พินัยกรรมระบุไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เคสนี้ มีตัวแปรคือลุง(น่าจะเป็นพี่ของพ่อ) ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น แปลงที่ ๓ แถมโฉนดยังอยู่ที่นั่นอีก มันแปลกๆนะ แล้วยังพ่อกะแม่แอบไปจดทะเบียนหย่ากันเก็บความลับที่ไม่มีในโลกเบี้ยวๆนี้ไว้ไม่ให้คุณรู้อีกจนห้าปี เพิ่งมารู้ แถมแม่ยังสั่งให้กลับมาทวงคืนสิทธิอีก งานนี้น่าจะเรียกว่าแย่งมรดกปู่ย่ากันน่าจะได้นะ สำคัญจะหาทางออกอย่างไรให้จบแบบดีๆด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่าย แต่มีอะไรหลายอย่างที่ยังคลุมเครืออยู่ ประการแรก คุณได้รับโอนโฉนดแปลงที่มีปัญหา ซึ่งในที่นี้น่าจะเป็นแปลงที่สาม เอาเป็นว่า ได้รับโอนมาทั้งสามแปลง แม้แปลงแรกจะมีชื่อร่วมกับบิดาได้ยังไง ใครไปเป็นคนดำเนินการให้ แล้วพินัยกรรมนั้นเป็นแบบไหน เขียนเองทั้งฉบับ หรือเอกสารฝ่ายเมือง ใครเป็นผู้จัดการมรดกที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมแล้วมันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่(อันนี้สำคัญมากนะ เพราะถ้าไม่ชอบแล้วมันจะกลายเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกเลย) แล้วสิ่งที่จะถามต่อพร้อมกับให้คำแนะนำไปด้วยก็คือ ได้จัดการตามพินัยกรรมเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือไม่ มีการจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรมหรือไม่อย่างไรต่างหาก ผมว่าพวกเรากำลังจะออกทะเลกันไปแล้วนะเรื่องนี้ แม้นักกฎหมายยังมีความเห็นต่างเลย อันนี้ให้ระมัดระวังให้มากนะครับ ที่บอกว่าให้ระมัดระวังนั้น อย่าคิดเอาแต่ได้ ให้เอาความจริงเข้าว่ากัน เท่าที่อ่านมา ผมเดาว่าน้องไม่ได้อยู่ในที่ดินทั้งสามแปลงนี้ แต่คนที่อยู่กลายเป็นลุงใช่ไหม ปัญหาก็คือ เราอยากได้ที่ดินที่ลุงเขาครอบครอง หรือที่ดินที่ระบุว่าเราเป็นเจ้าของชื่อทางทะเบียน ตรงนี้ผมยังกังขาอยู่ว่า ทำถูกตรงตามที่พินัยกรรมระบุไว้หรือไม่อย่างไรต่างหาก พิจารณาไปทีละเรื่องๆนะ เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก แล้วให้พึงระวังว่า เราอาจจะโดนฟ้องกลับได้ ไม่ก็โดนฟ้องเพิกถอนชื่อทางทะเบียนได้เหมือนกัน การที่มีชื่อทางทะเบียน ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด หากลุงของคุณนั่นล่ะที่เป็นผู้ครอบครองครับ แล้วคุณย่าเสียเมื่อไรครับ อันนี้สำคัญมาก เปิดพินัยกรรมเมื่อไร หลังคุณย่าเสียกี่เดือนกี่ปี เรื่องข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายที่มีความเห็นแย้งกันให้คุณลังเลเนี่ย อย่าเพิ่งไปคิดครับ การเตรียมคดี ไม่ใช่การปั้นเรื่องเท็จ หรืออ้างว่าหาย อันนี้ให้ระวังนะครับ ผมเห็นด้วยกับความเห็นแรกที่ว่าคุณอาจจะโดนคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จกับเจ้าพนักงาน ไม่พอ ยังเจ้าพนักงานที่ดินอีกหนึ่งเด้งครับ อันนี้ให้พึงระวังให้จงหนักเลย ที่เรามีชื่อทางทะเบียน(หมายถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์เนี่ยเพราะลุงยังครอบครองอยู่ แทนที่คุณจะได้เปรียบ แต่กลายเป็นคุณกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบไปหากไม่ระวัง และใช้ปัญญาไตร่ตรองตัดสินใจทำอะไรลงไปครับ) จะทำอะไรก็ตาม ให้อาความถูกตรงเข้าว่าก่อนครับ คำว่าถูกตรงนั้น