ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุเท่าไหร่ถึงควรเริ่ม
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ก่อนที่จะเกิดความผิดปกติหรือแสดงอาการ เพื่อหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งในระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถป้องกันและรักษามะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างได้ผล
ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเริ่มต้น สามารถตรวจคัดกรองตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ โดยที่คนไข้ยังไม่มีอาการ
ระยะท้าย หรือคนไข้เริ่มมีอาการแสดง เช่นมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีอาการตกขาวเรื้อรัง หรือมีเลือดออกปนตกขาว อาการเหล่านี้เป็นอาการที่บ่งบอกว่าต้องรีบมาตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะถ้ามีอาการเหล่านี้แล้วปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด จะเป็นลักษณะอาการที่เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ยากต่อการรักษาและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

โดยทั่วไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30 ปี แต่อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ตามความเหมาะสม และควรตรวจคัดกรองทุกทุก 1-2 ปี ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธี Pap smear หรือ ThinPrep หากตรวจด้วยวิธีตรวจหาเชื่อ HPV DNA สามารถตรวจคัดกรองได้ทุก 3-5 ปี
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกี่แบบ
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองตรวจมะเร็งปากมดลูกอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. ตรวจแปปเสมียร์ (Pap smear) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสูตินรีแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายไม้พาย เก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนนำส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
2. การตรวจตินเพร็พ แป๊บเทสต์ (ThinPrep Pap Test) พัฒนามาจากการตรวจวิธีแปปเสมียร์ มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น โดยมีข้อมูลการศึกษาวิจัยจากสถาบันทั่วโลกพบว่าจากการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกโดยวิธี Thin prep จะให้ผลละเอียดกว่าการตรวจแบบเก่าวิธีแปปเสมียร์
3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA ด้วย Thin Prep Plus Cervista HPV DNA Testing เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่าการตรวจ Pap smear อย่างเดียว เพราะสามารถเจาะลึกว่ามีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกความเสี่ยงต่อการมีรอยโรคแอบแฝงได้เป็นอย่างดี
วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน
1. สามารถตรวจภายในได้ทุกช่วงเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือน ควรงดตรวจในช่วงนั้น และรอหลังประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 5 วัน หากมีอาการเลือดออกผิดปกติ สามารถมาตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ
2. หากมีตกขาวผิดปกติ ไม่ควรสอดยา ก่อนมาตรวจ เพราะยาอาจค้างในช่องคลอด และส่งผลให้ตรวจไม่ได้อย่างถูกต้อง
3. ทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ ไม่ต้องงดก่อนตรวจ เพราะไม่มีผลกระทบต่อการตรวจภายใน
4. ควรปัสสาวะออกให้หมดก่อนตรวจ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจขนาดของมดลูกและปีกมดลูกได้ชัดเจนขึ้น
5. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผลการตรวจ
การตรวจภายในเป็นประจำทุกปีจึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราดูแลสุขภาพภายในได้อย่างใกล้ชิด และเมื่อพบความผิดปกติใดๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสหายขาดและมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนตรวจสุขภาพประจำปี ราคา