ผมใช้คู่กับโช๊คTEIN มานานแล้วครับ คุ้มค่าดี
ขออนุญาตอธิบายรายละเอียดให้กับท่านที่ยังไม่ทราบครับ
EDFC - ปรับโช้กด้วยไฟฟ้า (Electronic Damping Force Controller)
โช๊กอัพนอกจากจะทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของสปริง แหนบหรือทอร์ชันบาร์แล้ว ยังมีผลเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทรงตัว
และความนุ่มนวลตลอดการขับรถยนต์ ไม่ใช่บทสรุปตายตัวว่า โช้กอัพที่มีความหนืดมาก (หรือเรียกกันว่าแข็ง)
จะมีจุดเด่น คือให้ความมั่นคงขณะขับความเร็วสูง แต่มีจุดด้อยด้านความกระด้างเมื่อขับช้า ๆ และในทางกลับกัน โช้กอัพนิ่ม ๆ
จะเด่นในด้านความนุ่มนวลเมื่อขับช้า และมีผลให้รถยนต์มีอาการโคลงช่วงความเร็วสูง เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่น
อีกมากมาย เช่น รูปแบบ และวัสดุของระบบช่วงล่าง สปริง (หรือแหนบ และทอร์ชันบาร์) การบิดตัวของตัวถัง
แต่ในการใช้งานจริงก็พบว่า ความแข็งของโช้กอัพ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความนุ่มนวล และอาการโคลงอยู่ไม่น้อย
เช่น ถ้าชอบขับเร็วบ่อย ๆ ก็ต้องยอมกระด้างกับโช้กอัพที่หนืดมากหน่อย หรือถ้าอยากได้ความนุ่มนวล ก็เลือกใช้โช้กอัพหนืดน้อย ๆ
นิ่ม ๆ แล้วต้องยอมโคลงบ้างเมื่อขับเร็ว ได้อย่างก็ต้องยอมเสียอย่าง จะให้ทั้งนุ่มนวล และไม่โคลงเป็นเรื่องยาก แต่ในซีกของผู้ผลิต
ก็มีความพยายามจะทำให้โช้กอัพ ทั้งนุ่มนวล ทั้งทรงตัวดีตลอดการขับขี่
โช้กอัพแบบปรับความแข็งได้ มักเป็นชุดแต่งที่ไม่ได้ติดมากับรถยนต์จากโรงงานประกอบ ส่วยใหญ่เป็นแบบปรับด้วยมือ โดยมี
2 แบบหลัก คือ 1. ปุ่มหมุนที่ข้างกระบอก หรือ 2. ไขที่แกน ซึ่งแยกย่อยได้อีก 2 แบบ คือ
2.1 ต้องถอดออกมาจากรถยนต์แล้วค่อยปรับโดยการกดแกนจนสุดแล้วหมุนแกนเพื่อปรับวาล์วภายใน
2.2 ไขที่ยอดของแกนซึ่งมีไส้ขนาดเล็กซ้อนอยู่ด้านใน สอดลงไปรับวาล์วที่ปลายแกนด้านล่าง
ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตโช้กอัพหลายยี่ห้อ หันมาผลิตโช้กอัพแบบปรับความแข็งโดยการหมุนปรับที่ยอดของแกนกันมากขึ้นเพราะสามารถ
ใช้งานได้อย่างสะดวก ไม่ต้องมุดหรือถอดล้อ หรือถอดไส้โช้กอัพออกมาปรับ การปรับด้วยมือ ยังไม่สะดวกเพียงพอ
เพราะต้องจอดรถยนต์ และเปิดฝากระโปรงเพื่อหมุนปรับ เหนือชั้นขึ้นไปอีก จึงมีการพัฒนาการปรับความหนืดของโช้กอัพด้วยไฟฟ้าขึ้นมา
โดยทั่วไปแล้ว การปรับความแข็งหรือความหนืดของโช้กอัพ จะทำโดยการเปลี่ยนขนาดของรูสำหรับให้น้ำมันไหลผ่านบนตัววาล์ว
ในกระบอกโช้กอัพ ถ้ารูมีขนาดเล็ก น้ำมันไหลผ่านยาก โช้กอัพก็มีความหนืดมาก ขยับตัวได้ยาก (ส่วนจะเป็นการปรับช่วงยุบ-Bump
หรือยืด-Reboundเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) โช้กอัพที่ปรับความหนืดด้วยไฟฟ้า มีใช้ในรถยนต์ในสายการผลิตเพียงไม่กี่รุ่นกี่ยี่ห้อ และมัก