ในที่นี้ หมายถึงถูกตรงตามธรรมนะครับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา กฎหมายมันเกิดหลังกฎธรรมครับหรือพูดให้เห็นภาพก็คือกฎแห่งกรรมนั่นล่ะ อันเดียวกันเลย หากเราไม่ระมัดระวังแล้ว มันจะสร้างเหตุปัจจัยให้ผูกกรรมกันต่อไม่จบไม่สิ้น เพราะมาแย่งขยะกันนี่เอง(อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะ ผมไม่เคยมองสิ่งที่คุณเรียกว่าสมบัติ เป็นสมบัติ แต่กลับมองว่าเป็นแค่ขยะครับ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ตรงข้าม คุณความดีต่างหากที่เป็นทรัพย์ติดตัวติดตามคุณไปได้ทุกภพทุกชาติครับ ต้องกราบขออภัยที่เห็นส่วนตัวเป็นเช่นนี้จริงๆ )
เรื่องนี้หากไม่ระมัดระวังแล้ว จะกลายเป็นศึกสายเลือดกันครับ เอาเป็นว่า ข้อที่ให้รายละเอียดมานั้น ยังต้องสอบเพิ่มอีกเยอะเลย ถึงจะสามารถฟันธงได้ แต่จะแนะนำกว้างๆให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่าทีเดียวให้จบแบบที่บอกไว้แต่แรก ในเบื้องต้น ให้ตัดเรื่องคุณพ่อคุณแม่ที่แอบไปหย่ากันไม่บอกคุณทิ้งไปก่อนครับ ไม่งั้นตัวละครมันจะวุ่นไปยิ่งกว่าละครน้ำเน่าหลังข่าว ซึ่งผมไม่เคยดูเลย และห้ามบุตรภรรยาดูอันถือเป็นกฎเหล็กที่บ้านอย่างเคร่งครัดครับ ทีนี้ก็จะเหลือคุณ กับคุณลุง แล้วก็ปัญหาว่า เราจะทวงคืนโฉนดได้อย่างไร เอาเป็นว่า ผมเข้าใจว่าได้ปฏิบัติตามพินัยกรรมสมบูรณ์แล้วนะ หากไม่สมบูรณ์เรื่องที่ถามจะเปลี่ยนไปเลยครับ คนหนึ่งถือสิทธิครอบครองอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่า อยู่ก่อนคุณย่าเสียเรื่อยมาจนปัจจุบัน หากไม่มีพินัยกรรมหรือหากไม่มีการโอนมาเป็นชื่อคุณ คนนี้ถือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ ย่อมมีสิทธิดีกว่าพ่อของคุณด้วยซ้ำ หากมีการโต้เถียงกัน แต่กรณีไม่มีพินัยกรรม หากมีบุตรแค่สองคน คุณปู่สิ้นก่อน ก็จะตัดทายาทอื่นไปหมด แม้แต่คุณผู้ถามก็จะถูกตัดตามกฎหมายด้วยครับ เพราะเป็นทายาทลำดับถัดไปครับ คนที่มีสิทธิคือพ่อของจขกท.กับคุณลุงครับ หากไม่มีพี่น้องอื่นอีกนะ เอาแค่นี้ก่อนเด๋วงง แต่กรณีนี้มีพินัยกรรม พินัยกรรมหากชอบด้วยกฎหมาย คนที่ไม่มีชื่อตามพินัยกรรม ก็จะถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดกไปครับ ง่ายๆมีหลักอยู่สามอย่าง คือ กำจัด ตัด สละครับ ของคุณได้ประโยชน์จากพินัยกรรม ระบุให้ทรัพย์มรดกนี้ตกทอดแก่คุณเพียงผู้เดียว ดังนั้น ปัญหานี้ก็คือ คนอยู่ไม่ได้ คนได้ไม่อยู่ หมายความว่า คุณลุงเป็นผู้อยู่ ผมไม่ทราบว่าเป็นผู้ดูแลคุณย่าก่อนสิ้นหรือไม่ หากเป็นทางอิสานบ้านผมนั้น มรดกจะตกแก่คนที่อยู่ดูแลคุณย่าก่อนสิ้นนะครับ แต่กรณีนี้ผมเองก็งงนิดๆว่า คนอยู่ไม่ได้ คนได้(คือคุณที่ถาม)ไม่ได้อยู่ คำถามก็คือ
จะทำอย่างไรให้คุณได้โฉนด หรือได้เข้าไปใช้สอยในทรัพย์มรดกที่ได้รับมา พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้คุณลุงของคุณยอมรับในผลของพินัยกรรม โดยบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นต่างหาก อันนี้ให้ตัดข้อกฎหมายที่ผมพยายามร้อยเรียงเป็นภาษาพูดออกไปให้สิ้นนะครับ สายเลือดข้นกว่าสายน้ำนะครับ เราเป็นเด็ก(ในสายตาของคุณลุงคุณ) ไปคุย ไปขอ เขาคงไม่ให้ ไม่ก็โดนถีบออกมานั่นล่ะ ลองหาคนที่เขายอมฟัง หรือไว้วางใจ หรือสบายใจที่จะคุยด้วย ไปเจรจา จะดีกว่าไหม คุณพ่อคุณซึ่งเป็นน้องแท้ๆ ไม่ลองให้ท่านไปเจรจาดูครับ แต่อย่าเอาคุณแม่ไปเจรจานะ เท่าที่อ่านดูจากข้อมูลที่ให้ คุณแม่มีส่วนสร้างชนวนแห่งคดีนี้ คือมีคำสั่งให้คุณกลับไปเอามรดกชิ้นนี้ อันเป็นที่มาของคำถาม แล้วให้รายละเอียดไม่หมดแต่ผมถือว่าคุณมีเจตนาดีครับ ที่บอกสาเหตุต่างๆมาพอสมควร อย่างน้อยๆแม้ไม่ถึงครึ่งที่ผมจำเป็นต้องถามกลับ(ซึ่งถือปฏิบัติมาโดยตลอดสามสิบปีที่ทำงานด้านนี้ ช่วยเหลือผู้คนทั่วประเทศ) เพราะหากข้อเท็จจริงเคลื่อนไปนิดเดียว เราจากที่เคยเป็นโจทก์ จะกลายเป็นจำเลยไป นักกฎหมายที่ดี เขาจะต้องปกป้องลูกความของเขาด้วยครับ ไม่ใช่ตะแบงจะเอาชนะลูกเดียว แพ้ชนะก็แค่สมมุติครับ สุดท้ายแล้วเอาไปไม่ได้หรอก ทั้งคุณและคุณลุง แต่อย่ากระนั้นเลย เมื่ออยากได้ ก็จำเป็นต้องชี้ทางให้ ส่วนจะเดินหรือไม่นั้น ก็สุดแต่ใจของคนถามก็แล้วกันนะครับ ที่บ้านผมเขาเรียกว่า ก็ แล่ว แต้
ในเบื้องต้นให้หาผู้หลักผู้ใหญ่ไปเจรจาก่อนครับ อย่าเพิ่งยื่นโนติสเลย ห้ามทำเป็นหนังสือนะ เพราะอย่างน้อยๆคุณลุงของคุณซึ่งไม่ได้อะไรเลยจากคุณย่า เขาจะลดความน้อยเนื้อต่ำใจลงไปมั่งครับ เขาเป็นผู้อยู่ แต่คุณเป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน หากยกข้อกฎหมายโต้แย้งกันขึ้นมาล่ะก็ ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากันครับ สำคัญอยู่ที่คนทำว่าจะพลิกให้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายชนะต่างหากครับ การเจรจา อย่าเพิ่งไปไล่ท่านนะ เห็นว่าจะรื้อบ้าน เหอะๆๆๆ เขาอยู่ที่นั่น เราจะไปรื้อ ไปถมที่ ผมว่าเป็นเรื่องเลยล่ะ อย่าเพิ่งๆ เลือกคนให้เป็น ใช้คนให้เป็น อย่าเอาประเภทเข้าวงไหน วงนั้นแตกกระจาย แบบนี้ไม่ต้องเด้อ ให้เอาราชทูตลิ้นทองไป แล้วให้คุณลุงเปิดใจว่าต้องการอะไร เพื่อมาคิดต่อหรือเดินต่อว่าจะทำอย่างไร ยังไงเราก็เป็นหลานครับ ทำตรงนี้ก่อน ติดขัดค่อยถามมาอีกทีนะ อ้อ หากคุณพ่อกับคุณลุงไม่ถูกกัน ก็ไม่ต้องส่งท่านไปเจรจาเด้อ ใช้ปัญญาครับ เลือกคนให้เหมาะ แล้วให้เอาหลักธรรมเข้าว่าเลย หลักกฎหมายค่อยตามไปครับ ลองคิดง่ายๆ หากคุณอยู่ที่บ้านหลังที่คุณลุงอยู่ แล้ววันดีคืนดี มีหลานตัวเล็กๆ มาบอกว่า ผมจะรื้อบ้านหลังนี้ จะถมที่ จะขอโฉนดที่ดิน คนที่อยู่เขาจะรู้สึกอย่างไร เชื่อว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่คุณลุงอยู่มากะคุณปู่คุณย่าที่สิ้นไปแล้ว ตั้งแต่เกิดแน่ใช่หรือไม่ เขาจะมีความผูกพัน ดังนั้น การเจรจาในเบื้องต้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ งานคดีที่ผมทำสิบเรื่อง จะจบที่สนง.ซะเจ็ดถึงแปดเรื่องนะครับ เพียงสองหรือสามเท่านั้น ที่จะไปสู่ศาลครับ ให้เอาหลักนี้ไปใช้ก่อน ไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที อ้อ อย่าเพิ่งไปแจ้งหาย อย่าเพิ่งไปโนติสนะครับ ใช้พระคุณก่อน พระเดชค่อยตามไป เดินให้ถูกตรงตามธรรม เด๋วสิ่งศักดิ์สิทธิจะคุ้มครองคุณแล้วนำทางให้ลุล่วงเองครับ อย่าเอากิเลสเข้าว่า อย่าเอาโทสะโมหะเข้าว่านะ ให้เอาปัญญาเข้าว่า แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากๆด้วย คุยกันดีๆ ลุงกะหลาน ผมว่ายังไงก็เป็นสายเลือดเดียวกันครับ แล้วอย่าให้มือที่สามมายุให้พิพาทกันนะครับ ใช้ไม้นวมก่อน ไม้แข็งค่อยว่ากันทีหลังครับ ขอให้โชคดีครับ
