ คูหา ราคา ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้สร้างอุทิศให้เทศบาล
รวมรายจ่ายตามโครงการประมาณ  ๑๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๒.  การพัฒนาเมืองบางบัวทอง
กวาดล้างแหล่งเสื่อมโทรมครึ่งเมือง และสร้างเมืองใหม่ เฉพาะอาคารพาณิชย์เทศบาล ๑๒๘ คูหา  ตลาดสด (รวมเขื่อนหน้าตลาด) และถนน  ราคา ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้สร้างอุทิศให้เทศบาล
รวมรายจ่ายตามโครงการนี้ประมาณ  ๘,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๓. การพัฒนาอำเภอปากเกร็ด
ย้ายที่ตั้งอำเภอและสร้างบริเวณชุมนุมชนการค้าใหม่ เฉพาะอาคารพาณิชย์และอาคาร  ต่าง ๆ  ราคา  ๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท   มีผู้สร้างอุทิศให้สุขาภิบาล
๔.  การพัฒนางานคมนาคม
๔.๑  ตัดถนนสายบางกรวย – ไทรน้อย เป็นถนนลาดยาง ยาว ๓๘ กิโลเมตร (และถนนแยกไปบางบำหรุ) รวมรายจ่ายตามโครงการนี้ประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ประชาชนได้อุทิศที่ดินให้ตัดถนนด้วยคิดเป็นเงินอีกประมาณ  ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๔.๒  ถนนตัดใหม่ ๑๐ สาย และปรับปรุงถนนเก่า รวมรายจ่ายประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท กล่าวคือ บริเวณเมืองด้านตะวันออกได้ตัดถนนซอยหลายสายเช่นซอยวัดบางขวาง ซอยวัดกำแพง ซอยเหนือโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ซอยหน้าโรงเรียนศรีบุณยานนท์ไปเชื่อมกับซอยเรวดี ซอยรอบศาลากลางจังหวัดและซอยหลังธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ส่วนทางด้านทิศตะวันตก มีการตัดถนนเชื่อมตำบล ชุมชน และวัด เข้าสู่ถนนใหญ่ (บางกรวย – ไทรน้อย) หลายสาย เช่น ซอยวัดเฉลิมพระเกียรติ  ซอยวัดประชารังสรรค์ – ค่ายลูกเสือ  และซอย  อ. บางใหญ่  ฯลฯ
๕.  การพัฒนาการศึกษา
ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ ห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด ปรับปรุงโรงเรียนให้ถาวร  (๒๓ แห่ง)  และอื่นๆ  รวมค่าใช้จ่ายประมาณ  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๖.  การพัฒนางานสาธารณสุข
ได้สร้างอาคารในโรงพยาบาลนนทบุรีเพิ่มเติม สร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ๓ แห่ง สร้างสถานีอนามัยชั้นสองและอื่นๆ   รวมค่าใช้จ่ายประมาณ   ๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๗.  การพัฒนาอาชีพ
ขุดคลองขนาดใหญ่ ๒ คลอง ขุดคลองขนาดเล็กและลอกคลองเก่า ๔๕ คลอง รวม     ความยาวประมาณ ๑๕๓ กิโลเมตร รวมค่าใช้จ่ายในการนี้และกิจการอื่นๆ ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท
ได้ซื้อรถขุดเพื่อช่วยการทำนา  และขุดคลองใหม่ ๓ คัน ราคาประมาณ  ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๘.  การพัฒนางานสาธารณูปโภค
ติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะที่ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน และอื่นๆ รวม ๑๐ ถนนยาวประมาณ  ๓๒  กิโลเมตร   ค่าใช้จ่ายประมาณ   ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท
ปรับปรุงกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง โดยซื้อรถใหม่ ๕๐ คัน รวมทั้งปรับปรุง         กิจการอื่น ๆ   ค่าใช้จ่ายประมาณ   ๑๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท
๙.  การพัฒนาตามอำเภออื่นๆ    รวมรายจ่ายประมาณ   ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท
รวมการพัฒนาในรอบ  ๔  ปี  ๖๐,๐๐๐,๐๐๐  บาท
การพัฒนาอื่นๆ  ที่ควรกล่าวถึงได้แก่
๑. การสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี แทนเขื่อนเดิมที่     พังทลาย เขื่อนที่สร้างใหม่ยาว ๑๗๐ เมตร ขยายถนนคอนกรีตออกไปอีก ๘ เมตร และมีทางเท้า   กว้าง ๔ เมตร  สุดทางเท้ามีลูกกรงคอนกรีตและเสาไฟฟ้าพร้อมดวงโคมทุกระยะ ๖ เมตร เสร็จเมื่อ           ๒๐  ธันวาคม  ๒๕๐๘  ใช้งบประมาณ  ๔,๒๗๘,๓๕๐  บาท
๒.  การสร้างสนามกีฬาจังหวัด ค่ายลูกเสือและสวนสาธารณะ สร้างที่บริเวณวัดโบสถ์   ดอนพรหมเขต อ. เมืองนนทบุรีติดต่อกับ อ. บางใหญ่ใช้เนื้อที่ประมาณ ๔๐ ไร่ งบประมาณ ในการก่อสร้าง  ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท  เมื่อ  พ.ศ. ๒๕๐๘
ผลจากการพัฒนาของจังหวัด  ทำให้ชุมชนต่างๆ ตื่นตัวขึ้น ต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตน ทั้งรัฐบาลในสมัยต่อมาได้มีโครงการสร้างงานในชนบทเป็น     โครงการสำคัญ สภาตำบลทุกสภาต่างวางโครงการพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญ โครงการส่วนใหญ่ได้แก่ การตัดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน การประปาอนามัย และการขุดลอกคลอง สมัยปัจจุบันนี้จังหวัดนนทบุรีจึงกำลังพัฒนาในทุกๆ ด้าน อาทิ การคมนาคม การศึกษา การพาณิชย์  การเกษตร   และการสาธารณสุข   เป็นต้น
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ
         พระบรมวงศานุวงศ์ที่เกี่ยวกับจังหวัดนนทบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาที่    จังหวัดนนทบุรีหลายครั้ง  เท่าที่พอจะค้นหาหลักฐานได้มีดังนี้
พ.ศ.  ๒๔๙๔   (โดยประมาณ)
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จเยี่ยมชมสวนทุเรียนของชาวสวนแห่งหนึ่ง สวนแห่งนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี  เป็นสวนของนายสุเทพ  รัตนเสวี  อดีตผู้แทนราษฎรนนทบุรี
พ.ศ.  ๒๕๐๔
-   สมเด็จพระศรีนครินทราทราบรมราชชนนี เสด็จเยี่ยมศูนย์บริการเด็กพิการ ที่อำเภอ ปากเกร็ด  เมื่อวันที่  ๖  กุมภาพันธ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินร่วมพิธีลอยกระทง ณ วัดเฉลิมพระเกียรติ พร้อมด้วยเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ เมื่อวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน
พ.ศ.  ๒๕๑๗
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงประกอบพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน ๓ รุ่น และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ที่มีจิตศรัทธา เฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการลูกเสือชาวบ้าน  เมื่อวันที่  ๑๖   กุมภาพันธ์
ในวันเดียวกันนี้ได้เสด็จไปทรงประกอบพิธีเปิดวัดพระแม่การุณย์ของมิซซังโรมัน คาทอลิก  ที่ตำบลบ้านใหม่  อำเภอปากเกร็ดด้วย


พ.ศ.  ๒๕๒๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  เสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน  ที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี
พ.ศ.  ๒๕๒๓
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในพิธีตัดลูกนิมิตร    ณ  วัดกู้  อำเภอปากเกร็ด  เมื่อวันที่  ๗  กรกฎาคม


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนนทบุรี. นนทบุรี : โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงบ้านปากเกร็ด,   
         ๒๕๒๖
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:16:45 »

ปทุมธานี
สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยศรีกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
อาศัยหลักฐานทางโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ภายในจังหวัดปทุมธานี เป็นที่น่าเชื่อว่าจังหวัดปทุมธานีในอดีตเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรศรีอยุธยาประกอบกับ "ตำนานท้าวอู่ทอง" ทำให้เรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ผ่านมายังเมืองปทุมธานีมีความจริงอยู่มาก
"ตำนานท้าวอู่ทอง" ที่จังหวัดปทุมธานี มีปรากฏอยู่ ๒ เรื่อง คือ ตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง เสด็จหนีโรคห่าผ่านมายังวัดมหิงสารามตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคกเรื่องหนึ่งและตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง อันเป็นประวัติวัดเทียนถวาย อำเภอเมืองอีกเรื่องหนึ่ง
ตำนานท้าวอู่ทอง ที่วัดมหิงสาราม ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลบางกระบือ เล่าต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งในอดีต ท้าวอู่ทองได้อพยพไพร่พล หนีโรคห่า ขณะผ่านเขตสามโคกเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วประกอบกับเกวียนชำรุด จึงหยุดพักไพร่พล ที่บริเวณวัดมหิงสาราม กับทั้งได้ออกปากขอยืมเครื่องมือจากชาวบ้านละแวกนั้น เพื่อนำมาซ่อมแซมเกวียนแต่ได้รับการปฏิเสธ ท้าวอู่ทองทรงพิโรธนัก และในคืนนั้นเองทรงแอบฝังทรัพย์สมบัติส่วนที่ไม่สามารถนำไปได้เพราะเกวียนชำรุด ไว้ในบริเวณวัด และสาปแช่งมิให้ผู้ใดนำทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ไปได้เลย สภาพปัจจุบันวัดมหิงสารามเป็นวัดร้าง ชำรุดทรุดโทรม เหลือเพียงผนังพระอุโบสถเพียง ๔ ด้านเท่านั้นอยู่ห่างจากลำน้ำเจ้าพระยาประมาณสองกิโลเมตร สาเหตุที่ร้างมีผู้สันนิษฐานต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นเพราะลำน้ำเปลี่ยนทางเดิน บ้างก็คิดว่าเพราะกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐
ตำนานท้าวอู่ทองจากคำบอกเล่าทางวัดเทียนถวาย ความว่า พระเจ้าอู่ทองได้อพยพผู้คนหนีโรคห่า พร้อมด้วยไพร่พล สัมภาระบรรทุกเกวียนมาประมาณแปดสิบเล่ม ได้หยุดพักไพร่พลอยู่ที่หนองแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกชื่อว่า หนองปลาสิบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง) ตอนกลางคืนได้จุดไฟสว่างไสวตลอดทั้งคืนนานเป็นแรมเดือน เมื่อโรคห่าสงบแล้ว ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดในบริเวณที่เคยประทับขึ้น ๑ วัด สมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า "วัดเกวียนไสว" ต่อมาแผลงเป็น "วัดเทียนถวาย"
ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองเสด็จหนีโรคห่าเล่าต่อกันมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า กล่าวอ้างถึงเรื่องพระเจ้าอู่ทอง ได้เสด็จหนีโรคผ่านเมืองสามโคก ก่อนไปตั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
"พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าท่านผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้
ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง
ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ
ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี้มีนามชื่อสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง
ที่ตำแหน่งมอญมาสวามิภักดิ์
ชื่อประทุมธานีที่เสด็จ
เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก
พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา"
จากตำนานจึงพอประมาณการได้ว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา บริเวณสองริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานี ในอดีตเต็มไปด้วยป่าไม้หนาแน่นอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด บ้านเรือนราษฎร ตั้งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ และบ้านเรือนเริ่มจะมีมากขึ้นในภายหลังที่พระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีปทุมธานีคงเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ เป็นต้นด่านกักนาวาก่อนที่จะเดินทางผ่านเข้ามาสู่ตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑)
ในรัชสมัยของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ชุมชนในเขตจังหวัดปทุมธานี เริ่มขยายตัวเป็นชุมชนเมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันออก ตั้งแต่บริเวณวัดสองพี่น้องถึงวัดป่างิ้วในปัจจุบัน (แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัด "พญาเมือง" และ "วัดนางหยาด") โดยมีคันคูเมืองโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยต่าง ๆ ในอดีตให้ได้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รู้จักกันในนามว่า "เมืองสามโคก"
ครั้นในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ แผ่นดินพระมหินทราธิราชกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งแรก พระเจ้าหงสาวดีได้กวาดต้อนประชาชนพลเมืองไปประเทศพม่า คงเหลือไว้เพียงหมื่นเศษเป็นผลให้สามโคกกลายเป็นเมืองร้างไป
มีหลักฐานในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญ ว่าด้วยการใช้ตราราชการ พ.ศ. ๒๑๗๙ แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า สามโคกเป็นหัวเมืองขึ้นกับกรมพระกลาโหม จึงแสดงให้เห็นว่า เมืองสามโคกมีฐานะเป็นเมืองมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อพม่ารบกับจีน ในปี พ.ศ. ๒๒๐๒ ชาวมอญที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพพม่า ได้พากันหลบหนีจากกองทัพพม่า โดยพาครอบครัวออกจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามากรุงศรีอยุธยาประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญที่อพยพเข้ามาในครั้งนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาว่า
"ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๒๐๒ ปีชวด โทศก) มังนันทมิตร ผู้เป็นอาพระเจ้าอังวะอยู่ปกครองเมาะตะมะ ส่วนชาวเมืองฮ่อไซร้ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ จะเอาฮ่ออุทิงผาซึ่งพาฉกรรจ์อพยพประมาณพันหนึ่งหนีไปพึ่งอยู่ ณ เมืองอังวะนั้น จึงมังนันทมิตรเกณฑ์เอาพล ๓๒ เมือง ซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตะมะนั้น ๓,๐๐๐ ให้ไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ และมอญอันไปช่วยป้องกันก็หลีกหนีคืนมาเป็นอันมาก จึง   มัง นันทมิตรก็ให้คุมเอามอญอันหนีมานั้นใส่ตะรางไว้ว่าจะเผาเสีย และสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ คนนั้น ควบคุมมอญประมาณห้าพันยกเข้าเผาเมืองเมาะตะมะและได้ตัวมังนันทมิตรจำไว้แล้ว จึงปรึกษากันว่าเรากระทำความผิดถึงเพียงนี้ ถ้าทราบถึงพระเจ้าอังวะก็จะมีภยันตรายแก่พวกเราเป็นแท้ และเราทั้งปวงหาที่พึ่งมิได้ จำจะพากันกวาดอพยพหนีเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เอาพระเดชานุภาพปกเกล้าฯ ร่มเย็น เป็นที่พำนักจึงจะพ้นภัย ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว สมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นายก็กวาดต้อนครอบครัวรามัญในแว่นแคว้นเมืองเมาะตะมะทั้ง ๓๒ หัวเมืองกับสมัครพรรคพวกของตัวและพรรคพวกมังนันทมิตรเป็นคนประมาณหมื่นเศษ  แล้วให้ถอดมังนันทมิตรออกจากพันธนาการพากันอพยพออกจากเมืองเมาะตะมะ มาทางเมืองสมิถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ในปีระกา นพศกนั้น จึงสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นาย ก็แต่งหนังสือบอกให้รามัญ ถือเข้ามาแจ้งกิจการแก่พระยากาญจนบุรีว่าจะเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทพระยากาญจนบุรีก็ส่งหนังสือบอกเข้ามาถึงอัครมหาเสนาธิบดี ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกให้ทรงทราบเหตุ ก็ทรงพระโสมนัสดำรัสให้สมิงรามัญเก่าในกรุงถือ  พลพันหนึ่ง ออกไปรับครัวเมืองเมาตะมะเข้ามายังพระมหานครแล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พวกครัวมอญใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลสามโคกบ้าง ที่คลองคูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปุบ้างแล้วดำรัสโปรดให้สมิงนายกองทั้ง ๑๑ คน เข้าเฝ้ากราบถวายบังคม ทรงพระมหาการุญภาพพระราชทานเครื่องยศ เครื่องเรือน และเสื้อผ้าเงินตรากับทั้งเคหฐานให้อยู่เป็นสุข แต่มังนันทมิตรนั้นป่วยลงถึงอนิจกรรม"
ฉะนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มอญที่อพยพมาในครั้งนั้นตั้งบ้านเรือนอาศัยทำมาหากินที่ตำบลสามโคก และต่อมาทำให้ตำบลสามโคกเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนมีฐานเป็นเมืองสามโคกและเป็นจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทรงทำนุบำรุงเมืองปทุมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นหลักฐาน ชาวปทุมธานีจึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
สมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังจากที่พระยาวชิรปราการ กอบกู้เอกราชของชาวไทยไว้ได้ เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ประกาศตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า "กรุงธนบุรี" และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พม่าเกณฑ์ทหารมอญมาตีไทยที่ตำบลสามสบ ท่าดินแดง มีพญามอญหัวหน้า ๔ คน คือ    พระยาเจ่ง เจ้าเมืองอัตรัน เป็นหัวหน้าใหญ่ พระยาอู่ตละเลี้ยงและตละเกล็บ ทหารมอญเหล่านี้ต่างมีความแค้นเคืองพม่าที่ได้กระทำทารุณกรรมต่อชาวมอญ ดังนั้น แทนที่จะมารบกับไทยตามที่พม่าเกณฑ์มา กลับยกทัพเข้าตีพม่าเสียเองที่เมาะตะมะ จนพม่าต้องทิ้งเมืองหนีไปร่างกุ้งเพราะเข้าใจว่าทัพไทยบุกเข้าโจมตีโดยไม่ทันรู้ตัวทัพมอญบุกตีพม่ารุกเข้าไปจนได้เมืองสะโตงหงสาวดี ครั้นพอถึงร่างกุ้ง อะแซ-หวุ่นกี้แม่ทัพ พม่ายกกำลังขึ้นปราบปราม มอญสู้ไม่ได้จึงหนีเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองตาก และด่านเจดีย์สามองค์ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมพลไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรีและ "สามโคก" ให้พระยารามัญวงศ์ มียศเสมอ จตุสดมภ์ หรือเรียกว่า "จักรีมอญ" เป็นหัวหน้าดูแลครัวมอญทั่วไป
สมัยกรุงสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘    พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าได้ทรงเกณฑ์แรงงานชาวมอญให้สร้างพระธาตุที่เมืองเมงถุนให้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างความลำบากยากเข็ญแก่ชาวมอญเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงพากันอพยพหลบหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยทางเมืองตาก เมืองอุทัยธานี และทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี จำนวน ๔๐,๐๐๐ คน ดังกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อทรงทราบข่าวว่า ครัวมอญอพยพเข้ามา จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จขึ้นไปคอยรับครัวมอญ ทีเมืองนนทบุรี จัดจากและไม้สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนและเสบียงอาหารของพระราชทานขึ้นไปพร้อมเสร็จทางเมืองกาญจนบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏฯ (รัชกาลที่ ๔) คุมไพร่พลสำหรับป้องกันครัวมอญ และเสบียงอาหารของพระราชทานออกไปรับครัวมอญทางหนึ่ง โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นผู้ใหญ่เสด็จกำกับ
ทางเมืองตากนั้นโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายกเป็นผู้ขึ้นไปรับครัวมอญมาถึงเมืองนนทบุรี เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ เป็นจำนวน ๔๐,๐๐๐ เศษ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง"
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ ดูแลทุกข์ สุข ครอบครัวมอญเหล่านั้นมิได้ขาด ครั้นถึงเดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๓๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคกโดยทางชลมารค เพื่อทรงเยี่ยมเยียนชาวรามัญที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ พระองค์ทรงประทับ ณ พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกับเมืองสามโคก (ตรงหน้าวัดปทุมทองปัจจุบันนี้) ทรงรับดอกบัวจากพสกนิกร ซึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอยู่เป็นเนืองนิตย์ จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลใหม่ว่า "ประทุมธานี" เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๓๕๘ ยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณคดีสำคัญของสุนทรภู่ ๒ เรื่อง คือ
นิราศภูเขาทอง (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๑) ว่า
"ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี
ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว"
(นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๙)
"จึงที่นี้มีนามชื่อสามโคก
เป็นคำโลกสมมุตติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง
ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์
ชื่อประทุมธานีที่เสด็จ
เดือนสิบเบ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก
พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๗ (ร.ศ. ๑๑๓) ให้เมืองประทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เป็นหัวเมืองแขวงมณฑลกรุงเทพฯ ทรงมีพระราชาธิบายว่า เป็นหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ เพียงพันเส้นเท่านั้น ประกอบกับมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ให้มาขึ้นสังกัดกระทรวงนครบาล เพื่อที่ลาดตระเวนจะจับโจรผู้ร้าย ไม่ต้องไปขอตรา เจ้ากระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๔๔๒ (ร.ศ. ๑๑๗-๑๑๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำบัญชีสำมะโนประชากรของเมืองประทุมธานี ปรากฏว่ามีประชากรในเมืองประทุมธานีทั้งสิ้น ๒๑,๓๖๐ คน
พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทนคำว่าเมือง ดังนั้นเมืองประทุมธานี จึงเป็นจังหวัดประทุมธานีเป็นต้นมา โดยเปลี่ยนการเขียนใหม่ด้วย คือ "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า มีเขตการปกครอง ๓ อำเภอ คือ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก และอำเภอเชียงราก
ทั้งสามอำเภอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ ๆ กัน และมีอาณาเขตการปกครองของแต่ละอำเภอเป็นแนวลึกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งไม่เหมาะแก่การปกครองเป็นอย่างยิ่ง ทางราชการจึงได้ประกาศให้แบ่งเขตการปกครองเสียใหม่ และให้ย้ายอำเภอเชียงรากไปตั้งที่ตำบลระแหงทางทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เรียกว่า "อำเภอระแหง" ไปก่อน ตามหนังสือศาลากลางเมืองประทุมธานีที่ ๘๒๔/๓๒๒๘ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ระแหง เป็นอำเภอลาดหลุมแก้ว แต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗ ทางราชการให้ยุบจังหวัดธัญญบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ทำให้จังหวัดปทุมธานีมีเขตพื้นที่อีก ๔ อำเภอเพิ่มเข้ามารวมเป็น ๗ อำเภอ คือ
อำเภอบางกะดี
อำเภอสามโคก
อำเภอลาดหลุมแก้ว
อำเภอธัญบุรี
อำเภอลำลูกกา
อำเภอบางหวาย
อำเภอหนองเสือ
(สำหรับอำเภอบางหวาย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอคลองหลวง" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อทางราชการโดยบริษัทคูนาสยาม ได้ขุดคลองที่สองเชื่อมคลองรังสิตทางทิศใต้กับคลองระพีพัฒน์ทางทิศเหนือแล้วเสร็จ เนื่องจากตัวอาคารที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมคลองที่หลวง (ราชการ) ได้ขุดขึ้น)
ดังนั้น เมืองสามโคก จึงเป็นที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานีมาก่อน แต่เนื่องจากสภาพของเมืองมีลักษณะเป็นแหล่งอพยพ เจ้าเมืองผู้ใดมีบ้านเรือนตั้งอยู่ ณ ที่ใด ที่ว่าการเมืองก็อยู่ที่นั่นจึงทำให้ที่ว่าการเมืองต้องย้ายอยู่ถึง ๘ ครั้ง ดังนี้ คือ
ครั้งที่ ๑ ย้ายจากตำบลบ้านงิ้ว ปากคลองบ้านพร้าว บริเวณวัดพญาเมือง (วัดร้าง) ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไปตั้งที่บ้านสามโคก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวัดตำหนักกับวัดสะแก
ครั้งที่ ๒ ย้ายมาจากบ้านสามโคก ไปตั้งที่บ้านตอไม้ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกับวัดปทุมทองในปัจจุบัน
ครั้งที่ ๓ ย้ายจากบ้านตอไม้ไปตั้งที่บ้านสามโคก ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามเดิม
ครั้งที่ ๔ ย้ายจากบ้านสามโคกไปตั้งที่ปากคลองบางหลวงไหว้พระ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี ปัจจุบัน
ครั้งที่ ๕ ย้ายจากปากคลองบางหลวงไหว้พระไปตั้งระหว่างปากคลองบางโพธิ์ ฝั่งเหนือกับคลองบางหลวงฝั่งใต้ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๙) ย้ายจากปากคลองบางโพธิ์เหนือไปตั้งที่บ้านโคกชะพลูใต้คลองบางทรายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐) ย้ายจากบ้านโคกชะพลู ไปตั้งที่ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี ปัจจุบัน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ย้ายจากตำบลบางปรอก ไปตั้งที่ตำบลบ้านฉางนอกเขตเทศบาลเมืองปทุมธานี ตรงสี่แยกถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ติดกับโรงพยาบาลปทุมธานีและด้านหน้าติดกับถนนแยกไปอำเภอสามโคก ย้ายไปปฏิบัติการเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๙
การก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ที่ย้ายครั้งที่ ๘ ใหม่นี้ ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารสมัย พลตรีวิทย์  นิ่มนวล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังคำกราบทูลของพลตรีวิทย์  นิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ถวายรายงานแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชตอนหนึ่งว่า
".......เกล้ากระหม่อมและบรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ชาวจังหวัดปทุมธานีรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น ที่ฝ่าพระบาทได้ทรงพระกรุณาสละเวลาเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังใหม่ในวันนี้ นับเป็นพระเดชพระคุณหาที่สุด มิได้...."
ที่ดินในการปลูกสร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่นี้ คุณนายกฐิน  กุยยกานนท์ ได้ยกให้กับทางราชการ จำนวน ๑๖ ไร่ การก่อสร้างใช้เงินงบประมาณ ในการถมดินและก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น ๘,๙๒๖,๐๐๐ บาท (แปดล้านเก้าแสนสองหมื่นหกพันบาท)
เมื่อสร้างอาคารหลังใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ขนย้ายพัสดุครุภัณฑ์ เอกสารต่าง ๆ จากศาลากลางเก่า ไปศาลากลางใหม่ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙
เมื่อนายสุธี  โอบอ้อม มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองปทุมธานีเป็นอย่างมาก ได้สำรวจค้นหาศาลหลักเมืองปทุมธานีและสอบถามชาวเมืองปทุมธานี แล้วปรากฏว่า เมืองนี้ได้โยกย้ายตัวเมืองอยู่หลายครั้งและไม่เคยมีศาลหลักเมืองมาก่อนเหมือนเมืองอื่น ๆ จึงดำริเห็นเป็นสำคัญว่า ควรจะสร้างศาลหลักเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นเครื่อง      ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวปทุมธานี พร้อมทั้งให้เกิดความรักสามัคคีกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังจะนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่เมืองด้วย ความดำรินี้จึงเห็นพ้องต้องกันระหว่างข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชน  ได้ร่วมกันสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย ดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองขึ้น  โดยเริ่มลงมือทำพิธีสะเดาะพื้นที่ที่จะสร้างศาลหลักเมือง เพื่อความสวัสดิมงคล เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙
ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์  วาสโน) ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์หลักเมือง เมื่อวันจันทร์ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ตรงกับเวลา ๑๕.๐๐ น. เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี
ทางกรมศิลปากร ได้เป็นผู้ออกแบบประดิษฐ์ตัวเสาหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ที่ทางกรมป่าไม้ได้นำมาจากสวนป่าลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์มอบให้ ครั้นเมื่อประดิษฐ์เสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำเข้าพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงเจิมเมื่อวันศุกร์ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลาฤกษ์ ๘.๒๙ น. และในคืนนี้เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม ได้เกิดจันทรคราสจับครึ่งดวงเป็นที่น่าอัศจรรย์
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:17:05 »

ปทุมธานี ๒
เมื่อสร้างตัวศาลหลักเมืองแบบจตุรมุขยอดปรางค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี มีขบวนแห่ยาวเหยียด มีการสมโภชเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่อย่าง     เอิกเกริก
ศาลหลักเมืองจึงตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี มีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอยู่มิได้ขาด นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวปทุมธานี ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันให้แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักยิ่งชีวิตของชาวไทย ไว้ให้มั่นคงถาวรสืบไปชั่วกาลนาน

การจัดรูปการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล
แต่เดิมการปกครองบ้านเมืองมีข้อสำคัญเป็นหลัก ๒ ประการ คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรู     ภายนอก ชาวเมืองต้องช่วยกันรบพุ่งต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองประการหนึ่ง ซึ่งตรงกับ "การทหาร" และในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข ก็ช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองอีกประการหนึ่ง ซึ่งตรงกับการ "การพลเมือง" ด้วยเหตุนี้กรมต่าง ๆ จึงต้องทำงานทั้งในด้านการทหารและพลเรือน สุดแต่จะมีงานฝ่ายไหนเป็นสำคัญ แต่การสงครามนั้นนาน ๆ จะมีสักครั้ง จึงมักจะมีงานฝ่ายพลเรือนมากกว่า และเมื่อก่อนที่จะแบ่งแยก ระเบียบราชการเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น ในราชการฝ่ายพลเรือน มีกรมใหญ่อยู่ ๔ กรม คือ กรมเมือง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา เรียกรวมกันว่า "จตุสดมภ์" โดยหัวหน้ากรมทั้ง ๔ มีศักดิ์เสมอกันทั้ง ๔ คน เป็นใหญ่กว่าข้าราชการทั้งปวง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงกำหนดราชการให้เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน โดยทรงตั้งหน่วยราชการเพิ่มขึ้นอีก ๒ กรม คือ กรมกลาโหม และกรมมหาดไทย ซึ่งกรมทั้ง ๒ นี้มีฐานะใหญ่กว่าจตุสดมภ์ดังกล่าวแล้ว และเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาฝ่ายทหารและพลเรือนทั้งหมด มีอัครมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายละคน คือ สมุหพระกลาโหม และสมุหนายก แต่ก็มิใช่เป็นการแบ่งแยกราชการออกเป็นทหารและพลเรือน เช่นในปัจจุบัน ข้าราชการทั้ง ๓ ฝ่ายยังคงมีหน้าที่ต้องทำทั้งการทหารและพลเรือนอยู่อย่างเดิม ส่วนการปกครองหัวเมืองนั้น อำนาจการปกครองบังคับบัญชาแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล คือ หัวเมืองที่อยู่ห่างไกลจากราชธานีมาก ก็จะมีอิสระในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แบ่งออกเป็นเมืองเอก โท ตรี และมืองจัตวา โดยให้เมืองน้อยขึ้นกับเมืองใหญ่ คือ หัวเมืองชั้นในขึ้นกับราชธานี และเมืองเล็กขึ้นกับเมืองพระยามหานคร เป็นต้น
ระบบการปกครองดังกล่าวนี้ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามแต่เหตุการณ์และความเหมาะสม ซึ่งก็ได้ใช้อยู่ตลอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงได้มีการปฏิรูปการบริหารราชการเสียใหม่ โดยทรงแบ่งหน่วยราชการส่วนกลางออกเป็น ๑๒ กระทรวงด้วยกัน แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา มีฐานะเท่าเทียมกันทุกตำแหน่ง สำหรับการ     ปกครองส่วนภูมิภาค หรือการปกครองหัวเมือง ซึ่งแต่เดิมได้แยกกันอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกรมท่า (ก่อนเปลี่ยนเป็นกระทรวงการต่างประเทศ) ก็ได้ปรับปรุงให้รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง รวม ๖ มณฑล คือ มณฑลลางเฉียง หรือ มณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน หรือมณฑลอุดร (มณฑลนี้เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๓๖ รวมหัวเมืองฝั่งซ้าย  แม่น้ำโขงเข้าด้วย เช่น เมืองพวน และเมืองเชียงขวาง จนกระทั่ง ร.ศ. ๑๑๒ คงเหลือเพียง ๖ เมือง) มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา มณฑลลาวกลาง และมณฑลภูเก็ต แต่การรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่การปกครองลักษณะมณฑลเทศาภิบาล

การเทศาภิบาล
การเทศาภิบาล คือ การปกครองที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค โดยแบ่งการปกครอง เป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ทั้งนี้ได้จัดแบ่งหน้าที่     การงานออกเป็นสัดส่วน โดยมีสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมือง และนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตท้องที่นั้น รวมทั้งมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วยเหลือปฏิบัติงานในระดับตำบล และหมู่บ้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาค มีลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยการที่รัฐบาลจัดส่งข้าราชการไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่จะให้ส่วนภูมิภาคจัดการปกครองกันเอง อันเป็นการยกเลิกการปกครองแบบโบราณดั้งเดิมของไทยที่เรียกว่า "กินเมือง"  ให้หมดสิ้นไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ จะจัดการปกครอง    พระราชอาณาจักรให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าการที่หัวเมืองต่างก็แยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ถึง ๓ กระทรวงนั้น เป็นการยากที่จะจัดการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้แบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหมเสียใหม่และเมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวง โดยให้รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย ต่อมาจึงได้ดำเนินการจัดระบบการปกครองในรูปมณฑลเทศาภิบาลดังกล่าว    ข้างต้น ซึ่งได้เริ่มใช้อย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ แต่ก็มิได้ดำเนินการพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณา-จักร คงจัดตั้งมณฑลขึ้นตามความเหมาะสมและให้ปรับปรุงมณฑลที่ตั้งก่อน พ.ศ. ๒๔๓๗ ให้เป็นลักษณะเทศาภิบาลเหมือนกันเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ผ่านพ้นไปแล้วได้เริ่มจัดระบบการเทศาภิบาล โดยเลิกประเพณีการมีประเทศราชและได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลรวม ๓ มณฑล คือมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน และได้รวบรวมหัวเมืองจากกระทรวงกลาโหมและกรมท่ามาตั้งเป็นมณฑลราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๓๘ ตั้งขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑล  กรุงเก่า (เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า มณฑลอยุธยา ในรัชกาลที่ ๖)
พ.ศ. ๒๔๓๙ ตั้งชื่อ ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎร์)
พ.ศ. ๒๔๔๐ ตั้งขึ้น ๑ มณฑล โดยโอนหัวเมืองของไทย และหัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศราชมาก่อน ตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๒ ตั้งขึ้น ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลนี้มีการตั้งและยุบถึง ๒ ครั้ง เพราะเป็นท้องที่กันดารและเป็นมณฑลที่มีท้องที่เล็กกว่ามณฑลอื่น
พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ปรับปรุงจัดระบบมณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นมณฑลในสภาพเดิม ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๙ ตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และได้แบ่งหัวเมืองจากมณฑลนครศรีธรรมราช มารวมกันจัดตั้งเป็นมณฑลปัตตานี
พ.ศ. ๒๔๕๕ ตั้งมณฑลเพิ่มอีก ๑ มณฑล โดยแบ่งแยกท้องที่จากมณฑลอีสาน ออกเป็น ๒ มณฑล เรียกว่า มณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ ตั้งมณฑลเพิ่มขึ้นอีก ๑ มณฑล โดยแบ่งพื้นที่จากมณฑลพายัพ มาตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ อีก ๑ มณฑล
มณฑลกรุงเทพฯ ได้จัดตั้งเป็นมณฑล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ เนื่องจากเป็นที่ตั้งราชธานีจึงมีระเบียบการปกครองผิดกับระเบียบการปกครองของมณฑลอื่น ๆ กล่าวคือ ไม่มีตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล หรือสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเทพฯ อยู่ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบของเสนาบดีกระทรวงนครบาลโดยเฉพาะ และเมื่อรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงมีสมุหนครบาลเป็นหัวหน้ารับผิดชอบเช่นเดียวกับมณฑลอื่น ๆ มณฑลกรุงเทพฯ มีเมืองอยู่ในปกครอง ๖ เมือง คือ พระนคร ธนบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) สมุทรปราการและนนทบุรี
หลังจากที่ได้จัดการปกครองระบบเทศาภิบาลแล้ว ก็มีการปรับปรุงแก้ไขตลอดมาและเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ต่อเมื่อมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปกครองระบบเทศาภิบาล ได้ถูกยุบเลิกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งให้ถือจังหวัดเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคนับแต่นั้นเป็นต้นมา

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็น       หน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าจ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วน     ภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง      ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น




ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานี. กรุงเทพ, โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น : ๒๕๒๗.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:18:30 »

เพชรบุรี
สมัยฟูนัน
นักโบราณคดีไทยได้แบ่งสมัยแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยไว้เป็น ๓ ยุคคือ
   - ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งเป็นยุคหินและยุคโลหะซึ่งยุคหินนั้นแบ่งเป็นยุคหินเก่า, หินกลางและยุคหินใหม่ ส่วนยุคโลหะนั้นแบ่งเป็นยุคโลหะตอนต้น และยุคโลหะตอนปลาย
- ยุคหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ เป็นสมัยสุวรรณภูมิ มีอาณาจักรฟูนาน
- ยุคประวัติศาสตร์ แบ่งได้ ๒ ตอน คือ ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ประกอบด้วยอาณาจักรอิศานปุระ (เจนละ) ทวารวดี ศรีวิชัย โยนก ศรีจนาศะ ลพบุรี (ละโว้ปุระ) และยุคประวัติศาสตร์ไทยซึ่งแบ่งได้ ๒ สมัย คือ สมัยรัฐไทยอิสระประกอบด้วยลานนาไทย สุโขทัย ละโว้ อยุธยา และนครศรีธรรมราช อีกสมัยคือสมัยอาณาจักรไทย แบ่งได้ ๓ สมัย คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ คือ ยุคสุวรรณภูมิซึ่งมีอาณาจักรฟูนาน เริ่มแต่พุทธศตวรรษที่ ๖  - ๑๒ นั้น หนังสือ “สมุดเพชรบุรี” กล่าวว่ามีความเชื่อตาม ดร.จัง บัวเซอร์ ลิเอร์ (Jean Boisselier) ว่าอาณาจักรนี้มีอาณาเขตตั้งแต่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดไปถึงลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและเวียดนามใต้ทั้งนี้ เพราะได้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่างแสดงว่าเป็นแหล่งและสมัยเดียวกัน และยังเชื่อว่าอาณาจักรนี้จะต้องคลุมถึงราชบุรี เพชรบุรี ตลอดไปจนถึงชุมพรโดยได้สันนิษฐานว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ชาวบ้านได้ขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกปัด ศิวลึงค์ ฐานตั้งศิวลึงค์ ที่เขาสามแก้ว อำเภอเมืองชุมพร โดยเฉพาะลูกปัดเป็นชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ได้พบลูกปัดสมัยทวารวดีอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้สันนิษฐานว่าเมืองเพชรบุรีคงอยู่ในอาณาจักร      ดังกล่าว

สมัยทวารวดี
อาณาจักรทวารวดีอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ อาณาจักรนี้มีกล่าวไว้ใน   จดหมายเหตุจีนและจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีน เรียกอาณาจักรนี้ว่า ตุยลอปาตี หรือ
สุ้ยล้อปึ๊งตี๋ ซึ่งรวมเมืองราชบุรี เพชรบุรี คูบัว พงตึก นครปฐม กำแพงแสน ลพบุรี นครสวรรค์ ลำพูน ฯลฯ นักโบราณคดีเชื่อกันว่า ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นชนชาติมอญ ศิลปวัฒนธรรมที่ได้พบในภาคกลางโดยเฉพาะที่เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม ส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่มีฝีมือดีกว่าแถบอื่น (ผู้เขียนเชื่อว่าอาณาจักรนี้เลยลงไปถึงเมืองปราณบุรี และชุมพรดังหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว) สำหรับเมืองหลวงของอาณาจักรนี้ บ้างก็ว่าเป็นนครปฐม บ้างก็ว่าเป็นเมืองอู่ทอง เพราะทั้งสองแห่งได้พบโบราณสถานขนาดใหญ่
จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า  พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชพระบวรเชษฐพระราชกุมาร อันเป็นพระราชนัดดา ได้ลาพระเจ้าปู่พระเจ้าย่ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ ณ เพชรบุรี โดยได้นำคนมาสามหมื่นสามพันคน ช้างพังทลายห้าร้อยเชือก ม้าเจ็ดร้อยตัว สร้างพระราชวังและบ้านเรือนอยู่หน้าพระลาน ให้คนเหล่านั้นทำนาเกลือ ครองราชย์อยู่กรุงเพชรบุรีไม่นานนัก มีสำเภาจีนลำหนึ่งถูกพายุมาเกยฝั่ง ชาวเพชรบุรีได้นำขุนล่ามจีนเข้าเฝ้า ขุนล่ามได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์เมืองเพชรบุรี ขุนล่ามจีนได้ขอฝาง ทางเมืองเพชรบุรีได้มอบฝางให้จนเต็มเรือ เมื่อเรือกลับถึงเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบจึงโปรดพระราชทานบุตรีชื่อ พระนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีทองสมุทร ซึ่งประสูติแต่นางจันทรเมาลีศรีบาทนาถสุรวงศ์พระธิดาเจ้าเมืองจำปาได้ถวายแก่พระเจ้ากรุงจีน พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชทรงมี   พระราชบุตรหลายพระองค์ องค์หนึ่งพะนามว่าพระพนมวังมีมเหสีทรงพระนามว่าพระนาง      สะเดียงทอง  พระพนมทะเลโปรดให้ไปสร้างเมืองนครดอนพระ พร้อมด้วยพระเจ้าศรีราชา    พระราชทานคนเจ็ดร้อยคน แขกห้าร้อยคน ช้างสามร้อยเชือก ม้าสองร้อยตัว เมื่อไปถึงเมืองและสร้างพระธาตุ จากตำนานเรื่องนี้แสดงว่า เมืองเพชรบุรีได้เจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองหลวง เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง พระโอรสของกษัตริย์เมืองนี้ได้ไปสร้างเมืองศิริธรรมนครหรือนครศรีธรรม- ราชและสร้างพระบรมธาตุเมืองนครด้วย
จากคำให้การของชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองสร้างเมืองเพชรบุรีไว้ว่า พระ-อินทราชาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าชาติราชาได้ครองเมืองสิงห์บุรี พระอินทราชาไม่มีโอรส จึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชอนุชาครองราชสมบัติแทน พระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง ส่วน    พระองค์ได้เสด็จไปซ่อมแปลงเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองหลวง บ้างก็กล่าวว่าพระองค์ถูกพระอนุชาและพระมเหสีคบคิดกันจะลอบปลงพระชนม์ พระองค์จึงหนีไปสร้างเมืองเพชรบุรี ต่อมาทรงได้พระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระอู่ทอง ตามชื่อพระเจ้าอา พระโอรสองค์นี้ประสูติแต่พระมเหสีชื่อ มณีมาลา เมื่อพระอู่ทองมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระอินทราชาสวรรคต พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง มเหสีทรงพระนามว่า พระนางภูมมาวดีเทวี
   ในศักราช ๑๑๙๖ พระเจ้าอู่ทองได้ทรงแบ่งเขตแดนกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช   เจ้าเมืองศิริธรรมนคร โดยใช้แท่นหินเป็นเครื่องหมาย ทางเหนือเป็นของพระเจ้าอู่ทอง ทางใต้เป็นของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และทั้งสองประเทศจะเป็นไมตรีเสมอญาติกัน หากพระเจ้าศรี-ธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์เมื่อใด ก็ขอฝากนางพญาศรีธรรมโศกราช พญาจันทรภานุและพญา-พงศ์สุราหะพระอนุชาด้วยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยทางฝ่ายเพชรบุรีส่งเกลือไปให้ ทางเมืองนครศรีธรรมราชส่งหวาย แซ่ม้าเชือก เป็นต้น มาให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชฯ ให้ซ่อมแปลงพระธาตุและส่งเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์นมายังพระเจ้าอู่ทอง พระองค์โปรดฯ ให้นำเครื่องไทยทานไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
   ต่อมาเมืองเพชรบุรีเกิดข้าวยากหมากแพง ราษฎรอดอยาก เกิดโรคภัยไข้เจ็บ    พระเจ้าอู่ทองจึงทรงหาที่ตั้งเมืองใหม่ โดยทรงตกลงสร้างเมืองขึ้น ณ ตำบลหนองโสน ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงสร้างนครอินทปัตย์ เมื่อ พ.ศ.๑๑๑๑ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วทรง ตั้งชื่อว่ากรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ และทรงสถาปนาพระองค์ใหม่ว่าพระเจ้ารามาธิบดีสุริยประทุมสุริยวงศ์
   จากบันทึกของลาลูแบร์ได้กล่าวถึงกษัตริย์เมืองเพชรบุรีไว้ว่า  ปฐมกษัตริย์สยามทรงพระนามว่าพระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร ครองนครไชยบุรี พ.ศ.๑๓๐๐ สืบราชสันติวงศ์มาสิบชั่วกษัตริย์ องค์สุดท้ายทรงพระนามว่าพญาสุนทรเทพมหาเทพราช โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงตั้งชื่อใหม่ว่าธาตุนครหลวง (Tasoo Nocorn Louang) ในปี พ.ศ.๑๗๓๑ กษัตริย์องค์ที่ ๑๒ สืบต่อมาจากพญาสุนทรฯ ทรงพระนามว่าพระพนมไชยศิริ พระองค์โปรดฯ ให้ราษฎรไปอยู่ ณ เมืองนครไทยทางตอนเหนือของเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์เองไปสร้างเมืองใหม่ชื่อพิบพลี (Pipeli) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  มีพระมหากษัตริย์สืบต่อมา ๔ ชั่วกษัตริย์จนถึงองค์สุดท้ายทรงพระนามว่า รามาธิบดี ได้สร้างเมืองสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๔ จากบันทึกนี้กับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่เพี้ยนนามเท่านั้น คือ พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกับพระพนมไชยศิริ ส่วนองค์ที่สร้างกรุงศรี-อยุธยานั้นพระนามตรงกัน
   อย่างไรก็ตาม เรื่องพระพนมไชยศิรินี้ บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า เป็นเจ้าเมืองเวียง-ไชยปราการได้หนีข้าศึกมาจากเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) เมื่อ พ.ศ.๑๕๔๗ ในตอนแรกจะอพยพครอบครัวไปทางทิศตะวันตกของแม่น้ำกก แต่ในขณะนั้นในแม่น้ำมีมาก จึงล่องใต้มายังตำบลหนึ่งแล้ว จึงสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า กำแพงเพชร และที่เมืองสุโขทัยยังมีเมืองๆ หนึ่งชื่อ เมืองเพชรบุรี อยู่ที่อำเภอคีรีมาศริมฝั่งคลองสาระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
   เรื่องเมืองเพชรบุรี หรืออาณาจักรเพชรบุรี เคยมีกษัตริย์ – ปกครองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว เมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่ อำนาจของเมืองทั้งสองจึงตกแก่กรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะรวบรวมพระนามกษัตริย์อาณาจักรเพชรบุรีที่ปรากฏมี ๖ พระนามคือ   
   ๑. พระพนมทะเลศรีมเหนทราชาธิราช
   ๒. พระพนมไชยศิริ
   ๓. พระกฤติสาร
   ๔. พระอินทราชา
   ๕. พระเจ้าอู่ทอง
   ๖. เจ้าสาม

สมัยกรุงสุโขทัย
   เมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัยนั้น เข้าใจว่าเป็นอาณาจักรเล็กๆ อาณาจักรหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรสุโขทัย จากบันทึกของจีนสมัยพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ พ.ศ.๑๘๓๗ กล่าวว่า   “กัมจูยือตัง (กันจูเออตัน กมรเตง) แห่งเมืองปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ (ปีฉีปุลีเยะเพชรบุรี) ส่งทูตมาถวายเครื่องบรรณาการ” แต่จดหมายเหตุบางฉบับเขียนเป็น ปิกชิกปูลี หรือ ปิชะปูลี ซึ่งกล่าวถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “ พระโองการชี้ชวนให้กันจูยือตัง (กันจูเออตัน,       กมรเตง) เจ้าประเทศสยามมาเฝ้า มีกิจก็ให้ลูกน้องชายกับอำมาตย์มาเป็นตัวจำนำ” และใน พ.ศ.๑๙๓๔ สมัยรัชกาลพระเจ้าฮ่งบู้ ประเทศริวกิวสยาม เปียกสิกโปบลี้ (เปะชีปาหลี่) กัศมิระ เข้าถวายบรรณาการ ข้อความนี้นายเลียง เสถียรสุต ผู้แปลโดยอธิบายว่า เมืองเปียกกสิกโปบลี้หรือเปะซีปากลี่ นั้นหมายถึงแคว้นโคถานในมงโกล แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคำอื่นที่จีนได้บันทึกไว้ดังคำแรก ๆ ที่กล่าวไว้ข้างบนใน พ.ศ.ดังกล่าวจะตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งครองราชย์ถึง พ.ศ.๑๙๔๒
   ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พระองค์ได้จารึกเรื่องราวในสมัยนั้นไว้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชอาณาเขตไว้ว่า “เบื้องตะวันออกรอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งโขงถึงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว

สมัยกรุงศรีอยุธยา
   การปกครองหัวเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้จัดแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันออก   หัวเมืองฝ่ายตะวันตก หัวเมืองฝ่ายเหนือ และหัวเมืองปักษ์ใต้ สำหรับเมืองเพชรบุรีนั้นสังกัด    หัวเมืองฝ่ายตะวันตกซึ่งมีเมืองต่าง ๆ ดังนี้ เมืองเพชรบุรี ราชบุรี นครไชยศรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี   ศรีสวัสดิ์ ไทรโยคท่ากระดาน ทองท่าพี และเมืองทองผาภูมิ
   ในสมัยนี้อาจถือได้ว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่ง เพราะเป็นเมืองที่ข้าศึกต้องยกทัพผ่านเข้ามา เพื่อจะไปตีกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าที่เรือสินค้าต่าง ๆ จอดแวะพักก่อนที่จะเข้าไปยังเมืองหลวง หรือจะล่องไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ หรือจะเดินทางไปเมืองมะริด   เมาะลำเลิง หัวเมืองมอญ ดังนั้นเจ้าเมืองนี้จึงต้องมีความรู้ความสามารถหลายด้าน คือทั้งด้านการรบ การปกครอง รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองอื่น ในส่วนการทำมาหากินนั้น เมืองนี้ก็อุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหาร ยามใดที่บ้านเมืองเปลี่ยนแผ่นดิน หรือมีข้าศึกมาติดพันหลายด้าน เมืองเพชรบุรีต้องเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับศัตรูโดยตรงรวมทั้งศัตรูที่ลอบเข้ามาปล้นบ้านเมืองซ้ำเติมอีกด้วย
   ใน พ.ศ.๒๑๐๐ แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียว พระยาละแวกก็ยกทัพมาตี กรุงศรีอยุธยา มีกำลังพลเพียงสามหมื่น ขณะนั้นปืนใหญ่น้อยรอบพระนครถูกพระเจ้าหงสาวดีเอาไปเกือบหมดสิ้น เมื่อได้ปรึกษากับเสนาบดีทั้งหลายแล้ว บางท่านว่าควรอพยพไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกชั่วคราว โดยให้รีบแต่งกองเรือพระที่นั่ง    การครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองเพชรบุรี คือ พระเพชรรัตน์เจ้าเมืองเพชรบุรีในขณะนั้นมีความผิดด้วยสถานใดไม่ทราบได้ ถูกปลดออกจากเจ้าเมืองตนจึงคิดขบถโดยเตรียมสะสมผู้คนไว้เพื่อปล้นทัพหลวงที่จะแยกไปยังเมืองพิษณุโลกแต่พระองค์มิได้เสด็จทั้งนี้เพราะขุนเทพวรชุนได้กราบทูลให้  ต่อสู้กับเขมรเพราะเห็นว่าการทัพครั้งนี้ไม่ใหญ่โต พระองค์จึงเตรียมรับศึกเขมร การรบคราวนี้เขมรไม่สามารถตีเอากรุงศรีอยุธยาได้ จึงยกทัพกลับไป
   ในสมัยเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๓ พระยาละแวกได้ให้พระยาจีนจันตุกับพระยาอุเพศราช ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีด้วยกำลังพลสามหมื่น พระศรีสุรินทรฤาไชยเจ้าเมืองเพชรบุรี พร้อมด้วยกรมการเมืองได้รักษาเมืองไว้เต็มความสามารถรบพุ่งต่อสู้กันถึงสามวัน ข้าศึกเสียรี้พลและอาวุธเป็นจำนวนมาก เมื่อพระยาทั้งสองเห็นว่าจะตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้แน่แล้ว จึงยกทัพกลับ แต่พระยาจีนจันตุมิได้กลับเมืองเขมร ด้วยเกรงพระยาละแวกจะเอาโทษในฐานที่ตีเอาเมืองเพชรบุรีไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาธิราชทรงอุปถัมภ์เป็นอย่างดี แต่มินานพระยาจีนจันตุได้ลอบหนีไปโดยสำเภา
   ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๑๕ ในเดือนสาม พระยาละแวกได้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีอีก คราวนี้มาด้วยตนเอง มีพลประมาณเจ็ดหมื่นคน ทางกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดฯ ให้เมืองยโสธรราชธานีกับเมืองเทพราชธานี ยกทัพออกไปช่วยออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี ต่างก็ได้ช่วยกันตกแต่งกำแพง คู หอรบให้แข็งแรง เมื่อพระยาละแวกยกทัพมาล้อมเมืองเพชรบุรีได้สามวันจึงให้ทหารเอาบันไดปีนกำแพงเมือง แต่ชาวเพชรบุรีได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ ข้าศึกไม่สามารถจะตีเอาเมืองได้จึงถอยออกไป และคิดว่าหากเข้าตีไม่ได้ก็จะยกทัพกลับ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ภายในค่ายเมืองเพชรบุรี เริ่มแตกความสามัคคีกันระหว่างพระยาทั้งสาม คือมิได้ร่วมมือกันวางแผนปราบปรามข้าศึก ต่างก็บังคับบัญชาทหารฝ่ายของตน มิได้สัมพันธ์ร่วมมือรบ หรือปรึกษากัน ครั้นถึงวันแปดค่ำพระยาละแวกได้ยกเข้าตีทางด้านตำบลคลองกระแชง และทางด้านตำบลบางจานยกเข้าเผาหอรบทลายลงพร้อมกับปีนกำแพงเข้าเมืองได้ ออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เมืองยโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานีตายในที่รบ พระยาละแวกได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากไปยังเขมรเมืองเพชรบุรีต้องแตกยับเยินครั้งนี้เพราะผู้นำแตกความสามัคคีกัน อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมินานบ้านเมืองก็คงสภาพปกติ
   สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงเตรียมกองทัพที่จะยกไปตีเมืองเขมร โดยเกณฑ์พลจากเมืองนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้เกณฑ์กองเรืองรบ จำนวน ๒๕๐ ลำ จากเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ไชยา คนสองหมื่น มอบให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพกองเรือนี้เพื่อจะยกไปตีเมืองป่าสักของเขมรซึ่งมีพระยาวงศาธิราชเป็นแม่ทัพ กองทัพเขมรแตกย่อยยับ พลทหารจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก พระยาวงศาธิราชตายในที่รบ ทัพไทยตีได้เมือง   ป่าสักพระยาเพชรบุรียกทัพรุดไปยังเมืองปากกระสัง ซึ่งขณะนั้นทัพของพระยาราชวังสันกำลังรบกับเขมรอยู่ พระยาเพชรบุรีจึงยกตีขนาบเข้าไปทัพเขมรแตก กองทัพพระยาราชวังสันกับพระยาเพชรบุรียกเข้าตีเมืองจัตุรมุขแตก แล้วยกไปสมทบกับทัพหลวงที่เมืองละแวกยกเข้าตีเมืองละแวกแตก จับพระยาละแวกทำพิธปฐมกรรม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงยกทัพกลับ
   ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกทัพไปตีพม่านั้น พระยาเพชรบุรีก็เป็นนายทัพด้วย เมื่อกองทัพบกไปถึงแม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้พระมหาเทพเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพม้า ยกออกนำหน้าทัพหลวง ส่วน    พระยาเพชรบุรียกทัพช้างม้าและพลรบจำนวนสามพันเป็นทัพหนุนพระมหาเทพ
   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์เคยเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในปีเถาะ พ.ศ.๒๑๓๔ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังตำบลสามร้อยยอดทางสถลมาร์คและประทับแรมที่นั้นเป็นเวลา ๑๔ วัน เพื่อทรงเบ็ด หลังจากนั้นได้เสด็จมาประทับแรม ณ ตำหนักตำบลโตนดหลวงเป็นเวลา ๑๒ วัน จึงเสด็จเข้ายังเมืองเพชรบุรี
   สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๐ พระองค์มีอนุชาสององค์คือ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์กับสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์ทรงพิโรธหาว่าเสนาบดีทั้งหลายมิได้ยกราชสมบัติให้พระองค์ พระองค์จึงทรงพาข้าราชบริพารลอบหนีมายังเมืองเพชรบุรี เพื่อซ่องสุมผู้คนจะยกเข้ากรุง สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบเหตุจึงโปรดฯ ให้ไปจับกุมตัวมาสำเร็จโทษเสียที่วัดโคกพระยา ส่วนชาวเมืองเพชรบุรีที่เข้าด้วยกับสมเด็จพระพันปีศรีศิลป์นั้นให้เอาตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง
   ประมาณ พ.ศ.๒๒๐๓  ทางเมืองพม่าพวกฮ่อได้ยกเข้ามาล้อมเมืองอังวะ พระเจ้า อังวะเกณฑ์หัวเมืองมอญให้ไปช่วยป้องกันเมือง มอญไม่เต็มใจจึงยกเข้ามาพึ่งไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้ไปอยู่ ณ ตำบลสามโคก เมื่อพวกฮ่อยกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าอังวะจึงให้เจ้าเมืองหงสาวดีเจ้าเมืองตองอู ยกไปเอาครัวมอญที่หนีมาเมืองไทยกลับไปให้ได้ เจ้าเมืองทั้งสองจึงยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาจึงสั่งให้พระยาจักรีเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตกให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพหลวง พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นกองหนุนยกไปยังตำบลปากแพรกเข้าตีทัพพม่าแตกพ่ายไป
   สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็นสมัยที่มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากที่สุดและได้ผลเป็นที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ส่งราชทูตชื่อเชวาติ เอ เดอ โชมอง มายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อราชทูตมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าเมืองบางกอกกับเจ้าเมืองเพชรบุรีออกไปต้อนรับ  โดยเจ้าเมืองเพชรบุรีได้นำขุนนางข้าราชการพร้อมด้วยเรือยาวประมาณ ๔๐ ลำ มาคอยรับอยู่ก่อนแล้วหนึ่งวัน เจ้าเมืองทั้งสองได้เข้าไปแสดงความชื่นชมยินดีกับราชทูตหลังจากนั้นจึงจัดขบวนเรือเพื่อเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงเมืองบางกอก เรือสินค้าของอังกฤษได้ยิงสลุดพร้อม ๆ กับการยิงสลุตจากตัวเมืองบางกอก ครั้นถึงเมืองบางกอกเจ้าเมืองเพชรบุรีกับเจ้าเมืองบางกอกตั้งแถวต้อนรับ โดยท่านทั้งสองยืนคอยรับอยู่หัวแถว เพื่อนำราชทูตไปยังที่พักในเมืองบางกอกหลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา
   ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวจังหวัดเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่งคือ ประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่มีพระราชพิธีตรียัมพวาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงม้าพระที่นั่งเพื่อเสด็จไปยังตำบลชีกุนอันเป็นที่ตั้งเทวสถานเพื่อประกอบพิธีดังกล่าว สมเด็จเจ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้แต่งชาวเพชรบุรี ๓๐๐ คนถือกระบองซุ่มอยู่ข้างทาง  ครั้นเสด็จไปถึงทางสี่แยกบริเวณป่าเขาชมพู่กับตะแลงกุนป่ายา ชาวเพชรบุรีตรงเข้ายึดเอาบังเ..เซนเซอร์..ยนม้าพระที่นั่ง กรมพระตำรวจจับตัวมาสอบถาม ชาวเพชรบุรีให้การว่า สมเด็จเจ้าฟ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองใช้ให้มาทำร้ายพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จกลับสู่พระราชวัง ได้ตรัสสอบถามเจ้าฟ้าทั้งสอง    พระองค์ ซึ่งก็ทรงรับว่าเป็นความจริง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้ลูกขุน ณ ศาลาพิจารณาโทษ  ทั้งสองพระองค์เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาครั้งหนึ่งแล้วยังคิดกบฏอีก คณะลูกขุนจึงพิจารณาตัดสินสำเร็จโทษเสีย อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้พงศาวดารบางเล่มมิได้ระบุว่าเป็นชาวเพชรบุรีเพียงแต่กล่าวไว้ว่า พระไตรภูวนารถทิพยวงศ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าราม) กับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้ซ่องสุมผู้คนและเตรียมการไว้เท่านั้น
   ทางเมืองไชยาแจ้งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ซ่องสุมผู้คนไว้เพื่อแข็งเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระสุนเสนาเป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย (กองเสบียงของทหาร) พระยาสีหราชเดโชเป็นกองหน้า
   พระยาราชบุรีเป็นทัพหลวงยกไปทางบกส่วนทัพเรือมีพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชราว พ.ศ.๒๒๒๙
   ในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ พ.ศ.๒๒๔๖ พระองค์โปรดการทรงเบ็ด จึงได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวงซึ่งเป็นที่เคยประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพุทธเจ้าเสือเสด็จเลยไปจนถึงตำบลสามร้อยยอด ทรงเบ็ด แล้วเสด็จย้อนกลับมายังตำหนักโตนดหลวง จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา
   ใน พ.ศ.๒๓๐๒ สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือ กรมขุนอนุรักษมนตรีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อซึ่งสละราชสมบัติ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ได้ทูลลาผนวก เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพงจัน ได้ร่วมคิดกับกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นกบฏ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงทราบจึงให้จับตัวบุคคลดังกล่าว กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปเมืองลังกา ส่วนพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี นายจุ้ย ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ส่วนนายเพงจันหมื่นทิพเสนาหนีไป เมื่อพม่ายกทัพมาในฤดูแล้งปีเดียวกันนี้ โปรดฯให้แก้จำเจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี พระยายมราชออกมารบ ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีและพระนนทบุรีเป็นกองหลัง ยกไปรักษาเมืองมะริด แต่พอยกไปถึงด่านสิงขรก็ทราบว่า เมืองดังกล่าวถูกข้าศึกยึดได้เสียแล้ว ทัพพม่ายกตีเข้ามาถึงทัพพระยายมราชแตกกระจาย ไล่มาตั้งแต่เมืองกุยบุรี ปราณบุรี จนเข้ามาถึงเมืองเพชรบุรี โดยไม่มีผู้คิดสู้ป้องกันเมืองเลย
   ใน พ.ศ.๒๓๐๗ กองทัพพม่าซึ่งมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกไปตีเมืองทวาย ตีจะเรื่อยมายังเมืองมะริด ตะนาวศรี มะลิวัน ระนอง ชุมพร ไชยา ปทิว คลองวาฬ กุย ปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี แต่ที่เมืองเพชรบุรีมีกองทัพพระยาพิพัฒโกษากับทัพของพระยาตาก ยกมาจากกรุงศรีอยุธยา ทันรักษาเมืองไว้ได้ เมื่อพม่ายกมาถึงเมืองเพชรบุรีปะทะกับกองทัพไทยเข้าก็ถอยไปทางด่านสิงขรอย่างไรก็ตามในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าอังวะได้มีพระราชสาส์นมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอตัวเจ้าเมืองทวายกลับไป หากไทยขัดขืนจะยกทัพใหญ่มา ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยามิได้มอบให้ไป และได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันบ้านเมืองโดยเกณฑ์ทหารไปรักษาด่านอย่างมั่นคง พม่ายกทัพมาคราวนี้เป็นทัพของกษัตริย์องค์ใหม่ คือ หลังจากพระเจ้าอังวะสวรรคตประมาณ พ.ศ.๒๓๐๘ กองทัพได้ยกเข้ามาทางเมืองทวาย ตะนาวศรี แล้วยกเข้าตีเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งรับที่เพชรบุรี ราชบุรี แต่สู้กำลังข้าศึกไม่ได้จึงเสียเมืองแก่พม่า หลังจากนั้นพม่าจึงยกเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ขณะที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีคุมกองทัพเรือกองหนึ่ง พระยาตากสินคุมอีกกองหนึ่ง ยกออกไปตั้งรับทัพพม่าที่จะเข้ามาทางท้องทุ่ง ครั้นพม่ายกเข้ามา พระยาเพชรบุรีจะยกออกไปสู้รบพม่า พระยาตากสินเห็นว่าข้าศึกมีกำลังเหนือกว่า ไม่ควรยกออกไปจึงห้ามไว้  พระยาเพชรบุรีเห็นว่าพอจะสู้ได้จึงยกออกไปถูกพม่าล้อมไว้แล้วเอาดินปืนทิ้งลงในเรือดินระเบิดขึ้น พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ ส่วนพระยาตากสินมิได้ต่อสู้กับข้าศึกแต่ได้ถอยมาตั้งรับที่วัดพิชัย และมิได้เข้าไปในกรุงศรีอยุธยาอีกเลย หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐

สมัยกรุงธนบุรี
   หลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายยับเยินแล้ว ผู้นำที่มีความสามารถต่างก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าเป็นอิสระเป็นก๊ก ก๊กต่าง ๆ เหล่านี้มีพระยาตากสินด้วยก๊กหนึ่ง ซึ่งต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงปราบก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวงและมีเมืองรอบเมืองหลวงพอที่จะตั้งเจ้าเมืองออกไปได้และมีกำลังพอที่จะรวบรวมผู้คนจัดบ้านเมืองเสียใหม่เมืองเหล่านี้ประมาณ ๑๑ เมืองรวมทั้ง
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #24 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:19:48 »