เป็นการติดตั้งมอเตอร์เข้ากับยอดของไส้ที่สอดไว้ในแกนโช้กอัพ แล้วพ่วงไว้ด้วยระบบควบคุมการหมุนของมอเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่
ปรับได้ 2-3 ระดับความแข็งเท่านั้น สรุปง่ายๆก็คือ ยังเป็นการปรับขนาดของรูที่น้ำมันจะไหลผ่านโดยใช้วิธีหมุนไส้ภายในแกนดช้กอัพ
แต่เสริมการหมุนไส้นั้นด้วยมอเตอร์เข้าไปแทนคนหมุน
ในต่างประเทศ จะมีรถยนต์หลายรุ่นกว่าไทยที่ใช้โช้กอัพแบบปรับความแข็งด้วยไฟฟ้า แต่ในเมืองไทยมีแค่ไม่กี่รุ่น ที่คุ้นเคยกันก็มี
นิสสัน เซฟิโรรหัสตัวถังเอ31 ขับเคลื่อนล้อหลัง ปรับได้สะดวก แค่กดสวิตช์ที่อยู่ในแผงหน้าปัด เลือกได้แค่ 2 ระดับ คือ SPORT (แข็ง)
และCOMFORT (นุ่ม)
การปรับความแข็งของโช้กอัพด้วยไฟฟ้า ยังเป็นฝันของนักขับเท้าหนักหลายคน ที่อยากได้ทั้งความนุ่มนวล และการทรงตัวที่ดีควบคู่กัน
แต่ก็แพง และมักจะลงเอยกับโช้กอัพชุดแต่งที่ปรับความหนืดได้ด้วยมือขณะจอดรถยนต์ เพราะมีไม่กี่สำนักแต่งที่ผลิตชุดปรับโช้กอัพ
ด้วยไฟฟ้าออกมาหรือถ้ามีก็แพงมาก
EDFC-Electronic Damping Force Controller TEIN สำนักแต่งจากญี่ปุ่นที่เน้นการโมดิฟายช่วงล่าง ได้ผลิตอุปกรณ์ช่วยปรับความแข็งของโช้กอัพด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อนำไปติดตั้งเสริม
เข้ากับโช้กอัพที่สามารถปรับความแข็ง ได้ด้วยการหมุนไส้ภายในแกนจากด้านบน EDFC ประกอบด้วยมอเตอร์ขนาดเล็ก 4 ตัว
(มอเตอร์ 1 ตัว ต่อโช้กอัพ 1 ตัว) เป็นแบบ STEP MOTOR สามารถหมุนและหยุดเป็นจังหวะได้, ชุดสายไฟ และตัวควบคุม
แบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมจอแสดงสถานะ ขนาด ผ DIN สำหรับติดตั้งในห้องโดยสาร อุปกรณ์นี้ไม่ได้ทำให้โช้กอัพธรรมดาสามารถ
ปรับความหนืดได้ แต่เป็นอุปกรณ์เสิรมสำหรับติดตั้งเข้ากับยอดแกนของโช้กอัพที่ปรับได้อยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ขับสามารถปรับความหนืดได้
จากภายในห้องโดยสาร ตัวกล่องมอเตอร์จะมีรูเกลียวตัวเมียสำหรับไขติดกับเกลียวตัวผู้รอบนอกยอดของแกนโช้กอัพ และตัวมอเตอร์
มีแกนโผล่ลงไปเสียบกับยอดของไส้ในที่แหย่ลงไปปรับวาล์วด้านล่าง ซึ่งซ้อนอยู่ในแกนโช้กอัพ เมื่อจ่ายไฟให้มอเตอร์หมุน ก็จะพาไส้ใน
ให้หมุนตาม ซึ่งเป็นการปรับความหนืดจากการหรี่หรือขยายรูบนตัววาล์วภายในโช้กอัพที่จะให้น้ำมันไหลผ่าน ตามพื้นฐานเดิมของโช้กอัพ
ตัวนั้น ตัวมอเตอร์หมุนได้ทั้งหมด 16 จังหวะ (แต่ละจังหวะจะขยับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) โดยสามารถเพิ่มความละเอียดให้มอเตอร์หมุน
ครั้งละครึ่งจังหวะ กลายเป็นถึง 32 จังหวะ แต่ในการใช้งานจริง การปรับจังหวะการหมุนของมอเตอร์ให้ละเอียดมาก ๆ ก็เท่ากับเป็นการขยับ
ปรับขนาดรูน้ำมันเพียงเล็กน้อยจนยากที่ผู้ขับจะแยกอาการที่แตกต่างได้ ในการใช้งานจริงจะปรับได้กี่จังหวะ ก็ขึ้นอยู่กับตัวโช้กอัพเป็นหลัก
ถ้าหมุนไส้ปรับได้ไม่มากรอบ เมื่อใช้อุปกรณ์นี้ก็จะทำให้ปรับได้ไม่กี่จังหวะ เพราะหมุนจากสุดด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ไม่กี่จังหวะก็หมดแล้ว
การสั่งงานมอเตอร์เป็นหน้าที่ของกล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบนี้ เพราะตัวมอเตอร์หมุนแกนในรถยนต์ทั่วไปบางรุ่น
ก็มี เพียงแต่ไม่มีสเตปละเอียดอย่างนี้ กล่องควบคุมสำหรับติดตั้งภายในห้องโดยสาร ประกอบด้วยปุ่ม POWER สำหรับเปิด-ปิด
และปุ่มปรับความหนืดแยกไว้ด้านซ้าย-ขวาสุดของตัวควบคุม ปุ่มด้านซ้ายสำหรับโช้กอัพคู่หน้า ปุ่มด้านขวาสำหรับคู่หลัง
(ไม่สามารถแยกซ้ายขวาได้) แต่ละข้างมี 2 ปุ่มคือ SOFT และ ? HARD โดยเวลากดปุ่มจะมีเสียง BEEP สามารถปรับความดังได้ 3 ระดับ
หรือจะปิดเสียงก็ได้
ตรงกลางตัวเป็นหน้าจอ แสดงข้อมูลหลัก ๆ คือ FRONT และREAR หมายถึงโช้กอัพคู่หน้า และหลัง ตามด้วยตัวเลข 2 หลัก
เลขมากแสดงว่านิ่ม หน้าจอสามารถปรับความสว่างได้ 3 ระดับ ด้านล่างของหน้าจอมีปุ่มโปรแกรม P-1, P-2 และ P-3
สามารถตั้งความหนืดระดับที่ต้องการ และบันทึกไว้ แค่กดปุ่มเดียว ตัวเลขความหนืดที่เคยตั้งไว้ ก็จะแสดงบนหน้าจอพร้อมกับสั่ง
ให้มอเตอร์หมุนปรับแกน โดยทุกครั้งที่สตาร์ตเครื่องยนต์ ระบบจะคงความหนืดเหมือนก่อนดับเครื่องยนต์ แม้จะปรับได้สะดวก
เพียงปลายนิ้วสัมผัส แต่ก็มีคำเตือนจากผู้ผลิตว่า ควรปรับเมื่อรถยนต์หยุดนิ่งเท่านั้น เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้ตัวมอเตอร์เสียหาย
เนื่องจากหากมีการปรับขนาดรูที่น้ำมันจะไหลผ่านในขณะที่โช้กอัพทำงานหนัก การปรับจะยาก หรือปรับแล้วอาการตอบสนองในการขับ
จะเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
EDFC มีระบบตรวจสอบตัวเอง ถ้าพบความผิดปกติ เช่น กระแสไฟฟ้าเกิน สายไฟขาด หรือมอเตอร์หลุดหลวม ก็จะเตือนให้ผู้ขับทราบ
โดยหน้าจอจะแสดงคำว่า ERROR ไฟที่ปุ่มโปรแกรมทั้ง 3 ปุ่ม จะเปลี่ยนเป็นสีแดงและกระพริบเป็นจังหวะ พร้อมเสียง BEEP
EDFC ต้องใช้ควบคู่กับโช้กอัพเฉพาะยี่ห้อ TEIN ที่เป็นแบบปรับความหนืดด้วยการหมุนไว้ภายในแกน โดยควรเลือกรุ่นที่มีช่วงความหนืด
ที่สามารถปรับได้ใกล้เคียงกับความต้องการ เพราะถ้าปรับจนแข็งสุด ยังรู้สึกว่านิ่มเกินไป หรือปรับอ่อนสุดแล้วยังแข็งเกินไป
ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะปรับ ก่อนติดตั้ง ควรดูด้วยว่ามีที่ว่างระหว่างหัวโช้กอัพหน้ากับใต้ฝากระโปรงมากพอหรือเปล่า ส่วนด้านหลัง
ไม่น่ามีปัญหาติดขัดใด ๆ
โดย EDFC มีราคาในญี่ปุ่นประมาณ 15,000 บาท (ไม่รวมโช้กอัพ)