เพชรบุรี ๒
เมืองเพชรบุรีด้วย ใน พ.ศ.๒๓๑๒  โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี พระยายมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้ายกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชกองทัพคราวนี้กำลังพลห้าพัน โดยยกไปทางบกถึงเมืองไชยาและท่าข้ามได้ต่อสู้กัน การรบคราวนี้พระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ทั้งนี้เพราะนายทัพนายกองมิได้สามัคคีกัน เมื่อถึงท่าหมากกองทัพของพระยาทั้งสองจึงเสียทีข้าศึก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพหลวงไปทางเรือ เมื่อกองเรือมาถึงตำบลบางทะลุ หาดเจ้าสำราญ ถูกพายุเรือล่มเป็นจำนวนหลายลำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งพิธีบวงสรวงและพักที่เพชรบุรีระยะหนึ่ง
   ครั้งถึง พ.ศ.๒๓๑๗ ทางพม่าได้ยกทัพเข้ามาอีก โดยเข้ามาทางปากแพรก ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบางแก้ว โปรดฯ ให้พระเจ้าจุ้ยลูกเธอและพระยาธิเบศรบดีเป็นแม่ทัพ ยกออกไปตั้งรับทัพข้าศึก ณ เมืองราชบุรี เมื่อยกไปถึงปรากฏว่าทัพหน้าซึ่งมีพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี หลวงสมบัติบาลและหลวงสำแดงฤทธาแตกทัพมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ โปรดฯ ให้จับบุตรภรรยาของนายทัพนายกองแตกทัพมานั้นจำไว้ แล้วให้ยกออกไปรบแก้ตัวใหม่ การศึกครั้งนี้ที่จริงแล้วอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพมิได้มุ่งหวังที่จะให้ยกทัพมาตีเมืองไทยแต่ประการใด เพียงแต่ให้ยุงอคงหวุ่นติดตามครอบครัวมอญที่หนีเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ยุงอคงหวุ่นเลยถือโอกาสปล้นครัวไทย  โดยแบ่งกำลังออกเป็นสองกอง ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรกกองหนึ่ง คอยปล้นผู้คนแถวเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี อีกกองหนึ่งได้ยกไปปล้นเมืองราชบุรี สมุทรสงครามและเมืองเพชรบุรี ครั้นยกมาถึงตำบลบางแก้วก็ทราบว่ามีกองทัพไทยยกไปตั้งรับที่ราชบุรี ยุงอคงหวุ่นจึงได้ตั้งทัพที่ตำบลบางแก้วสามค่าย ทางกองทัพไทยได้ตั้งล้อมกองทหารพม่า เพื่อตัดเสบียงอาหาร พม่ายกออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา และค่ายพระยาเพชรบุรีแต่ไม่สามารถตีหักเอาได้ ขณะนั้นได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงว่า กองทหารพม่าที่ยกเข้ามาทางเมืองมะริได้เข้าปล้นค่ายเมืองทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ จึงโปรดฯ ให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี ให้ทำลายหนองน้ำบ่อน้ำตามรายทางที่คิดว่ากองทัพพม่าจะยกมายังเมืองเพชรบุรีให้หมดสิ้นโดยให้เอาของสกปรกหรือยาพิษใส่ลงไป อย่าปล่อยให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายข้าศึกได้โปรดให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาอยู่ฟู่รักษาเมืองเพชรบุรีด้วย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
   หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครไม่กี่ปีพม่าก็เตรียมทัพใหญ่ที่จะยกมา คือในปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงได้เกณฑ์รี้พลประมาณแสนเศษ โดยจัดเป็นเก้าทัพ ทัพที่ ๑ ให้แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกถึงเมืองถลาง ทัพที่ ๒ ให้ออกนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวาย เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้าตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีลงไปถึงเมืองชุมพร จรดทัพที่หนึ่ง ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคยีสะโดะศิรีมหาอุจะนาเข้ามาทางเมืองเชียงแสน สุโขทัย แล้วยกลงมายังกรุงเทพมหานคร ทัพที่ ๔ มีเมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่องเป็นแม่ทัพ ยกมาทางเมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้ายกเข้าตีกรุงเทพมหานคร เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๕ ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพหน้ายกมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหนุนทัพที่สี่  ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวงยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง  ทัพที่ ๘ เป็นทัพหลวงมีพระเจ้าปดุงเป็นนายทัพยกมาทางเมืองเมาะตะมะ ทัพสุดท้ายมีจอข่องนรธาเป็นแม่ทัพ ยกมาทางด่านแม่ละเมายกเข้ามาตีเมืองตาก กำแพงเพชร แล้วยกมายังกรุงเทพมหานคร
   ทางฝ่ายกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้จัดทัพไว้รับ ๔ ทัพด้วยกันคือ ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปขัดตาทัพที่เมืองนครสวรรค์ ทัพที่ ๒ เป็นทัพใหญ่ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกไปยังเมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ยกไปตั้งรับที่เมืองราชบุรีคอยคุ้มกันทัพที่ ๒ และคอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางปักษ์ใต้และเมืองทวาย ทัพสุดท้ายเป็นทัพหลวงตั้งที่กรุงเทพฯ เป็นกองหนุน การรบคราวนี้โดยเฉพาะการรบที่ลาดหญ้า มีเรื่องที่กล่าวถึงพระยาเพชรบุรี คือ กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันและไม่สามารถจะตีหักกันได้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงจัดตั้งเป็นกองโจร โดยให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรีคุมทหารไปคอยซุ่มโจมตีหน่วยลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปยังค่ายข้าศึก แต่นายทัพทั้งสามดังกล่าวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าขุนเณรไปแทนอย่างไรก็ดี การสงครามคราวนี้พม่าเสียหายยับเยินกลับไป
   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้เตรียมทัพเพื่อไปตีพม่าใน พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยยกไปตั้งทัพที่เมืองทวาย ซึ่งขณะนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และเมืองมะริดเป็นของไทย กองทัพที่ยกไปตั้งยังเมืองดังกล่าวมีทัพของเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยาสีหราชเดโช พระยากาญจนบุรี พระยาเพชรบุรี เจ้าพระยามหาโยธา พระยาทวายและกองทัพของพระยายมราช นอกจากนี้ยังมีกองทัพเรืออีกด้วย ครั้นถึงฤดูแล้ว ทัพหลวงได้ยกออกไปทางเมืองไทรโยคทางฝ่ายพม่ายกทัพใหญ่มาล้อมเมืองทวายไว้ การรบคราวนี้พระยากาญจนบุรีตายในที่รบ กองทัพพม่ายกเข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตก แล้วยกเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรี แต่ไม่สามารถจะตีหักเอาได้จึงลงเรือถอยกลับไป ต่อมาอีกสามวันพม่าเกณฑ์ทหารอาสาเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรีอีก คราวนี้เสียทีแก่ข้าศึกอย่างไรก็ตามกองทัพไทยเข้าตีเอากลับคืนมาได้ในที่สุด
   ถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ พม่าได้ยกกองทัพมาอีก คราวนี้ยกไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงเมืองถลาง รัชกาลที่ ๒ โปรดฯ ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) คุมกองทัพล่วงหน้าลงไปก่อน ให้พระยาพลเทพลงมารักษาเมืองเพชรบุรีไว้ และโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิทักษ์มนตรีเสด็จไปคอยจัดการสั่งกองทัพอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี กองทัพที่มาตั้ง ณ เมืองเพชรบุรีนี้ จากการรายงานของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีว่าทหารมีความประพฤติไม่ดี คือ ได้กักเรือบรรทุกข้าว น้ำตาลของชาวบ้านเก็บค่าผ่านทาง แม้แต่สินค้าพวกไม้ไผ่ เขาวัว ก็ไม่เว้น การกระทำดังกล่าวเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ชาวเมืองเพชรบุรียิ่งนัก สู้กองทัพที่ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีไม่ได้ ทหารที่เมืองเพชรบุรีต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิดมิได้สามัคคีกัน ทางฝ่ายพม่าได้เขียนหนังสือมาแขวนไว้ที่แดนเมืองตะนาวศรี เพื่อให้ไทยเลิกจับกุมพลลาดตระเวนของตน ไทยได้มีหนังสือตอบไปโดยนำไปแขวนไว้ที่ชายแดนเช่นกัน โดยให้พระยาพลสงครามแห่งเมืองเพชรบุรีเป็นผู้ตอบ
   การสงครามระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางปักษ์ใต้ยังไม่สงบ ต้องปราบปรามหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเจ้าเมืองไทรบุรีและเจ้าเมืองใกล้เคียงที่พากันกระด้างกระเดื่อง  ทั้งนี้เพราะมีต่างชาติคอยยุยงอยู่เบื้องหลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองไทรบุรีแข็งเมืองอีกทั้งๆ ที่เมืองนี้เคยถูกปราบมาแล้ว ซึ่งพระยาเพชรบุรีเคยยกทัพไปปราบ
   คราวนี้รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพ ยกไปประมาณสามพันคน รวมทั้งชาวเพชรบุรีด้วยเก้าร้อยคน ทั้งนี้ต้องไปรวมทัพกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา รวมรี้พลประมาณหมื่นเศษ กองทัพนี้เป็นกองทัพเรือ โดยเกณฑ์เรือจากเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เขมร เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพของพระยาเพชรบุรีที่ยกออกไปจากเมืองเพชรบุรีนั้น จากรายงานของหลวงเมืองปลัดเมืองเพชรบุรีว่า เรือทั้งหมด ๙ ลำ ทหาร ๕๙๙ คน อาวุธปืนประจำเรือ คือ ปืนหน้าเรือ ท้ายเรือ แคมเรือและปืนหลังรวม ๔๘ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๗๐ กระบอก ดินปืน ๑๐ หาบ เมื่อยกทัพไปถึง หัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีประจำอยู่ ณ เมืองสายบุรี เพื่อจะได้ดูแลหัวเมืองมลายู ทางเจ้าเมืองแข็งเมืองโดยตั้งค่ายสู้รบ แต่เมื่อทราบว่ากองทัพของพระยาเพชรบุรียกไปตั้งที่เมืองสายบุรีเจ้าเมืองกลันตันให้คนมาแจ้งแก่พระยาเพชรบุรีว่า ตนจะรื้อค่ายลงเพราะเกรงว่าประชาชนจะพากันหลบหนีไปหมด อย่างไรก็ตาม พระยากลันตันหาได้กระทำดังกล่าวไว้ไม่ แต่ได้มีหนังสือมาถึงพระยาเพชรบุรีขออ่อนน้อมต่อไทย พระยาเพชรบุรีจึงตอบตกลงไปให้พระยากลันตัน พระยากลันตันได้มอบทองคำให้พระยาเพชรบุรี ค่ายดังกล่าวนี้ต่อมาพระยาไชยาได้รื้อเผาไฟจนหมดสิ้น
   สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเมืองเพชรมาก จะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จมาเมืองเพชรหลายครั้งในระหว่างผนวช พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำเขาย้อย อำเภอเขาย้อย และยังได้ประทับแรมที่วัดมหาสมณารามเชิงพระนครคีรีอีกด้วย จากจดหมายเหตุของหมอบรัดเล่ย์ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงที่ได้เสด็จมายังเมืองเพชรบุรีว่า
   วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๓  ได้เสด็จเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างพระนครคีรี วันที่ ๒๒ มิถุนายน ได้แห่พระมายังเมืองเพชรบุรี วันที่ ๒๘ มิถุนายน เสด็จมาเมืองเพชรเป็นครั้งที่สาม วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ หลังจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๖ พรรษาแล้ว เสด็จมาเมืองเพชรโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชหัตถเลขาทรงมีไปถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๓ ตุลาคมว่า พระองค์เสด็จถึงปากน้ำตำบลบ้านแหลมเวลา ๓ โมงเช้าถึงพระนครคีรีเวลาบ่าย ๒ โมง ทรงทอดพระกฐิน ณ วัดพระพุทธไสยาสน์และวัดมหาสมณาราม ส่วนพระราชธิดาในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้า-อยู่หัวนั้นได้เสด็จไปทอดพระกฐิน ณ วัดเขาบรรไดอิฐและวัดมหาธาตุ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ได้เสด็จมาประทับ ณ พระนครคีรีในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าแผ่นดินประเทศปรัสเซียได้ส่งราชทูตชื่อคอลออยเลนเบิร์ตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจัดเรือแจวเรือพายให้ทูตที่มาเที่ยวเมืองเพชรบุรีใช้เป็นจำนวนสองลำ มี     ฝีพายลำละ ๒๐ คน ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางยุคล ประทับอยู่ ณ พระนครคีรี รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเพื่อทรงแจ้งให้ทราบว่า ราชทูตปรัสเซียจะมาเที่ยวและพักผ่อนที่เมืองเพชรบุรี ขอให้จัดรถบริการให้ด้วย ส่วนขากลับโปรดให้จัดเรือพระที่นั่งเสพย์สหายไมตรีมารับที่เพชรบุรี เพื่อนำไปส่งที่เรือรบที่สันดอน วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นวันที่เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร การเสด็จเมืองเพชรบุรีครั้งนี้ โปรดให้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรบนพระนครคีรี และทรงบรรจุพระธาตุบนยอดเจดีย์บนเขามหาสวรรค์ด้วย วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖ เสด็จมาเมืองเพชรบุรีด้วยเรือกลไฟพระที่นั่งและเสด็จกลับเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ในเดือนเมษายนพันเอกเรโบลได้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากฝรั่งเศสชื่อ    เรจิออง ดอนเนอร์ เข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำนายพันเอกเรโบลมาเที่ยวเมืองเพชรบุรีโดยเรือเสพย์สหายไมตรี วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นวันที่เสร็จงานพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่เมืองเพชรบุรี
   นอกจากจะทรงสร้างพระนครคีรีแล้ว ยังโปรดฯ ให้ตกแต่งเขาหลวงซึ่งมีพระพุทธรูปโบราณในถ้ำโดยสร้างบันไดหินลงไป สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ทรงสร้างเป็นส่วนพระองค์เองบ้าง ทรงให้เจ้านายฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์สร้างบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ซ่อมแซมพระนครคีรีใหม่ทั้งหมด เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแรมพักผ่อนอิริยาบถและเพื่อใช้รับรองแขกเมืองด้วย ทรงจัดตั้งมณฑลราชบุรีขึ้น เมืองเพชรบุรีขึ้นกับมณฑลนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เพราะอากาศถูกพระโรคที่ทรงประชวรในฤดูฝน โดยเฉพาะในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดีเดือนนี้ไม่เหมาะที่จะประทับบนพระนครคีรีดังนั้นจึงทรงสร้างพระราชวังบ้านปืนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จพระราชทานนามว่า พระรามราชนิเวศน์นอกจากจะทรงพระสำราญที่เมืองเพชรบุรีแล้ว รัชกาลที่ ๕ ยังโปรดเสวยน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรีอีกด้วยโดยเฉพาะน้ำตรงท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ดังความว่า “ด้วยมีตราพระคชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปแต่ก่อน ให้ข้าพเจ้าแต่งกรมการกำกับกันคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไช (วัดท่าไชยศิริ) ส่งเข้ามาเป็นน้ำส่ง (สรง) น้ำเสวยเดือนละสองครั้ง ๆ ละยี่สิบตุ่มเสมอจงทุกเดือนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งให้ขุนลครประการคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไชยี่สิบตุ่ม ได้เอาผ้าขาวหุ้มปากตุ่มประทับตรารูปกระต่ายประจำครั่ง มอบให้ขุนลครประการคุมมาส่งด้วยแล้ว” ใบบอกฉบับนี้ พ.ศ. ๒๔๒๐ โดยพระยาสุรินทรฤาไชย เรื่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีนี้นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดฯ เสวยแล้วยังใช้เป็นน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยโบราณมา ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำเพชรบุรี ดังสารตราถึงพระ-ยาเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ความว่า ทางกรุงเทพฯ จะตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ต้องการน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีดังกล่าว จึงให้หลวงยกกระบัตรเมืองเพชรบุรี หลวงเทพเสนีถือสารตรามายังพระยาเพชรบุรี ให้แต่งตั้งกรมการไปตักน้ำที่หน้าเมืองเพชรบุรี แล้วเอาใบบอกปิดปากหม้อ เอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อผูกปิดตราประจำครั่ง แล้วมอบให้หลวงยกกระบัตร หลวงเทพเสนีคมเข้าไปส่งยังกรุงเทพมหานครให้ทันกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าว
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพะราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรีหลายครั้งด้วยกัน ดังจะได้ลำดับตามหลักฐานที่ค้นคว้ามาได้ดังนี้
   วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี โดยเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารเป็นจำนวนมากเสด็จถึงพลับพลาตำบลบางครก บ้านใหม่ เสด็จขึ้นบนพลับพลาตรัสกับเจ้าเมืองและกรมการทั้งหลายแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งสองล้อถึงพระนครคีรี ทอดพระเนตรพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์ และพระที่นั่งราชธรรมสภา
   วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ เสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำเพิงถ้ำพัง แล้วเสด็จลงไปยังเชิงเขา มีราษฎรชาวเมืองเพชรบุรีเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก เสด็จพระราชดำเนินผ่านเขาพนมขวดไปยังถ้ำเขาหลวง เพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปในถ้ำ แล้วเสด็จกลับ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี และเมืองเพชรบุรีเข้าเฝ้า แล้วเสด็จประพาสเขาบันไดอิฐ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มีข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้าละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ พระราชทานเสื้อผ้าสักหลาดอย่างดีแก่ข้าราชการที่มาเฝ้าคือพระพลสงคราม หลวงรามฤทธิรงค์ หลวงยงโยธี หลวงภักดีสงคราม นายแย้ม เด็กชา หลวงพิพัฒน์ เพชรภูมิยกกระบัตร หลวงวิชิตภักดี หลวงมหาดไทย ขุนสัสดี ขุนแพ่ง ขุนแขวง ขุนศุภมาตรา ขุนเทพ ขุนรองปลัด ขุนเทพบุรี โปรดฯ พระราชทานเงินแก่พวกเด็กชาที่มาเฝ้าละอองธุลีพระบาทคนละตำลึงบ้างครึ่งตำลึงบ้าง คนที่ได้ตำลึงคือคนที่ทรงคุ้นเคยเห็นหน้ากันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระ-ราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระนครคีรี ณ ตรงเชิงเขา ตรัสกับหมอแมคฟาแลนด์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ทรงนมัสการพระพุทธรูป ๔ องค์ ที่มีพระนามรัชกาลที่ ๑ - ๔ แล้วเสด็จกลับ
   วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนที่จะไปเขาบันไดอิฐ เลี้ยวตรงหน้าวัดคงคารามไปตามถนนถึงสวนมะตูมทรงเก็บผลมะตูม แล้วเสด็จประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี พระ-ราชทานเงินเป็นมูลกัปปิยภัณฑ์แก่พระมหาสมณวงศ์เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ ทรงแจกเงินแก่สัปปุรุษ วันเดียวกันนี้พวกไทยทรงดำนำของมาทูลเกล้าถวาย แล้วเสด็จรถพระที่นั่งข้ามสะพานช้าง (สะพานจอมเกล้าฯ) ประพาสวัดกำแพงแลง วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พระราชทานเงินแก่พระยาสุรินทรฤาไชย (เทศ บุนนาค) เพื่อปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปในถ้ำเขาหลวง เสด็จถ้ำเขาหลวง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพลับพลา ตำบลบางครกบ้านใหม่ เสด็จลงเรือพระที่นั่งอัครราชวร-เดชกลับกรุงเทพมหานคร
   วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่งถึงอ่าวบ้านแหลม ประทับแรมบนเรือพระที่นั่ง วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เสด็จขึ้นบนพลับพลาบ้านใหม่มีข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้ารับเสด็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงม้าพระที่นั่งถึงพระนครคีรีที่ศาลาหน้าเขามหาสวรรค์มีพระสงฆ์เถรานุเถระสวดชยันโต วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำเพิงถ้ำพัง วัดพระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเขาหลวง ทอดพระเนตรถ้ำต่างๆ และทรงปิดทองพระพุทธรูป วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เสด็จประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี ประทับทอดพระเนตรการแข่งวัดระแทะ กลางคืนชาวไทยทรงดำขับแคนถวาย วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์เสด็จประพาสเขาบันไดอิฐกลางคืนมีการขับแคนถวายและมีการบรรเลงเพลงพิณพาทย์ด้วย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์เสด็จออกทรงบาตรพระสงฆ์ในเมืองเพชรจำนวน ๔๖ รูป แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปถ้ำแกลบ ถ้ำสาริกา และถ้ำเจ็ดแท่น
   วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ กรมหมื่นสมมตอมร-พันธ์ทรงนำหมอดันลัป หมอทอมสัน และนายคูเปอร์เข้าเฝ้า รับสั่งเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนและ โรงพยาบาล ณ เมืองเพชรบุรี พระราชทานเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจำนวน ๓๐ ชั่ง ในวันเดียวกันนี้เสด็จประพาสวัดกำแพงแลง ตอนเย็นทอดพระเนตรการแข่งขันวัวระแทะ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ เสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระพุทธบาทเขาลูกช้าง ประทับแรม ณ พลับพลาตำบลท่ากลบชี วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์จึงเสด็จถึงพระพุทธบาทเขาลูกช้าง วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์เสด็จพระราชดำเนินกลับ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินเขาหลวง โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์ในถ้ำเขาหลวง วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ประพาสถ้ำพระพิมพ์ ถ้ำพระเผือก เขาคอก ถ้ำจีน วันที่ ๑ มีนาคม เสด็จประพาสพระเจดีย์ยอดเขาริมวัดมหาสมณาราม โปรดให้พระยาสุริทรฤาไชยปฏิสังขรณ์ แล้วเสด็จทางลัดลงมายังวัดมหาสมณารามทอดพระเนตรบริเวณวัด เสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ พระสงฆ์ถวายชัยมงคลคาถา แล้วเสด็จไปตามถนนราชวิถีถึงท่าน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรีออกอ่าวล้านแหลมไปเขาสามร้อยยอด
   ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าพระองค์เคยเสด็จมาเมืองเพชรบุรีในปีใดบ้าง
   วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ เสด็จพระราชดำเนินมาเพชรบุรีโดยรถไฟพระ  ที่นั่งจากราชบุรีโดยมิได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบ ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรเมืองเพชรบุรีขณะที่มิได้เตรียมรับเสด็จ ประทับเสวยที่เมืองเพชรแล้วเสด็จกลับราชบุรี วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้ามาตามลำแม่น้ำเพชรบุรี เสด็จขึ้นประทับบนบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศบุนนาค) วันที่ ๒๕ กรกฎาคม เสด็จประพาสทางเรือขึ้นไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรี วันที่ ๒๖ กรกฎาคม เสด็จทางเรือไปยังตำบลบางทะลุประทับแรมที่บางทะลุหนึ่งคืน วันที่ ๒๗ กรกฎาคม เสด็จโดยเรือฉลอมจากตำบลบางทะลุมายังอ่าวบ้านแหลม วันที่ ๒๘ กรกฎาคม เสด็จประพาสวัดต่างๆ ในเมืองเพชรบุรีแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวบ้านแหลม
   วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้าปากอ่าวบ้านแหลมตามลำน้ำเพชรบุรีถึงหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด วันที่ ๑๒ กันยายนเสด็จประพาสตลาด ผ่านไปตามถนนใหม่แนวกำแพงเมือง ผ่านหน้าวัดกำแพงแลงทอดพระเนตรวัดใหญ่สุวรรณาราม วันที่ ๑๓ กันยายน เสด็จพระราชดำเนินไปวัดมหาสมณาราม วัดเขาบันไดอิฐ ข้ามสะพานไปบ้านพระยาสุรินทรฤาไชย วัดโพธาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ วันที่ ๑๔ กันยายน เสด็จประพาสตามลำแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นไปทางเหนือจนถึงท่าศาลา วันที่ ๑๕ กันยายน เสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำ ตำบลยี่หนถึงเวียงคอย วันที่ ๑๖ กันยายน เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระนครคีรี โปรดฯ ให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางวัดเข้าเฝ้าโปรดฯ ให้พระครูมหาราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดใหญ่เข้าเฝ้า พระราชทานพัดยศ และโปรดฯ ให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นวัดหลวงอีกวัดหนึ่ง วันที่ ๑๗ กันยายน เสด็จไปทอดพระเนตรวัดอุทัย วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครโดยรถไฟพระที่นั่ง
   วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรี โปรดฯ ให้ฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ณ ท้องพระโรงที่ประทับเมืองเพชรบุรี ตั้งพระชัยเนาว-โลหะและพระชนมวารอย่างละองค์รวมทั้งพระชนมพรรษาของเดิม ๕๖ องค์ เจ้าพนักงานได้นิมนต์พระสงฆ์เถรานุเถระจากวัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดราชาธิ-วาส รวม ๑๒ รูป วัดพระปฐมเจดีย์ ๑ รูป เมืองราชบุรี ๖ รูป และพระเถรานุเถระในเมืองเพชรอีก ๓๘ รูป รวม ๕๗ รูป พระราชพิธีเริ่มวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นพระราชพิธีสงฆ์ ตอนเย็นมีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา วันที่ ๒ ตุลาคม นิมนต์พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเพล จัดโต๊ะสังเวยเทวดา แล้วปล่อยสัตว์เป็นทาน พระราชทานเลี้ยงข้าราชการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกผ้าที่ทอจากเมืองเพชรบุรีแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ตอนบ่ายมีการบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระพุทธปฏิมากรกลางคืนมีจุดดอกไม้เพลิง มีการเล่นละครบนแพลอยทอดทุ่นที่ประทับกลางแม่น้ำ ที่สนามหญ้าหน้าที่ประทับแพลอยมีการเล่นเพลง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒
   วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ตำบลบ้านปืนทอดพระเนตรแปลนที่จะสร้างพระราชวัง วันที่ ๔ ธันวาคม เสด็จประพาสพระนครคีรี ทอดพระเนตรการตกแต่งบนพระนครคีรีเพื่อรับแขกเมือง ตั้งแต่วันที่ ๕ ถึง ๘ ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุดต่าง ๆ บริเวณที่จะสร้างพระที่นั่ง วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จพระราชดำเนินกลับ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #25 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:20:14 »

เพชรบุรี ๓
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิกพร้อมด้วยเจ้าหญิงอลิสซาเบต สโตลเบิร์ก รอชซ่าล่า พระชายา ได้เสด็จประพาสเมืองเพชร   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชา-    นุภาพ (พระยศในสมัยนั้น) คอยรับเสด็จ ณ พระนครคีรี คืนนี้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายทอดพระเนตร วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ท่านดุ๊กได้เสด็จทอดพระเนตรถ้ำเพิงถ้ำพังและพระเจดีย์ เสด็จออกรับราษฎรชาวเมืองเพชรบุรีและทอดพระเนตรกีฬา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระพุทธไสยาสน์เสด็จวัดเขาบันไดอิฐ ทอดพระเนตรถ้ำ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเสวย  พระกระยาหาร ณ พลับพลาบ้านปืน เสด็จลงเรือแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรีแล้วล่องมาขึ้นที่ท่าหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเสด็จขึ้นบนพระนครคีรี ทอดพระเนตรกัดปลา วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เสด็จพระราชดำเนินไปเขาหลวงทรงถ่ายรูปหมู่ ณ ถ้ำเขาหลวง แล้วเสด็จมายังวัดใหญ่สุวรรณา-ราม ตอนพลบค่ำเสด็จประพาสหมู่บ้านไทยทรงดำตำบลเวียงคอยและทอดพระเนตรลงขวง วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ประพาสตลาดเมืองเพชรบุรี ท่านดุ๊กก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยรถพระที่นั่ง
   วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินมาเพชรบุรี โดยรถไฟพระที่นั่ง วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ณ ท้องพระโรงที่ประทับตำบลบ้านปืนพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บวชนาคหลวงเป็นพระภิกษุและสามเณร คือ นายประทีปและนายบันเทิงบุตรพระยาสุริ-นทรฤาไชย ( เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี วันนี้ทำขวัญนาคมีเครื่องบายศรีและเวียนเทียน วันที่ ๑๓ กรกฎาคม แห่นาคจากพลับพลาที่ประทับบ้านปืนไปยังวัดมหาสมณาราม พระภิกษุและสามเณรไปจำวัดอยู่ ณ วัดโพธาราม วันที่ ๑๔ กรกฎาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครโดยรถไฟพระที่นั่ง
   วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จพระราชดำเนินมาเพชรบุรีโดยรถไฟพระที่นั่ง ประทับแรม ณ พลับพลาบ้านปืน วันที่ ๑๕ สิงหาคม ทอดพระเนตรถนนบริวเณวังบ้านปืนถึงสะพานอุรุพงศ์ทอดพระเนตรถนนตัดใหม่ถึงวัดป้อม พระราชทานนามว่า ถนนบริพัตร ประพาสตลาดเมืองเพชร โปรดให้เรียกพระที่นั่งบ้านปืนว่า พระตำหนัก วันที่ ๑๖ และ ๑๗ สิงหาคม ทอดพระเนตรถนนต่าง ๆ วันที่ ๑๘ สิงหาคม เสด็จออกทอดพระเนตรการทำถนนและปลูกต้นไม้บริเวณพระตำหนักบ้านปืน แล้วเสด็จมาประทับที่พลับพลาโปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๕ รูป สวดพระพุทธมนต์โหรบูชาเทวดา วันที่ ๑๙ สิงหาคม พนักงานจัดการที่ก่อพระที่นั่งบ้านปืน พระสงฆ์สวดถวายพระพร พราหมณ์เป่าสังข์ลั่นฆ้องชัยพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ทรงวางศิลาพระฤกษ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ทรงปลูกต้นไม้ และโปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสา-  ธิราช พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอปลูกต้นไม้องค์ละต้น
   วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดให้ตั้งพระราชพิธีพรุณศาสตร์อย่างน้อย ณ พลับพลาที่ประทับบ้านปืน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์วันละ ๕ รูป จนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม รวม ๘ วัน
   วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบปีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชสิ้นพระชนม์ โดยจัดพระราชพิธี ณ บริเวณปะรำพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งบ้านปืน กลางคืนมีมหรสพคือหนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย ๑ โรง หนังตลุง ๑ โรง ลครตลก ๑ โรง ละครชาตรี ๑ โรง มีจุดดอกไม้เพลิงจุดพลุ วันที่ ๙ กันยายน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีเทศนาธรรม ๒ กัณฑ์คือพระปลัดฉิม เจ้าอธิการวัดป้อมกับเจ้าอธิการทุ่มวัดน้อย มีสดับปกรณ์ ๑๐๐ รูป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ พระครูญาณเพชรรัตน์วัดยางถวายธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ กลางคืนมีมหรสพเช่นเดียวกับคืนก่อน อนึ่งก่อนงานพระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ ข้าราชการกรมหาดเล็ก ข้าราชการโรงเรียนมหาดเล็ก ได้รวบรวมเงินจำนวน ๘,๐๐๐ บาท ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เงินจำนวนนี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ที่ถาวร จึงทรงพระราชดำริถึงงาน       หัตกรรมของชาวเพชรบุรี ได้แก่ พวกจักสานแต่ขาดการส่งเสริม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินจำนวนนี้เป็นทุนรางวัล เพื่อส่งเสริมให้งานหัตถกรรมของชาวเมืองเพชรเจริญยิ่งขึ้น วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
   ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมยังจังหวัดเพชรบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งแรมเดือน หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยเสด็จมากับกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ เพื่อเดินทางไกลไปจอมบึง บ้านโป่ง ในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตัวเมืองเพชรและทอดพระเนตรกรีฑาของกรมทหารราบที่ ๑๔ เพชรบุรี รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ มกราคม จึงทรงม้าพระที่นั่งเคลื่อนขบวนเสือป่าเดินทางไกล
   เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้โดยรถไฟพระที่นั่ง เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีเมืองเพชรบุรี ได้มีข้าราชการและประชาชนเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ข้าราชการเมืองเพชรบุรีมี พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค) จางวาง พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์)     ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ เสือป่า ต่างเฝ้ารับเสด็จประชาชนที่ถูกเพลิงไหม้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงสงสารราษฎรที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ งดเก็บเงินบำรุงท้องที่เป็นเวลาหนึ่งปี
   สำหรับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดเมืองเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น บริเวณตลาดดังกล่าวคือฟากตะวันตกของแม่น้ำตั้งแต่เชิงสะพานจอมเกล้าไปตามถนนชี   สะอินจรดถนนราชดำเนิน จากถนนราชดำเนินไปจนจรดถนนราชวิถีและถึงแม่น้ำ เมื่อทางกระทรวงมหาดไทยได้รายงานกราบบังคมให้ทรงทราบ พระองค์ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงสงสารชาวเพชรบุรียิ่งนัก ทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่เมืองเพชรบุรีนั้น บ้านเรือนของราษฎรสร้างกันแออัดเกินไป และใช้ไม้หลังคาจากเป็นเชื้อเพลิงได้ดี ถนนก็แคบไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถจะป้องกันอัคคีภัยได้ทันท่วงที จึงโปรดฯ ให้ขยายถนนเก่า และห้ามสร้างปลูกเพิงไม้ที่จะเป็นเชื้อไฟได้อีกต่อไปในบริเวณไฟไหม้
   เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรี พระราชทานพระแสงราชศาสตรา มิได้ประทับแรม แต่เสด็จเลยไปยังประจวบคีรีขันธ์ ขากลับได้เสด็จมาประทับแรม ณ เมืองเพชรเป็นเวลาสองคืนคือวันที่ ๙ และ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
   ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญทุกปียกเว้นปี  พ.ศ. ๒๔๖๓ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จมาเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน โดยรถไฟพระที่นั่ง และเสด็จพระราชดำเนินกลับเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เสด็จมาวันที่ ๑๐ เมษายน ถึงวันที่ ๒๙ เมษายน ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ เสด็จมาวันที่ ๑๕ เมษายนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ เสด็จมาพร้อมด้วยพระอินทรานี พระสนมเอก เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เสด็จมาพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้เสด็จไปประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและประทับแรม ณ ที่นั้นครั้ง     สุดท้าย ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘
   ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดประทับ ณ พระราชวัง ณ เมืองเพชรโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังไกลกังวลหัวหินขึ้น พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรต้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรีเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖
   เรื่องที่ควรกล่าวถึงในอดีตอีกเรื่องหนึ่งคือ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามจุดต่าง ๆ คือ ที่สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และที่บางปู ขณะนั้นไทยต้องทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น มิตรขณะนั้นคือ เยอรมัน อิตาลี ส่วนปัจจามิตรคือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น
   ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เครื่องบินข้าศึกได้โจมตีกรุงเทพมหานคร เวลา ๐๑.๓๐ น. ที่เพชรบุรีได้มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินได้บินผ่านและทิ้งระเบิด วันที่ ๙ และ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เครื่องบินได้บินวนเวียนและผ่านไป วันที่ ๙ มิถุนายน ปีเดียวกันมีสัญญาณเตือนให้หลบภัย วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินผ่านทิ้งระเบิดยังทุ่นระเบิดตามปากน้ำต่าง ๆ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๓.๑๕ น. เครื่องบินข้าศึกได้ยิงกราดลงมาถูกตู้รถไฟบรรทุกน้ำมันจำนวน ๓ หลัง ไฟไหม้หมด ส่วนบริเวณอื่น ๆ ปลอดภัย เมื่อสงครามสงบทางเจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูเชลยศึก สำหรับที่เพชรบุรีนี้มีทหารเชลยชาวฮอลันดาจำนวนประมาณร้อยคนผ่านมา ทางจังหวัดขณะนั้นมีนายอมร อินทรกำแหง อัยการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเจ้าหน้าที่   สหประชาชาติดูสถานที่ที่จะให้เชลยศึกพัก โดยได้เลือกโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพชรบุรีเป็นที่พักเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
   ในมหาสงครามครั้งนี้ ได้มีคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ก่อตั้งองค์การใต้ดินขึ้นเรียกว่า ขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความร่วมมือกับพันธมิตร กองบัญชาการใหญ่ตั้งที่วังสวนกุหลาบ มีสมาชิกย่อย ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ซึ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการอยู่ที่ตำบลบางค้อ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง มีการฝึกอาวุธให้กับสมาชิกอาสา-สมัครเป็นการฝึกรบแบบกองโจร แต่เหตุการณ์สงครามได้สิ้นสุดลงเสียก่อน

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
   หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการ       ปกครองแบบเทศาภิบาลซึ่งถือว่าได้เป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงะเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมืองให้หมดไป
   การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกันโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้นจึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
   “การเทศาภิบาล” คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะใน    ราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือจังหวัดรองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
   จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
   การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่ง          ข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
   นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการ  ปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการ      ปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
   การจัดรวมรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ  ดังนี้
   พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงาน จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
   พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
   พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
   พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
   พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
   พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
   พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
   พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
   พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
   พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
   พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #26 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:20:29 »

เพชรบุรี ๔
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
   การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
   ๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
   ๒.  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
   ๓.  เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
   ๔. รัฐบาลไทยในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ นโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ    แผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
   ๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
   ๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
   ๓. ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
   ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๙ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
   ๑. จังหวัด
   ๒. อำเภอ
   จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลการตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น



ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี . กรุงเทพ : อมรินทร์การพิมพ์ , ๒๕๒๙ .
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #27 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:21:23 »

ปราจีนบุรี
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดปราจีนบุรีเป็นหัวเมืองชายแดน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย บริเวณ
ตัวเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรียาวเหยียดจากทิศตะวันออกจนถึงทิศตะวันตก ลักษณะเป็นที่ราบ
ลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรีไหลผ่านสองฟากฝั่ง จังหวัดปราจีนบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ทางด้านอำเภออรัญประเทศและอำเภอตาพระยา ดังนั้นจังหวัดปราจีนบุรีจึงเปรียบเสมือนเมืองกันชนระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย นับได้ว่าเป็นจังหวัดที่เก่าแก่จังหวัดหนึ่ง มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกของประเทศไทย
จังหวัดปราจีนบุรีนี้เดิมเรียกกันหลายชื่อ คือ ปราจีนบุรี ปราจิณบุรี ปาจิณบุรี ตามหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “ปราจีน” แปลว่า “ตะวันออก” ซึ่งหมายความว่าเมืองทางทิศตะวันออกของประเทศไทย จากหลักฐานดั้งเดิมตามพระราชพงศาวดารไทยปรากฏเรียกชื่อนี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย แต่มักเรียกกันว่า “เมืองปราจิณ” แต่จากหนังสือประชุมพระราช-นิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี เรียก “เมืองประจิม” บางที่ก็เรียกว่า “เมืองปัจจิม” ซึ่งคำว่า “ปัจจิม” แปลว่า เมืองทางทิศตะวันตก ซึ่งคงหมายความถึงอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยนั่นเอง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ยังคงเรียกกันว่า “เมืองปราจิณ” เมื่อประเทศไทยมีการปกครองส่วนภูมิภาคแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองปราจีนเป็นที่ตั้งของมณฑลปราจีณครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วประเทศ ดังนั้นทำเนียบรายชื่อของจังหวัดทั่วประเทศ จึงมีคำว่า “จังหวัดปราจีนบุรี” อยู่ในทำเนียบของกระทรวงมหาดไทย
สำหรับที่ตั้งของเมืองปราจีนบุรีนั้น ในประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงว่าตั้งอยู่ที่ใด แต่พอจะอนุมานตามเหตุผลที่พอจะเชื่อถือได้คือ ในสมัยอยุธยาตอนปลายต่อกับสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตาก-สินมหาราชในขณะนั้นรับราชการเป็นพระยาวชิรปราการ ได้ชักชวนสมัครพรรคพวกทั้งชาวจีนและชาวไทยแหวกวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้ ได้เดินทางหลบหนีพม่ามาจนถึงบ้านพรานนก เมืองนครนายก จึงให้บรรดาทหารที่หลบหนีมาด้วยทั้งไทยและจีนออกหาเสบียงอาหาร ฝ่ายทหารของพม่าที่รักษาเมืองปราจิณ อยู่ที่บางคางได้ทราบข่าวการหลบหนีของพระยาวชิรปราการ จึงยกกำลังมาปราบปรามเกิดปะทะกัน ปรากฏว่าฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ ซึ่งข้อความในตอนนี้บ่งไว้ชัดเจนว่า "บางคาง แขวงเมืองปราจิณ" ซึ่งในคำภาษาจีนภาษาแต้จิ๋วออกเสียงเรียกเมืองปราจิณ ว่า "มั่งคั้ง" ซึ่งหมายถึง    "บางคาง" นั่นเอง ดังนั้นคาดว่าเมืองปราจีนบุรีเดิมนั้นคงตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านบางคางอย่างแน่นอน เพราะนอกจากสถานที่นี้แล้ว ก็ไม่ปรากฏซากเมืองในที่อื่นใด (สำหรับซากเมืองโบราณที่โคกวัด ตำบลโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี นั้นเป็นซากเมืองโบราณที่สันนิษฐานว่ามีในสมัยขอม คือ เมืองอวัธยปุระ หรือ เมือง มโหสถ ซึ่งต่อมาได้เสื่อมโทรมลงซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป และคงจะย้ายมาอยู่ในบริเวณบ้านบางคางนี้) และจากการสำรวจก็พบซากและร่องรอยให้เห็นว่า ปราจีนบุรี นั้น เดิมตั้งอยู่ที่บางคาง เพราะบริเวณใกล้ๆ วัดบางคาง (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) ยังแลเห็นปรากฏเป็นโคกเป็นเนินอยู่บ้าง ต่อมาได้มีผู้ขุดพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปสมัยอยุธยา (ขณะนี้อยู่ที่พระครูศีลวิสุทธาจารย์ วัดสง่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) แม้ในปัจจุบันซากและร่องรอยต่างๆ จะถูกทำลายไปบ้าง แต่ก็ยังมีเค้าเป็นชัยภูมิที่ตั้งเมืองพอจะสังเกตเห็นได้บ้าง และหลังต่อจากนั้นก็คงจะย้ายตัวเมืองมาตั้งอยู่บริเวณกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี
ในปัจจุบัน ซึ่งห่างจากแม่น้ำปราจีนบุรี ประมาณ ๒๐๐ เมตร และบริเวณนี้ก็ยังคงมีซากกำแพงเมือง
บางส่วนหลงเหลืออยู่ ส่วนอื่นๆ ไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว
จากข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสถานที่ตั้งเมืองปราจีนบุรี ทั้งบริเวณบ้านบางคาง และกองกำกับตำรวจภูธร จังหวัดปราจีนบุรีนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าเป็นไปได้คือ บริเวณทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างจากแหล่งน้ำทั้งนี้เพราะในการตั้งบ้านเรือน การสร้างเมืองของไทยแต่โบราณแล้วจะนิยมยึดถือในแนวทางเดียวกัน คือ ให้อยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ เพื่อประกอบอาชีพในการเพาะปลูก ทำนาและการคมนาคม
สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
   จากการศึกษาและค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ได้พบว่า จังหวัดปราจีนบุรีเคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ อาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรอีศานปุระ อาณาจักรลพบุรี ซึ่งแต่เดิมเคยมีชื่อตามหลักศิลาจารึกว่า "เมืองอวัธยปุระ" "เมืองพระรถ" หรือ "เมืองมโหสถ" ทั้งนี้ จากหลักฐานรายงานของชุมนุมวัฒนธรรมโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร" ได้บันทึกไว้ดังต่อไปนี้ "…..เมืองอวัธยปุระ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) …..นอกจากเมืองโบราณและโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนาดใหญ่และสวยงาม อันแสดงให้เห็นถึงระดับความเจริญแล้ว ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ อันเป็นที่ตั้งของเมือง ยังแสดงให้เห็นชัดมีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคม…..ในทางภูมิศาสตร์ เมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๓๐ ํ ๕๓' ๓๐'' เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๑  ๒๕ ' ตะวันออก ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างรี ….ภายในเมืองมีโคกเนินที่เป็นศาสนสถาน ทั้งที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐหลายแห่ง ซึ่งล้วนมีขนาดใหญ่ ….บริเวณเหล่านี้มีเศษกระเบื้องเกลื่อนกลาด เศษกระเบื้องที่พบมีหลายสมัย นับตั้งแต่สมัยทวาราวดี ลพบุรี จนถึงสุโขทัยและอยุธยา…ที่เมืองอวัธยปุระนี้ การชลประทานเพื่อกักน้ำไว้ใช้เจริญมาก …..บริเวณเมืองอวัธยปุระได้พบหลักศิลาจารึกที่เนินสระบัว ตำบลโคกปีบ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี มีข้อความว่า …..มหาศักราช ๖๘๓ ปีฉลูนักษัตร แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ วันพุธ (ตรงกับ พ.ศ. ๑๓๐๔)"
   จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับซากโบราณ ศาสนสถาน ตลอดจนที่ตั้งตามตำแหน่งภูมิศาสตร์ทำให้เป็นแนวทางสันนิษฐานได้ว่า เมืองอวัธยปุระ "เมืองพระรถ" เมืองมโหสถ หรือเมืองปราจีนบุรีในปัจจุบัน ได้เกิดขึ้นในอาณาจักรสุวรรณภูมิ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๓๐๐ ปี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งอินเดีย ได้จัดส่งพระเถระ ๒ รูป คือ พระโสณะ และพระ-    อุตระ เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ลัทธิหินยาน ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งในพุทธศาสนา จึงอุบัติขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ และเจริญรุ่งเรืองสืบมาซึ่งจะเห็นได้จากโบราณวัตถุต่างๆ เป็นต้นว่า รูปธรรมจักรและกวาง สถูปศิลา พระพุทธรูปปางต่างๆ อันหมายถึง อุเทสิกะเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้พันธุ์มาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย อันหมายถึง บริโภคเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเมืองนี้
ตลอดมา ต่อมาเมืองอวัธยปุระได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรฟูนันระยะหนึ่ง จนกระทั่งจวบถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรทวาราวดีได้มีอำนาจในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยสืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรสุวรรณภูมิ และได้แผ่อำนาจมาถึงเมืองอวัธยปุระ จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรทวาราวดีถึงจุดเสื่อม และล่มจมลง เมืองอวัธยปุระจึงต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักร
อีศานปุระ (อาณาจักรเจนละ) และจากหลักฐานการค้นพบศิลาจารึกที่บริเวณเนินสระบัว ตำบลโคกปีบ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจารึกเป็นตัวอักษรขอมโบราณ จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าเมืองอวัธย-ปุระ น่าจะมีชนชาติขอมอาศัยอยู่ด้วย และนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เมืองอวัธยปุระในสมัยนี้มีสภาพเป็นหัวเมืองใหญ่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการปกครอง ทั้งได้ถ่ายทอดคติความเชื่อในพุทธ-ศาสนาลัทธิมหายานและศาสนาพราหมณ์ นิกายต่างๆ เริ่มแพร่หลาย ดังนั้นพระพุทธรูปในลัทธิมหายานและรูปศิวลึงค์ เทวสถาน อันเป็นเครื่องหมายแทนรูปเคารพตามคติความเชื่อในสมัยนั้น จึงปรากฏร่องรอยทิ้งซากปรักหักพังให้เห็นดังในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์โบราณคดี กำหนดเรียกศิลปโบราณวัตถุที่ขุดพบในจังหวัดปราจีนบุรี และแถบตะวันออกของประเทศไทยว่า "กลุ่มของโบราณดงศรีมหาโพธิ" ศิลปโบราณวัตถุดังกล่าวนี้เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา
   ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ อาณาจักรลพบุรีเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม ได้แผ่ขยายอาณาเขตไปทั่วคาบสมุทรอินโด-จีนตลอดแหลมสุวรรณภูมิ เมืองอวัธยปุระ หรือ เมืองศรีมโหสถ จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจด้วย เข้าใจว่ายังคงความสำคัญอยู่แต่ไม่อาจทราบสถานภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจได้แน่ชัด
สมัยสุโขทัย
   ในสมัยสุโขทัยไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงเมืองอวัธยปุระ (ศรีมโหสถ) หรือเมืองปราจีนบุรี เข้าใจว่ามิได้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสุโขทัย หรือยังอยู่ในอำนาจขอม แต่ก็ได้พบเครื่องสังคโลกในบริเวณชุมชนโบราณ
สมัยกรุงศรีอยุธยา
   เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยในปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ ทรงนำแบบแผนการปกครองและวิธีการทหารมาจากกรุงสุโขทัย ทรงกำหนดให้มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในขึ้น สำหรับป้องกันราชธานีทั้ง ๔ ทิศ และกำหนดให้เมือง    ปราจิณเป็นหัวเมืองชั้นในด้านตะวันออก ขึ้นอยู่ในอำนาจของเจ้าพระยาจักรี ตำแหน่งสมุหนายก เมือง ปราจิณ จัดเป็นหัวเมืองชั้นโท เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระยา
   ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการปกครองกรุงศรีอยุธยาใหม่ คือ ทรงจัดแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองชั้นใน และแบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้นๆ คือ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และชั้นจัตวา เมืองปราจิณ ถูกกำหนดให้เป็นเมืองจัตวา (ชั้น ๔) ใช้ขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ พระ หรือ พระยา ปกครอง
   ล่วงมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นหลายเมืองด้วยกัน เมือง  ปราจิณถูกตัดแบ่งแยกอาณาเขตจากเดิมจัดตั้งเป็นเมืองใหม่เพิ่มขึ้น คือ ท้องที่เขตเมืองปราจิณทางด้านใต้ กับท้องที่เมืองชลบุรีด้านเหนือ ตั้งเป็นเมืองใหม่ คือ เมืองฉะเชิงเทรา* ในสมัยสมเด็จพระมหา-   จักรพรรดินี้ พระเจ้าแปรกษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมารุกรานไทย เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าหลายครั้ง ฝ่ายพระยาละแวกถือโอกาสที่ไทยมีศึกสงครามจึงยกกองทัพมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองปรา-
จิณ และหัวเมืองด้านตะวันออกไปเป็นจำนวนมาก หลังจากสงครามพม่าสงบลงแล้ว สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิ จึงโปรดให้พระยาพะเยาเป็นแม่ทัพยกทัพไปตีเมืองละแวก พระยาละแวกเห็นว่าจะสู้ไม่ได้จึงขอยอมรับผิด ยอมอ่อนน้อมขอเป็นเมืองออกถวายเครื่องบรรณาการ และนำครอบครัวชาวไทยที่กวาดต้อนไปจากเมืองปราจิณกลับคืน
   ในสมัยของพระมหาธรรมราชา กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บ้านเมืองบอบช้ำจากพิษสงคราม เขมรฉวยโอกาสส่งกองทัพมารุกรานหัวเมืองต่างๆ ของไทยหลายครั้ง เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๒๘ พระยาละแวกได้ยกกองทัพมาช่วยโดยเดินทางมาทางด่านเมือง ปราจิณ ครั้งนี้กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ต่อมาพระยาละแวกเริ่มเอาใจออกห่าง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๑๓๐ พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง ทรงยกกองทัพใหญ่เข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก ฝ่ายพระยาละแวกเมื่อทราบว่าไทยมีศึกกับพม่า จึงแต่งทัพเข้ามาตีหัวเมืองทางภาคตะวันออกของไทย ตีเมืองปราจิณแตก พระยาศรีไสยณรงค์และพระยาสีหราชเดโช ยกทัพออกไปตีต้านทัพทางด้านหณุมาน (ปัจจุบันคืออำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และทางด่านพระจารึกหรือด่านพระกริศ (เข้าใจว่าอยู่ในเขตอำเภอวัฒนา-นคร จังหวัดปราจีนบุรี) และแล้วจึงยกทัพกลับมาตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองปราจิณ จนกระทั่งพม่าเลิกทัพแล้วจึงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
   ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง ทรงร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ปรับปรุงกองทัพไทยให้เข้มแข็ง หลังจากสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยาไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ณ เมืองแครง ใน พ.ศ. ๒๑๒๗ พระยาละแวกได้ขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา
   พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้จัดเตรียมทัพเพื่อยกเข้าตีกรุงกัมพูชา ทรงสั่งให้เจ้าเมืองทางหัวเมืองด้านตะวันออก ๔ หัวเมือง คือ พระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา และ พระสระบุรี ตั้งค่ายขุดคู ปลูกยุ้งฉางลำเลียงไว้ที่ตำบลทำนบ และให้รักษาฉางข้าว พ.ศ. ๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพหลวงไปตีเมืองละแวก ต่อมาโปรดให้    พระยาปราจิณ พระยานครนายก และพระวิเศษเข้าร่วมกระบวนทัพหลวง และโปรดให้พระยาปราจีนตั้งกองรวบรวมเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์พร้อมด้วยทหาร ๓,๐๐๐ คน ในที่สุดก็สามารถตีกรุงกัมพูชาเป็นผลสำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้ตั้งพิธีปฐมกรรม และประหารชีวิตพระยาละแวก หลังจากนั้นมาราษฎรเมืองปราจิณก็อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ถูกรบกวนจากพวกเขมรอีก
   จวบจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏว่าเกิดเรื่องยุ่งยากในการสืบราชสมบัติ เนื่องจากพระราชโอรสไม่สามัคคีปรองดองกัน (โอรสทั้ง ๓ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศ) และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร) และพระโอรสเกิดจากพระสนม ๔

* ความนี้ปรากฏในหนังสือแสดงบรรยายพงศาวดารสยามของสมเด็จกรมดำรงราชานุภาพ
พระองค์ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี) ต่อมาพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้รับพระราชอาญาให้ประหารชีวิตเนื่องจากลักลอบเป็นชู้กับพระสนม ส่วนราชโอรสองค์กลางคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศ) นั้น พระปรีชาและพระอุปนิสัยไม่เหมาะแก่การปกครองบ้านเมือง โปรดให้ออกผนวชและทรงแต่งตั้งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นอุปราช เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร ต่อมากรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทร-เทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี คบคิดกันช่วงชิงราชสมบัติแต่ไม่สำเร็จ ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ หลังจากนั้นพระเจ้าอุทุมพรทรงถวายราชสมบัติให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือเรียกกันว่าขุนหลวงขี้เรื้อน ส่วนพระเจ้าอุทุมพรเมื่อมอบราชสมบัติให้แก่พระเชษฐาแล้ว ก็ทรงออกผนวชและก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๓๐๙ ปีจอ กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งถูกพระเจ้าเอกทัศ เนรเทศไปอยู่เมืองจันทบุรีได้ชักชวนรวบรวมกำลังจัดกองทัพมาช่วยรบพม่าซึ่งขณะนั้นกำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ กองทัพได้ยกกำลังมาถึงเมือง  ปราจิณ และให้นายทองอยู่น้อย เป็นแม่ทัพหน้ายกพลไปตั้งมั่นอยู่ปากน้ำโยทะกา แขวงเมืองนครนายก ต่อมาพม่าได้ยกกองทัพมาตีทัพหน้าของกรมหมื่นเทพพิพิธแตกพ่ายไป กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเสด็จหนีไปยังเมืองนครราชสีมา จากเหตุการณ์ที่กรมหมื่นเทพพิพิธได้ชักชวนกำลังราษฎรไปรบกับพม่าช่วย  กรุงศรีอยุธยาและได้ยกกองทัพมาถึงเมืองปราจิณนั้น คาดว่าบรรดาชายฉกรรจ์ของเมืองปราจิณ ซึ่งมีเลือดรักชาติและเป็นนักรบอยู่แล้ว คงอาสาร่วมรบพม่าในครั้งนี้ด้วยเป็นแน่แท้
สมัยกรุงธนบุรี
   หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว พม่าตั้งใจจะมิให้ไทยตั้งตัวได้อีก จึงเผาผลาญทำลายปราสาทราชวัง วัดวาอาราม ตลอดจนบ้านเรือนของราษฎรเสียหายยับเยิน ทั้งยังกวาดต้อนผู้คนเก็บทรัพย์สมบัติไปจนหมดสิ้น กรุงศรีอยุธยาซึ่งเคยเป็นราชธานีของไทยที่ยืนยาวมาหลายร้อยปี ก็ถึงกาลพินาศล่มจมนับพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยารวมทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์
   จากข้อความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า “…..พม่ายกทัพเรือออกไปตีเมืองปราจิณแตก…..” ก็แสดงให้เห็นว่า ในการสงครามครั้งนี้ เมืองปราจิณต้องถูกพม่าทำลายบ้านเมืองด้วย และคงกวาดต้อนราษฎรไปด้วยเป็นอันมาก จากซากกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองปราจิณซึ่งถูกกองทัพพม่าบุกยึดเมืองได้ คงถูกทำลายเสียหายย่อยยับเช่นเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา
   ในช่วงเหตุการณ์ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ นี้ เมืองปราจิณได้มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือ พระยาตาก ขณะนั้นเป็นพระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งชาวไทยและชาวจีน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกมาได้ขณะหยุดประทับ ณ บ้านพรานนก ความทราบถึงกองกำลังของทหารพม่าซึ่งตั้งมั่นรักษาเมืองปราจิณอยู่ที่บ้านบางคาง (ปัจจุบันคือบ้านบางคาง ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวัน-ตกห่างจากตัวเมืองปราจิณประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ จึงนำกำลังไปปราบปราม ปะทะกับทหารไทย-จีน ของพระยาตากที่ออกมาหาเสบียงอาหาร ผลปรากฏว่าฝ่ายพระยาตากได้รับชัยชนะ ทำให้พระยาตากเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาชาวไทยทั่วๆ ไป และเป็นที่ยำเกรงของพม่า ตลอดจนหมู่คนไทยจากชุมนุมต่างๆ ต่อมาพระยาตากได้ยกกองทัพมาถึงเมืองปราจิณ ข้ามแม่น้ำปราจีนบุรีที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันคือ วัดกระแจะ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วเดินทัพตัดออกทางบ้านคู้ลำพัน (ตำบลคู้ลำพัน อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) และหยุดพักไพร่พลเพื่อหุงหาอาหารทางด้านฟากตะวันออกที่ชายดงศรีมหาโพธิ (บริเวณลานต้นโพธิ์ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) หลังจากนั้นก็เดินทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี ต่อไปจนถึงเมืองระยองเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จยึดเป็นที่มั่นรวบรวมซ่องสุมกำลังเพื่อกู้ราชธานี กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
ท้ายที่สุดพระยาตาก* ก็รวบรวมและปราบปรามชุมนุมต่างๆ จนราบคาบและสามารถกู้      อิสรภาพให้พ้นจากอำนาจของพม่าได้ ดังนั้นในวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ พระยาตากจึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ซึ่งปัจจุบันได้ถวายพระราชสมญาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น พระราชพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองปราจิณเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทั้งนี้ เพราะในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นช่วงระยะฟื้นฟูประเทศ ตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ถ้าไม่ทำสงครามกับพม่าก็ต้องปราบปรามชุมนุมต่างๆ ของไทย เพื่อรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยของพระบริหารเทพธานี ได้เขียนไว้ว่าใน พ.ศ. ๒๓๑๒ พระรามราชาเกิดผิดใจกับพระนารายณ์ราชา พระรามราชากษัตริย์ของเขมร จึงขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดฯ ให้พระยาโกษาธิบดี (ล่าย) ยกทัพไปปราบพระนารายณ์ราชา พระยาโกษาธิบดียึดได้เมืองพระตะบอง เสียมราฐ กลับมาได้ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ ในการปราบเขมรครั้งนี้ เมืองปราจิณซึ่งเป็นหัวเมืองชายแดนทางตะวันออกคงถูกเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปร่วมสงครามด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏในสำเนาท้องตรา พ.ศ. ๒๓๑๖ ว่า พระปราจิณบุรีได้มีท้องตราแจ้งว่าพม่าและลาวยกพลมาตั้งที่ตำบลท่ากระเล็บนอกด่านพระจารึก จึงได้โปรดให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกไปช่วยรบ จึงอาจสรุปได้ว่าเมืองปราจิณคงได้รับการบูรณะ
ในฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของกรุงธนบุรี และคงอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านทางด้านเขมรจวบจนสิ้นสมัยกรุงธนบุรี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของไทย ไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวข้องกับเมืองปราจิณมากนัก ทั้งนี้เพราะเขมรถูกญวนรุกราน และกองทัพไทยก็ปราบปรามเขมรจนราบคาบ จะมีก็แต่ในช่วงที่กรุงธนบุรีเกิดเหตุการณ์จราจล เพราะเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงเสด็จกลับกรุงธนบุรีเพื่อปราบปรามการจราจลและจัดการพระนครนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ให้กองทัพไปล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ที่เมืองพุทธไธเพชร แต่กรมขุนอินทร-พิทักษ์สามารถตีหักออกจากที่ล้อมได้ ยกกำลังหนีไปเมืองปราจิณ ต่อมาถูกจับกุมได้และถูก
ประหารชีวิต สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์และได้มีการถวายพระนามว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #28 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:21:43 »

ปราจีนบุรี ๒
จากที่ได้กล่าวมาแล้วถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองปราจิณ ในสมัย     รัตนโกสินทร์ก็ไม่มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองปราจิณมากนัก ทั้งนี้เมืองปราจิณเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกที่จัดว่าสำคัญ เพราะเป็นทางผ่านในการเดินทัพไปมาระหว่างการสงครามไทยกับเขมร คือ เขมรคอยหาโอกาสและจังหวะที่ไทยอ่อนแอ หรือเกิดความจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง ยกกองทัพมาซ้ำเติมและกวาดต้อนผู้คนบริเวณหัวเมืองชายแดนไทย ซึ่งจากเหตุผลนี้คาดว่าครอบครัวและราษฎรไทยในเมืองปราจิณ ก็คงจะถูกกวาดต้อนไปบ้างและในกรณีที่ไทยยกกองทัพไปปราบปรามเขมร เนื่องจากเขมรแข็งเมืองบ้าง เขมรทะเลาะวิวาทกันเองบ้าง ราษฎรในเมืองปราจิณก็ต้องถูกเกณฑ์ไปรบด้วย สำหรับเมืองปราจิณมีด่านสำคัญอยู่ด่านหนึ่งคือ "ด่านหณุมาน" (ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นด่านหน้าสำหรับคอยป้องกันเขมรทางด้านตะวันออก คำว่าหณุมาน เป็นทั้งชื่อด่านและแควลำน้ำหณุมาณด้วย เป็นแควน้อยที่คู่กับแควใหญ่ เรียกว่า "แควพระปรง" สำหรับด่านหณุมานนี้สันนิษฐานว่าตั้งมาก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี เพราะในสมัยนี้ได้ยกฐานะด่านหณุมานตั้งเป็นเมืองกบินทร์บุรีขึ้น (ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เปลี่ยนเป็นอำเภอกบินทร์-บุรี) และในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ โปรดให้ยกฐานะบ้านที่เป็นชุมชนหนาแน่นเป็นเมือง ขึ้นกรมมหาดไทย คือ เมืองประจันตคาม เมืองกบินทร์บุรี เมืองอรัญประเทศ เมืองวัฒนานคร ฯลฯ
   และเมื่อครั้งเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทน์ เป็นกบฏในสมัยรัชกาลที่ ๓ ราว พ.ศ. ๒๓๖๘ ทรงโปรดให้กรมหมื่นสุรินทร์รักษ์ เป็นจอมทัพไปปราบปราม กรมหมื่นสุรินทร์รักษ์ได้ตั้งประชุมพลที่เมือง
ปราจิณและยกกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ เป็นผลสำเร็จ
   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเขมร ในการเดินทัพครั้งนี้ กองทัพได้เดินทางออกจากพระนคร ผ่านบ้านบัวลอยและหยุดทัพพักกองเกวียนอยู่ที่บ้านบัวลอยแห่งนี้ และเดินทางต่อไปโดยพักที่บ้านกระโดน อำเภอกบินทร์บุรี โดยได้ตัดถนนจากกบินทร์บุรีไปจนถึงเมืองพระตะบอง เมื่อเสร็จศึกเขมรแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านกระโดน อำเภอกบินทร์บุรี ให้ชื่อว่า "วัดพระยาทำ" (ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี) และบริเวณที่เดินทัพมาถึงบริเวณที่ตั้งวัดแจ้งในปัจจุบัน ก็เป็นเวลารุ่งแจ้งพอดี จึงได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณดังกล่าว เรียกว่า "วัดแจ้ง" (ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในอำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) สำหรับบริเวณที่หยุดพักเกวียนที่บริเวณบ้านบัวลาย ให้สร้างวัดขึ้นเรียกว่า “วัดโรงเกวียน” (ปัจจุบันคือ วัดอุดมวิทยาราม (โรงเกวียน) แล้วจึงยกกองทัพกลับพระนคร สำหรับถนนที่ตัดจากกบินทร์ไปจนถึงเมืองพระตะบองเพื่อไปปราบเขมรนั้น บัดนี้ยังคงอยู่ เรียกว่า “ถนนเจ้าพระยาบดินทร์”
                 ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมือง   ปราจิณมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี บรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองคือ “พระ” ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) มาควบคุมการทำเหมืองทองที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ผู้บุตร เป็นข้าหลวงเมือง ปราจิณ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระปรีชากลการ เพื่อช่วยทำเหมืองทองคำ พระปรีชากลการได้สมรสกับ มิสแฟนนี่ น๊อกซ์ ธิดาของเซอร์โธมัส ยอร์ช น๊อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ต่อมาพระปรีชากลการถูกราษฎรร้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าฉ้อโกงเงินหลวง กระทำทารุณกรรมราษฎรด้วยความไม่เป็นธรรมหลายประการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะกรรมการตุลาการขึ้นชำระความ ปรากฏว่าพระปรีชากลการมีความผิดตามที่ราษฎรร้องเรียน จึงจับตัวพระปรีชากลการสอบสวน เซอร์โธมัส ยอร์ช น๊อกซ์ ขอร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวพระปรีชากลการ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงโทรเลขเรียกเรือรบอังกฤษเข้ามาในน่านน้ำไทยเพื่อข่มขู่รัฐบาล รัฐบาลไทยจึงส่งคณะทูตพิเศษออกไปเจรจาความกับรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าการกระทำของกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยไม่เป็นการสมควร จึงเรียกเรือรบกลับและมีคำสั่งให้เซอร์โธมัส ยอร์ช น๊อกซ์ พ้นจากตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ดังนั้นคณะลูกขุนตุลาการของศาลไทยจึงพิพากษาลงโทษประหารชีวิตประปรีชากลการ และจำคุกสมัครพรรคพวกอีกหลายคน
                  พ.ศ. ๒๔๓๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ปฏิรูปการปกครองประเทศไทย ส่วนภาคเป็นระบบมณฑล เทศาภิบาล มณฑลปราจีนมีที่ตั้งที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี มีหัวเมืองขึ้นอยู่ในความปกครอง คือ เมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี มีพลตรี พระยาฤทธิ์รงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก
                  ในสมัยนั้นเมืองปราจีนบุรีมีที่บัญชาการมณฑลเป็นตึก ๒ ชั้น ๔ หลัง หันเข้าบรรจบกันเป็น ๔ เหลี่ยม รูปคล้ายศาลายุทธนาธิการ กว้างขวางมาก ระหว่างกลางสามารถปลูกต้นไม้ทำเป็นสนามได้
                  สำหรับการปกครองในสมัยนั้น เมืองปราจีนบุรีแบ่งเขตการปกครองเป็น ๕ อำเภอ ๓ สาขา คือ
                  ๑. อำเภอเมือง
                  ๒. อำเภอบ้านสร้าง
                  ๓. อำเภอศรีมหาโพธิ แยกสาขาเป็นอำเภอท่าประชุม
                  ๔. อำเภอประจันตคาม
                  ๕. อำเภอกระบิล แยกสาขาเป็น อำเภอวัฒนา ๑ อำเภอสระแก้ว ๑
                  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟสายตะวันออกจากสถานีกรุงเทพ
(หัวลำโพง) ถึงสถานีแม่น้ำ จังหวัดฉะเชิงเทรา) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างต่อจนถึงสถานีอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี
                  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งกรมทหารราบที่ ๑๙ ขึ้น โดยจัดสร้างอาคารทหารทางด้านทิศตะวันออกของศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (บริเวณริมเรือนจำในปัจจุบัน) ถึงคลองดักรอบ (ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลปราจีนบุรี โรงเรียนปราจีนกัลยาณี โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง และวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรีในปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายกรมทหารไปตั้งใหม่ที่ดงพระรามให้ชื่อว่า “ค่ายจักรพงษ์” มณฑลทหารบกที่ ๒ เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
                   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เปลี่ยนจาก “เมือง” เป็น “จังหวัด” และใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปราจีน ดังนั้นในทำเนียบรายชื่อจังหวัดในประเทศไทย จึงปรากฏเป็น “จังหวัดปราจีนบุรี” ซึ่งหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย



ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดปราจีนบุรี. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์หอรัตนชัยการ    พิมพ์, ๒๕๒๙.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #29 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:22:21 »

ประจวบคีรีขันธ์
ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันนี้ มีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนนักบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบแสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเพียงทางผ่านทางการเดินทัพทั้งทัพไทยและทัพพม่า และเนื่องจากพม่าเดินทางเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกันทำให้อาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ทางศาสนาเป็นเพียงการสร้างขึ้นใช้ชั่วคราว เมื่อถูกโจมตีก็สูญหายไปเสียคราวหนึ่ง จึงไม่มีโบราณสถานถาวรใดๆ เหลืออยู่เช่นจังหวัดอื่นๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศ อย่างไรก็ตามหลักฐานเอกสารบางฉบับชี้ให้เห็นว่า ดินแดนแถบนี้เคยมีผู้คนตั้งบ้านเรือนมาช้านานแล้ว ซึ่งพอจะลำดับได้ดังนี้

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประวัติที่เล่าขานถึงความเป็นมาได้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันเคยมีผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยช้านานนับได้หลายศตวรรษ หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วัน วลิต  พ.ศ. ๒๑๘๒  (Van Vliet) พ่อค้าชาวฮอลันดา ซึ่งได้มาทำงานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาประมาณ ๙ ปี พ.ศ. ๒๑๗๖ - ๒๑๘๕ ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งวนาศรี สามนเสน แปลไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓  ความบางตอนกล่าวว่า
“ …..เป็นเรื่องราวที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด คือเมื่อประมาณสองพันปีมาแล้วพระโอรสของจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งถูกเนรเทศออกจากเมืองจีน เนื่องจากลอบปลงพระชนม์พระราชบิดา และจะยึดครองราชอาณาจักร พระราชโอรสและข้าราชการบริพารหลังจากรอนแรมไปตามที่ต่างๆ ในที่สุดก็มาขึ้นบกที่อ่าวสยามแหลมกุย (Guij) อยู่ห่างจากอำเภอกุยบุรีในปัจจุบัน ๖๐๐ เมตร ความเห็นของผู้แปลบันทึก และตั้งถิ่นฐานที่นั่น….”

สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ในพ.ศ. ๑๘๙๓ ดินแดนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในการปกครองด้วยเช่นกัน
พลตรีดำเนิร เลขะกุล บันทึกลงอนุสาร อ.ส.ท. (ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๑๕)   ว่าในแผนที่เดินทางของขบวนเรือรบจีนในบังคับบัญชาของเช็งโห หัวหน้าขันที ซึ่งพระเจ้ายุงโล้แห่งราชวงศ์เหม็งทรงส่งมาสำรวจประเทศตะวันตก และชื้อหาสิ่งฟุ่มเฟือยแปลกๆ เช่น เพชร พลอย ไม้หอม เครื่องเทศและสิ่งของหายากอื่นๆ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๗๔–๑๙๗๕  และศาสตราจารย์ พอล วิตลีย์ (Prof. Poul Wheatly)  ได้มาทำขึ้นใหม่นั้น ได้กำหนดตำบลหนึ่งลงบนบริเวณที่เป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนี้ไว้ด้วย และเขียนชื่อที่เรียกเป็นสำเนียงจีน (เขียนด้วยอักษรอังกฤษ) ว่า “พิ-เชียชาน” (Pi-Chia-Chari) แปลว่า “เขาสามยอด” (Triple Peak Mountain) สำเนียงจีนกลางมาจากการสอบถามอ่านว่าซันไป่เฟิง-ผู้เรียบเรียง) ใกล้เคียงกับ “เขาสามร้อยยอด” หรือ “เขาสามยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เป็นที่สังเกตและรู้สึกกันดีในระหว่างนักเดินเรือเป็นอย่างดี”
หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ลำดับรายชื่อหัวเมืองปักษ์ใต้ของกรุงศรีอยุธยาไว้ ดังนี้ “เมืองปราณ เมืองชะอัง เมืองนารัง (บางนางรม) เมืองบางตะพาน…”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ เล่าเรื่องสมัยสมเด็จพระนเรศวรไว้ว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าขอแล้วโยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเมืองตะ-นาวศรี เมืองทวาย แก้ตัวก่อน สมเด็จพระนพรัตก็ถวายพระพรว่า การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นสุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสมเคราะห์ ใช่กิจสมณะ แล้วสมเด็จพระนพรัตน์พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ พระราชกำหนดให้พระยาจักรีถือพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองตะนาวศรี ให้พระยาพระคลังถือพล ๕๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองทวาย….
พระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชดำริว่า นเรศร์ทำการศึกว่องไวหลักแหลมองอาจนักจนถึงยุทธหัตถีมีชัยแก่มหาอุปราชา เอกาทศรฐเล่าก็มีชัยแก่มังจาซะโร เห็นพี่น้องสองคนนี้จะมีใจกำเริบยกมาตีพระนครเราเป็นมั่นคง แต่ทว่าจะคิดเอาเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวายให้ได้ก่อนจำจะให้นายทัพนายกองและไพร่ซึ่งไปเสียทัพมานี้ ให้ยกลงไปรักษาเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท เมืองทวาย ไว้ให้ได้ศึกจึงจะไม่เถิงกรุงสาวดี
ฝ่ายเมื่อพระยาจักรียกมาเถิงแดนเมืองตะนาวศรี ตีบ้านรายทางกวาดผู้คนได้เป็นอันมาก แล้วยกเข้ามาล้อมเมืองตะนาวศรี ชาวเมืองรบป้องกันเป็นสามารถ ๑๕ วัน พระยาจักรีแต่งเข้าปล้นเมืองในเพลา ๑๐ ทุ่ม พอรุ่งขึ้นเช้าประมาณโมงเศษก็เข้าเมืองได้ ฝ่ายกองทัพพระยาพระคลังยกตีแดนเมืองทวาย ชาวทวายยกออกมารับก็แตกเสียเครื่องสัตราวุธล้มตายเป็นอันมาก พระยาพระคลังก็ยกเข้าไปพักพลตั้งค่ายริมน้ำฟากตะวันออกเหนือคลองละหามั่นแล้ว ก็ยกข้ามไปล้อมเมืองไว้ อยู่เถิง ๒๐ วัน ทวายจาเจ้าเมืองทวายเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้มิได้ ก็แต่งให้เจตองวุ่นกับวุ่นทก ออกไปขอออกเป็นข้าขอบขัณฑเสมา ถวายดอกไม้ เงินทอง
พระยาจักรี พระยาพระคลัง บอกข้อราชการเข้ามาให้กราบทูล
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ดีพระทัย ตรัสให้ตอบออกไปให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่รั้งเมืองตะนาวศรี ให้เอาทวายจาเข้ามาเฝ้า พระยาจักรี พระยาพระคลังจัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้วก็ให้ยกทัพกลับเข้ามาเถิด
พระยาจักรี พระยาพระคลังแจ้งดังนั้น ก็บอกลงไปเมืองตะนาวตามพระราชบรรหารทุกประการและให้ทวายจาเป็นเจ้าเมืองอยู่ดังเก่า     ให้จัดชาวเมืองทวายเป็นที่ปลัดชื่อออกพระปลัดผู้หนึ่ง ให้ยกเป็นกระบัตรชื่อออลังปลังปลัดผู้หนึ่ง เป็นที่นาชื่อออละนัดผู้หนึ่ง เป็นที่วังชื่อคงปลัดผู้หนึ่ง เป็นที่คลังชื่อออเมงจะดีผู้หนึ่ง เป็นที่สุดชื่อคงแวงทัดคงจำเป็นที่เมือง ครั้นตั้งแต่งขุนหมื่นผู้ใหญ่ผู้น้อย และจัดแจงบ้านเมืองเป็นปกติเสร็จแล้ว ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระยาจักรี พระยาคลัง ก็พาเอาตัวทวายจาเจ้าเมือง กับผู้มีชื่อซึ่งตั้งไว้ ๖ คนนั้นเข้ามาด้วย ขณะนั้นยกกองทัพมาโดยมองสอย เถิงตำบลภูเขาสูงช่องแคบ แดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทวายต่อกันหาที่สำคัญมิได้จึงให้เอาปูนในเต้าแห่งไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอก่อเป็นพระเจดีย์ฐานสูง ๖ ศอก พอหุงหาอาหารสุกสำเร็จแล้ว   ยกทัพเข้ามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยาเข้าเฝ้ากราบทูล”
“ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ อัฐศก (จ.ศ. ๙๔๘ พ.ศ. ๒๑๒๙) กรมการเมืองกุยบุรีบอกเข้ามาว่า พระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งให้ไปรั้งเมืองตะนาวศรีเป็นกบฏ โกษาธิบดีกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณายังแคลงอยู่ จึงโปรดให้มีตราแต่งตั้งข้าหลวงออกไปหา พระยาตะนาวศรีก็มิมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จึงให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จพระราชดำเนินยกทัพออกไป และสมเด็จพระอนุชา เสด็จออกไปครั้งนั้น พล ๓๐,๐๐๐ ช้างเครื่อง ๓๐๐ ม้า ๕๐๐ ทัพปักษ์ใต้เมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี ๖ เมือง คน ๑๕,๐๐๐ ชุมทัพตำบลบางตะพานเดินทัพทางสิงขรฝ่ายพระยาตะนาวศรีรู้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐ-อิศวรบรมนาถ บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา ก็คิดเกรงพระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก จะหนีก็หนีไม่พ้น จะแต่งทัพออกรับก็เหลือกำลัง จนสิ้นคิดแล้วก็นิ่งรักษามั่นไว้…”
“เถิงเดือน ๙ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรฐ) ก็เสด็จออกจากเมืองเพชรบุรี (เสด็จมาประพาสอยู่ที่เมืองเพชรบุรีก่อน) โดยชลมารคเสด็จไปประพาสถึงตำบลสามร้อยยอด และตั้งพระตำหนักแถบฝั่งพระมหาสมุทร จึงเสด็จลงพระสุพรรณวิมานนาวาอันอลงกตรจนาธิการประดับ สรรพด้วยเครื่องพิชัยศัสตราวุธมหิมา และเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิธิโยธาทหารโดยเสด็จแห่ห้อมล้อมดาดาษในท้องมหาอรรณพสาคร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จออกไปประพาสภิรมย์ชมฝูงมัสยากร อันมีนานาพรรณในกลางสมุทร ก็ทรงเบ็ดทองได้ฉลามขึ้นมายังพระตำหนักพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จออกไปประพาสในกลางมหาสมุทรดังนั้นได้ ๑๔ วันวาน…”
ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ราว พ.ศ. ๒๑๔๖) มีหนังสือจากเมืองตะนาวศรีแจ้งไปกรุงศรีอยุธยาว่ากองทัพมอญและพม่ายกมาล้อมเมืองขอพระราชทานกองทัพไปช่วย พระเจ้าทรงธรรมตรัสให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพยกออกไป พอถึงด่านสิงขรก็ได้รับใบบอกจากนายทัพนายกองว่าเมืองตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (ราว พ.ศ. ๒๒๔๖) เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีและทรงดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระนเรศวร คือประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวง และเสด็จเลยลงไปถึงสามร้อยยอดเพื่อทรงเบ็ดฉลาม
ในสมัยสมเด็จพระบรมโกศ (ราว พ.ศ. ๒๒๙๐) เจ้าเมืองกุยมีหนังสือทูลว่ามีทองคำที่บางสะพานพร้อมทั้งส่งทองเข้าถวายด้วย ๓ ตำลึง จึงทรงเกณฑ์ไพร่ออกไป ๒,๐๐๐ คน ไปร่อนทองใช้เวลา ๕ ปี ได้ทอง ๙๐ ชั่งเศษ
ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (ราว พ.ศ. ๒๓๐๕) พระเจ้าอังวะยกทัพมาตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทรงให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า ทหาร ๓,๐๐๐ พระยาธารมาเป็นแม่ทัพ ทหาร ๒๐๐๐ และทหารหัวเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ธนบุรี และนนทบุรี ยกออกไปแต่พอถึงด่านสิงขรก็ทราบว่าเสียเมืองมะริด ตะนาวศรีแล้ว พระยายมราชจึงตั้งทัพอยู่ที่แกงตุ่ม ถูกพม่าตีแตกกลับเข้ามาถึงกุย ปราณ และถึงเพชรบุรี
ราว พ.ศ. ๒๓๐๗ กองทัพมาซึ่งมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกตีเรื่อยเข้ามาทางทวาย ระนอง ชุมพร คลองวาฬ กุย ปราณ จนถึงเพชรบุรี แต่ที่เพชรบุรีนี้ทัพพระยาพิพัฒโกษากับทัพของ พระยาตากยกมาจากกรุงศรีอยุธยาทัพรักษาเมืองไว้ได้ พม่ายกถอยไปทางด่านสิงขร

สมัยกรุงธนบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๗ ทางพม่าได้ยกทัพเข้ามาอีกโดยยกเข้ามาทางปากแพรก ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบางแก้ว กองหนึ่งคอยปล้นผู้คนแถวเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี อีกกองหนึ่งยกเข้าปล้นเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ขณะนั้นมีใบบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีว่า กองทหารที่เข้ามาทางเมืองมะริดได้เข้าปล้นค่ายทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ จึงโปรดให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี ให้ทำลายบ่อน้ำ หนองน้ำตามรายทางที่คิดว่ากองทัพพม่า จะยกมายังเมืองเพชรบุรีให้หมดสิ้น โดยให้เอาของสกปรกหรือยาพิษใส่ลงไปอย่าปล่อยให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายข้าศึกได้
สมัยกรุงธนบุรีเป็นช่วงการปกครองที่สั้นมาก ดังนั้นการเดินทางของกองทัพที่ผ่านไปมาในเส้นทางดินแดนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงไม่มีเรื่องราวปรากฏมากนัก และเมืองนารังก็เลิกร้างไป

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ เสด็จยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้งและถ้าตีได้ก็ให้เลยไปถึงเมืองอังวะเลยทีเดียว สมเด็จกรมพระราชวังบวรเสด็จทางด่านสิงขรไปตั้งต่อเรือรบอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “เมืองบางนางรม” ที่ปากคลองบางนางรม (บางฉบับเขียนบางนางรมย์) แต่ที่ดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่เมืองกุย ซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่นกว่า พื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าและเป็นเมืองเก่าแก่แต่คงใช้ชื่อเมืองบางนางรมตามเดิม สถานที่ตั้งบ้านเจ้าเมืองคือบ้านจวนบนจวนล่างในปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ความพอสรุปได้ว่าด่านสิงขรเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ส่งข่าวระหว่างประเทศพม่าและประเทศไทยโดยแขวนทิ้งไว้ตามต้นไม้ที่ปลายด่าน เพราะทั้งสองฝ่ายมีกองลาดตระเวนคอยตรวจตรา
การกำหนดหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ  แบ่งออกเป็น  ๔ ชั้น เรียกว่าเมืองเอก เมืองโท เมืองจัตวา หัวเมืองเอก โท ตรี มีเมืองขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่หัวเมืองจัตวาไม่มีเมืองขึ้น คาดว่าแรกๆ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองคลองวาฬ คงอยู่ในขั้นเมืองจัตวาหรือเป็นเมืองขึ้นของเพชรบุรีเท่านั้น ส่วนการตั้งเมืองบางนางรมนั้นเข้าข่ายเมืองจัตวา
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ (๒๓๖๗–๒๓๙๔) ไม่มีหลักฐานบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔–๒๔๑๑) โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองบางนางรม กุยบุรี เมืองคลองวาฬเป็นเมืองตั้งขึ้นใหม่ชื่อ "เมืองประจวบคีรีขันธ์”  (ประกาศใน พ.ศ. ๒๓๙๘) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ว่า “เมืองขึ้นกลาโหม เมืองคลองวาฬ แก้เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองท่าทองแก้เป็นเมืองกาญจนดิตถ์ รวม ๒ เมือง”
เมืองประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองตั้งใหม่ พระพิไชยชลสินธุ์ เมืองกำเนินนพคุณ พระกำเนินนพคุณผู้ว่าราชการเมือง แปลงว่า พระมหาสิงคคุณอดุลยสุพรรภูมารักษ์
พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณได้ว่า จะมีสุริยุปราคาหมดดวงและจะเห็นได้ในเมืองไทยที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ จึงทรงให้จัดเตรียมสถานที่โดยสร้างเป็นค่ายหลวงขึ้น แล้วพระองค์ก็เสด็จมาประทับทอดพระเนตรเป็นที่เอิกเกริก หัวเมืองที่กล่าวถึงในเอกสารหลักฐานสมัยนั้นมีเพียงปราณบุรีและประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น
ในรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงจัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาล โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองประจวบคีรีขันธ์ลงเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นเมืองเล็ก แต่ยังตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองกุย พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดให้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์จากเมืองกุยมาตั้งที่อ่าวเกาะหลักด้วยเป็นที่เหมาะสมกว่า และโอนจากกระทรวงกลาโหมไปขึ้นกับมหาดไทย แต่พอถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองปราณบุรี ซึ่งขึ้นกับเมืองเพชรบุรี อำเภอกำเนิดนพคุณซึ่งขึ้นกับชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมืองปราณบุรีเพื่อรักษาชื่อ “เมืองปราณบุรี” ไว้ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าเมืองปราณบุรีเป็นเมืองเก่าควรสงวนชื่อไว้ทรงพระราชทานนามเมืองที่ตั้งใหม่ว่า เมืองปราณบุรี มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับมณฑลราชบุรี ส่วนเมืองปราณเดิมก็ยังคงอยู่ที่ปากคลองปราณ (บ้านปากน้ำปราณปัจจุบัน)
ในรัชกาลที่ ๖ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงมีพระราชดำริว่าเมืองโบราณมีชื่อไม่ตรงกับชื่อสถานที่ตั้งเมือง เช่น เมืองปราณบุรีที่ตั้งอยู่เกาะหลัก กับเมืองปราณที่ตั้งอยู่ริมคลองปราณ (เมืองปราณย้ายจากปากน้ำปราณมาอยู่ที่ริมคลองใกล้ทางรถไฟในปี พ.ศ. ๒๔๕๙) นานไปจะเกิดการสับสนทางประวัติศาสตร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรี (ที่เกาะหลัก) เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์” และใช้ชื่อนี้มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ประจวบคีรีขันธ์ : ๒๕๒๘.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #30 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:22:47 »

ระยอง
เมื่อมองดูแผนที่ประเทศซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายขวานโบราณ ทางภาคตะวันออกเฉียง
ใต้อันเป็นส่วนหนึ่งของตัวขวานจะเป็นที่ตั้งของจังหวัดระยอง เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างสองเมืองใหญ่คือ ชลบุรีและจันทบุรี ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพมหานครไม่เกินสามชั่วโมงก็จะมาถึงเมืองระยอง เมืองที่มีมาแต่ครั้งโบราณมาแล้ว

ประวัติการก่อตั้ง
ระยองเริ่มมีชื่อปรากฏในพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๓ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนประวัติดั้งเดิมก่อนหน้านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่พอจะเชื่อถือได้ว่าระยองน่าจะเป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยของ ขอม คือ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๕๐๐ ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมมี   
อนุภาพครอบคลุมอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ มีเมืองนครธมเป็นราชธานี ขอมได้สร้างเมืองนครพนมเป็นเมืองหน้าด่านแรก เมืองพิมายเป็นเมืองอุปราชและได้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองสำคัญด้วย ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองนครธม เมืองหน้าด่านเมืองแรกที่ขอมสร้างก็คือ เมืองจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันนี้
เมื่อขอมสร้างจันทบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อนำเอาอารยะธรรมของขอมเข้ามาสู่แคว้น   ทวาราวดี ก็น่าจะอนุมานได้ว่าขอมเป็นผู้สร้างเมืองระยองนี้ แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  นักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่ได้ค้นพบ คือ ซากหินสลักรูปต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ที่บ้านดอน บ้านหนองเต่า ตำบลเชิงเนิน คูค่ายและซากศิลาแลงบ้านคลองยายล้ำ ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่ายซึ่งเป็นศิลปการก่อสร้างแบบขอม ทำให้สันนิษฐานว่าระยองน่าจะเป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยของขอมอย่างแน่นอน

ที่ตั้ง
ที่ตั้งของเมืองปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง ส่วนที่ตั้งดั้งเดิมนั้นหนังสือ "ตำนานเมือง" ของราชบัณฑิตยสภากล่าวไว้ว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าที่เดิมจะตั้งอยู่ในท้องที่ใด ได้ความเพียงว่าตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ปัจจุบันมีซากหินหลักรูปต่างๆ ศิลาแลงปรากฏให้เห็นอยู่ ขณะนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองเท่าใดนัก ขึ้นอยู่กับตำบลตาขัน ตำบลบ้านค่าย ต่อมาชายฝั่งทะเลได้งอกออกไปเรื่อยๆ จึงได้เลื่อนตัวเมืองตามลงไปตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง ในปัจจุบัน
จาก "นิราศเมืองแกลง" ของสุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึง "บ้านเก่า" ไว้ตอนหนึ่งว่า
"พอสิ้นดงตรงบากออกปากช่อง
ถึงระยองเหย้าเรือนดูไสว
แวะเข้าย่านบ้านเก่าค่อยเบาใจ
เขาจุดไต้ต้อนรับให้หลับนอน"
คำว่า "บ้านเก่า" นี้ คงจะหมายถึงหมู่บ้านเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองระยองในเวลานั้นนั่นเอง สุนทรภู่ได้แวะพักเอาแรงที่บ้านเก่า ๒ คืนก่อน แล้วจึงออกเดินทางต่อไปยังบ้านนาตาขวัญ บ้านแลง ผ่านไปเรื่อยจนกระทั่งถึงบ้านกร่ำ อำเภอแกลง (ในสมัยนั้นเป็นเมืองแกลง) เพื่อไปพบกับบิดาซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั้น

ที่มาของคำว่า "ระยอง"
มีผู้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชื่อนี้เป็นหลายกระแส คือ
๑. ตำบลท่าประดู่อันเป็นที่ตั้งของตัวเมืองในขณะนี้ แต่เดิมเป็นที่อาศัยของพวกชอง ซึ่งตั้งรกรากอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมอยู่ในแถบระยอง จันทบุรี ชนเผ่านี้มีความชำนาญในป่าเขาลำเนาไพรและมีภาษาพูดของตนเอง เป็นชนพื้นเมืองที่นิยมใช้ลูกปัดสีต่างๆ และทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ สืบเชื้อสายมาจากพวกขอม (นักชาติวงศ์วิทยาจัดให้อยู่ในพวกมอญ-เขมร) อันนี้ทำให้น่าคิดว่า คำว่า ระยอง ตะพง เพ แลง ชะเมา แกลง ซึ่งเป็นชื่อเมือง ตำบลและอำเภอ ซึ่งไม่มีคำแปลในพจนานุกรมไทย ก็น่าจะมาจากภาษาชองนี่เอง จากเรื่อง "อาณาจักรชอง ตอนหนึ่ง" ของแก่นประดู่กล่าวไว้ว่า "ผู้เฒ่าผู้แก่วัยหนึ่งศตวรรษ หลายต่อหลายคนต่างก็ยืนยันในคำพูด อยู่ในทำนองเดียวกันว่าระยองเป็นภาษาพูดคำหนึ่งของคนเผ่าชอง ซึ่งเดิมเรียกกันว่า "ราย็อง" (เวลาอ่านต้องอ่านออกเสียงตัว รา ให้ยาวหน่อย และออกเสียงตัว ย็อง ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้) คำ "ราย็อง" นี้ เล่ากันมาแปลว่า "เขตแดน" หมายถึงว่าเป็นดินแดนของพวกชองอยู่ แต่ภาษาพูดนี้เรียกเพี้ยนกันมาเรื่อยๆ จึงกลายเป็น "ระยอง" ในที่สุด
๒. อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าคำว่า "ระยอง" นี้ในภาษาชองน่าจะหมายถึง ไม้ประดู่ เพราะ  ในบริเวณที่มีพวกชองตั้งรกรากอยู่นั้นอุดมไปด้วยไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ปัจจุบันหายากมากและราคาแพง เขตแดนแถบนี้จึงมีชื่อว่า ตำบลท่าประดู่  อันเป็นที่ตั้งของเมืองระยองเวลานี้
๓. ผู้อ้างหลักฐานว่าแต่เดิมมีหญิงชราชื่อว่า "ยายยอง" เป็นผู้มาตั้งหลักฐานประกอบอาชีพทำไร่ในแถบนี้ก่อนผู้ใด จึงเรียกบริเวณแถบนี้ว่า "ไร่ยายยอง"  ต่อมาภาษาพูดก็เพี้ยนไปจนกลายเป็นระยองในที่สุด
ชนเผ่าชองจะมาตั้งรกรากอยู่ทางดินแดนแถบระยองเมื่อไรไม่ปรากฏ แต่เล่ากันว่ามีมานานแล้ว เมื่อคราวที่สุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลงก็ยังมีพวกชองอยู่เป็นจำนวนมาก สุนทรภู่ได้เขียนถึงพวกชองไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า
"ด้วยเดือนเก้าเข้าวสาเป็นหน้าฝน
จึงขัดสนสิ่งของต้องประสงค์
ครั้นแล้วลาฝ่าเท้าท่านบิตุรงค์
ไปบ้านพลงค้อตั้งริมฝั่งคลอง
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต
ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง
ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น"
กล่าวกันว่า แม้แต่ตระกูลทางบิดาของสุนทรภู่ก็เป็นเชื้อชอง ปัจจุบันไม่มีชนเผ่านี้อยู่ในระยอง เพราะไม่ชอบอยู่ในย่านตลาดหรือชุมนุมชน เมื่อความเจริญย่างเข้ามาก็อพยพทิ้งถิ่นไปเรื่อยๆ และยังมีเชื้อสายชาวชองปรากฏอยู่ที่บ้านคะเคียนทอง คลองพลู อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

ด้านประวัติศาสตร์
ขอย้อนกล่าวทางด้านประวัติศาสตร์บ้าง ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเมืองระยองในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา พระยาละแวก เจ้าเมืองเขมร ทรงคิดว่าไทยอ่อนแอ จึงถือโอกาสกรีฑาทัพบุกรุกเข้ามาในแดนไทยแถบหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก ตามวิสัยที่เคยกระทำมาเป็นเนืองนิจ คือเมื่อไทยเข้มแข็ง เขมรก็มาสวามิภักดิ์ แต่เมื่อไทยอ่อนแอก็ถือโอกาสโจมตีทุกครั้งไป แต่ในครั้งนี้เขมรก็ไม่สามารถยึดครองหัวเมืองเหล่านี้ไว้ได้ จึงเพียงแต่กวาดต้อนผู้คนไปยังประเทศเขมร ซึ่งในบรรดาชาวเมืองที่ถูกกวาดต้อนไปในครั้งนั้นก็มีชาวระยองอยู่ด้วยไม่น้อย
ประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองระยองในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง พระยาวชิรปราการหรือพระยาตากแม่ทัพคนสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเกณฑ์ให้มารักษากรุงในระหว่างที่ถูกพม่าล้อมไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๓๐๖ - ๒๓๑๐ ได้พิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องเสียทีแก่พม่าเป็นแน่แท้เพราะพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์ผู้ครองกรุงในเวลานั้นทรงอ่อนแอและไร้ความสามารถ ถ้าขืนสู้รบต่อไปก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ฉะนั้น ในราวเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตากจึงรวบรวมพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ คน มีทั้งไทยและจีน รวมทั้งข้าราชการที่มีความเชื่อถือในฝีมือของพระยาตากอีกหลายคน อาทิ เช่น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา หมื่นราชเสน่หา ออกไปตั้งหลัก ณ วัดพิชัย (อยู่ใต้สถานีรถไฟในปัจจุบัน) แล้วยกกองทัพมุ่งไปทางตะวันออก ได้ปะทะกับพม่า แต่สามารถตีฝ่าวงล้อมไปได้ พอไปถึงบ้านลำบัณฑิตเวลาสองยามเศษก็แลเห็นแสงเพลิงไหม้กรุง ต่อจากนั้นก็มุ่งไปบ้านโพธิสามหาว (โพธิสาวหารหรือโพธิสังหารก็เรียก) และบ้านพรานนก ได้สู้รบกับพม่าไปตลอดทาง
เส้นทางเดินทัพของพระยาตากที่ปรากฏในพงศาวดารภาคที่  ๖๕ เป็นดังนี้
ออกจากบ้านพรานบนไปบ้านบางคง หนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายกไปบ้านนาเริ่ง ถึงเมืองปราจีนบุรี บ้านด่านขบและบ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ  ออกไป   พัทยา นาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ หินโค่ง แวะหยุดพักไพร่พลที่บ้านน้ำเก่าซึ่งเข้าใจกันในปัจจุบันนี้ว่าเป็นเป็นบ้านเก่า ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย ซึ่งขณะนั้นผู้รั้งเมืองระยอง คือ พระยาระยอง (บุญเมืองหรือบุญเรือง) ได้ทราบข่าวว่าพระยาตากยกทัพมาก็เกิดความเกรงกลัว จึงพาคณะกรมการเมืองออกไปเชิญให้พระยาตากพาไพร่พลเข้ามาพักในเมือง พร้อมทั้งมอบธัญญาหารเกวียนหนึ่งให้พระยาตาก พระยาตากได้พาไพร่พลเข้ามาที่ท่าประดู่ และพักแรมอยู่ที่วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) สองคืน จึงได้ทำการตั้งค่าย ขุดคูปักขวากล้อมบริเวณที่พักไว้โดยมิได้ประมาท
ในระหว่างเวลานั้น เป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่า ฉะนั้น การยกทัพมาของพระยาตาก   ทำให้กรมการเมืองระยองคิดระแวงไปว่าพระยาตากจะคิดร้ายต่อบ้านเมืองจึงหลบหนีการสู้รบมา จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษาพระยาระยอง ซึ่งพระยาระยองก็ได้กล่าวห้ามปราม แต่กรมการเมืองไม่ยอมเชื่อ ครั้งเมื่อพระยาตากพักอยู่ที่วัดลุ่มได้สองวัน นายบุญรอด แขนอ่อน นายมาด นายบุญมา น้องเมียพระจันทบูร ได้เข้ามาถวายตัวทำราชการและได้นำความมาแจ้งว่าขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง (ด้วง) หลวงแสนพลหาญ กรมการเมืองระยองได้คบคิดกับพวกทหารประมาณ ๑,๕๐๐ คน จะยกเข้ามาประทุษร้ายพระยาตาก ครั้นเมื่อทราบความเช่นนั้นพระยาตากจึงเรียกผู้รั้งเมือง คือ พระยาระยองมาซักถามความจริง แต่ผู้รั้งไม่ยอมรับ พระยาตากจึงสั่งให้ทหารคุมตัวผู้รั้งเมืองไว้และเตรียมการที่จะรับมือกับศัตรูต่อไป
พอพลบค่ำ พระยาตากจึงสั่งให้ทหารเตรียมการป้องกันไว้และดับไฟมืดทั้งค่าย ตกเวลาประมาณทุ่มเศษ พวกกรมการเมืองซึ่งไม่ทราบว่าพระยาตากรู้ตัวก็คุมทหาร ๓๐ คน เข้าโจมตีค่ายทางด้านเหนือ คือทางด้านวัดเนิน มีขุนจ่าเมือง (ด้วง) เป็นหัวหน้า เมื่อขุนจ่าเมืองคุมพรรคพวกเข้ามาใกล้ค่ายประมาณ ๕-๖ วา พระยาตากก็สั่งให้ทหารระดมยิงปืนพร้อมกันขุนจ่าเมืองและทหารไม่ทันรู้ตัวจึงถูกอาวุธบาดเจ็บล้มตายไปตามๆ กัน พวกกรมการเมืองและทหารที่เหลืออยู่เกิดความกลัวจึงพากันล่าถอยไป พระยาตากก็ระดมไพร่พลไล่โจมตีและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้นเอง ยึดได้ทั้งศาสตราวุธและธัญญาหารเป็นจำนวนมาก บรรดาเหล่าทหารได้เห็นความสามารถและความฉลาดหลักแหลมของพระยาตาก จึงพากันยกย่องเรียกพระยาตากว่า "เจ้าตาก" แต่โดยที่ชื่อเดิมของพระยาชื่อว่า "สิน" จึงพากันเรียกว่า "เจ้าตากสิน" ฉะนั้น จะถือได้ว่าพระยาตากได้รับการยกย่องให้เป็น "เจ้า" ที่เมืองระยองนี่เองก็ไม่ผิดนัก เมื่อเจ้าตากยึดเมืองระยองได้แล้วก็โปรดให้พักไพร่พลอยู่ในเมือง ๗-๘ วัน เพื่อบำรุงขวัญทหารและจัดการเมืองให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงเสด็จต่อไปยังเมืองจันทบุรีเพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการกอบกู้อิสรภาพของชาติคืนจากพม่าต่อไป

การโอนเมืองแกลงมาขึ้นกับเมืองระยอง
อำเภอแกลงนั้นแต่เดิมเป็นเมืองเรียกกันว่า "เมืองแกลง"  มีฐานะเป็นเมืองจัตวาคู่กับเมือง ขลุง ขึ้นอยู่กับเมืองจันทบูร (จันทบุรี) ด้วยเหตุที่เมืองจันทบุรีเป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเมืองแกลงซึ่งเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่ง ก็น่าจะมีมาช้านานแล้วเช่นกัน

ที่ตั้งของเมือง
เดิมเมืองแกลงตั้งอยู่ที่บ้านแหลมสน ขณะนั้นมีกองทหารเรือตั้งอยู่ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๐ กองทหารเรือได้ยุบเลิกไปตั้งอยู่ที่อื่น  ทางราชการจึงได้ย้ายตัวเมืองจากบ้านแหลมสนไปอยู่ที่บ้านหนองโพรง - แหลมเมือง ตำบลปากน้ำประแสร์ แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่บ้านทางเกวียน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัดโพธิ์ทองปัจจุบัน ประมาณ ๒ กม. เหตุที่ย้ายที่ตั้งเมืองบ่อยๆ ก็คงเป็นไปตามแบบการปกครองโบราณ คือเมื่อใครได้เป็นเจ้าเมืองก็ย้ายที่ทำการไปไว้ที่บ้านของตน เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรื่องเทศาภิบาลว่า
"ตามหัวเมืองในสมัยนั้นปลาดอย่างหนึ่งที่ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตนเหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของคนอื่นเพียงที่เรียกว่า "จวน" เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า "ศาลากลาง" เป็นที่สำหรับประชุมกรรมการเวลามีการงาน เช่น รับท้องตราหรือปรึกษาราชการ เป็นต้น เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลาชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั่นเอง เจ้าเมืองตั้งสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวนถ้ามิได้อยู่ในเมืองมีปราการ เช่น เมืองพิษณุโลกเป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาชื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่าก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจากที่เดิมฟากแม่น้ำหรือแม้จนต่างตำบลก็มีจวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมืองจึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นนิจเหมือนอย่างทุกวัน"
เมืองแกลงคงจะมีศาลาสำหรับพิจารณาตัดสินคดีซึ่งเกิดขึ้นภายในเมือง ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางราชการได้สั่งยุบเมืองแกลงลงเป็นอำเภอเรียกว่า "อำเภอแกลง" และย้ายจากบ้านทางเกวียนมาอยู่ในปัจจุบัน ศาลเมืองแกลงจึงพลอยถูกยุบลงด้วยนั่นคือ ทางราชการได้ยุบสภาพจากเมืองจัตวาลงมาตั้งเป็นอำเภอ มีหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) เป็นนายอำเภอคนแรก จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระคำแหงพลล้าน (ชื่อ คชภูมิ) นายอำเภอคนที่สอง จึงได้ย้ายที่ตั้งอำเภอจากบ้านทางเกวียนมาตั้งอยู่ที่บ้านสามย่าน ตำบลทางเกวียนซึ่งมีสภาพเหมาะสมที่จะขยายตัวเมืองได้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

การโอนเมืองแกลง
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้โอนอำเภอแกลงไปขึ้นกับจังหวัดระยอง โดยมีแจ้งความของกระทรวงมหาดไทยลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ หน้า ๔๐๗ ว่า "ด้วยมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าอำเภอแกลงขึ้นเมืองจันทบุรี ยากจะตรวจตราให้ทั่วถึงได้ ทรงพระราชดำริว่าควรจะโอนอำเภอแกลงไปขึ้นเมืองระยองเพราะเป็นท้องที่อยู่ใกล้ จะเป็นการสะดวกในการบังคับบัญชาและตรวจตรายิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนอำเภอแกลงไปขึ้นกับเมืองระยองต่อไป"
(แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗)
ด้วยเหตุนี้อำเภอแกลงจึงมาสังกัดกับจังหวัดระยองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดระยอง. ระยอง : ธนชาติการพิมพ์ ,๒๕๒๕.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #31 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:24:12 »

สระแก้ว
จังหวัดสระแก้วแม้ว่าจะเป็นจังหวัดตั้งใหม่เมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ แต่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกความเป็นมาของท้องถิ่น ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ โดยเฉพาะแถบอรัญประเทศ ตาพระยา กิ่งอำเภอโคกสูง อาณาเขตดังกล่าวได้พบจารึกสัมพันธ์  กับกษัตริย์องค์สำคัญในสมัยของเจนละคือพระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) และพระเจ้าอีสานวรมัน   (ผู้เป็นบุตรมเหนทรวรมัน) บรรดาจารึกที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่
๑. จารึกช่องสระแจง      ที่อำเภอตาพระยา   มีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๑๕๙-๑๑๗๘
๒. จารึกเขาน้อย      ที่อำเภออรัญประเทศ   มีอายุใน พ.ศ. ๑๑๘๐
๓. จารึกเขารัง      ที่อำเภออรัญประเทศ   มีอายุใน พ.ศ. ๑๑๘๒
         และ ๔. จารึกที่บ้านกุดแต้ที่อำเภออรัญประเทศ ก็มีอายุไล่เลี่ยกับจารึกที่ได้กล่าวมาแล้ว
อนึ่ง โบราณวัตถุสถาน เช่น ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ
สมโบร์ไพรคุด และไพรกะเมง จึงทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าในช่วงทรศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ "ชาวกัมพู" ได้ขยายตัวจากอีสานประเทศทางใต้ และรับวัฒนธรรมความเจริญจากชุมชนทางใต้เปิดตัวออกสู่อารย-ธรรมอินเดีย แบบฮินดู ใช้ภาษาสันสกฤต และนับถือพระวิษณุ (ภาษาแขกฮินดู เป็นภาษาที่สืบเนื่องจากภาษาสันสกฤต เริ่มมีภาษานี้ประมาณ พ.ศ. ๑-๑๐๐ ใช้มาประมาณ ๒๐๐ ปี ก็แปลงเป็นภาษา "บาลี")
ในสมัยของเจนละบก เจนละน้ำ ซึ่งมีความเจริญเติบโตระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ก็ได้เกิดอาณาจักรหนึ่งขึ้นมาควบคู่กับเจนละน้ำ คือ อาณาจักรทวารวดี วัฒนธรรมทางทวารวดีได้ขยายออกไปยังภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของศิลป ในด้านแถบตะวันออกวัฒนธรรมทวารวดีได้ขยายผ่านเมืองดงละคร จังหวัดนครนายก เมืองพระรถ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เมืองศรีมโหสถ (โคกปีบและศรีมหาโพธิ์) จังหวัดปราจีนบุรี และมุ่งเข้าสู่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สังคมของทวารวดีมีความหลากหลายทั้งในด้านประชากรเพราะมีประชากรเป็นชนชาติผสม ประกอบด้วย มอญ ไต สยาม เป็นหลัก นอกเหนือจากจีน อินเดีย มีอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรม ใช้วัวไถนา และมีพุทธศาสนา ที่เป็นพลังในการทะลุทะลวงความหลากหลายที่มีอยู่ในขณะนั้น
ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ในห้วงที่มีการผสมกลมกลืนระหว่างอาณาจักรเจนละน้ำกับ ทวารวดีในเขตพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว ก็ได้พบแหล่งชุมชนโบราณ ดังนี้
๑. อำเภออรัญประเทศ ได้พบคูคันดินล้อมรอบ ๖ แห่ง ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไผ่ หันทราย
๒. อำเภอตาพระยา ได้พบคูคันดินล้อมรอบ ๓ แห่ง ที่ตำบลตาพระยา และปราสาทเขาโล้น
๓. กิ่งอำเภอโคกสูง ได้พบคูคันดิน ๑ แห่ง และปราสาทสด๊กก๊อกธม
๔. อำเภอเมืองสระแก้ว ได้พบสระน้ำ และคูคันดิน ๔ แห่งที่ตำบลท่าเกษม
๕. อำเภอวัฒนานคร ได้พบสระน้ำคูคันดิน ๓  แห่ง ที่ตำบลท่าเกวียน
แหล่งชุมชนดังกล่าว ตามประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังของจีนระบุว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เจนละได้แตกออกเป็น ๒ ส่วน คือ เจนละบก และเจนละน้ำ พื้นที่สำคัญของเจนละน้ำได้กลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรขอมเมืองนคร (นครวัด นครธม) ในเขมรค่ำ และสามารถติดต่อกับเมืองต่างๆ ทางช่องเขาพนมดงเร็ก และบริเวณสระน้ำ บาราย ที่เกิดขึ้นตามเขตอำเภอของจังหวัดสระแก้ว ดังที่       ได้กล่าวมาแล้ว

สรุป
พื้นที่เป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน ถ้าศึกษาจากตำนานพื้นเมือง ศิลาจารึก จดหมายเหตุของจีน (พุทธศตวรรษที่ ๘ ตรงกับสมัยสามก๊ก) ว่าดินแดนแถบนี้ในช่วงแรกๆ จะอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของรัฐฟูนาน เมื่องรัฐฟูนานสลายไป ก็กลายเป็นอาณาจักรเจนละ เจนละบก เจนละน้ำ และอาณาจักรของชาวกัมพูชา แคว้นต่างๆ อาณาจักรทวารวดี ขยายอิทธิพลเข้ามาโดยเฉพาะพุทธศาสนา ซึ่งได้นำอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบมอญเข้ามา ซึ่งสำนักพิมพ์เมืองโบราณสรุปว่า "ทวารวดีก็คือรากฐานของการเป็นสยามประเทศนั่นเอง"
ชื่อจังหวัดสระแก้ว มี่ทีมาจากชื่อสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ ๒ สระ    ในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปตีประเทศกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพ ที่บริเวณสระแก้วทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอย ได้ขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว สระขวัญ" และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธ์
สระแก้วเดิมมีฐานะเป็นตำบล ซึ่งสมัยก่อนราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า "กิ่งอำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรีโดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม  ๒๕๐๑ ซึ่งได้มีพระราช-กฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า "อำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรีและต่อมาเมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบก-ษาฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖ เป็นผลให้จังหวัดสระแก้วได้เปิดทำการในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยเป็นจังหวัดที่ ๗๔ ของประเทศ



ที่มา : สำนักงานจังหวัดสระแก้ว
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #32 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:24:41 »

สมุทรสาคร
สมุทรสาครเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
สมุทรสาครเดิมชื่อบ้านท่าจีนเป็นชุมนุมชนใหญ่ อยู่บริเวณอ่าวไทย มีทำเลที่เหมาะสมในการพาณิชย์มาก มีเรือสำเภาค้าขายจากประเทศจีนมาจอดเทียบท่าที่นี่ ขนถ่ายซื้อขายสินค้ากันจนเป็นที่รู้จักกันทั่ว ใครอยากจะค้าขายกับเรือสำเภาจีนก็ต้องมาที่นี่ มีชื่อเรียกกันติดปากมาแต่เดิมว่า "ท่าจีน" แต่ยังมิได้มีฐานะเป็นเมืองคงเป็นหมู่บ้านชุมชนแห่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อครั้งสังฆราช ปาลเลกัวส์ เดินทางไปเยี่ยมพวกคริสตังชาวจีน ที่กระจัดกระจายอยู่ทางทิศตะวันออกได้กล่าวถึงท่าจีนว่า ".....เป็นเมืองสวยงามมีพลเมืองประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ส่วนมากเป็นชาวประมง    และพ่อค้า       ที่ตั้งจังหวัดอยู่ห่างทะเล ๒ ลี้       เป็นทำเลเหมาะในการประมงและการพาณิชย์จึงมีสำเภาจีนมาติดต่อค้าขายอยู่เสมอ"
ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๑ - พ.ศ. ๒๑๑๑) แห่งกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พ.ศ. ๒๐๙๒ ได้ยกฐานะบ้านท่าจีนเป็นเมือง "สาครบุรี"    ตามแผนการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่อยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองต่าง ๆได้อย่างรวดเร็ว ยามเมื่อเกิดศึกสงคราม ดังปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ หน้า ๖๐ ว่า "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชตรัสว่า ไพร่บ้านพลเมือง ตรี จัตวา ปากไต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็น สาครบุรี" และข้อความในพงศาวดาร ไทยรบพม่าว่า ".......เพื่อจะให้สะดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม จึงให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่อีก ๓ เมือง    คือ ยกบ้านตลาดขวัญเป็นเมืองนนทบุรี  เมือง ๑ ยกบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรีเมือง ๑ แบ่งเอาเขตเมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีมารวมกัน ตั้งเป็นเมืองนครไชยศรีขึ้นอีกเมือง ๑"
หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์สากลเล่ม ๓ ว่า "หลังจากสงครามกับเขมร (พ.ศ. ๒๐๙๙)........สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังให้ตรวจบัญชีสำมะโนครัวราษฎร ได้จำนวนชายฉกรรจ์ในมณฑลราชธานีถึงแสนเศษ แล้วจัดระเบียบการระดมพลให้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ในการนี้ให้ตั้งเมืองชั้นในเพิ่มขึ้นหลายเมือง คือ ตั้งบ้านท่าจีนขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี เมือง ๑......"
สรุปความตรงกันว่า บ้านท่าจีนได้ยกขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพื่อสะดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม และสะดวกแก่การปกครอง
ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ยกเมืองสาครบุรีขึ้นกับกรมท่า ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารว่า ".......แบ่งหัวเมือง ขึ้นกลาโหม มหาดไทย กรมท่า ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์........ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมืองสาครบุรี ๑......."
ในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เป็นแม่ทัพยกไปปราบพม่าที่เมืองถลาง และเมืองชุมพร ในการเดินทัพทางเรือ ผ่านธนบุรี ท่าจีน แม่กลองบ้านแหลม และเพชรบุรี นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ได้ตามเสด็จคราวนี้ด้วย และแต่งโคลงนิราศ
นริทร์ มีความตอนที่กล่าวถึง สมุทรสาคร ว่า
   มหาชัยชัยฤกษ์น้อง   นาฏลง โรงฤา
รักร่วมพุทธมนต์สงฆ์      เสกซ้อม
เสียดเศียรแม่ทัดมง      คลคู่ เรียมเอย
ชเยศชุมญาติห้อม      มอบให้สองสม
   ท่าจีนจีนจอดถ้า   คอยถาม ใดฤา
จีนช่วยจำใจความ      ข่าวร้อน
เยียวมิ่งแม่มาตาม      เตือนเร่ง ราแม่
จงนุชรีบเรียมข้อน      เคร่าถ้า จีนคอย
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ปีมะแม พระยามหาเทพให้จมื่นทิพเสนา (เอี่ยม) ออกไปจับฝิ่นอ้ายจีนเผียว ซึ่งตั้งตนเป็นตั้วเ..เซนเซอร์..่ยที่ลัดตรุด แขวงสาครบุรี มีการจับกุมหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ (๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๐) พระยามหาเทพไปกับพระสวัสดิวารีพร้อมกับเกณฑ์กรมการเมืองสาครบุรี และชาวบ้านไปช่วย เกิดการต่อสู้กันขึ้น พระยามหาเทพได้รับบาดเจ็บ อ้ายจีนเผียวตั้งใจจะหนีเข้าอังกฤษ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาพระคลังคุมพวกตำรวจในพระยามหาเทพกับกองรามัญไปตั้งที่สาครบุรี และมีหนังสือถึงผู้รักษาเมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี ให้ตีสกัดจีนเผียวลงมา ในที่สุดสามารถจับจีนเผียวตั้วเ..เซนเซอร์..่ยได้ที่ราชบุรี
ครั้งต่อมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรี เป็นเมือง สมุทรสาคร ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่า "……เมืองขึ้นกรมท่าเรือเมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร แปลงเป็นเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน เมืองสาครบุรีแปลงเป็นเมืองสมุทรสาคร เกาะกงให้ชื่อเมืองประจันตคีรีเขตต์รวม ๓ เมือง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๘   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมณฑลนครไชยศรี มีเมืองปกครอง ๓ เมือง คือ นครชัยศรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร
เมืองสมุทรสาคร เดิมมีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครอง รวม ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสาคร อำเภอบางโทรัด อำเภอกระทุมแบน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอบางโทรัด เป็นอำเภอ "บ้านบ่อ" ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ เพราะอำเภอบางโทรัด ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านบ่อ
พ.ศ. ๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเมืองนครชัยศรี เป็น เมืองนครปฐม
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร เมืองสมุทรสาครจึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดสมุทรสาคร" มาจนทุกวันนี้
ต่อมาได้มีแจ้งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า อำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรี ซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอบ้านบ่อ แต่เดิมเป็นตำบลลับ เวลานี้การไปมาค้าขายของราษฎร ได้ไปประชุมกันอยู่ทางคลองดำเนินสะดวก ตำบลบ้านแพ้ว จึงเป็นตำบลที่สำคัญอย่างยิ่ง และทั้งตำบลบ้านบ่อกับตำบลที่ใกล้เคียง ราษฎรจะไปมาติดต่อกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร สะดวก เพราะมีรถไฟไปมาได้ในวันเดียว   อีกประการหนึ่งท้องถิ่นที่อำเภอสามพรานมาขึ้นได้อีกหลายตำบล สะดวกแก่การปกครองขึ้นอีก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมท้องที่ตำบลต่างๆ คือ แยกเอาตำบลดอนไผ่ ๑ ตำบลบ้านแพ้ว ๑ ตำบลเจ็ดริ้ว ๑ ตำบลคลองตัน ๑ จากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมรวม ๔ แห่ง แบ่งออกตำบลอำแพงของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ๑ ตำบล รวมกับตำบลโรงเข้และตำบลหลักสาม ของอำเภอบ้านบ่อ รวม ๗ ตำบลด้วยกัน เป็นอำเภอหนึ่ง ตั้งที่ว่าการที่ตำบลบ้านแพ้ว เรียกว่าอำเภอบ้านแพ้วขึ้นจังหวัดสมุทรสาคร
ส่วนอำเภอบ้านบ่อเก่า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับตำบลบางกระเจ้า ๑ ตำบลบางโทรัด ๑ ตำบลกาหลง ๑ ตำบลนาโคก ๑ เข้ากับตำบลบ้านบ่อเป็น ๕ ตำบลด้วยกัน ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า "กิ่งอำเภอบ้านบ่อ" ขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘   เป็นต้นไป จังหวัดสมุทรสาคร มีอำเภอและกิ่งอำเภอขึ้นอยู่ในปกครอง ๓ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอบ้านแพ้ว และกิ่งอำเภอบ้านบ่อ ขึ้นกับอำเภอเมือง
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรีได้ไปตรวจราชการที่กิ่งอำเภอบ้านบ่อ เห็นการงานแผนกมหาดไทย แผนกอัยการ มีน้อย ส่วนแผนกสรรพากรมีมาก เห็นว่าควรรวมการงานแผนกมหาดไทยและแผนกอัยการกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรีจึงได้คำสั่งที่ ๑๗๓/๘๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้สั่งปลัดกิ่งอำเภอบ้านบ่อ และเสมียนพนักงานขนสรรพราชการทั้งปวงในแผนกมหาดไทย และแผนกอัยการมารวมทำการอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ส่วนกิ่งอำเภอนั้น ให้มีเจ้าพนักงานสรรพากร ๒ คน ตรวจเก็บภาษีอากรด่านและประจำที่ไปตามเดิม ตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้เป็นต้นไป
ต่อมาสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ได้มีคำสั่งที่ ๑๕๗๘/๑๙๒๓๙ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครว่า เนื่องจากทางราชการได้แบ่งตำบลในท้องที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กับตำบลในท้องที่อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร กิ่งอำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทสาครไปตั้งเป็นอำเภอบ้านแพ้วขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครเสียแล้วนั้น กิ่งอำเภอบ้านบ่อคงเหลือเพียง ๕ ตำบล ต่อมาราชการสำหรับกิ่งอำเภอบ้านบ่อน้อยลง ตลอดทั้งการไปมาระหว่างอำเภอเมืองสมุทรสาครกับกิ่งอำเภอบ้านบ่อสะดวกขึ้น มณฑลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกิ่งอำเภอบ้านบ่ออีกต่อไป จึงได้ขออนุญาตยุบกิ่งอำเภอบ้านบ่อกับยกราชการและย้ายปลัดกิ่งอำเภอและเสมียนพนักงานไปรวมทำที่อำเภอเมืองสมุทรสาครเข้าไปยังกระทรวงมหาดไทย และได้รับท้องตราพระราชสีห์น้อย ที่ ๔๐๐/๑๔๔๐๗ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ อนุญาตให้ยุบกิ่งอำเภอนั้นแล้วและให้จัดการแก้ทำเนียบท้องที่เสียให้ถูกต้อง
ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป จังหวัดสมุทรสาครมีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครองรวม ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้วส่วนกิ่งอำเภอบ้านบ่อยุบไปขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร
ครั้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางราชการได้ยุบจังหวัดสมุทรสาครไปรวมกับจังหวัดธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว จึงต้องไปขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดธนบุรี   และอำเภอเมืองสมุทรสาครจึงต้องเปลี่ยนชื่อ    เป็น "อำเภอสมุทรสาคร"
ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางราชการได้แยกการปกครองท้องที่ของจังหวัดสมุทรสาครเดิมออกจากจังหวัดธนบุรี และยกฐานะเป็นจังหวัดขึ้นใหม่เรียกว่า จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว จึงได้มาขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอสมุทรสาครก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสมุทรสาครตามเดิม
ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาเพื่อเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวจังหวัดสมุทรสาครปลาบปลื้มปิติเป็นอันมาก
ประชาชนนิยมเรียก จังหวัดสมุทรสาครว่า "มหาชัย" ตามชื่อคลองมหาชัย ซึ่งเป็นคลองที่ขุดในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘  (พระเจ้าเสือ)   แห่งกรุงศรีอยุธยา  เพื่อตัดความคดเคี้ยวของคลองโคกขาม   แต่เดิมเริ่มต้นจากคลองด่าน วัดหัวหมู  เขตเมืองธนบุรี  จนถึงคลองโคกขาม เรียกว่า "คลองพระพุทธเจ้าหลวง" แต่ยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
"สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙  (ขุนหลวงท้ายสระ) เสด็จพระราชดำเนินทรงเบ็ดที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อถึงคลองมหาชัย เห็นคลองนั้นขุดไม่แล้วค้างอยู่ ครั้นทรงเบ็ดแล้วกลับคืนมาถึงพระนครจึงทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกองให้กะเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ ๘ หัวเมือง …….ไปขุดคลองมหาชัย จึงให้ฝรั่งส่องกล้องดูให้ตรงปากคลอง ปักกรุยลงเป็นสำคัญทางไกล ๓๔๐ เส้น ได้ขุดคลองลึก ๖ ศอก กว้าง ๗ ศอก ขุด ๒ เดือนจึงแล้วเสร็จ ….คลองนั้นได้ชื่อว่า "คลองมหาชัย" ตราบเท่าทุกวันนี้" ต่อมาตัวเมืองเจริญเติบโตขึ้น ณ ริมฝั่งซ้ายของคลองมหาชัย ชื่อมหาชัยจึงกลายเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกอีกชื่อหนึ่ง

การจัดตั้งการสุขาภิบาลท่าฉลอม
   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการปฏิรูประเบียบวิธีบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่จะจัดให้มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับพระบรมราชานุภาพของพระมหากษัตริย์ของประเทศเช่นที่อารยประเทศได้ถือปฏิบัติและทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนพลเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศเพื่อช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญลุล่วงตามทัศนคติใหม่ของระบอบการปกครองในประเทศตะวันตก ในระยะแรกพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเปลี่ยนแปลง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และกำนันเป็นผู้ได้รับเลือกมาจากประชาชนในท้องถิ่น แทนที่ทางรัฐบาลจะเป็นผู้แต่งตั้งดังเช่นในสมัยก่อน
ครั้นเมื่อกระทรวงมหาดไทยนำพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ออกใช้ ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้มีบทบัญญัติกล่าวถึงการนคราภิบาลไว้ด้วย ใน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้มีการจัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลขึ้นในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้นับว่ามีอิทธิพลสืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโอกาสไปดูกิจการต่างๆ ในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตามความเจริญของประเทศและลักษณะปกครองของไทยยังผิดกันกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น  ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๕ ที่ว่า "…ประเทศอื่น ๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจำใจทำในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองและความเป็นสุขแก่ราษฎรทั่วไป จึงได้คิดทำ เป็นการผิดกันตรงกันข้าม…."
สมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในราชการและเป็น
ผู้รักษาการตามกฎหมายสำหรับหัวเมืองในส่วนภูมิภาค      ก็ได้ทรงดำริที่จะดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมา การสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ได้เริ่มงานมาหลายปีแต่การจัดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมืองยังไม่สามารถจะทำได้ เพราะเสด็จในกรมทรงเห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับ พระองค์ทรงต้องการที่จะให้ประชาชนมีความเข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ของการสุขาภิบาลนี้เสียก่อน การรอจังหวะที่ดีกินเวลาอีกหลายปี จนกระทั่งถึง ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเริ่มงานจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงเลือกเอาวิธีการสุขาภิบาลมาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงท้องถิ่นในตำบลท่าฉลอม ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นที่สกปรกรกรุงรังจนไม่เป็นที่สบพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้มีหนังสือตราพระราชสีห์น้อย ที่ ๒๐/๓๙๙๐ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔ ถึงพระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร มีความตอนหนึ่งว่า "ด้วยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกที่ประชุมเสนาบดี มีรับสั่งเล่าถึงที่ได้ไปประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นถนน และตลาดเมืองนครเขื่อนขันธ์โสโครกมาก รับสั่งว่าสกปรกเหมือนตลาดท่าจีน ฉันนั่งอยู่ที่ประชุมรู้สึกละอายใจมาก ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่ธุระของเรา แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีนซึ่งสกปรกจริงสำหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่อื่นที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ ก็เสมอกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน การเป็นเช่นนี้จึงรู้สึกร้อนใจมาก  เห็นว่า  ถ้าไม่คิดอ่านปัดกวาดจัดถนนในตลาดท่าจีนให้หายโสโครกแล้วจะเสียชื่อตั้งแต่ฉันตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองและกำนันผู้ใหญ่บ้านในตลาดท่าจีน ซึ่งเป็นคนดี ๆที่ฉันรู้จักอยู่แทบทุกคน ถ้าตลาดท่าจีนยังสกปรกอยู่อย่างนี้ แม้ปีนี้เสด็จอีกก็เห็นจะไม่เสด็จตลาดและจะให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในที่นั้นเฝ้าก็เห็นไม่ได้  ฉันมีความร้อนใจอย่างนี้ จึงได้มีตราฉบับนี้มายังพระยาพิไชยสุนทร เมื่อได้รับตราฉบับนี้แล้วขอให้เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ตลาดท่าจีนมาประชุมอ่านตราฉบับนี้ให้ฟังและปรึกษากันดูว่าจะควรทำอย่างไร อย่าให้พระเจ้าอยู่หัวทรงติเตียนได้"
เมื่อได้รับหนังสือตราพระราชสีห์น้อยฉบับนี้ ปรากฎว่าพระยาพิไชยสุนทรได้เรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลท่าฉลอมทั้งหมด   เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องและช่วยกันคิดอ่านแก้ไขในการที่ถูกติเตียนเช่นนี้      ในที่สุดผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาครทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ชักชวนให้ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมมือช่วยกันสละเงินได้แก่การเรี่ยไร เพื่อนำมาปรับปรุงตลาดท่าจีนให้สะอาด ได้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๕,๔๗๒ บาท โดยได้นำเงินจำนวนที่ได้มาทำเป็นถนนปูอิฐขนาดกว้าง ๒ วา ได้ยาวถึง ๑๑ เส้น ๑๔ วา อีกทั้งจ้างคนปัดกวาดเทขยะมูลฝอยทิ้งจนตลาดท่าจีนสะอาดสมความปรารถนา
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความยินดีเป็นอันมาก พระองค์ทรงรายงานทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบถึงความร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวท้องถิ่นในตลาดท่าฉลอมในการสละเงินทองปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญขึ้นและในขณะเดียวกันเสด็จในกรมก็ได้ทรงเห็นเป็นโอกาสอันงามที่จะเริ่มงานสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นที่ตำบลท่าฉลอมเป็นแห่งแรกเสียเลย เพราะสิ่งที่ดำเนินการไปนั้น ยังต้องมีการบำรุงและเสริมสร้างกันต่อไปอีก จึงทรงเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันนั้นก็ขอพระบรมราชานุญาตแก้ไข "ภาษีโรงร้าน" เพื่อจัดสมทบเป็นรายได้แก่สุขาภิบาลที่ตั้งขึ้น หน้าที่โดยย่อ ๓ ประการของสุขาภิบาลที่เสด็จในกรมทรงเสนอไว้แต่แรก คือ
(๑) ซ่อมแซมรักษาถนนหนทาง
(๒) จุดโคมไฟให้มีแสงสว่างในเวลาค่ำคืนเป็นระยะตลอดถนนในตำบลนั้น และ
(๓) ให้จ้างลูกจ้างสำหรับกวาดขนขยะมูลฝอยของโสโครกต่าง ๆ ในตำบลนั้นไปทิ้งเสียที่อื่น
กระทรวงมหาดไทยได้ส่งพระยาจ่าแสนยบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำภังไปประชุมปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร กำนันผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้าและราษฎรในบ้านตลาดท่าฉลอมในการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมและปรึกษาขอความคิดเห็นในการปรับปรุงภาษีโรงร้าน  และการใช้จ่ายเงินเพื่อการสุขาภิบาล ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนในท้องที่ในครั้งนั้นเป็นอย่างดี
เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของพระราชประสงค์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ในด้านการสุขาภิบาล พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรและไปเป็นเกียรติอันปวงชนควรจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในการเปิดถนนที่ราษฎรตำบลท่าฉลอมออกเงินสร้างสำเร็จซึ่งมีชื่อว่า "ถนนถวาย"  เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๔     นับว่าเป็นการเริ่มงานสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นแห่งแรกด้วย

คณะกรรมการสุขาภิบาลท่าฉลอมชุดแรกที่ได้ตั้งขึ้นประกอบด้วยสมาชิกดังนี้ คือ
(๑) หลวงพัฒนการภักดี   กำนันตำบลท่าฉลอม
(๒) ขุนพิจารณ์นรกิจ      (๓) ขุนพินิจนรภาร
(๔) จีนพัก         (๕) จีนศุข
(๖) จีนเน่า         (๗) จีนอู๊ด
(๘) จีนโป๊ ผู้ใหญ่บ้าน       
การบริหารงานสุขาภิบาลท่าฉลอมในระยะต่อมาเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี    เพราะปรากฎว่าการเก็บภาษีโรงร้านในตลาดท่าฉลอมได้เก็บตลอดทุกบ้านเรือนทั้งที่ทำการค้าขายหรือมิได้ค้าขาย  และไม่ว่าในบังคับใดๆ   ย่อมเสียให้โดยไม่เกี่ยงงอน การจ่ายเงินของคณะกรรมการสุขาภิบาลก็จ่ายโดยเขม็ดแขม่ ด้วยความรู้สึกเสียดายเงินและมีบัญชีโฆษณาให้คนทั้งหลายทราบเสมอทุกเดือนว่าเก็บเงินได้เท่าใดจ่ายใช้ไปเท่าใด คงเหลือเป็นเงินเท่าใด เป็นต้น สมพระเจตจำนงอันรอบคอบของสมเด็จเสนาบดีทุกประการ
เสด็จในกรมทรงอธิบายถึงการจัดตั้งการสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นตัวอย่างแก่ที่ประชุมว่าเป็นวิธีที่จัดให้กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้นเป็นผู้ใช้จ่ายเงินเอง ผู้ว่าราชการเมืองมีหน้าที่แต่เพียงแนะนำตรวจตราให้การเป็นไปตามพระราชประสงค์เท่านั้น พระองค์ได้ทรงแนะนำให้ข้าหลวงเทศาภิบาลไปจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งการสุขาภิบาลขึ้นเป็นการทดลองในท้องที่ ๆ มีความจำเป็นและสมควรที่จะจัดก่อน แต่การจัดตั้งการสุขาภิบาลนี้เสด็จในกรมทรงดำริให้ "เกิดจากความนิยมของราษฎรก่อน คือให้ราษฎรนำน่า และรัฐบาลตามหลัง" ทั้งนี้ เพื่อให้การสำเร็จไปด้วยความชมชอบของประชากร

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสาคร.กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 
         ๒๕๒๖.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #33 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:25:28 »

สมุทรปราการ
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา เมืองสมุทรปราการ ยังไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์จะมีแต่เมืองพระประแดง ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่ขอมสร้างขึ้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของขอมซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นที่คาดคะเนว่าเมืองพระประแดงก็ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้มาจนตลอดสมัยสุโขทัย

สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่ออำนาจของกรุงสุโขทัยอ่อนลง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)   ได้
ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี และได้เลือกเอาระบบการปกครองของขอมและสุโขทัยมาปรับปรุงเสียใหม่ และประกาศใช้เป็นระบบการปกครองของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวิธีการจัดระบบการปกครองหัวเมืองแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
- หัวเมืองชั้นใน มีเมืองป้อมปราการ เป็นด่านชั้นในกับหัวเมืองชั้นในที่อยู่รอบๆ เมืองป้อมปราการเหล่านั้น
- เมืองพระยามหานคร คือ หัวเมืองไกลๆ ที่มอบอำนาจให้เจ้าเมืองปกครองชาวเมืองอย่างเจ้าชีวิต แต่ต้องส่งส่วยให้แก่เมืองหลวง   
- เมืองประเทศราช อันได้แก่ เมืองขึ้นต่างๆ
ในสมัยนี้เมืองป้อมปราการด่านชั้นในมี ๔ หัวเมือง คือ
ทิศเหนือ      เมืองลพบุรี
ทิศใต้      เมืองพระประแดง
ทิศตะวันออก   นครนายก
ทิศตะวันตก   สุพรรณบุรี
ต่อมาแผ่นดินที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้งอกลงมา ในท้องทะเลทางทิศใต้ ราวๆ ใต้คลองบางปลากดทางฝั่งขวา และแถบตำบลบางด้วน บางนางเกรง ทางฝั่งซ้าย ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเมืองพระ-ประแดงจึงมิใช่เมืองที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเช่นเดิม ด้วยแผ่นดินงอกใหม่เกิดขึ้นออกมามากในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นให้เป็นหัวเมืองหน้าด่านทางใต้ ณ บริเวณฝั่งใต้ของคลองบางปลากด ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองพระประแดงก็หมดความสำคัญลง และถูกยุบในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมืองสมุทรปราการนี้มีชื่อปรากฏในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๘ เวลานั้นตัวเมืองจะตั้งอยู่ที่ไหนยังไม่พบหลักฐาน แต่ได้ความตามจดหมายเหตุฝรั่งว่า ที่ปากคลองบางปลากดฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา มีพ่อค้าชาวฮอลันดามาตั้งห้างพักสินค้าที่นั่น เรียกว่า "นิวอัมสเตอร์ดัม"  และที่ตรงนี้คราวพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแต่งสมณฑูตไปลังกา กล่าวว่าออกเรือจากเมืองธนบุรีไปถึงตึกฮอลันดา ณ บางปลากด แสดงว่า ตำบลบางปลากดมีคนอยู่มาก อาจเป็นตัวเมืองสมุทรปราการครั้งนั้นก็ได้ และมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสมุทรปราการ ดังนี้ (๑)
ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ. ๒๑๒๑ พระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรยกทัพไปตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้เกิดเกรงความคิด จึงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่ต่อมา เมื่อพระยาจีนจันตุทราบว่า พระยาละแวกไม่เอาโทษ จึงหนีกลับโดยลอบพาครอบครัวลงสำเภาที่ล่องลงไปขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาแต่เมืองพิษณุโลก ประทับอยู่ ณ วังใหม่  พระองค์จึงทรงประทับเรือพระ ที่นั่งออกติดตามสำเภาพระยาจีนจันตุไปในคืนวันเดียวกันนั้น ทันกันที่ปากน้ำรับสั่งให้เรือตามเสด็จเข้าล้อมสำเภาไว้ เกิดรบพุ่งกัน พระยาจีนจันตุได้ยิงปืนลงมาต้องพระแสงปืนต้นที่ทรงนั้นแตกออกพระยาจีนจันตุถือโอกาสนั้นโล้สำเภาหลบหนีไปได้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเสด็จไล่ตามก็ไม่ทันจึงยกทัพเรือกลับ
ใน พ.ศ. ๒๑๖๓ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีเรือกำปั่นโปรตุเกส เข้ามาด้วยพบเรือฮอลันดา ที่บริเวณปากน้ำ ก็จับเรือฮอลันดาเอาไว้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบโปรดให้ทหารลงไปบังคับโปรตุเกสให้คืนเรือแก่ฮอลันดา เหตุนี้จึงทำให้โปรตุเกสเคืยงไทย เลิกห้างค้าขายในกรุงศรีอยุธยาแล้วให้กองทัพเรือมาปิดอ่าวเมืองมะริด
ใน พ.ศ. ๒๑๗๓ พวกญี่ปุ่นที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เกิดขัดใจขึ้นกับไทย ถึงกับต่อญี่ปุ่นจึงลงเรือสำเภาหนีไป กองทัพเรือไทยตามทันที่ปากน้ำ ได้เกิดการต่อสู้กันที่บริเวณปากน้ำปรากฏว่าญี่ปุ่นพากันหนีไปได้
ใน พ.ศ. ๒๒๐๗ พวกฮอลันดา ที่มาค้าขายอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เคืยงว่าทางราชการไทยทำการค้าขายผูกขาด แต่ผู้เดียวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เสียประโยชน์ของพวกฮอลันดาจึงเลิกการค้าขายกับไทยและกลับไปเสียจากกรุงศรีอยุธยาแล้วเอาเรือรบมาปิดปากน้ำ
พ.ศ. ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ไทยต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสที่เข้ามารักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในการต่อสู่กันนี้ไทยตั้งค่ายรายปืนที่บริเวณปากน้ำ และจับเรือฝรั่งเศสคุมมาได้ ๒ ลำ ครั้นเมื่อตกลงกันว่าต่างจะปล่อยกลับไปบ้านเมืองของตนเอง แต่ให้มีตัวประกันไปด้วย จนถึงปากน้ำจึงจะแลกเปลี่ยนตัวประกันกับฝ่ายไทย แต่พวกตัวประกันที่ไทยยึดไว้ได้หนีลงเรือฝรั่งเศสไปโดยไม่คืนตัวประกันฝ่ายไทยให้ตามที่ตกลงกัน ไทยจึงต้องจับพวกบาทหลวงที่เหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยาขังต่อไป

สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองสมุทรปราการได้ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนผู้คนปล้นสดมภ์ยับเยิน วัดและบ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้างอยู่พักหนึ่ง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้า-ตากสินมหาราชทรงกู้บ้านเมืองเอาไว้ได้ และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผู้คนในเมืองสมุทรปราการที่อพยพหนีภัยสงคราม จึงได้กลับมาตั้งถิ่นฐานเดิม
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินนี้ พระองค์ทรงรื้อกำแพงเมืองพระประแดงเดิมที่ตั้งอยู่เขตราษฎร์บูรณะในปัจจุบัน ไปก่อกำแพงพระราชวังธนบุรีและที่อื่นๆ อย่างรีบเร่ง เนื่องจากไม่มีเวลาเผาอิฐอีกทั้งกำแพงดังกล่าวก็อยู่ใกล้ สะดวกแก่การลำเลียง ดังนั้น เมืองพระประแดงเดิมจึงสิ้นซากนับแต่นั้นมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้าง เมืองพระประแดงขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน สำหรับป้องกันศัตรูซึ่งมาทางทะเลแต่พระองค์ทรงสร้างเพียงป้อมขึ้นไว้ทางฝั่งตะวันออก ๑ ป้อม เรียกว่า ป้อมวิทยาคม
ใน พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นแม่กองสร้างปราการเมืองพระประแดงขึ้น ต่อจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างไว้ทางฝั่งตะวันออกและสร้างป้อมเพิ่มเติมทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา) ๕ ป้อม คือ
๑. ป้อมแผลงไฟฟ้า
๒. ป้อมมหาสังหาร
๓. ป้อมศัตรูพินาศ
๔. ป้อมจักร์กรด
๕. ป้อมพระจันทร์ พระอาทิตย์
ป้อมทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา)
มี ๔ ป้อม คือ
๑. ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
๒. ป้อมปีศาจสิง
๓. ป้อมราหูจร
๔. ป้อมวิทยาคม
ป้อมเหล่านี้ชักปีกกาถึงกัน ทางหลังเมืองกำแพงล้อมรอบ มียุ้งฉาง ตึกดินและศาลาไว้เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงขนานนามเมืองพระประแดงนี้ว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ การสร้างเมืองเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๕๘ แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครัวมอญ เมืองปทุมธานี พวกเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งหนีภัยพม่าเข้ามาพึ่งพระ-บรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน ให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองนี้ และทรงแต่งตั้งสมิงทอมา บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นพระยาราม น้องเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาเมือง
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช        องเชียงสือเจ้า
ราชวงศ์ของญวนหนีภัยการเมืองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  เมื่อองเชียงสือได้กลับไปเป็นใหญ่ในญวนสัมพันธภาพระหว่างไทยกับญวนจึงเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นดุจพี่น้อง ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สัมพันธไมตรีที่มีอยู่ด้วยกันเสื่อมคลายลง เกิดกินแหนงแคลงใจกันสาเหตุจากญวนคิดเป็นเจ้าใหญ่นายโตปกครองประเทศเขมร
องต๋ากุน เจ้าเมืองญวน ได้เกณฑ์ไพร่พลญวน - เขมร ผลัดละ ๑๐,๐๐๐ คน ขุดคลองใหญ่จากทะเลสาบเขมร มาออกเมืองบันทายมาศ ใกล้ชายแดนไทยอันจะเป็นเหตุให้ไทยเราได้รับความกระทบกระเทือน เพราะถ้าญวนขุดคลองนี้สำเร็จญวนอาจยกกองทัพเรือมารุกรานไทยเข้าตีหัวเมืองไทยได้ง่ายเข้า เนื่องจากไม่ต้องอ้อมแหลมใหญ่ผ่านทะเล และเมืองบันทายมาศอยู่ใกล้ชายแดนไทยอีกทั้งยังเคยเป็นของไทยมาเก่าก่อน แต่เนื่องจากญวนได้แต่งทูตเข้ามาบังคมพระบรมศพรัชกาลที่ ๑  เลยถือโอกาสถวายสาส์นรัชกาลที่ ๒ ขอเมืองบันทายมาศ โดยที่ไทยเห็นแก่ไมตรีที่มีมาดั้งเดิม พระองค์มิได้เฉลียวพระทัยว่าญวนจะคิดหักหลัง จึงยอมยกเมืองบันทายมาศให้ญวนไป
ฉะนั้น พระองค์จึงแน่พระทัยว่าการขุดคลองของญวนในครั้งนี้นั้น เป็นแผนการของญวนที่คิดจะรุกรานไทย พระองค์จึงทรงพระราชดำริว่า เมืองสมุทรปราการเดิมที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างไว้ทรุดโทรมลงมากแล้ว ประกอบทั้งอยู่ห่างไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันพระนครทางน้ำให้แข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่ เห็นควรให้สถาปนาเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ และเลื่อนออกไปให้ใกล้ปากแม่น้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่น-เจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) เป็นแม่กองร่วมด้วย เจ้าพระยาพระคลัง   (ดิศ บุนนาค) จัดการสร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๖๒ เป็นการด่วน โดยทรงกำหนดเขตให้ตรงบริเวณพื้นที่ที่ชาวบ้าน เรียกว่า "บางเจ้าพระยา" (เป็นเทศบาลเมืองสมุทรปราการ กับตำบลบางเมืองในปัจจุบัน) อยู่ระหว่างปากคลองปากน้ำคลองมหาวงศ์ มีป้อมปราการเป็นเมืองหน้าศึก ๖ ป้อมปราการ คือ (๒)
- ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา (ตะวันออก)
๑. ป้อมประโคนชัย อยู่ที่ปากคลองปากน้ำ
๒. ป้อมนารายณ์ปราบศึก อยู่ในตำบลบางเมือง
๓. ป้อมปราการ อยู่ในตำบลบางเมือง
๔. ป้อมกายสิทธิ์ ในตำบลบางเมือง



- ทางฝั่งขวาของแม่เจ้าพระยา (ตะวันตก) มีป้อมนาคราช
- ส่วนกลางแม่น้ำมีเกาะใหม่เกิดขึ้น จึงสร้างป้อมขึ้นบนเกาะนั้น เรียกว่า "ป้อมผีเสื้อสมุทร" และในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองปากลัด ในเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นมาด้วย
ในการสร้างเมืองสมุทรปราการใหม่นี้ ได้สร้างเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ ครั้นในวันพุธ เวลา ๐๔.๒๔ น. ได้ฤกษ์เอาแผ่นยันต์ทอง เงิน ทองแดง ดีบุก และศิลา ลงสู่ภูมิบาทแล้วยกเสาหลักเมือง พอวันเสาร์  ๐๕.๒๔ น. ทำพิธีฝังอาถรรพ์แผนยันต์องครักษ์อีกครั้งหนึ่ง เสาหลักเมืองที่ทำพิธียกขึ้นครั้งนั้น เป็นที่ตั้งของ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" ในปัจจุบัน
ใน ปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ก่อนหน้าที่จะทำพิธีฝังหลักเมืองไม่นาน อุปราชเมืองนครพนมได้พาสมัครพรรคพวกและบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารประมาณ ๒,๐๐๐ คน รัชกาลที่ ๒ โปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบคลองมหาวงษ์ในเมืองสมุทรปราการ กับให้ท้าวอินทพิศาล บุตรชายคนโตของอุปราชเมืองนครพนมเป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ
ในระหว่างที่สร้างเมืองสมุทรปราการใหม่อยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จทอดพระเนตรงานก่อสร้างอยู่เสมอ ครั้นวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๖๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดพิชัยสงคราม (วัดนอก) เมืองสมุทรปราการทรงทอดพระเนตรเห็นเกาะหาดทรายข้างป้อมผีเสื้อสมุทร จึงทรงพระราชดำริจะสร้างมหาเจดีย์เพื่อคู่กับชาวเมืองสมุทรปราการที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ดังนั้นจึงโปรดให้สร้าง" พระสมุทรเจดีย์" ขึ้นบนเกาะกลางน้ำตรงท้ายป้อมผีเสี้อสมุทรแต่การสร้างได้เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเสร็จสิ้นในรัชสมัยของพระองค์
(๓) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์เสร็จแล้วจะทำสงครามกับญวน พระองค์จึงโปรดให้สร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการ เมื่อปีชวด พ.ศ.  ๒๓๗๑ โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองสร้างป้อมฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อป้อม  ปีกกาต่อจากป้อมประโคมชัยของเดิม, ป้อมตรีเพ็ชร์ สร้างที่บางจะเกรง (บางนาเกรงในปัจจุบัน) เหนือเมืองขึ้นไป
ต่อมา ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ โปรดให้กรมสมเด็จพระเคชาดิศร ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุนเดชาอดิสรกับกรมหมื่นเสพสุนทร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ สร้างป้อมที่บางปลากด ทางฝั่งตะวันตกข้างเหนือเมืองสมุทรปราการ ชื่อป้อมคงกระพัน ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง  ไปสร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการ คือ ทำป้อมปีกกาต่อป้อมนาคราช เรียกว่า  ป้อมปีกกาพับสมุทร ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทร เดิมทำเป็น ๒ ชั้น ให้รื้อชั้นบนออกเสียชั้นหนึ่งแล้วสร้างปีกกาขยายป้อมออกไปทั้ง ๒ ข้าง และให้ถมศิลาปิดปากอ่าวที่แหลมฟ้าผ่า ๕ กอง ไว้ทางเรือเดินเป็นช่องๆ เรียกว่า
"โขลนทวาร" ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ โปรดให้สมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนารถ เป็นแม่กองสร้างป้อมใหญ่ขึ้นที่ตำบลมหาวงษ์ ทางฝั่งตะวันออกอีกหนึ่งป้อม เป็นป้อมที่ตั้งของแม่ทัพ ชื่อป้อมเสือซ่อนเล็บ
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็นต้องมีป้อมที่ปากอ่าวบริเวณแผ่นดินที่ยื่นออกไปจนถึงตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอเมืองสมุทรปราการ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีป้อมปืนสามารถต้านทานกระสุนปืนเรือทันสมัยได้ ประกอบกับเวลานั้นไทยกำลังมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศล กรณีพิพาทดินแดนทางแม่น้ำโขง ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ได้สิ้นพระราชทรัพย์ในการสร้างไปทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๐ ชั่ง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็รักษาไว้ไม่ได้นาน เพราะมีประเทศมหาอำนาจตะวันตกมาแสวงหาเมืองขึ้น ทางภาคตะวันออกของทวีปเอเชียประเทศเล็กประเทศน้อยก็ต้องสูญเสียดินแดนแก่มหาอำนาจที่ว่านี้ อย่างไม่มีทางจะเอาดินแดนคืนได้โดยเฉพาะประเทศไทยได้เสียดินแดนให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกไปทั้งหมด ๑๑ ครั้ง และในการเสียดินแดน ครั้งที่ ๗ มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับเมืองสมุทรปราการ คือ เหตุการณ์รบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เนื่องจากในวันนั้น เป็นวันกำหนดการเสด็จมาถึงของอาชดุ๊ค ฟรานซ์เฟอร์ดินานด์ ยุพราชแห่งออสเตรีย โดยจะเดินทางถึงอ่าวไทย เพื่อเยือนประเทศสยาม และในตอนเย็นวันนั้น มีฝนตกตรำๆ ตลอดจนค่ำ เรือรบฝรั่งเศษ  ๒ ลำ และมีเรือสินค้าซึ่งเคยทำการค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับไซ่ง่อนเป็นเรือนำร่องเข้ามา ถือโอกาสแล่นเข้ามาเป็นการสวมรอย ทำให้ทหารไทยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝ่ายใดแน่นอน จึงเกิดความลังเลใจ เรือรบฝรั่งเศสจึงรอดจากการยิงของทหารไทยที่ป้อมปืนพระจุลจอมเกล้าเข้ามาได้ คงถูกยิงแต่เรือนำร่องและเกยตื้นอยู่ การเข้ามาของเรือรบฝรั่งเศสเป็นการขู่รัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งฝรั่งเศสให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง นอกจากนั้นฝรั่งเศสยังส่งเรือรบอีก ๘ ลำ มาปิดอ่าวไทยเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ อีกชั้นหนึ่งรัฐบาลไทยได้ยอมตกลงตามเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสเรียกร้องเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสจึงยอมถอนกองเรือรบที่ปิดอ่าว เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๓๖ แม้กระนั้นก็ยังยึดจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดไว้อีก ๑๕ ปี
เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) นี้ นอกจากไทยจะถูกปรับเป็นเงินตราอย่างมหาศาลแล้วต้องเสียดินแดนฝั่งช้ายแม่น้ำโขง เป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรให้แก่ฝรั่งเศส ประเทศลาวทั้งหมด อาณาจักรลานช้าง ซึ่งเป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ อยู่กับไทยมาครบ ๓๐๐ ปีพอดี ต้องมาเสียให้ฝรั่งเศสคราวนี้ด้วย และยึดจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดเป็นประกันอีก ๑๕  ปี
การที่ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ จ.ศ. ๑๒๕๕) นับว่าเป็นครั้งยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งในจำนวน ๑๑ ครั้ง สร้างความขมขื่นให้ไทยอย่างใหญ่หลวง(๔)
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #34 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:25:56 »

สมุทรปราการ ๒
ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการปกครองพระราชอาณาเขตให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกรมพระกลาโหมกรมมหาดไทย และกรมท่า ให้มาอยู่ในบังคับบัญชา ของกระทรวงมหาดไทย เพียงกระทรวงเดียว อย่างไรก็ตาม ในการจัดระเบียบการปกครองโอนหัวเมืองต่างๆ ให้มาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ปรากฏว่า เมืองสมุทรปราการและเมืองนครเขื่อนขันธ์ ได้รวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้นต่อกระทรวงนครบาลแทน ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๔ (๕)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงดำริว่านาม "พระประแดง" เป็นเมืองสำคัญมาแต่โบราณกาล สมควรใช้แทนนครเขื่อนขันธ์ เพราะอยู่ติดกันอยู่แล้ว ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "นคร เขื่อนขันธ์" เป็น "เมืองพระประแดง" สืบมา
ใน พ.ศ.๒๔๕๘ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชโองการขยาย เขตกรุงเทพมหานครเสียใหม่ด้วยทรงเห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความเจริญขยายออกไปมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราช-บัญญัติแบ่งการบังคับบัญชาหัวเมืองใหม่ ยกเลิกมณฑลกรุงเทพฯ เดิมที่รวมท้องที่เมืองนนทบุรี      เมืองมีนบุรี เมืองพระประแดงเมืองสมุทรปราการ แล้วกำหนดเขตเสียใหม่และให้ยกเมืองธัญบุรี      เมืองปทุมธานี ไปสมทบเป็นหัวเมืองขึ้นกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นต้นมา(๖)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองขึ้นเป็นจังหวัด เมืองสมุทรปราการก็กลายเป็นจังหวัดสมุทรปราการ และเมืองพระประแดงก็เป็นจังหวัดพระประแดงต่างหาก จังหวัดสมุทรปราการในตอนนั้นมี ๔ อำเภอ คือเมือง, บาง..น่ารัก.. (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบางบ่อ) , บางพลี และเกาะสีชัง (ลดฐานะลงมาเป็นกิ่งอำเภอในภายหลัง เพราะพลเมืองน้อย) และจังหวัดพระประแดง มี ๓ อำเภอ คือ เมืองราษฎร์บูรณะ และพระโขนง
ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจึงยุบจังหวัดพระประแดงลงมาเป็นอำเภอหนึ่งให้ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอราษฎร์บูรณะไปขึ้นกับจังหวัด    ธนบุรี และอำเภอพระโขนงไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้ออกพระราชบัญญัติยุบจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดอื่นๆ อีก ๔ จังหวัดไปรวมเป็นจังหวัดพระนคร-ธนบุรี แต่ต่อมาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง  โดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วการจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น กรมปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการ    ในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ  เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก  หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมืองระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ"การเทศาภิบาล" ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
"การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกันโดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัดรองไปอีกเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง ทบวง กรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อนเพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย"
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น "ระบบ" การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า "การปกครองส่วนภูมิภาค" ส่วน "มณฑลเทศาภิบาล" นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ การจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้างและกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่งยากที่จะจัดระเบียบการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กกับในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรก ได้วางแผนงาน จัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายปี เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้วจึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรีมณฑลนครสวรรค์  มณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายับ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑลมณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราช-การจังหวัดในการบริหารราชแผ่นดินในจังหวัดนั้น




ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรปราการ. สมุทรปราการ : วีระการพิมพ์, ๒๕๒๖.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #35 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:26:27 »

สระบุรี
“สระบุรี” ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง-ราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เมืองสระบุรีตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักร-พรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วปีเศษ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๙๑–๒๑๑๑)
มูลเหตุตั้งเมืองสระบุรี
   ลักษณะการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะนั้น แบ่งการปกครองออกเป็นอย่างนี้
   ๑. หัวเมืองชั้นในและชานเมือง เรียกว่า มณฑลราชธานี ได้แก่ เมืองที่ตั้งอยู่ใกล้พระนคร  ที่ปรากฏนามสำคัญคราวนั้น มี เมืองชลบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีและเมืองชัยนาท เป็นต้น
   ๒. หัวเมืองชานเมือง ได้แก่ เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครนายก เป็นต้น
   ๓. หัวเมืองฝ่ายเหนือ มีเมืองนครสวรรค์ เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก เป็นต้น
   ๔. หัวเมืองด้านตะวันออก มีเมืองนครราชสีมา เมืองเพชรบูรณ์ และเมืองจันทบุรี ตลอดจนเมืองปราจีนบุรี เป็นต้น
   ๕. หัวเมืองด้านตะวันตก มีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เป็นต้น
   ๖. หัวเมืองปักษ์ใต้ มีเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
   การสำรวจสำมะโนครัวชายฉกรรจ์ หรือที่เรียกว่า “สักเลข” สมัยโน้น ได้แก่ การออกสำรวจชายหนุ่มรุ่นฉกรรจ์เข้ารับราชการทหารนั่นเอง สมัยนั้นผู้คนอยู่ส่วนเมืองใด ก็ให้สังกัดหัวเมืองนั้นๆ ยังไม่ได้เรียกเข้ามาร่วมกันกับมณฑลราชธานีแต่อย่างใด
   เนื่องจากมีความลักลั่นไม่เป็นระเบียบในการเกณฑ์ไพร่พลเช่นนี้ พอเกิดศึกสงครามมาประชิดติดพระนคร จึงไม่สามารถเรียกระดมพลได้เต็มที่ เนื่องจากเมืองไทยว่างเว้นศึกสงครามมาระยะหนึ่ง พอมีพม่าข้าศึกมา (พระเจ้าตะเบงชะเวตี้แห่งหงสาวดี) ยกทัพมาไทยเราก็พ่ายถึงกับต้องสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยอัครมเหสี ถูกพระเจ้าแปรแม่ทัพพม่าฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง คราวที่ไสช้างออกไปกั้นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิมิให้เป็นอันตรายในสนามรบ (ทุ่งลุมพี ชานพระนครศรี-อยุธยา ด้านทิศเหนือ)
   ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก ๓ เมือง เพื่อให้สะดวกรวดเร็วและได้ผลทันต่อเหตุการณ์บ้านเมืองคราวเกิดศึกสงคราม คือ
   ๑. ยกบ้านตลาดขวัญ ขึ้นเป็น เมืองนนทบุรี
   ๒. ยกบ้านท่าจีน ขึ้นเป็น เมืองสาครบุรี (จังหวัดสมุทรสาคร)
   ๓. แบ่งเอาเขตเมืองราชบุรี กับเขาเมืองสุพรรณบุรี มารวมกันตั้งขึ้นเป็น เมืองนครชัยศรี (อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม)
   ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า เมืองเดิมที่ตั้งอยู่ชานพระนครเคยมีอยู่เดิมแล้ว เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองอินท์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และเมืองลพบุรี เมื่อตั้งเมืองเพิ่มเข้ามาอีก จึงสามารถจะติดต่อกันได้แต่ละหัวเมืองภายในหนึ่งวันเท่านั้น นี้เป็นมูลเหตุตั้งเมืองขยายออกไปรอบพระนครหลวง เพื่อรวบรวมไพร่พลไว้ต่อสู้ข้าศึก
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า เมืองสระบุรี เมืองฉะเชิงเทรา คงจะถูกตั้งขึ้นด้วยกันคราวนั้นเป็นแน่แท้ จากพระราชพงศาวดารที่ปรากฏตอนหนึ่งว่า
“ไพร่บ้านเมืองตรีจัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือ เข้าพระนครครั้งนี้น้อยนัก หนีออกอยู่ป่าห้วยเขา ต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีน ตั้งเป็นเมืองสาครบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญ ตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี แล้วปรึกษาว่า กำแพงลพบุรี (เมืองนครนายก เมืองสุพรรณบุรี) ๓ เมืองนี้ควรจะล้างเสียหรือจะเอาไว้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราม-เมศวร พระมหินทราธิราช กับมุขมนตรีพร้อมกันปรึกษากราบทูลว่า จะให้ไปรับทัพหัวเมืองนั้น ถ้ารับได้ก็จะเป็นคุณ ถ้ารับมิได้ข้าศึก สังกัดสมสกรรจ์พันจะอาศัยให้รื้อกำแพงเสียดีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม แล้วให้ตั้งพิจารณาเลขลำเครื่อง ๒๐๐,๐๐๐ เศษ”๑
อนึ่งเมืองสระบุรีนั้น ที่ตั้งตัวเมืองคราวแรก คงจะไม่ได้กำหนดเขตแดนไว้แน่นอนและยังไม่ปรากฏว่าเคยได้ตั้งผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองอย่างเป็นทางการ แต่อย่างใดไว้คงจะแบ่งเอาบางส่วนจากแขวงเมืองลพบุรี แขวงเมืองนครราชสีมา และแขวงเมืองนครนายก ตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ในคราวเดียวกันนั้น ทั้งนี้เพราะเขตที่กันขึ้นเป็นเมืองสระบุรี เป็นเขตที่คลุมบางส่วนของลำแม่น้ำป่าสัก สะดวกต่อการเดินทัพขึ้นไปทางภาคตะวันออก - ตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเคยเป็นเส้นทางที่พวกขอมสมัยโบราณเคยใช้เดินทางมาก่อนแล้วด้วย
เส้นทางคมนาคมพวกขอมผ่านเมืองสระบุรีสมัยโบราณ (ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา)
ในหนังสือเรื่อง “เที่ยวตามทางรถไฟ” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายแยกเรื่องความเป็นมาของสระบุรีไว้แต่ละยุคสมัย ดังนี้
สมัยกรุงละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาถึงสมัยอโยธยา
   “ท้องที่อันเป็นเขตจังหวัดสระบุรี แต่โบราณครั้งเมื่อพวกขอมยังเป็นใหญ่ในประเทศนี้ อยู่ในทางหลวงสายหนึ่ง ซึ่งพวกขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่า นครธม) ยังมีเทวสถานซึ่งพวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมืองปรากฏอยู่เป็นระยะมา คือในเขตจังหวัดปราจีนบุรี มีที่อำเภอวัฒนานครแห่ง ๑ ที่ดงศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ ต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายก มีที่ดงละครแห่ง ๑ แล้วมามีที่บางโขมด ทางขึ้นพระพุทธบาทอีกแห่ง ๑ ต่อไปก็ถึงลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลละโว้ ที่พวกขอมมาตั้งปกครอง แต่ที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งจังหวัดสระบุรี หาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นเมืองสระบุรีเห็นจะเป็นเมืองตั้งขึ้นต่อเมื่อไทยได้ประเทศนี้จากขอมแล้ว ข้อนี้สมด้วยเค้าเงื่อนในพงศาวดาร ด้วยชื่อเมืองสระบุรีปรากฏในเรื่องพงศาวดารเป็นครั้งแรก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช…”


สมัยกรุงศรีอยุธยา
     “เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยา พระไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกกองทัพเมืองเวียงจันท์ลงมาช่วยไทย เดินกองทัพเลียบลำน้ำป่าสักลงมา พระเจ้า-หงสาวดีให้พระมหาอุปราชคุมกองทัพไปซุ่มดักทางอยู่ที่เมืองสระบุรีตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแตกกลับไป ดังนี้เป็นอันได้ความว่า เมืองสระบุรีตั้งมาก่อน พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่จะตั้งเมื่อใดข้อนี้ได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชบิดาของสมเด็จพระมหินทราธิ-ราชนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ ในสมัยนั้นมีเมืองป้อมปราการเป็นเขื่อนขัณฑ์กันราชธานีอยู่ทั้ง ๔ ทิศ คือเมืองสุพรรณบุรีอยู่ทางทิศตะวันตก เมืองลพบุรีอยู่ทางทิศเหนือ เมืองนครนายกอยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองพระประแดงอยู่ทางทิศใต้ กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ข้างทิศตะวันตก กองทัพไทยจึงไปตั้งต่อสู้อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีรับข้าศึกไม่อยู่ต้องถอยเข้ามาเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่น จึงได้ชัยชนะ เป็นเหตุให้เห็นว่าเป็นเมืองที่ตั้งเป็นเขื่อนขัณฑ์กันพระนครนั้น หาเป็นประโยชน์ดังที่คาดมาแต่ก่อนไม่ ที่สร้างป้อมปราการไว้ ถ้าข้าศึกเอาเป็นที่มั่นสำหรับทำการสงครามแรมปี ตีพระนคร ก็จะกลับเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก จึงให้รื้อป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี และเมืองนครนายกเสียทั้ง ๓ เมือง คงไว้แต่ที่เมืองพระประแดง ซึ่งรักษาทางปากน้ำ อีกประการ ๑ เห็นว่า ที่รวบรวมผู้คนในเวลาเกณฑ์ทัพยังมีน้อยแห่งนัก จึงได้ตั้งตัวเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเมือง สำหรับเป็นที่รวบรวมผู้คนเพื่อจะได้เรียกระดมมารักษาพระนครได้ทันท่วงที ในเวลาการสงครามมีมาอีก เมืองที่ตั้งใหม่ครั้งนั้นระบุชื่อไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่ทางทิศใต้กับทางทิศตะวันตก คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมือง สาครบุรี ๑ (สมุทรสาคร) เมือง ๑ และเมืองนครไชยศรีเมือง ๑ แต่ทางทิศอื่นหาได้กล่าวไม่ เมืองสระบุรี (และเมืองฉะเชิงเทรา) เห็นจะตั้งขึ้นในครั้งนี้นั่นเอง คือตั้งเมื่อราว พ.ศ. ๒๐๙๒ ก่อนปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเพียง ๒๐ ปี เหล่าเมืองที่ตั้งครั้งนั้นเป็นแต่สำหรับรวบรวมผู้คนดังกล่าวมา จึงกำหนดแต่เขตแดนมิได้สร้างบริเวณเมือง ผู้รั้งตั้งจวน อยู่ที่ไหนก็ชื่อว่าเมืองอยู่ตรงนั้น ไม่เหมือนเมืองที่ตั้งมาแต่ก่อน เช่น เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี เป็นต้น เมืองตั้งสำหรับรวบรวมคนเช่นว่ามานี้ มีอีกหลายเมือง พึ่งมาตั้งบริเวณเมืองประจำที่ทั่วกันต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
ดังกล่าวมานี้ เป็นประวัติความเป็นมาของเมืองสระบุรีโดยมีเค้าเงื่อนพอเชื่อถือได้ไม่น้อยเลย
นามเจ้าเมืองสระบุรีที่ปรากฏในพงศาวดาร
ตำแหน่งบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองสระบุรี ปรากฏเด่นชัดในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๕ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จยกทัพไทยไปตีเมืองเขมร แต่ไม่ทราบนามจริง คงทราบแต่ว่ามีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสระบุรี” เท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ที่มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระ” เช่นกัน ส่วนเจ้าเมืองนครนายกกับเจ้าเมืองปราจีนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา”
เจ้าเมืองสระบุรีสมัยสมเด็จพระนเรศวรนั้น น่าจะยังเป็นคนไทยภาคกลางอยู่ มีหน้าที่คุมรักษาฉางข้าวไว้ให้กองทัพหลวง ครั้งยกไปตีเขมรคราวนั้น คงจะเป็นเพราะให้ชาวเมืองสระบุรี สมัยนั้นทำไร่ทำนาเก็บเกี่ยวข้าวไว้สำหรับทางราชการงานสงครามเมื่อต้องการ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จวบกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งเจ้าเมืองสระบุรี ก็ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระอยู่ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้าเมืองสระบุรีมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา-สุราราชวงศ์” ตามพระราชพงศาวดารว่าเป็นชนเผ่าลาวพุงดำ ซึ่งถูกเกณฑ์อพยพมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพขึ้นไปตีนครเวียงจันทน์ (สมัยกรุงธนบุรี) แล้วมาตั้งรกราก ณ แขวงเมืองสระบุรี พ.ศ. ๒๓๒๔ แต่พระยาสุราราชวงศ์ เจ้าเมืองสระบุรีคนนี้ถูกเมืองขวาเชียงใต้ แม่ทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ยกทัพลงมาต้อนครัวชาวสระบุรีขึ้นไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ คาดว่าคงจะเสียชีวิตคราวคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) สู้กับไพร่พลลาวเวียงจันทน์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองพิมาย นครราชสีมา
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ระยะนั้นการปก-ครองหัวเมืองยังไม่เข้ารูปลักษณะการปกครองอย่างสมัยนี้ เจ้าเมืองสระบุรี ท่านผู้นี้คงจะเป็นลาวพุงดำเชื้อสายจากนครเวียงจันทน์ด้วย ทางการมีการแต่งชื่อเจ้าเมือง และกรมการเมืองใหม่กันอีก คือ
เมืองลพบุรี เดิมนามว่า พระนครพราหมณ์ ตั้งใหม่เป็นพระยาสุจริตรักษาลพบุรานุรัก-พิทักษ์ทวีชาติภูมิ ตำแหน่งเจ้าเมือง ส่วนปลัดเมืองเดิมนามว่า ขุนบุรีราชรักษา ตั้งใหม่เป็นพระนครพราหมณ์
เมืองพระพุทธบาท (แก้วประศักเมืองปรันตปะ) เดิมนามว่า ขุนอนันตคีรี ตั้งใหม่เป็นหลวงสัจจภัณฑคิรี ศรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสีนพคูหาพนมโขลน
เมืองสระบุรี เดิมนามว่า ขุนสรบุรีปลัด ตั้งใหม่เป็น พระสยามลาวบดีปลัด ตำแหน่งเจ้าเมือง
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่า เป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการใน ท้องที่ต่างๆ เป็นการรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบ และเปลี่ยนระบบการปกครอง ประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก  หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้รวมอำนาจการปกครองเข้ามาอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมิให้อำนาจการบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค เป็นสื่อกลางระหว่างประชากรของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลซึ่งอยู่ในราชธานี ให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ด้วย จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวง กรม ในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้ สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย และรวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาล นั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเอง เช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่น-คงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่า ควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว   จึงได้มีพระ -
บรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลที่ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖  มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑล ดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเป็นมณฑลเทศาภิบาล การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนคร-ชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานีและมณฑลจันทบุรี
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
เมืองสระบุรี จึงพอทราบได้ว่า ที่ตั้งตัวเมืองดั้งเดิม ตั้งอยู่บริเวณบึงหนองโง้ง ใกล้วัดจันทบุรี ตำบลศาลารีลาว ซึ่งปัจจุบันเป็นตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓
ต่อมา เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าเมืองคนใหม่ ก็ย้ายที่ทำการเจ้าเมืองต่อไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อย ตามบ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัย แต่ก็คงยังอยู่ในเขตอำเภอเสาไห้นั่นเอง ศาลากลางเมืองสระบุรียังคงอยู่ตรงนั้นเรื่อยมาตราบเท่าสิ้นเจ้าเมืองที่ทางมณฑลกรุงเก่าส่งมาปกครอง เพราะเมืองสระบุรีสมัยนั้น สมัยแบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน
เจ้าเมืองคนใหม่ที่ทางมณฑลแต่งตั้งมาปกครองเมืองสระบุรีระหว่างที่ศาลากลางเมืองอยู่บ้านไผ่ล้อมน้อยนั้น คือ พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ดิศ) มาเป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ ถึง ๒๔๕๒
ท่านเจ้าคุณพิชัยฯ เป็นเจ้าเมืองสระบุรีไม่นานนัก ก็พอดีในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาถึงเมืองสระบุรี ท่านเจ้าคุณพิชัยเห็นว่าตัวเมืองเดิมที่เสาไห้นั้น อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟ ภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันสมัยนั้น ยากแก่การขยายเมืองในอนาคต จึงได้ดำเนินการสร้างศาลากลางขึ้นใหม่ ณ บริเวณตำบลปากเพรียว การก่อสร้างได้ดำเนินการเรื่อยมาและสำเร็จสามารถโยกย้ายข้าราชการขึ้นทำงานบนศาลากลางได้ ก็เข้าถึงเจ้าเมืองสระบุรีคนที่ ๓ คือ พระยาบุรีสราธิการ (เป้า จารุเสถียร) บิดาของ จอมพลประภาส จารุเสถียร (ปี พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๕๗)
ศาลากลางหลังเก่าได้รับใช้ประชาชนเมืองสระบุรีมาจวบกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ทางการจึงใช้งบประมาณมาสร้างศาลากลางหลังใหม่ (ปัจจุบันนี้) ในสมัยของนายประพจน์ เรขะรุจิ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี (พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๓)
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖  จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #36 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:26:50 »

สระบุรี ๒
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจเท่าเทียมกันนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัด นั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่น-ดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของ    ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
จังหวัดสระบุรีปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ และ ๑ กิ่งอำเภอ คือ
๑. อำเภอเมืองสระบุรี
๒. อำเภอแก่งคอย
๓. อำเภอหนองแค
๔. อำเภอหนองแซง
๕. อำเภอบ้านหมอ
๖. อำเภอเสาไห้
๗. อำเภอพระพุทธบาท
๘. อำเภอวิหารแดง
๙. อำเภอมวกเหล็ก
              ๑๐. อำเภอหนองโดน
              ๑๑. กิ่งอำเภอดอนพุด
จังหวัดสระบุรีมีเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑ เขต มีจำนวนผู้แทนราษฎร จำนวน ๓ คน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๕๒๖ มีผู้สมัครได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดสระบุรี คือ
 ๑. พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร
 ๒. นายเงิน บุญสุภา
 ๓. นายปองพล อดิเรกสาร
 การปกครองส่วนภูมิภาค นอกจากอำเภอและกิ่งอำเภอแล้ว ยังมีหน่วยงานบริหารราชการส่วนภูมิภาคของหน่วยงานต่างๆ ที่ประจำในจังหวัดสระบุรี ดังนี้
 ๑. สำนักงานจังหวัดสระบุรี
 ๒. ที่ทำการปกครองจังหวัดสระบุรี
 ๓. ที่ทำการอัยการจังหวัดสระบุรี
 ๔. กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี
 ๕. เรือนจำจังหวัดสระบุรี
 ๖. ที่ทำการพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี
 ๗. สำนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี
 ๘. ที่ทำการโยธาธิการจังหวัดสระบุรี
 ๙. สำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี
                ๑๐. ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดสระบุรี
๑๑. ที่ทำการคลังจังหวัดสระบุรี
๑๒. สำนักงานสรรพากรจังหวัดสระบุรี
๑๓. สำนักงานสรรพสามิตจังหวัดสระบุรี
๑๔. ที่ทำการราชพัสดุจังหวัดสระบุรี
๑๕. สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี
๑๖. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี
๑๗. สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี
๑๘. สำนักงานป่าไม้จังหวัดสระบุรี
๑๙. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระบุรี
๒๐. สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระบุรี
๒๑. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี
๒๒. สำนักงานขนส่งจังหวัดสระบุรี
๒๓. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระบุรี
๒๔. ที่ทำการสัสดีจังหวัดสระบุรี
๒๕. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี
๒๖. สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระบุรี
๒๗. สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดสระบุรี
การบริหารราชการส่วนกลาง มีหน่วยงานของส่วนกลางและรัฐวิสาหกิจ ที่มีที่ตั้งและพื้นที่ทำการในเขตจังหวัดสระบุรีอีก ดังนี้
๑, ป่าไม้เขตสระบุรี
๒. สถานีรถไฟจังหวัดสระบุรี
๓. ที่ทำการสถานีไฟฟ้าย่อยสระบุรี
๔. สถานีตำรวจทางหลวงหินกอง
๕. สำนักงานพัฒนาชุมชนเขต ๑
๖. ศูนย์มาลาเรียเขต ๑ พระพุทธบาท

 ๗. ศูนย์กามโรคเขต ๑ พระพุทธบาท
 ๘. ศูนย์วัณโรคเขต ๑๑ พระพุทธบาท
 ๙. ศูนย์โภชนาการเขต ๑ พระพุทธบาท
๑๐. ศูนย์สุขาภิบาลเขต ๑ พระพุทธบาท
๑๑. ศูนย์ควบคุมโรคเรื้อนเขต ๑ สระบุรี
๑๒. สำนักงานประปาชนบทที่ ๑
๑๓. ไปรษณีย์โทรเลขสระบุรี
๑๔. ไปรษณีย์โทรเลขปากเพรียว
๑๕. ศูนย์โทรคมนาคม
๑๖. โทรเลขสระบุรี
๑๗. สวนพฤกษศาสตร์พุแค
๑๘. สวนป่าพุแค
๑๙. ศูนย์เพาะชำภาคกลาง (พุแค)
๒๐. สถานีวนกรรมมวกเหล็ก
๒๑. สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง
๒๒. สถานีผสมเทียมสระบุรี
๒๓. โครงการสูบน้ำและบำรุงรักษาเริงราง
๒๔. โครงการสูบน้ำเสาไห้
๒๕. ชลประทานท่าหลวง
๒๖. นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท
๒๗. นิคมสร้างตนเองเลี้ยงโคนมมวกเหล็ก
๒๘. ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมไทย – เยอรมัน
๒๙. นิคมสร้างตนเองทับกวาง
๓๐. หน่วยสหกรณ์นิคมหนองเสือ
๓๑. สำนักงานช่างตวงวัดที่ ๑๓
๓๒. โครงการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาล
๓๓. อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น
๓๔. สวนรุกขชาติมวกเหล็ก
๓๕. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
๓๖. สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดสระบุรี
๓๗. สำนักงานชุมสายโทรศัพท์จังหวัดสระบุรี
๓๘. ที่ทำการแขวงการทางสระบุรี
๓๙. สำนักงานสถิติจังหวัดสระบุรี

๔๐. สำนักงานชลประทานและบำรุงรักษาคลองเพรียว
๔๑. สำนักงานออมสินจังหวัดสระบุรี
๔๒. สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสระบุรี


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสระบุรี. สระบุรี : โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง ๒, ๒๕๒๗ 
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #37 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:27:26 »

สิงห์บุรี
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประวัติของไทยนั้นเก่าแก่มาก จดหมายเหตุจีนเมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนพุทธกาลกล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของไทยว่าอยู่ในลุ่มน้ำตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ซึ่งอยู่ในท้องที่มณฑลฮูเป และ      โฮนานในบัดนี้ ในสมัยเดียวกันนั้น จีนก็ได้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามที่ราบสูง ในลุ่มน้ำเหลืองตอนบน คือ มณฑลกังซูในบัดนี้ ซึ่งเห็นจะเป็นเพราะถูกพวกต้นตระกูลตาดรุกราน จึงได้ร่นลงมาและปะทะกับไทยเข้า ไทยมีจำนวนน้อยจำต้องร่นลงมาทางใต้หลายทิศหลายทาง
พวกไทยส่วนมากร่นลงมาตามแม่น้ำแยงซีเข้าไปในยูนนาน ต่อสู้ชนะพวกพื้นเมืองเดิมและได้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้า โดยมีตาลีฟูเป็นเมืองหลวง ต่อมาเมืองหลวงก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ ปูเออฟู อาณาจักรน่านเจ้าครอบครองท้องที่มณฑลยูนนานปัจจุบัน พม่าเหนือและภาคเหนือของสิบสองปันนาประวัติของไทยในสมัยที่กล่าวนี้ รุ่งเรืองที่สุดและอำนาจอยู่อย่างนี้ ๔ ศตวรรษ
อย่างไรก็ดี เมื่อจีนรุกรานหนักเข้า ไทยก็จำต้องอพยพร่นลงมาอีก และกว่าจะต่อสู้เอา  ชัยชนะขอมเจ้าของถิ่นเดิมได้ ก็เป็นเวลาตั้งหลายศตวรรษ แล้วจึงได้ตั้งอาณาจักรใหม่ ณ เชียงแสน บนฝั่งแม่น้ำโขง อาณาจักรใหม่นี้มีประวัติรุ่งเรืองเหมือนอาณาจักรเดิมต่อมานั้นได้ย้ายจากเชียงแสนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำสาลวิน มีภุกามเป็นเมืองหลวง แต่อาณาจักรนี้ไม่ยั่งยืนเพราะอยู่ใกล้ขอมมาก จึงถูกขอมขับกลับไปเลยไปสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่   แม่น้ำปิง
การอพยพลงมาทางใต้ยังคงดำเนินไปอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรียกกันว่าดินแดนแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันนี้ ได้มีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่พวกละว้า ซึ่งได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ๓ แคว้นด้วยกัน คือ
๑. แคว้นโยนก อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ ดินแดนที่เป็นมณฑลพายัพ และลานนาไทยปัจจุบัน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองเชลียง (สวรรคโลก) ขึ้นไปจนตลอดหัวเมืองลานนา และลานช้าง ได้ตั้งราชธานี อยู่ที่เมืองเงินยาง (เชียงแสน)
๒. แคว้นทวารวาดี อยู่ตรงตอนกลางของประเทศไทย คือ ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม อยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ปราจีนบุรี รวมทั้งแหลมมลายู ตั้งราชธานีอยู่ที่นครปฐม
๓. แคว้นโคตรบูร อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบัน มีราชธานีอยู่ที่สกลนคร
สำหรับแคว้นทวารวดีนั้น ต่อมาได้ถูกพวกมอญขยายอาณาเขตเข้ามาทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าครอบครองกลายเป็นอาณาจักรหนึ่งของชนชาติมอญ สันนิษฐานว่า พวกมอญคงจะได้ตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และสิ้นสุดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากอำนาจของขอมได้แผ่เข้ามายังภาคกลางของประเทศไทย อาณาจักรทวารวดี ก็เปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรของขอม ซึ่งเรียกเป็นเฉพาะว่าอาณาจักรลพบุรี
สมัยทวารวดีนั้น มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่นครปฐม ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอย่างชัดเจน และได้มีการขุดค้นพบโบราณสถาน และหลักฐานต่าง ๆ สมัยทวารวดี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยด้วยเช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ และนครราชสีมา และทางภาคกลางของประเทศไทยเช่นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยเฉพาะที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้ค้นพบเหรียญเงินมีตัวอักษร ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จารึก มีข้อความว่า “ศรีทวารวดีศวรปุณยะ” ซึ่งแปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรี-ทวารวดี” อันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่สนับสนุนคำว่า “ทวารวดี” มีจริงมิใช่เป็นการอ้างเลื่อนลอยโดยพบเหรียญที่มีข้อความดังกล่าวอีกหลายเหรียญ ณ ที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้แล้วจากการขุดค้นพบเมืองโบราณที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้ทราบว่าเมืองดังกล่าวได้สร้างขึ้นมา มีความเก่าแก่สมัยทวารวดีตอนต้นและตอนปลาย เรื่อยมาถึงอาณาจักรละโว้ ลักษณะรูปเมืองก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเมืองสมัยทวารวดีเป็นอย่างดีแสดงให้เห็นว่าจังหวัดสิงห์บุรีมีชุมชนมาตั้งหลักปักฐานอยู่นานแล้ว ภายหลังกลายเป็นเมืองร้างด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานกันว่า เนื่องมาจากเกิดโรคห่า

นิยามปรัมปราเกี่ยวกับการสร้างเมืองสิงห์บุรี
ว่ากันว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง นามนี้ดูไปพ้องกับสีหพาหุกุมารในพงศาวดารลังกาที่กล่าวไว้ในหนังสือมหาวงศ์ว่า ในสมัยเมื่อร่วมพุทธกาล มีกษัตริย์ชาวอริยพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าวังคราช ครองวังคนคร เป็นราชธานีอยู่ทางข้างเหนือเมืองกลิงคราษฎร์ได้ราชธิดาพระเจ้ากลิงค-ราษฎร์เป็นอัครมเหสี มีราชธิดานามว่านางสุปา นางสุปาถูกขับไล่จากเมืองไปเพราะมากด้วยกามกิเลส จึงเที่ยวซัดเซพเนจรไปในที่ต่าง ๆ ไปได้พระยาราชสีห์เป็นสามี มีบุตรชื่อสีหพาหุ เพราะมีกำลังวังชามาก เมื่อเติมใหญ่จึงพานางผู้เป็นมารดาหนีพระราชสีห์ กลับมาอยู่กับมนุษย์ฝ่ายข้างพระยาราชสีห์มีความอาลัยอยู่จึงออกติดตามเที่ยวขบกัดชาวเมืองวังคนครล้มตายลงเป็นอันมาก พระเจ้าวังคราชต้องประกาศปาวร้องหาผู้ที่จะรับอาสาฆ่าพระยาราชสีห์นั้น สีหพาหุกุมารจึงอาสาฆ่าพระยาราชสีห์นั้นตาย เพราะเหตุนี้จึงปรากฏนามต่อมาว่าสีหฬกุมาร หมายความว่า กุมารผู้ฆ่าราชสีห์ ต่อมาเมื่อพระเจ้า    วังคราชสิ้นพระชนม์ไม่มีเชื้อพระวงศ์ ชาววังคนคร เห็นสีหฬกุมารมีอานุภาพมาก จึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สีหฬกุมาร สีหฬกุมารรับราชสมบัติแล้ว ไม่ปรารถนาจะอยู่ในวังคนครนั้น จึงได้มอบเมืองให้แก่อำมาตย์ ผู้เป็นสามีใหม่ของมารดา ส่วนตัวออกไปตั้งราชธานีใหม่ใช้ชื่อว่า สีหบุรีแล้วเสวยราชอยู่ ณ เมืองนั้น มีราชบุตรถึง ๓๐ องค์ องค์ใหญ่ทรงพระนามว่า วิชัยราชกุมาร (เรื่องนี้ได้มาจากเรื่องประดิษฐาน พระสงฆ์สยามวงศ์ในลงกาทวีปของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เมื่อสังเกตุตามนี้ เรื่องนี้อาจเป็นต้นเค้าของนิยายเกี่ยวกับสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดนี้ก็ได้ เพราะนามผู้สร้างนี้ก็มีนามเดียวกันคือ ชื่อสีหพาหุ และก็ได้ฆ่าพ่อ คือ พระยาราชสีห์เหมือนกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน เรื่องของเราฆ่าพ่อเพราะรังเกียจเป็นสัตว์ ส่วนเรื่องนี้ที่ฆ่าเพราะรับอาสาฆ่าที่พ่อไปขบกัดคนตาย และชื่อเมืองที่ออกไปตั้งใหม่ที่ชื่อสีหบุรี เหมือนกับเมืองสิงห์บุรี เพราะคำว่าสีหกับสิงหก็เป็นคำเดียวกัน สีหเป็นบาลี สิงหเป็นสันสกฤต สีห แปลว่า ราชสีห์เหมือนกัน และพระพุทธไสยาสน์นี้ก็ตั้งอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรีด้วย แต่ในเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกา มิได้กล่าวไว้ว่าพระเจ้าสีหพาหุเมื่อฆ่าพระยาราชสีห์ผู้เป็นพ่อแล้ว ได้สร้างอนุสาวรีย์อะไรเป็นหลักฐานเพื่อล้างบาปบ้าง ส่วนเรื่องของเราคงมากล่าวเสริมต่อขึ้นก็ได้หรืออาจได้สร้างจริง แต่มิได้อยู่ในลังกา แต่มาอยู่ในสิงห์บุรีเสียเรื่องจึงไม่ปรากฏในมหาวงศ์ แต่มาปรากฏทางของเรา
จากตำนานอีกเรื่องกล่าวว่า สิงห์บุรีเป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางลำน้ำแม่น้ำจักรสีห์ ในท้องที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ในปัจจุบันบริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุมีเมืองเก่าเรียกว่า “ บ้านหน้าพระลาน” ปรากฏอยู่ “สันนิษฐานว่า พระเจ้าไกรสรราช โอรสพระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ครองเมืองชัยปราการ (ฝาง) โปรดให้สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๖๕๐ ครั้งเสด็จพาไพร่พลมาครองเมืองลพบุรีตามรับสั่งพระราชบิดา ซึ่งเข้าใจว่า คงจะมาพักขึ้นบก ณ ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสิงห์เดิมนี้ เพื่อเดินทางไปลงเรือที่วัดปากน้ำ แม่น้ำลพบุรี เพราะสมัยนั้นลำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าอำเภอเมืองสิงห์บุรี และคลองบางพุทรายังไม่มี เมื่อเกิดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นใหม่ทางหน้าจังหวัดสิงห์บุรีบัดนี้ จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งทางแม่น้ำน้อย ตำบลโพสังโฆ ใต้วัดสิงห์ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอค่ายบางระจัน)  ลงมา ครั้ง พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เห็นกันว่าแม่น้ำใหม่เป็นทางคมนาคมสำคัญ จึงย้ายเมืองสิงห์บุรีมาตั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองนกกระทุ่ง ฝั่งใต้ที่ปากบางต้นโพธิ์ ตำบลบางมอญ (ปัจจุบันคือ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี) การย้ายครั้งนี้น่าจะเป็นสมัยเดียวกับตั้งเมืองอ่างทองในสมัยกรุงธนบุรี ภายหลังจึงย้ายไปตั้งที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี ปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๐
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในขณะที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีชนชาวไทยหลายพวกด้วยกันอพยพมาอยู่ในดินแดนตอนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน พวกที่มีกำลังเข้มแข็งก็ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น พวกที่อ่อนแอไม่สามารถรวบรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ก็เข้ามาอยู่ในความปกครองของชนเหล่าอื่น ระหว่างระยะเวลานี้ มีเจ้านายไทยองค์หนึ่ง ปรากฎพระนามตามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ไชยปราการ สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในบริเวณภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ที่หนองโสน หรือบึงพระราม เพราะเห็นว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเป็นราชธานี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์และการเมือง มีลำน้ำล้อมอยู่เป็นคูเมือง ได้แก่ลำน้ำป่าสัก ลำน้ำลพบุรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลักษณะชัยภูมิดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งทางยุทธวิธีทำให้ปลอดภัยจากศัตรูผู้รุกราน สะดวกในการป้องกันเมืองและเหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งมั่นรับข้าศึก เมื่อถึงฤดูน้ำหลากบริเวณนอกพระนครจะเจิ่งไปด้วยน้ำ ข้าศึกไม่สามารถจะตั้งทัพได้สะดวกต้องล่าถอยกลับไป
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งพระราชโอรส (คือพระราเมศวร) ไปครองเมืองลพบุรีในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางหนือ ในการที่จะคอยสดับตรับฟังข่าวคราวของอาณาจักรสุโขทัย และทรงตั้งขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) เป็นพระบรมราชาให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก พระบรมราชาได้ยกกองทัพไปตีเมืองชัยนาท เป็นการขู่ขวัญฝ่ายสุโขทัยไว้ก่อน เหตุการณ์ช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่าเมืองอินทร์ เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหม ในสมัยนั้นอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ในปี พ.ศ. ๑๘๙๕ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้เสด็จยกทัพไปล้อมเมืองพระนครหลวง (นครธม) และได้ยึดเมืองพระนครหลวงได้ใน พ.ศ. ๑๘๙๖ ทำให้พระเดชานุภาพแพร่หลายทั่วไปเป็นผลให้เมืองต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นอีกเป็นส่วนมาก มีเมืองประเทศราช ๒๐ เมือง เมือง     พระยามหานครถือน้ำพิพัฒสัตยา ๘ เมือง เมืองลูกหลวง ๕  เมือง เมืองหลานหลวง ๒ เมือง
สมเด็จพระรามาธิบดี ๑ ทรงจัดการปกครองส่วนภูมิภาคตามแนวของกรุงสุโขทัย คือจัดเสมือนการจัดกองทัพเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง เวลามีสงครามก็ระดมพลเมืองเข้าเป็นทัพหลวง มีกษัตริย์ผู้เป็นประมุขเป็นแม่ทัพใหญ่ และทรงจัดหัวเมืองหน้าด่านตามทิศ  ทั้ง ๔ เป็นทัพหน้าทัพหลัง ปีกซ้ายและปีกขวา มีระยะทางเดินทัพติดต่อกับราชธานี ซึ่งเป็นทัพหลวงได้ภายในระยะเวลา ๒ วัน ดังปรากฏดังต่อไปนี้ คือ
๑) การปกครองหัวเมืองชั้นใน
     ๑. ทิศเหนือ      มีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๒. ทิศตะวันออก   มีเมืองนครนายกเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๓. ทิศใต้      มีเมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน
     ๔. ทิศตะวันออก   มีเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน
เมืองรอบราชธานีทั้ง ๔ เมืองนี้ มีความสำคัญในการสงครามมาก จึงทรงพิจารณาตั้งราชโอรสเป็นเจ้าเมืองปกครอง จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า เมืองลูกหลวง
นอกจากนี้ ยังมีหัวเมืองชั้นในเป็นรายทางออกไปทั้ง ๔ ทิศ  มีดังนี้ คือ
ทิศเหนือ      เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์
ทิศตะวันออก   เมืองปราจีนบุรี เมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี
ทิศตะวันตก   เมืองราชบุรี
๒) การปกครองหัวเมืองชั้นนอก
การจัดการปกครองหัวเมือง ซึ่งไกลจากราชธานีออกไปมาก ทรงแต่งตั้งข้าราชการ    ผู้ใหญ่ให้ออกไปเป็นเจ้าเมือง เรียกว่า เมืองพระยามหานคร มีหน้าที่จัดสรรระดมกำลังชายฉกรรจ์เป็นกองทัพมาสมทบกองทัพใหญ่ ได้แก่หัวเมืองเหล่านี้ คือ
ทิศตะวันออก   มีเมืองโครามปุระ (ภายหลังเรียกว่าเมืองนครราชสีมา เมืองนี้แต่เดิมมีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือ เมืองโครามปุระเมืองหนึ่ง และเมืองสีมาอีกเมืองหนึ่ง ภายหลังได้สร้างเมืองขึ้นใหม่โดยรวมเมืองทั้งสองให้เป็นเมืองเดียวกัน และขนานนามว่า เมืองนครราชสีมา แต่สามัญชนยังคงเรียกกันชื่อเดิม ซึ่งเพี้ยนไปบ้างว่าโคราช) และเมืองจันทบุรี
ทิศใต้   มีเมืองชัยยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และ   เมืองถาง
ทิศตะวันตก   มีเมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกรานต์
ภายในเขตเมืองหนึ่ง ๆ  แบ่งออกเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองในแขวงหนึ่ง ๆ แบ่งออกเป็นตำบล มีกำนันเป็นผู้ปกครอง กำนันมักจะได้บรรดาศักดิ์เป็น “พัน” ในตำบลหนึ่งแบ่งเป็น “บ้าน” มี “ผู้ใหญ่บ้าน” เป็นผู้ปกครอง ซึ่งหัวหน้าปกครองหน่วยเหล่านี้เจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง การแบ่งเขตปกครองท้องที่เป็นแขวง ตำบล และบ้าน เช่นนี้ เป็นแนวที่ในการต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามลำดับ
สำหรับการปกครองภายในราชธานีนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้เริ่มนำการ       ปกครองแบบจตุสดมภ์มาใช้ กล่าวคือ การดำเนินการปกครองภายในราชธานี ได้ดำเนินตามแบบสุโขทัยและเขมรผสมกันมาเป็นแบบที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” คือ จัดหน่วยงานแบ่งออกเป็น ๔ หน่วยแต่ละหน่วยมีเสนาบดีเป็นผู้ควบคุมดูแลบริหารราชการ ลักษณะการจัดระเบียบเป็น ๔ แผนกนั้นสันนิษฐานว่าจะเป็นแบบที่นำมาจากอินเดีย เพราะประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า เขมร ชวา มลายู ต่างมีระเบียบ การแบ่งหน่วยราชการเป็น ๔ แผนกเช่นกัน  ส่วนของไทยได้รับสืบทอดมาจากเขมรอีกต่อหนึ่ง หน่วยงานทั้ง ๔ แผนกคือ
๑. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองรักษาสันติสุขบังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งมีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ในเขตเมืองหลวง รวมทั้งมีหน้าที่ลงโทษ ผู้กระทำผิดทางอาญาในเขตเมืองหลวงด้วย
๒. กรมวัง มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับราชสำนัก และพิพากษาคดีด้วยและสำหรับหัวเมืองต่าง ๆ ขุนวังมีอำนาจตั้งยกกระบัตรไปประจำตามเมือง ๆ ละคน ทำหน้าที่พิพากษาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้น ๆ ด้วย
๓. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ตลอดจนการเงินของประเทศ
๔. กรมนา มีขุนนางเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและออกสิทธิที่นาซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง หน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ การเก็บ “หางข้าว” ขึ้นฉางหลวง (เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการเก็บเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าวต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ในราชการเรียกว่า “หางข้าว”)
จากหลักฐานการจัดการปกครองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่ทรงจัดให้ เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เป็นหัวเมืองขึ้นในหน้าด่าน รายทางสำหรับทางทิศเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลักนั้น แสดงให้เห็นว่า เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ ได้มีอยู่แล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยถูกจัดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน ก่อนหน้านั้นเมืองดังกล่าวทั้งสามนี้ อาจอยู่ในความ     ปกครองของอาณาจักรสุโขทัยก็ได้ เพราะในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้น ได้มีอำนาจอิทธิพลแผ่ขยายครอบงำในบริเวณภาคกลางและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เมืองทั้งสามนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยใน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ก็ไม่มีพอที่จะให้ค้นคว้าได้ ชาวไทยมักจะรู้จักประวัติศาสตร์ของคนดีก็ในยุคของอาณาจักรสุโขทัยสมัยราชวงศ์พระร่วงเป็นต้นมา
การปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมาก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหตุด้วยเมื่อรัชกาลก่อน ได้อาณาเขตกรุงสุโขทัย ซึ่งได้ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้น มาเป็นเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธม (พระนครหลวง) ซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอม เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๗๖ ในสมัยนั้นได้ข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชา ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเจ้านายท้าวพระยา ซึ่งชำนาญการปกครองมาไว้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการงานเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัยและกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชา มาปรับปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีปกครองที่ปรับปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จนถึง พ.ศ. ๒๐๗๒ ใน ๒ รัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลัก ของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความตัวหลัก วิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้
การปกครองตามแบบพระบรมไตรโลกนาถนั้น ทรงจัดการปกครองในลักษณะแบบการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง หลักใหญ่คือ แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วน      ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การปกครองส่วนกลางได้แยกฝ่ายทหารกับพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหารก็ให้มีหัวหน้าคนหนึ่ง คอยควบคุมดูแล มีบรรดาศักดิ์ เป็นสมุหกลาโหมดูแลราชการเกี่ยวกับการทหารทั้งหมด ฝ่ายพลเรือนก็มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และมีตำแหน่งรองลงไปคือจตุสดมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อกรมเมือง เป็นนครบาล กรมวัง เป็นธรรมาธิการ กรมคลัง เป็นโกษาธิบดีและกรมนา เป็นเกษตราธิราช สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยให้แต่ละเมืองใช้วิธีการปกครอง ฝ่ายพลเรือน คือ มีจตุสดมภ์ มีเวียง วัง คลัง นา ตามหัวเมืองนั้น ๆ ด้วย ได้กำหนดให้หัวเมืองชั้นในคือ บรรดาเมืองที่อยู่ใกล้ในวงราชธานีเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่หัวเมืองซึ่งอยู่นอกเขตวงราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง  ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแบ่งอาณาเขตการปกครองท้องที่ออกเป็นหน่วย ๆ เริ่มต้น “หมู่บ้าน” มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าปกครองหลายหมู่บ้านรวมตัวกันเป็น “ตำบล” กำนัน ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ “พัน” เป็นหัวหน้าปกครองหลาย ๆ ตำบลรวมกันเป็น “แขวง” มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองหลาย ๆ แขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งเมืองหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ ปกครอง
ในยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวเมืองชั้นในก็ได้มีการปรับการปกครองให้เป็นไปตามรูปแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถวางไว้ด้วย นั่นคือ ได้มีสภาพฐานะเป็นหัวเมืองจัตวา ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า “ผู้รั้ง” ไม่เรียก เจ้าเมือง เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้ากระทรวงในราชธานีพระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาออกไปทำหน้าที่ดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด
ประวัติของนายอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ในสมัยอยุธยานั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกสงครามน้อยมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่มีแต่ความสงบสุขสงครามที่เกิดขึ้น แทบจะทั้งหมดมีการรบพุ่งกันในที่อื่น โดยเฉพาะสงครามไทยกับพม่านั้น การสงครามจะมีทางภาคพายัพและภาคตะวันตกเป็นส่วนมาก มีการสงครามที่ทำในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพียง ๒ ครั้ง เท่านั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๗ เป็นระยะที่ไทยประกาศอิสรภาพใหม่ ๆ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ได้ยกกองทัพมาตีไทยหวังให้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจพม่าต่อไปอีก เพราะเห็นว่าไทยเสียบ้านเมืองมาก่อนกำลังที่จะต่อสู้ย่อมมีน้อยกว่าแต่ก่อนจึงไม่จำเป็นต้องยกทัพหลวงเข้ามาเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็คงจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ พอถึงฤดูแล้วปลายปีนั้น จึงให้จัดทัพยกมาเป็น ๒ ทางพร้อมกันประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้เจ้าเมืองพสิมซึ่งเป็นพระเจ้าอาคุมกองทัพจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ คนยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอนุชายกกองทัพบกทัพเรือจากเชียงใหม่ จำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ คน ลงมาทางเมืองเหนืออีก   ทาง ๆ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้งทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น ๒ ทางจึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาชาวหัวเมืองเหนือเป็นทัพบกทัพ ๆ มีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ คนให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาชาวกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพ ๑ ให้พระยาจักรีเป็น นายทัพพระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร และสั่งให้ขนย้ายเสบียงอาหารและพาหนะ ในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียให้พ้นมือข้าศึกทั้ง ๒ ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าอยู่ในพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ
กองทัพหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้จะเป็นด้วยคิดโดยเลินเล่อหรือเป็นด้วยเจ้าเมืองพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่เข้าใจผิดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ พอถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าเมืองพสิมก็ยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้น น้ำลดยังไม่ถึงที่ น้ำในแม่น้ำลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียก จะเดินกองทัพไม่สะดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรี ต้านทานข้าศึกไว้พลางก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณเป็นที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิงทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั่น ครั้งถึงเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จด้วยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิ ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ตำบล    ป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นที่ประชุมพล โปรดให้เจ้าพระยาสุโขทัยคุมกองทัพบกเมืองเหนือยกเป็นกองหน้าไปตีกองทัพเจ้าเมืองพสิม ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมนแล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามขนอนแขวงเมืองสุพรรณบุรี เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปถึงเขาพระยาแมนได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าของเจ้าเมืองพสิมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปฝ่ายเจ้าเมืองพสิมเวลานั้นเข้ามายึดเมืองไม่ได้หมายต้องออกไปตั้งอยู่กลางดอนขัดสนเสบียงอาหาร ฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ความ ทำนองออกจะรวนเรอยู่แล้ว พอรู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ไม่ได้คิดจะต่อสู้  รีบถอยหนีกลับไป เจ้าพระยาสุโขทัยได้ทีก็รีบติดตามตีพม่าไปจนปลายแดนเมืองกาญจนบุรีจับได้ (นายกองชื่อ) ฉางชวีและช้างม้ามาถวายเป็นอันมาก
กองทัพเจ้าเมืองพสิมหนีไปได้สัก ๑๕ วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงปากน้ำโพ ในเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือเวลานั้นร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็ยกลงมาได้ โดยสะดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่มาตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท ไม่รู้ว่ากองทัพเจ้าเมืองพสิมถอนหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยะกยอสูและนันทกยอทางยกกองทัพหน้า จำนวนพล ๑๕,๐๐๐ คน ลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรหม ให้มาสืบสวนนัดกำหนดกับเจ้าเมืองพสิมที่จะยกเข้ากรุงศรีอยุธยาให้พร้อมกัน
สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาทางข้างเหนือ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตรคุมกองทัพหน้ามีจำนวนทหารม้า ๒๐๐ พลราบ ๓,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีกองทัพหน้าของข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึงเห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนมีน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรให้แยกย้ายกันดักฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดตระเวนหาเสบียงอาหาร และคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสีย ด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก แต่พอเห็นข้าศึกเผลอก็เข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เป็นปกติได้ ทัพหน้าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องถอยกลับไปเมืองชัยนาท พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ข่าวว่า กองทัพเจ้าเมืองพสิม ซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เสียทีไทยถอนหนีกลับไปเสียแล้ว เห็นจะตีพระนครศรีอยุธยาไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #38 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:27:42 »

สิงห์บุรี ๒
ปัจจุบันบริเวณที่พม่าได้มาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพรหมนั้น ยังมีร่องรอยเป็นคูคันดินปรากฏอยู่ที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี ส่วนหนึ่งของคูนี้ถนนสายเอเซียได้ตัดผ่าน คูค่ายพม่ามีลักษณะเป็นคันดินยาวเป็นรูปปีกกา สูง ๔.๕๐ เมตร ฐานกว้างประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร
ครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พระเจ้ามังระได้ให้มังมหานรธายกทัพเจ้ามาทางเมืองมะริดส่วนทางเหนือให้เนเมียวสีหบดีเคลื่อนกองทัพออกจากเชียงใหม่ตีหัวเมืองต่าง ๆ เรื่อยมา ในระยะแรกที่ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวศึกและเห็นว่าพม่าจะต้องยกมาตีไทยแน่นอน จึงได้เตรียมการต่อสู้พม่าเป็นขั้น ๆ พอสรุปได้ คือ
ขั้นที่ ๑ ให้เกณฑ์ทหารออกไปรักษาด่าน แบ่งกองทัพเรือออกเป็น ๙ กอง ๆ ละ ๒๐ ลำ แต่ละกองมีกำลังทหารประจำกองละ ๑,๔๐๐ คนพร้อมด้วยเครื่องศาสตรวุธ เรือรบ ๑ ลำมีปืนใหญ่ ๑ กระบอก ปืนขนาดเล็ก ๑ กระบอก แล้วแบ่งไปประจำที่ต่าง ๆ ดังนี้
๑. ให้พระราชสงกรานต์ ไปตั้งทางปากน้ำเจ้าพระยา
๒. ให้หลวงหรทัยคุมออกไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำลำทอง
๓. ให้พระยาจุหล่า (แขก) ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำพระประแดง (พระมะดัง)
๔. ให้ศรีวรข่าน ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำประสบ
๕. ให้หลวงศรียุทธ ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำหิงสา
๖. ให้หม่อมมหาดเล็กวังหน้า ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองสิงห์บุรี
๗. ให้หม่อมเทไพ ไปตั้งรับพม่าทางเมืองอินทร์บุรี
๘. ให้หม่อมทิพยุพัน ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี
๙. ให้ศรีภูเบศร์ ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี
ชั้นที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงจัดทัพให้ไปตั้งรับพม่าห่างไกลออกไปตามจุด    ต่าง ๆ ดังนี้
กองทัพที่ ๑ ให้พระยาพิพัฒน์โกษา เป็นแม่ทัพใหญ่ใหญ่คุมกองทัพ ๑๓ กอง แต่ละกองมีกำลัง ๑,๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ เชือก ช้างเชือกหนึ่งมีปืนใหญ่ขนาดเล็ก ๒ กระบอก มีควาญหัว ๑ คน กลาง ๑ คน ท้ายช้าง ๑ คน มีพลทหารถือทวนตามช้างอีกข้างละ ๑๐๐ คน ให้ไปตั้งรับทัพพม่าที่เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี
กองทัพที่ ๒ ให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพ ๑๑ กอง แต่ละกองจัดกำลังเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองสวรรคโลก
กองทัพที่ ๓ ให้ศิริธรรมราชา เป็นปลัดทัพ ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเป็นแม่ทัพคุมกองทัพ ๗ กองอีกทางหนึ่ง เพราะอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ให้ไปตั้งที่ตำบลท่ากระดาน เขตแดนเมืองกาญจนบุรี
กองทัพที่ ๔ ให้เจ้าพระยากลาโหม คุมกองทัพ ๑๕ กอง การจัดกำลังทัพจัดแบบเดียวกับกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองราชบุรี
กองทัพที่ ๕  ให้พระยาธิเบศร์เป็นแม่ทัพ คุมกองทัพ ๑๔ กอง การจัดกำลังกองทัพเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองราชบุรี
การที่กรุงศรีอยุธยาได้จัดเตรียมการป้องกันพระนครและเตรียมสู้รบพม่า โดยจัดแบ่งออกเป็นกองย่อย ๆ มากมายและแยกไปตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ โดยพม่ายกทัพมาจริง ๆ ยกมาเพียง ๒ ทางเท่านั้น ดังนั้น กองทัพไทยที่ไปอยู่อีกหลายจุด จึงไม่ได้สู้รบกับพม่าเลย ทำให้เสียกำลังทัพ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
ในขณะที่พม่าตั้งค่ายขยายวงล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยมีทัพของเนเมียวสีหบดี ตั้งค่ายทางเหนือของอยุธยาแถบบ้านประสบ (พระประสบ) เนเมียวสีหบดีได้ให้ทหารพม่าจำนวนหนึ่ง ไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญและได้ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ ได้เกลี้ยกล่อมให้พวกราษฎรให้ยอมอยู่ในอำนาจเป็นพวกของพม่า ขณะนั้นราษฎรในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้อพยพไปพึ่งอาจารย์ธรรมโชติ ที่บ้านบางระจัน ซึ่งอยู่ในท้องที่เมืองสิงห์บุรี พม่าได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกของพม่า แต่ชาวไทยกลุ่มนี้มีความรักชาติ ไม่ยอมเข้ากับพม่า ได้รวมกำลังกันต่อสู้กับพม่าและสามารถเอาชนะกองทหารพม่าถึง ๗ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๘ ชาวบ้านบางระจันจึงพ่ายแพ้พม่า เพราะไม่ได้รับกำลังช่วยเหลือจากทางกรุงศรีอยุธยา แม้ทางชาวบ้านบางระจันจะส่งคนมาขอปืนใหญ่จากรุงศรีอยุธยา ๒ กระบอกแต่ทางกรุงไม่ให้ เสนาบดีกราบทูลสมเด็จพระยาเอกทัศน์ว่า “…ถ้าค่ายบ้านบางระจันเสียแก่พม่า พม่าก็จะเอาปืนเข้ามารบกรุงจะให้ไปนั้นมิบังควร…” พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อตามคำกราบทูล จึงไม่ทรงให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านบางระจัน แต่ให้ได้พระยารัตนาธิเบศร์ออกไปหล่อปืนที่บ้านบางระจัน การหล่อปืนใหญ่จะต้องใช้เวลานานพอสมควร ชาวบางระจัน จึงถูกพม่าซึ่งนำโดยพระนายกองตีแตกชาวบ้านบางระจันได้ยืนหยัดต่อสู้พม่าเป็นเวลานานถึง ๕ เดือนจึงเศษจึงเสียทีแก่พม่า ชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่รวมทั้งเด็กและสตรีถูกพม่าจับไปเป็นเชลยเป็นส่วนใหญ่ ที่หนีรอดไปได้นั้นมีน้อย ชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างอันดีในการแสดงออก ซึ่งความรักชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ

สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพยับเยินเสียหายมาก ทั้งปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และบ้านเรือนของประชาชนถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บรรดาประชาชนถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยประมาณ ๑ แสนครอบครัวส่วนที่เหลืออยู่ ก็มีความทุกข์ยากลำบากล้มตายและฆ่าฟันกันเองทุกหนทุกแห่งเป็นสภาพที่นับว่าเสียหายมาก ซึ่งไม่เคยปรากฏผลความเสียหายเช่นนี้มาเลยในอดีต กรุงศรีอยุธยาซึ่งได้ดำรงปกครองตนเองมาเป็นเวลานานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ องค์ ก็ต้องถึงแก่กาลอวสานเสียบ้านเมืองให้แก่พม่า เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอและคนไทยแตกความสามัคคี แต่เมืองไทยก็ยังโชคดีที่มีคนดีมีความสามารถมากอบกู้ชนชาติไทยให้รวมกันเป็นปึกแผ่นได้อีกสมกับที่ว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี บุคคลผู้นั้นคือ “พระยาวชิระปราการ” หรือที่รู้จักกันในนามของ “พระยาตาก” ได้ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว จึงเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงสืบต่อมา กรุงศรีอยุธยาจึงได้กลายเป็นอดีต “กรุงเก่า” ไป
ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้วปรากฏว่ามีหัวเมืองชั้นนอกหัวเมืองชั้นในไม่ว่าจะเป็นเมืองเอก เมืองโท หรือเมืองจัตวา และบรรดาเมืองประเทศราชทั้งหลายได้พากันตั้งตัวเป็นอิสระได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ กลุ่มชนต่าง ๆ ก็ต้องรวมกันเพื่อป้องกันโจรภัยเพราะในระยะนี้ปรากฏมีโจรผู้ร้ายชุกชุม สภาพของเมืองไทยภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แล้ว ปรากฎบ้านเมืองแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มเมืองธนบุรี กลุ่มเมืองพิษณุโลก กลุ่มเมืองนครศรีธรรมราช กลุ่มเมืองนครราชสีมา เมืองสรรคบุรี และยังมีกลุ่มเล็ก ๆ อีกมากมายที่มักก่อปัญหาความวุ่นวาย
เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ได้เข้าอยู่ในกลุ่มเมืองธนบุรี ซึ่งมีพระเจ้าตากเป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งแต่ต้น กลุ่มนี้มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรีมีเมืองที่อยู่ในอำนาจในส่วนกลางขึ้นมาถึงเมืองลพบุรีภายหลังได้รวบรวมกลุ่มต่าง ๆ ไว้ได้หมด และปรับปรุงฟื้นฟูบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงถาวรขึ้นการ   ปกครองส่วนใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรียังใช้หลักการปกครอง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนภูมิภาคก็คือการแต่งตั้งคนสนิทหรือบุคคลที่สวามิภักดิ์เป็นผู้ปกครองเมือง ให้เมืองใหญ่ช่วยควบคุมดูแลเมืองเล็กและตั้งนายทหารสำคัญไปครองเมือง จุดมุ่งหมายการปรับปรุงก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันตนเองให้พ้นอันตรายจากการที่พม่าจะรุกรานเข้ามา
ในยุคสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ ก็ยังโชคดีมีแต่ความสงบสุข ไม่มีการรุกรานจากฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยด้วยกันเองหรือพม่า

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะคล้าย ๆ กับการปกครอง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการ          ปกครองในส่วนภูมิภาคที่สำคัญคือ ได้มีการจัดแบ่ง หัวเมืองขึ้นกลาโหม มหาดไทย และกรมท่าใหม่ กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชดำริว่า เมื่อครั้งกรุงเก่าเมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้ เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหมมีความชอบมาก จึงให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งขึ้นกรมท่า ๑๙ เมืองขึ้นมหาดไทย ๑ เมือง รวม ๒๐ เมือง ซึ่งต่อสมุหกลาโหมทำให้การบังคับบัญชาหัวเมืองในส่วนภูมิภาคอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้
1.สมุหนายก มีอำนาจปกครองดูแลหัวเมืองทางฝ่ายอีสานและทางเหนือทั้งทางด้านการทหาร พลเรือน เศรษฐกิจ การศาล การยุติธรรม การป้องกันประเทศและด้านอื่น ๆ ทุกด้านหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองมโนรมย์ เมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองวิเศษไชยชาญ กรุงเก่า เมืองนครนายก เมืองประจิม เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองท่าโรง เมืองบัวชุม เมืองชัยบาดาล เมืองกำพรานและเมืองนครศรีธรรมราช
2.สมุหกลาโหม มีอำนาจปกครองดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ทุก ๆ ด้านเช่นเดียวกับ     สมุหนายก หัวเมืองที่อยู่ในอำนาจสมุหกลาโหมได้แก่ เมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองหลังสวน เมืองชุมพร เมืองประทิว เมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองตะนาวศรี เมืองมะริด เมืองกระ เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองพังงา เมืองถลาง เมืองทวาย เมืองไทรโยค
3.กรมท่า มีอำนาจดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ได้แก่เมืองจันทบุรี เมืองตราด เมืองระยอง เมืองบางละมุง เมืองนนทบุรี เมืองสมุทรปราการ เมืองสมุทรสงคราม และเมืองสาครบุรี

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงปรับปรุงใหม่นั้น ได้แบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นเขต ๆ คือ เขตราชธานี เมืองหน้าด่าน (เมืองลูกหลวง) จะมีเมืองพระยามหานครและประเทศราช แต่ละเขตราชธานีและเมืองหน้าด่าน (เมืองลูกหลวง) จะมีเมืองเอกบังคับบัญชา เมืองโท ตรี จัตวา ที่อยู่ในเขตนั้น ๆ มีรูปลักษณะอย่างเดียวกับการจัดมณฑลนั่นเอง ส่วนประเทศราชหรือเมืองพระยามหานครนั้น ได้จัดให้เมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่เป็น ๒ ชั้น เช่นกัน การจัดปกครองเช่นนั้น มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ที่รัฐบาลกลาง ไม่สามารถควบคุมการบริหารราชการของบรรดาหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานีมาก ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะการคมนาคมยังไม่เจริญ การเดินทางติดต่อประสานงานระหว่างเมืองจึงทำได้ยาก และเสียเวลามาก ทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าเมืองมีอิสระในทางการปกครองมาก เพราะมีฐานะเป็นผู้ “กินเมือง” โดยสมบูรณ์แทบจะไม่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางเลย
โดยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงพยายามแก้ไขข้อบกพร่องนี้ โดยรวบอำนาจการปกครองเข้ามาไว้ในส่วนกลางให้มากที่สุด ด้วยการขยายอำนาจการปกครองของราชธานีออกไปครอบคลุมเอาเมืองหน้าด่านทั้งสี่ทิศเข้ามาไว้ในอำนาจ (เลิกเมืองหน้าด่านนั่นเอง) ให้หัวเมืองในเขตราชธานีหรือหัวเมืองชั้นในเหล่านั้นมีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เรียกผู้ปกครองว่า “ผู้รั้ง” ไม่ใช่ “เจ้าเมือง” อย่างเมื่อก่อน
ความพยายามที่จะรวบอำนาจของการปกครอง ให้เข้ามาอยู่กับส่วนกลาง ได้ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่อาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้ คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑลรองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง ทบวง กรมในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้ สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว แก่ราชการและธุรกิจของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น ควรทำความเข้าใจทางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่า เป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขต ชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น คือ ส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหาร      ราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเอง เช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอันเป็นระบบยกกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครอง ซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกันแต่มณฑลสมัยนั้นหาใช้มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่าบ้าง การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงเหนือ มณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาว หรือ มณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตก บัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลการจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมาและก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๔ มณฑล คือ มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยาในรัชกาลที่ ๖) มณฑลกรุงเก่าประกอบด้วยเมือง ๘ เมือง คือ กรุงเก่า พระพุทธบาท พรหมบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และอินทร์บุรี  ข้าหลวงอยู่ที่กรุงเก่า
(พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองพุทธบาทลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสระบุรี และยุบเมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสิงห์บุรี)
พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลไทรบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์
พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล
พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลมหาราษฎร์

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัด และอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสียเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวก และรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วน      ภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ     แผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้น ให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น



ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสิงห์บุรี. สิงห์บุรี. หัตถโกศลการพิมพ์, ๒๕๓๗.
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
~POOMZA~
นักแข่งมืออาชีพอาวุโส
********
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,164


ปูม 081-7045833


ดูรายละเอียด
« ตอบ #39 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2010 15:29:06 »


สมุทรสงคราม
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ผลจากการสำรวจของบุคคลหลายคนเชื่อว่า ผืนแผ่นดินในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเคยเป็นทะเลมาก่อน ต่อมาเพื่อกระแสน้ำลำธารได้พัดพาเอาดินและทรายบนผืนแผ่นดินใหญ่ลงมาทับถมในอ่าว        นับเป็นเวลาหลายพันปีเข้า อ่าวก็ตื้นเขินเป็นแผ่นดินงอกรุกทะเลออกไปเรื่อยๆ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ฝั่งทะเลอยู่ล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินใหญ่มาก คาดว่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง    ทั้งหมดในขณะนี้ยังไม่มี โดยเหตุนี้จึงถือได้ว่า ในสมัย ๒,๐๐๐ ปีมาแล้วนั้น เมืองสมุทรสงครามยังไม่เกิด

สมัยกรุงศรีอยุธยา
เท่านี้นักโบราณคดีคณะต่างๆ ได้สำรวจมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจโดยทางราชการหรือส่วนตัว ยังไม่ปรากฏว่าได้พบโบราณสถานที่มีอายุก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาสักแห่งเดียว ฉะนั้น จึงพอจะกล่าวได้ว่าจังหวัดสมุทรสงครามได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เก่าไปกว่านั้น แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลายแต่จากจดหมายเหตุที่มองซิเออร์เซ-เบเรต์ ซึ่งอยู่ในคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสที่มี มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ -๒๒๓๑ แต่ในตอนขากลับมองซิเออร์เซเบเรต์ ได้แยกคณะเดินทางกลับก่อน โดยเดินทางไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญของไทย ระหว่างการเดินทาง เมื่อผ่านเมืองแม่กลอง มองซิเออร์เซเบเรต์ ได้บันทึกรายงานไว้ว่า
“ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ ข้าพเจ้าได้ออกจาก (เมือง) ท่าจีน เพื่อไป (เมือง) แม่กลอง ตามทางระหว่างท่าจีนกับแม่กลองนี้ มีบางแห่งน้ำตื้น ต้องใช้กระบือลากเรือเหมือนวันก่อน แต่ตอนที่ตื้นวันนี้ยาวกว่าวานนี้และลำบากกว่าวานนี้มาก เวลาเย็นข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจาก (เมือง) ท่าจีน ระยะทางประมาณ ๑๐ ไมล์ครึ่ง เมืองแม่กลองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองท่าจีนและตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำแม่กลอง และอยู่ห่างทะเลประมาณ ๑ ไมล์ น้ำรับประทานในเมืองนี้ เป็นน้ำที่ดี เมืองแม่กลองนี้หามีกำแพงเมืองไม่ แต่มีป้อมเล็กๆ สี่เหลี่ยมอยู่ ๑ ป้อม มุมป้อมนั้นนี้มีหอรบอยู่ ๔ แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐ คูก็หามีไม่ แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพงหรือรั้วในระหว่างหอรบนั้นทำด้วยเสาใหญ่ ๆ ปักลงในดิน และมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะๆ”
จากข้อความในบันทึกฉบับนี้ บอกให้ทราบว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ในรัชกาลสมเด็จพระ-นารายณ์มหาราช นั้น ตรงปากแม่น้ำแม่กลอง มีเมืองแม่กลองตั้งอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นเมืองขนาดใหญ่พอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองท่าจีนที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน คือใหญ่กว่าเมืองท่าจีน (จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน) นอกจากนั้น ยังบอกให้ทราบว่า ขณะนั้นเมืองแม่กลองไม่มีกำแพงเมือง มีแต่ป้อมเล็กๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหน้าเมืองเพียงป้อมเดียว และการเดินทางในสมัยกรุงศรีอยุธยา การเดินทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองตะนาวศรีที่จะสะดวกสบายนั้นต้องลงเรือจากกรุงศรีอยุธยามายังบางกอก ผ่านคลองและแม่น้ำต่างๆ ในคืนแรกจะพักแรมที่เมืองท่าจีน รุ่งขึ้นนั่งเรือผ่านเมืองแม่กลอง ไปพักที่เมืองเพชรบุรี แล้วเดินทางบกผ่านเมืองปราณ เมืองกุย เมืองแคลง แล้วถึงเมืองตะนาวศรี และลงเรือกำปั่นที่นั้น
ชื่อ “เมืองแม่กลอง” คงใช้ต่อมาอีกเป็นเวลานาน แล้วได้เปลี่ยนชื่อ เป็น “สมุทรสงคราม” แต่ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเมื่อใด เพราะจู่ๆ ก็พบเมืองสมุทรสงคราม สมุทรปราการ และสาครบุรี อยู่ในบัญชีรายชื่อหัวเมืองฝ่ายตะวันออก (ในรัชกาลที่ ๑ แห่ง ราชวงศ์จักรี) ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานข้อสันนิษฐานไว้ว่า เป็นคำให้การที่เจ้าหน้าที่พม่าซักถาม ได้จากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและข้าราชการใหญ่น้อย ที่พม่าเก็บเอาตัวเป็นเชลยไปประเทศพม่า เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งหมายความว่า เรื่องราวต่างๆ          ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้น ได้เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ในเมืองไทยก่อน พ.ศ. ๒๓๑๐ แสดงว่า เมืองแม่กลอง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสมุทรสงครามก่อน พ.ศ. ๒๓๑๐ นั่นเอง เว้นแต่ไม่ทราบว่าเป็นปีใด และจากหลักฐานในหนังสือกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยพระราชกำหนดเก่าระบุไว้เรื่องการเรียกสินไหมพินัยคดีความ ได้ออกชื่อเมืองแม่กลอง เมืองสาครบุรี และเมืองสมุทรปราการ หมายความว่าในปี พ.ศ. ๒๒๖๕ เมืองนี้ยังคงเรียกว่า “เมืองแม่กลอง” อยู่ แต่ข้อความในพระราชกำหนดเก่าซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙ ระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนาธิเบศท์สมุหมนเทียรบาล เอาตัวขุนวิเศษวานิช (จีนอะปั่นเต็ก) ขุนทิพและหมื่นรุทอักษรที่บังอาจกราบบังคับทูล ขอตั้งบ่อนเบี้ยในแขวงเมืองสมุทรสงคราม เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรปราการ  ทั้งๆ ที่ได้มีกฎหมายรับสั่งห้ามไว้ก่อนแล้วมาลงโทษ
ฉะนั้น จึงเชื่อได้ว่า เมืองแม่กลองได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสมุทรสงคราม ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๖๕ (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) กับ พ.ศ. ๒๒๙๙ (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) หลังจากนั้นมาในทางราชการจึงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองสมุทรสงคราม
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขณะที่เมืองแม่กลอง เมืองปากน้ำและเมืองท่าจีน ยังมีชื่อเป็นภาษาไทยๆ ไม่ได้เปลี่ยนเป็นภาษาสันสกฤต มีคำ “สมุทร” อยู่ข้างหน้านั้น ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงพระอัยการนาทหารหัวเมือง กล่าวถึงตำแหน่งเจ้าเมืองแม่กลอง เมืองปากน้ำและเมืองท่าจีนว่า พระสมุทรสงคราม พระสมุทรปราการ  และพระสมุทรสาคร จึงอาจเป็นได้ว่า ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเมืองทั้งสามตามราชทินนามของผู้ปกครองเมือง เช่น เมืองสมุทรสงคราม เมืองสมุทรปราการ และเมืองสมุทรสาคร

ประวัติด้านการทหาร
จากบันทึกที่ มองซิเออร์เซเบเรต์ ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนหนึ่งได้ยืนยันว่าเมืองแม่กลองไม่มีกำแพงเมือง มีแต่ป้อมเล็กๆ ตั้งอยู่หน้าเมืองป้อมเดียวเท่านั้น ป้อมดังกล่าวก่อด้วยอิฐ มุมทั้งสี่ของป้อมสร้างเป็นหอรบ ระหว่างหอรบมีรั้วสร้างด้วยเสาใหญ่ๆ ปักกั้น และว่ารอบๆ ป้อมไม่มีคูน้ำ แต่มีน้ำท่วมรอบป้อม ไม่แน่ใจว่าน้ำรอบป้อมนั้นท่วมอยู่เสมอหรือไม่ มองซิเออร์เซเบเรต์ อาจไปเห็นตอนน้ำขึ้นก็ได้ เพราะเมืองแม่กลองอยู่ใกล้ทะเล ระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองย่อมขึ้นๆ ลงๆ ตามการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ตามข้อความนี้แสดง    ให้เห็นว่า ในสมัยอยุธยานั้นรัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญของเมืองแม่กลองในด้านการทหารแล้ว จึงได้สร้างป้อมขึ้นไว้ป้องกันเรือรบข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากน้ำแม่กลอง แต่ป้อมนี้สร้างเมื่อใด จะมีกำลังทหารไทยหน่วยใด หรือทหารต่างชาติมาประจำอยู่สักเท่าไร และจะเรียกป้อมนี้ว่า “ค่ายสมุทรสงคราม” อย่างที่บางท่านกล่าวไว้หรือไม่ยังไม่พบหลักฐาน สำหรับตัวป้อมบางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างใน รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งก็ไม่แน่นักอาจจะสร้างไว้ก่อนหน้านั้นก็ได้
เนื่องจากเมืองสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลองตามที่ชาวบ้านเรียก ตั้งอยู่ห่างจากเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะผ่านเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในสมัยโบราณเมืองสมุทรสงคราม จึงได้รับการกระทบกระเทือนจากสงครามโดยตรงน้อยมาก ไม่เหมือนกับเมืองกาญจนบุรี เพชรบุรี และเมืองราชบุรีที่อยู่บนลำน้ำแม่กลองสายเดียวกันหรือประชิดกัน แต่การเกณฑ์คนไปรบร่วมกับกองทัพในกรุงนั้น ชาวแม่กลองต้องร่วมอยู่ด้วยทุกสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามที่เกิดจากพม่ารุกผ่านเข้ามาด่านเจดีย์สามองค์ ด่านสิงขร และจากทางปักษ์ใต้ ผ่านเมืองปราณและเมืองกุย เพราะสมัยนั้นเมืองแม่กลองมีฐานะเป็นเมืองจัตวา หรือหัวเมืองชั้นใน อยู่ในเขตราชธานี เมื่อเกิดสงครามขึ้นชายฉกรรจ์ในเมืองแม่กลองจึงถูกเกณฑ์ไปเข้ากองทัพกรุงศรีอยุธยาตามพระราชกำหนด   โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาโดยใกล้ชิดไปด้วยทุกคราว

สมัยกรุงธนบุรี
ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) พระองค์ได้โปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่ายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร
พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ค่ายบางกุ้งก็ไม่มีทหารรักษาต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้จีนรวบรวมพลพรรคมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง”
พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงอังวะ ให้เจ้าเมืองทวายยกทัพมาสืบข่าวสภาพบ้านเมืองในสมัยกรุงธนบุรีว่าสงบราบคาบหรือเกิดจลาจล เพราะช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่ไทยเรากำลังผลัดแผ่นดินใหม่ เจ้าเมืองทวายได้ยกพลเดินทัพทางบกเข้ามาทางไทรโยค และให้ยกทัพบกทัพเรือเข้ามาที่ค่ายตอ-กะออม แล้วเดินทัพล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ นายทัพพม่าครั้งนั้นชื่อ แมงกี้มารหญ่ามีทหารยกมาด้วย ๒ หมื่นคนเศษ คณะกรรมการเมืองมีใบบอกเข้าไปยังกรุงธนบุรี ขอกำลังมาช่วยรบพม่า
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบข่าวศึก โปรดให้พระมหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ ๒๐ ลำ แล้วพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวา เรือยาว ๑๘ วา ปากเรือกว้าง ๓ ศอกเศษ พลกรรเชียง ๒๘ คน พร้อมศาสตราวุธ ยกทัพมาถึงค่ายบางกุ้งในเวลากลางคืน และตีกองทัพพม่าจนแตกพ่ายไปสิ้น
พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปรบพม่าที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี เสด็จโดยเรือพระที่นั่ง กาบยาว ๑๓ ว่า ปากเรือกว้าง ๓ ศอกเศษ พลพาย ๔๐ คน ไพร่พลในกองทัพ ๘,๘๖๓ คน ปืนใหญ่น้อย ๒๗๗ กระบอก ได้หยุดกองทัพพักพล เสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๗

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศไทยเกิดพิพาทกับประเทศญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทร์การสงครามระหว่างญวนกับไทยในครั้งนั้น ใช้กองทัพบกและกองทัพเรือ และมีข่าวว่าญวนได้ขุดคลองลัดจากทะเลสาบออกมาอ่าวไทย มีท่าทีว่าญวนจะยกกำลังทางเรือมารุกรานไทย พระบาทสมเด็จพระนั่ง-เกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นตามปากน้ำสำคัญๆ เป็นลำดับมา เริ่มแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน แล้วก็ปากแม่ท่าน้ำจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำบางประกง และปากแม่น้ำจันทบุรี
สำหรับป้อมที่ปากแม่น้ำแม่กลองนั้น หนังสือ ”ตำนานเรื่องวัตถุต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง” กล่าวว่า โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างป้อมขึ้นที่ปากแม่น้ำหน้าเมืองสมุทรสงครามป้อมหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า “ป้อมพิฆาตข้าศึก” เจ้ากรมป้อมมีนามว่าหลวงละม้าย แม้นมือฝรั่ง ปลัดป้อมมีนามว่าขุนฉมังแม่นปืน ส่วนป้อมเก่าที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่ทราบเรื่องราว อาจถูกรื้อลงก่อนสร้างป้อมใหม่ก็ได้
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงราชการเห็นว่าป้อมให้ประโยชน์ในการป้องกันน้อยมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงได้รื้อป้อมพิฆาตข้าศึกและกำแพงลง จัดตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ขึ้นแทน เมื่อ พ.ศ ๒๔๔๙ โดยโปรดให้นายพลเรือเอก พระมหาโยธา   (ฉ่าง แสงชูโต) มาอำนวยการสร้างกองโรงเรียนพลทหารเรือดังกล่าวนี้ ใช้เป็นที่ฝึกอบรมทหารใหม่ที่เกณฑ์จากชายฉกรรจ์ในเมืองสมุทรสงคราม จำนวน ๑ ปี แล้วส่งเข้าไปผลัดเปลี่ยนทหารเก่าในกรุงเทพฯ พอถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่-หัว ได้ยุบกองโรงเรียนพลทหารเรือ กระทรวงทหารเรือได้ยกอาคารและที่ดินให้กระทรวงมหาดไทย สำหรับใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงได้ทำการปลูกสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่ และโอนศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้กระทรวง   สาธารณสุขใช้ในกิจการของโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม มาจนถึงปัจจุบันนี้
ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม สมัยเมื่อยังอยู่ที่บริเวณวัดใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จเยี่ยมเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ และได้ลงพระปรมาภิไธยว่า “๒๓ ก.ค. เช้า ๔ โมง มาเที่ยว เห็นเรียบร้อยดี จุฬาลงกรณ์ ปร.” สมุดเยี่ยมนี้จังหวัดยังเก็บรักษาไว้ และนอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสงครามยังมีพระแสงราชศัตราวุธฝักทองด้ามทอง เก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดสมุทรสงคราม พระแสงราชศัตราวุธนี้เป็นของพระราชทานในสมัย พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นธรรมเนียมว่า เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเมืองนั้นๆ เจ้าเมืองจะต้องนำพระแสงราชศัตราวุธนี้มาทูลถวายคืนไว้ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ที่เมืองนั้น เมื่อเสด็จกลับจึงพระราชทานคืนให้เป็นอาญาสิทธิ์ในการปกครองเมืองแก่เจ้าเมืองนั้นต่อไป
การเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม
สมัยโบราณนั้น   ที่ว่าการอำเภออัมพวาเป็นของหลวงยังไม่มี นายอำเภอต้องปลูกบ้านเรือนของตนเองอยู่อาศัย แล้วใช้บ้านนายอำเภอนั้นเองเป็นที่ว่าการอำเภอด้วย นายอำเภออัมพวาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นนั้น ปลูกบ้านอยู่ตรงหัวแหลม ตรงข้ามกับวัดท้องคุ้งปัจจุบัน นายอำเภอผู้นั้นมีนามว่า ขุนวิชิตสมรรถการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่  ๕ ได้เสด็จไปประทับที่บ้านถึงสองครั้งพร้อมด้วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มีเรื่องเล่าอยู่ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นว่า ดังนี้
“ เรือไฟลากล่องมาถึงแม่น้ำใหญ่จวนจะค่ำ หาที่ทำครัวเย็นก็ไม่ได้เหมาะ ล่องเรือลงมาเห็นบ้านแห่งหนึ่งสะอาดสะอ้านดี มีเรือนแพอยู่ริมน้ำ รับสั่งว่า ที่นี่เห็นพอจะอาศัยเขาทำครัวสักครั้งหนึ่ง ได้ให้กรมหลวงดำรง รับหน้าที่ขึ้นไปขออนุญาตต่อเจ้าของบ้าน กรมหลวงดำรงเสด็จขึ้นไต่ถาม ได้ความว่าเป็นบ้านนายอำเภอ นายอำเภอไปจัดฟืนเรือไฟที่ตรงข้ามบ้านอยู่แต่ภรรยา หารู้จักกรมหลวงดำรงไม่ ขออนุญาตทำครัวที่เรือนแพได้ดังที่ปรารถนา พอขนของขึ้นเรือนแพแล้ว กรมหลวงดำรงยังไม่ทันเสด็จลงมาจากเรือนใหญ่นายอำเภอก็กลับมาถึงไม่ทันเหลียวแลพระเจ้าอยู่หัวที่เรือนแพ มุ่งหน้าตรงขึ้นไปถวายคำนับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่เรือนใหญ่ นายอำเภอเพ็ดทูลกรมหลวงดำรงยังไม่ทันได้กี่คำ นายอัษฎาวุธ ก็คลานศอกนำหนังสือรับสั่งไปถวายกรมหลวงดำรงว่า ขอให้เขารู้จักแต่กรมหลวงดำรงพระองค์เดียว ฉันนั่งดูท่านายอัษฎาวุธคลานเข้าเฝ้ากรมหลวงดำรง ทำท่าทางสนิทราวกับเป็นข้าไทย แต่กรมหลวงดำรงนั้นพออ่านหนังสือรับสั่งแล้วดูพระพักตร์สลด เห็นประทับนิ่งไม่รับสั่งว่ากระไร เป็นแต่พยักพระพักตร์ให้นายอัษฎาวุธกลับลงมา อีกสักครู่หนึ่งจึงได้ยินเสียงรับสั่งกับนายอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงราชการงานเมืองอะไรอึงอยู่บนเรือน พวกกองครัวก็ทำครัวกันอยู่ที่เรือนแพ ทำเสร็จแล้วแต่งเครื่องให้คุณหลวงนายศักดิ์ เชิญขึ้นไปตั้งถวาย กรมหลวงดำรงเสวยพร้อมกับเครื่องเคราที่เจ้าของบ้านเขาหาถวาย ครั้นเสร็จแล้วเมื่อจะลงเรือ กรมหลวงดำรงเสด็จกลับจะลงเรือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามลงมาส่งเสด็จรุมมาตุ้ม พวกที่ไปตามเสด็จรับกระแสร์รับสั่งไว้ให้คลานรับเสด็จกรมหลวงดำรงเป็นอย่างข้าในกรม ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหลบออกไปบังเสียอยู่หลังเก๋งท้ายเรือ พระ-ราชทานอาสน์ไว้สำหรับกรมหลวงดำรงประทับ กรมหลวงดำรงเลยทรงไถลว่าเดือนหงายสบายดี จะยืนอยู่หน้าเก๋ง รีบสั่งให้ออกเรือ แต่พอพ้นหน้าบ้านก็รับสั่งบ่นใหญ่ว่าเล่นอย่างนี้ไม่สนุก แต่คนอื่นพากันหัวเราะกรมหลวงดำรงทั้งลำ…”
พระนามในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นนี้ กรมหลวงดำรง คือสมเด็จกรมพระยาดำรง       
ราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในเวลานั้นยังเป็นกรมหลวงตามเสด็จในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยด้วย
นายอัษฎาวุธ คือ สมเด็จพระเจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามเสด็จด้วย
คุณหลวงนายศักดิ์ คือ พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ)
เป็นอันว่าครั้งนี้นายอำเภอไม่ได้เฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่เสด็จประทับอยู่บนบ้าน ได้เฝ้าแต่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทราบภายหลังคงจะเสียใจอยู่เหมือนกัน เสด็จครั้งนี้คือ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๔๗
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นเมื่อเสด็จประพาสสมุทรสงครามอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑   ก็ทรงระลึกถึงขุนวิชิตสมรรถการจึงได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนนายอำเภออัมพวาที่บ้านอีกหนหนึ่ง เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๔๕ ทรงจดหมายเหตุไว้ว่า “แวะเยี่ยมขุนวิชิตสมรรถการ นายอำเภอ ซึ่งได้เคยปลอมไปบ้านเขาเมื่อมาเที่ยวครั้งก่อน”

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราช-การที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วการจัดระเบียบการปกครอง ต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่ง ที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และเปลี่ยนระบบการปกครองจากประเพณีการปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมือง ให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใดก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวางในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี พระองค์ได้จัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ “การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีความว่า
บันทึกการเข้า

...ใต้ฟ้าสีคราม...
หน้า:  «  1 [2] 3 4 ... 8  »  [5»]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2008, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!